เลคเชอร์บนไอพ็อด
ถ้าเรียนที่มหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์ก็สามารถฟัง/ดู เลคเชอร์จากไอพ็อดได้แล้ว
Vrije Universiteit Amsterdam (มหาวิทยาลัยเปิดแห่งอัมสเตอร์ดัม) และTU Delft (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเมืองเดลฟท์) ประเทศเนเธอร์แลนด์ จะช่วยเปิดประตูแห่งความรู้สู่โลกภายนอก ฟรี! ด้วยการให้บริการเลคเชอร์ผ่านทาง iTunes U ด้วยความร่วมมือจาก Apple สองมหาวิทยาลัยนี้เป็นสองมหาวิทยาลัยแรกในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เปิดให้ฟังและดูเลคเชอร์บนไอพ็อดได้ ข่าวนี้ได้ประกาศออกมาระหว่างการประชุมคองเกรสในเมือง Eindhoven (ไอน์โฮเว่น) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินตามนโยบายการเข้าถึงการศึกษาในทุกรูปแบบของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งทำให้สองมหาวิทยาลัยนี้ มีความสามารถในการให้การเข้าถึงการศึกษาได้ทัดเทียมมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง Stanford University, Harvard, Oxford University, UC Berkeley และ MIT ซึ่งสามารถสื่อสารเลคเชอร์ทาง iTUnes U ได้เช่นเดียวกัน
การเข้าถึงความรู้ได้มากขึ้น
Vrije Universiteit Amsterdam และTU Delft จะใช้เทคโนโลยีนี้ในการบันทึกเลคเชอร์ และถ่ายทอดอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ในหลากหลายสาขาวิชาให้อยู่ในรูปแบบดิจิตอล นักเรียนหรือผู้ใช้ไอพ็อดสามารถฟังหรือดูทั้งเสียงและภาพจากห้องเลคเชอร์ ไม่ว่านักเรียนผู้นั้นจะอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ จะใช้เครื่อง Mac, PC, iPod หรือ iPhone ก็ได้ การให้บริการเลคเชอร์ทางไอพ็อดนี้จะช่วยให้ใครก็ตามสามารถเข้าถึงความรู้ได้ ซึ่งเป็นช่องทางการกระจ่ายข่าวสารที่ทันสมัย นอกจากจะช่วยให้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของนักเรียนง่ายขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยเปิดโอกาสให้การสร้างสรรค์ข้อมูลใหม่ๆในสังคมง่ายขึ้นด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นพันธกิจหนึ่งของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว
ดูบนมือถือก็ได้ด้วย
สำหรับนักเรียนยุคปัจจุบันที่เติบโตมาด้วยอินเตอร์เน็ต การศึกษาผ่าน podcast หรือ vodcast เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก นักเรียนชอบที่สามารถดูเลคเชอร์ซ้ำๆ วนไปวนมาได้ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าใจเนื้อหาได้เร็วขึ้น เพราะไม่ต้องห่วงว่าจะจดไม่ทัน แต่อย่างไรก็ดี การมาฟังเลคเชอร์ที่ห้องจริงๆก็ยังมีข้อดีกว่า คือสามารถถามคำถามได้ง่ายกว่า และก็สนุกกว่าเพราะได้มาพบปะเพื่อนฝูง
ทั้งสองมหาวิทยาลัยดังกล่าวยังมีความตั้งใจที่จะเพิ่มเนื้อหาวิชาที่สามารถดูบนไอพ็อดได้อีก โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสามารถให้การบ้านหรือสั่งงานให้นักศึกษาผ่านทาง podcast หรือ vodcast โดยปัจจุบัน เนื้อหาที่สามารถดูได้จากไอพ็อดที่ Vrije Universiteit Amsterdam คือเนื้อหาจากทุกวิชาได้แก่ จิตวิทยา กฏหมาย วิทยาการคอมพิวเตอร์ ธุรกิจ วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรม ส่วนที่ TU Delft จะเน้นไปทางวิชาวิศวกรรมโยธา การจัดการน้ำ สถาปัตยกรรม วิศวกรรไฟฟ้า และวิศวกรรมการบินและอวกาศ โดยเฉพาะรายวิชา การจัดการน้ำเบื้องต้น “Introduction to Water Management” ระดับปริญญาตรี และรายวิชาอื่นๆที่จะเปิดตามมาในช่วงปี 2010 นี้
เรียนต่อเนเธอร์แลนด์
สำหรับนักเรียนที่สนใจไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและขอข้อมูลเกี่ยวกับทุนการศึกษาจากรัฐบาล เนเธอร์แลนด์ได้ที่ Nuffic Neso (Netherlands Education Support Office) Thailand ชั้น 3 อาคารเอ็มไทย ตึกออลซีซั่นเพลส เลขที่ 87 ถนนวิทยุ หรือ โทร. 02 252 6088 อีเมล [email protected] หรือ www.nesothailand.org
ศึกษาต่อเนเธอร์แลนด์ ประตูสู่อนาคตที่สดใส
หลายคนมักถามว่าจะเรียนต่อที่ไหนดี เพราะทุกที่ต่างก็น่าสนใจทั้งนั้น แต่ที่เนเธอร์แลนด์มีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่างรอให้คุณค้นหา
สำหรับดิฉัน มีโอกาสได้ศึกษาที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน ซึ่งเน้นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยและดัตช์เป็นหลัก แต่ประสบการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของความภูมิใจทุกวันนี้ที่สามารถนำประสบการณ์ต่าง ๆมาประยุกต์ให้เข้ากับวิถีชีวิตปัจจุบันได้อย่างลงตัว
ประสบการณ์เหล่านั้นมาจากการเรียน และวิถีชีวิตที่น่าสนใจของเพื่อน ๆ ชาวดัตช์ที่เรียนด้วยกันในระดับชั้น HAVO 4 สำหรับการเรียนในระดับ HAVO นั้น เรียนกัน 5 ปี การศึกษาในระดับนี้จะอ่อนกว่าการเรียนมัธยมศึกษาบ้านเรา แต่แข็งกว่าระดับอาชีวศึกษา ตอนเรียนดิฉันจำได้ว่าเนื้อหารายวิชาต่าง ๆ นั้นคล้ายคลึงกับที่เคยเรียนในโรงเรียน แต่สภาพแวดล้อมนั้นน่าเรียนกว่ามาก เนื่องจากนักเรียนทุกคนจะเตรียมความพร้อมของตัวเองก่อนเข้าห้องเรียนโดยการอ่านหนังสือมาก่อน อาจารย์จะเข้ามาพูดคุยและอภิปรายในเนื้อหาเหล่านั้น ซึ่งทำให้การเรียนสนุก และเน้นการวิเคราะห์มากกว่าการท่องจำอย่างเห็นได้ชัด บางครั้งนั่งเรียนอยู่นึกว่าเพื่อน ๆ กับอาจารย์ทะเลาะกันเสียอีก แต่นั้นก็เป็นแค่การเรียนเท่านั้น ส่วนเวลาทำข้อสอบก็เน้นเขียนอธิบายอย่างเดียว หาข้อสอบแบบกากบาท ก ข ค ง ไม่ได้เลย แต่ลักษณะการเรียนเช่นนี้เอง ที่ทำให้ดิฉันสามารถปรับตัวในการเรียนระดับอุดมศึกษาได้ง่ายขึ้น เพราะระบบการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นจะเน้นให้ผู้เรียนเตรียมพร้อมในแต่ละสัปดาห์จากการแผนการเรียนที่แจกในชั่วโมงแรก ดังนั้นสิ่งที่ดิฉันคิดถึงมากที่สุดตอนกลับมาเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็คือ ระบบการเรียนการสอนที่เอื้ออำนวยต่อผู้เรียนนั่นเอง
อาจารย์ที่สอนทุกท่านต่างก็ให้ความสนใจในผู้เรียนมาก อาจจะเนื่องจากจำนวนผู้เรียนที่พอดี และระบบการบริหารจัดการที่ดี ที่ทำให้อาจารย์มีเวลาให้กับนักเรียนเต็มที่ อาจารย์จะคอยตอบคำถามเวลาที่นักเรียนไม่เข้าใจ และนักเรียนก็สามารถถามได้โดยที่ไม่ต้องกลัวเพื่อน ๆ จะเขม่น
นอกจากนี้แล้วการที่ได้อาศัยอยู่กับครอบครัวอุปถัมภ์ยังทำให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตต่าง ๆ มากมาย ทั้งเรื่องการดูแลครอบครัว การทำงาน และวิถีชีวิตด้านต่าง ๆ
ถึงแม้ว่าชาวดัตช์จะใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาราชการ แต่สำหรับการเรียนในระดับอุดมศึกษาขึ้นไป การเรียนการสอนจะเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ชาวดัตช์ส่วนมากก็สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงตัดความกังวลทางด้านภาษาไปได้เลย แต่ถ้าใครอยากได้ภาษาดัตช์ก็ลองเรียนเล่น ๆ ดู แล้วอาจชอบจนต่อยอดในระดับสูงต่อไปก็ได้
กำไรของผู้ที่เลือกศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอ์แลนด์ที่ไม่ต้องกังวลว่าจะเรียนที่ไหนดี เนื่องจากทุกมหาวิทยาลัยเป็นคุณภาพที่ได้รับการยอมรับ การที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเล็ก ๆ ก็ทำให้ผู้ที่รักการท่องเที่ยวถือโอกาสในการเดินทางไปเที่ยวทั่วประเทศ และประเทศใกล้เคียง เช่น เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส และเยอรมัน อีกด้วย หากนับกันจริง ๆแล้ว คนดัตช์ที่อยู่ค่อนไปทางใต้นิยมไปจับจ่ายซื้อของที่ประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากระยะทางนั้นใกล้กว่าเดินทางไปกรุงอัมสเตอร์ดัมเสียอีก
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังมองหาที่เรียนต่อต่างประเทศที่ได้ครบทุกรสชาติ ทั้งเรียน เล่น เที่ยว ขี่จักรยานแทนขับรถ ใช้รถรางแทนรถเมล์ ที่นี่อาจเป็นคำตอบสำหรับคุณ