ระบบประมวลผลสำหรับหอบังคับการบิน A-SMAGCS ตอนที่ 1 (Advanced Surface Movement Guidance and Control System)
ขอขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันการบินพลเรือน
www.catc.or.th
ในปัจจุบันการนำทางภาคพื้นและการควบคุมอากาศยานขึ้นอยู่กับการสื่อสารระหว่างหอบังคับการกับนักบินเป็นหลัก เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะมีการติดตั้งระบบประมวลผลสำหรับหอบังคับการบิน (Advanced Surface Movement Guidance and Control System หรือเรียกย่อๆ ว่า A-SMGCS) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการจราจรทางภาคพื้นให้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับปริมาณการขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้น
A-SMGCS สร้างขึ้นเพื่อช่วยพัฒนาระบบ กระบวนการ และการปฏิบัติที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้สามารถรับมือกับการจราจรทางอากาศที่คับคั่งขึ้นรวมทั้งความซับซ้อนของสนามบิน และความต้องการที่จะรักษาคุณภาพการให้บริการ A-SMGCS เป็นเครื่องช่วยในการตรวจสอบการจราจรทางภาคพื้นและการช่วยเหลือผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ เช่น การวางแผนนำทางอากาศยานอัตโนมัติ
A-SMGCS ประกอบไปด้วยระบบการทำงาน 4 ระบบ ได้แก่ ระบบติดตามอากาศยาน (Surveillance) ระบบการควบคุม (Control) ระบบวางแผนเส้นทางบิน (Routing (Planning)) และ การนำทาง (Guidance) ซึ่งมีผลต่ออากาศยาน ยานพาหนะภาคพื้น และบุคคลากรในพื้นที่ปฏิบัติการ ทั้งนี้ วัตถุประสงค์คือมุ่งรักษาประสิทธิภาพบริการการจราจรางทางอากาศภายใต้สภาพอากาศที่ไม่ดี โดยให้สามารถคงทัศนวิสัยอยู่ในระดับที่ปฏิบัติงานได้ (Aerodrome Visibility Operational Level (AVOL)) รวมทั้งรักษาระดับความปลอดภัยได้ตามที่กำหนด
A-SMGCS ให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้งานได้ทราบถึงสภาพการจราจร โดยจะแสดงภาพแผนที่ของสนามบิน และแถวแสดงเป้าหมายที่ระบุตำแหน่งและชื่อเรียกขานของอากาศยาน ตลอดจนข้อมูลต่างๆของอากาศยาน รวมทั้งเป้าหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่บนพื้นที่ขับเคลื่อน อากาศยานหรือพื้นที่ใกล้เคียง
ระบบติดตามอากาศยาน (Surveillance) :
อากาศยานแต่ละลำจะมีการติดตามและระบุตำแหน่งตั้งแต่ช่วงระยะสุดท้ายในการร่อนลง (final approach) จนกระทั่งอากาศยานถึงหลุมจอดเรียบร้อย และในทางกลับกันตั้งแต่หลุมจอดจนบินขึ้น ระบบนี้จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของอากาศยานภายในพื้นที่ขับเคลื่อนทั้งหมด ชื่อเรียกขานอากาศยาน และแถบแสดงการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดของการอนุญาตที่อากาศยานได้รับ
การควบคุม (Control) :
การควบคุมเป็นวิธีที่นำมาประยุกต์ใช้ในการวัดระยะห่างเพื่อป้องกันการชนกันของ อากาศยาน การรุกล้ำทางวิ่ง ตลอดจนความมั่นใจว่าอากาศยานสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างปลอดภัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ในขั้นต้น ระบบการตรวจสอบและการแจ้งเตือนจะเปรียบเทียบสภาพการจราจรในขณะนั้นกับสภาพการจราจรที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจสร้างโดยผู้ควบคุมจราจรทางอากาศหรือระบบสนับสนุนการวางแผน อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว ผู้ควบคุมจราจรทางอากาศจะเป็นผู้ตัดสินใจดำเนินการต่างๆ ในกรณีที่เกิดปัญหาหรือการแจ้งเตือนขึ้น ขั้นแรก จะเป็นการแจ้งเตือนให้ทราบข้อมูล ขั้นที่สอง จะเป็นการแจ้งเตือนที่ต้องการการตอบสนองอย่างทันท่วงที
ระบบวางแผนเส้นทางการบิน (Routing (Planning) :
ระบบการวางแแผนเส้นทางบินมีความสัมพันธ์กับการสนับสนุนการวางแผนของผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ ในการกำหนดตำแหน่งของอากาศยานตามเส้นทางการบิน ณ ช่วงเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ ระบบการวางแผนเส้นทางบินยังเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการวางแผนทั้งหมดของสนามบิน
ระบบการนำทาง (Guidance) :
ระบบการทำงานนี้สามารถคำนวณโดยระบบคอมพิวเตอร์แล้วตัดสินใจโดยผู้ควบคุม จราจรทางอากาศหรือผู้ควบคุมจราจรทางอากาศเป็นผู้วางแผนโดยตรงทั้งหมด การนำทางสัมพันธ์กับอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของสนามบิน ข้อมูล และคำแนะนำต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อนักบินรวมทั้งผู้ขับขี่ยานพาหนะเพื่อให้สามารถขับเคลื่อน ไปตามเส้นทางที่ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด