อาการซึมเศร้า...รักษาได้
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของ
สสส. และ วิชาการดอทคอม
ที่มา www.thaihealth.or.th
“ปัญหาโรคซึมเศร้า” เป็นปัญหาที่ตัวผู้ป่วยเองไม่ได้ต้องการให้เกิดขึ้น แต่ด้วยเหตุปัจจัยบางประการ หรือหลายประการที่มีความสำคัญต่อตัวผู้ป่วย อาจเป็นบ่อเกิดของปัญหาอาการซึมเศร้าได้
การวินิจฉัยอาการซึมเศร้าของแพทย์ เริ่มต้นจากการพูดคุย การซักถามประวัติถึงอาการทางจิตเวชอื่นที่เคยเกิดขึ้น โรคทางร่างกายหลายโรค และยาบางชนิด อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้าได้ การวินิจฉัยจึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่สำคัญแพทย์ที่ทำการตรวจต้องอาศัยทักษะในการวินิจฉัยอยู่พอสมควร ส่วนขั้นตอนในการวินิจฉัยโดยทั่วไป เริ่มต้นจาก...
การถามอาการหรือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่เริ่มมีอาการครั้งแรกไล่มาตามลำดับจนปัจจุบัน ยิ่งผู้ป่วยเล่าอาการต่าง ๆ ที่มีได้อย่างละเอียด เล่าปัญหาที่เกิดขึ้นได้มากเท่าไร แพทย์ก็จะยิ่งเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้นเท่านั้น การซักถามในขั้นตอนนี้นอกจากเพื่อดูว่าผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่ แล้ว ยังเพื่อพิจารณาว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาการเหล่านี้หรือไม่ ในกรณีที่สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีโรคทางร่างกายอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการต่าง ๆ ที่พบแพทย์อาจซักประวัติเพิ่มเติมจากญาติหรือผู้ใกล้ชิด เพื่อที่จะได้ทราบเรื่องราวหรืออาการต่าง ๆ ได้ชัดเจนขึ้น เพราะคนรอบข้างอาจสังเกตเห็นอะไรได้ชัดเจนกว่าตัวผู้ที่มีอาการเอง
ด้านการรักษา หากได้รับการรักษาผู้ที่เป็นจะอาการดีขึ้นมาก อาการซึมเศร้า ร้องไห้บ่อย ๆหรือรู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจ จะกลับมาดีขึ้นจนผู้ที่เป็นบางคนบอกว่าไม่เข้าใจว่าตอนนั้นทำไมจึงรู้สึก เศร้าไปได้ถึงขนาดนั้น ยิ่งหากมารับการรักษาเร็วเท่าไรก็ยิ่งจะอาการดีขึ้นเร็วเท่านั้น การรักษาที่สำคัญ คือการรักษาด้วยยาแก้เศร้า โดยเฉพาะในรายที่มีอาการมาก ส่วนในรายที่มีอาการไม่มาก แพทย์อาจรักษาด้วยการช่วยเหลือชี้แนะการมองปัญหาต่าง ๆในมุมมองใหม่ แนวทางในการปรับตัวหรือการหาสิ่งที่ช่วยทำให้จิตใจผ่อนคลายความทุกข์ใจลง ร่วมกับการให้ยาแก้เศร้าหรือยาคลายกังวลเสริมในช่วงที่เห็นว่าจำเป็น
วิธีการรักษา ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักคือ 1. การรักษาด้วยยาการใช้ยาแก้เศร้า เพื่อไปปรับสมดุลสารเคมีในสมองเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ยาแก้เศร้าช่วยบรรเทาอาการเศร้าเมื่อทานยาจนรู้สึกดีขึ้นแล้ว ควรทานยาต่อไปอีก 6-12 เดือน เพื่อป้องกันอาการกลับมาเป็นซ้ำ และแม้จะรู้สึกสบายดีก็ยังต้องกินยาตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักจะกลับมาป่วยซ้ำหรืออาจมี อาการกำเริบซ้ำได้
2. การรักษาทางจิตใจมีวิธีรักษาทางจิตใจอยู่หลายรูปแบบ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งอาจเป็นการพูดคุยกับจิตแพทย์ อันจะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจตนเอง สาเหตุที่ทำให้ตนเองเป็นทุกข์ ซึมเศร้า เข้าใจปัญหาและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมในที่สุด
วิธีการที่พบว่าสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ดี มีดังนี้ การรักษาแบบปรับความคิดและพฤติกรรม เชื่อว่าอาการของผู้ป่วยมีสาเหตุจากการมีแนวคิดที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะบ่อยครั้งที่ทุกข์เพราะความคิดของตัวเองเช่น มองตนเองในแง่ลบ มองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ลบ การรักษาจึงมุ่งแก้ไขแนวคิดของผู้ป่วยให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น การรักษาแบบปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลการรักษามุ่งให้ผู้ป่วยมีการปรับ ตัวต่อสิ่งแวดล้อมและผู้อื่นให้ดีขึ้น การรักษาจิตบำบัดเชิงลึกเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจปมขัดแย้งที่อยู่ในจิตใจ ตนเองจนนำมาสู่โรคซึมเศร้า
ข้อแนะนำที่ช่วยในการส่งเสริมการรักษาอาการซึมเศร้า มีดังต่อไปนี้
1. การออกกำลังกายการออกกำลังกายนอกจากจะช่วยทางร่างกายแล้ว จิตใจก็ยังจะดีขึ้นด้วย ถ้าได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นด้วยก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่ทำให้รู้สึกว่าตนเองโดดเดี่ยว
2. อย่าคาดหวังหรือตั้งเป้าหมายยากเกินไป ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่เรายังต้องการการพักผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่ หวัง
3.เลือกกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกดี ๆมักจะเป็นสิ่งที่เราเคยชอบ
4. พยายามทำกิจกรรมที่ทำร่วมกับคนอื่นมากกว่าที่จะอยู่คนเดียว หลักการเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกอย่างหนึ่งก็คือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้จะไม่คงอยู่ตลอดไป แต่จะขึ้น ๆ ลง ๆ ในแต่ละช่วง คนที่มีความโศกเศร้ามักจะรู้สึกหมดหวัง คิดว่าความรู้สึกนี้จะคงอยู่กับตนเองตลอดเวลา ในความเป็นจริงแล้วจะมีอยู่บางช่วงที่อารมณ์เศร้านี้เบาบางลง ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ให้เราเริ่มกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้น
5. อย่าตัดสินเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตเช่น การหย่า การลาออกจากงาน ณ ขณะที่เรากำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้านี้ การมองสิ่งต่าง ๆ ในแง่ลบอาจทำให้การตัดสินใจผิดพลาดไปได้ ควรเลื่อนการตัดสินใจไปก่อน หากจำเป็นหรือเห็นว่าปัญหานั้น ๆ เป็นสิ่งที่กดดันเราทำให้อะไร ๆ แย่ลงจริง ๆ ก็ควรปรึกษาผู้ใกล้ชิดหลาย ๆ คนให้ช่วยคิด
6. การแก้ปัญหาให้แยกแยะปัญหาให้เป็นส่วนย่อย ๆการมองปัญหาโดยไม่แยกแยะจะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ ไม่รู้จะทำอย่างไร การจัดเรียงลำดับความสำคัญของปัญหาว่า เรื่องไหนควรทำก่อนหลัง แล้วลงมือทำไปตามลำดับโดยทิ้งปัญหาย่อยอื่น ๆ ไว้ก่อน วิธีนี้จะพอช่วยให้รู้สึกว่าตนเองยังทำอะไรได้อยู่
ข้อแนะนำในการดูแลสำหรับญาติ มีดังนี้
1. รับฟังด้วยความเข้าใจ ใส่ใจอารมณ์ของผู้ป่วยที่มีความอ่อนไหวมาก และหลายครั้งเข้าใจยาก การรับฟังอย่างเข้าใจ โดยไม่ตัดสินจะช่วยให้ความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้นที่มีคนพร้อมจะเข้าใจตัว เขาอย่างแท้จริง
2. ชวนคุยบ้างด้วยท่าทีที่สบาย ๆพร้อมที่จะช่วยเหลือ โดยไม่กดดัน ไม่คาดหวัง ไม่คะยั้นคะยอว่าต้องพูดคุยโต้ตอบได้มาก เพราะท่าทีที่คาดหวังมากจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ที่ทำให้ญาติผิดหวัง
3. เปิดโอกาสให้ได้ระบายความคิดความรู้สึกที่ไม่ดี ที่รู้สึกแย่ต่าง ๆ ออกมา โดยเฉพาะความคิดอยากฆ่าตัวตาย การที่ผู้ป่วยได้พูดได้ระบายออกมาจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในใจลงได้อย่างมาก
โรคนี้ไม่ได้อาการดีขึ้นทันทีที่กินยา การรักษาต้องใช้เวลาบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นสัปดาห์ อาการจึงจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด จึงไม่ควรคาดหวังจากผู้ป่วยมากเกินไป การรักษาด้วยยามีความสำคัญ ควรช่วยดูแลเรื่องการกินยา โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ผู้ป่วยยังซึมเศร้ามาก หรืออาจมีความคิดอยากตาย การตัดสินใจในช่วงนี้จะยังไม่ดี ควรให้ผู้ป่วยเลี่ยงการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ไปก่อนจนกว่าจะเห็นว่าอาการเขาดีขึ้นมากแล้ว
เมื่อได้รู้จักโรคซึมเศร้ากันแล้ว จะเห็นว่าโรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นแค่อารมณ์ซึมเศร้าเท่านั้น แต่หากเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและครอบครัว และหากปล่อยทิ้งไว้ไม่บำบัดรักษา อาจนำมาสู่ปัญหาการทำงานและการดำเนินชีวิต และบางรายอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นหากพบหรือสงสัยว่าตนเองและคนใกล้ชิดของคุณป่วยด้วยโรคซึมเศร้า อย่าได้นิ่งนอนใจ ควรพามาปรึกษาแพทย์ เพราะหากได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง ด้วยวิธีที่เหมาะสม คุณและคนใกล้ตัวก็สามารถจะใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขต่อไป.