กล้วยไข่ไทยคุณภาพ : เทคโนโลยีเพื่อการส่งออก


944 ผู้ชม


กล้วยไข่ไทยคุณภาพ : เทคโนโลยีเพื่อการส่งออก

ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของงานสื่อสารสังคม (สกว.) กับวิชาการดอทคอม
ที่มา :   ประชาคมวิจัย



 กล้วยไข่ไทยคุณภาพ : เทคโนโลยีเพื่อการส่งออก

          ความต้องการบริโภคกล้วยไข่ของไทยในต่างประเทศ ณ ปัจจุบันยังมีมาก เพราะกล้วยไข่ไทยมีรสชาติดี มีลักษณะการเรียงตัวของผลและสีของผลสวยงาม  มีขนาดพอเหมาะ  สามารถรับประทานได้ครั้งละหลายผล ปัจจุบันมีการส่งออกกล้วยไข่ไปจำหน่ายยังต่างประเทศมากขึ้นทุกปี  ตลาดที่สำคัญ คือ จีน ฮ่องกง และไต้หวัน โดยเฉพาะคนจีนมีความต้องการบริโภค ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20,000 ตัน นอกจากนี้ยังได้มีการขยายตลาดไปยังเกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรปด้วย ราคาของกล้วยไข่ที่ส่งออกจะได้กิโลกรัมละ 10-35 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา ความชำนาญ และพัฒนาการในการปลูกกล้วยไข่ของเกษตรกร ซึ่งหากเกษตรกรสามารถผลิตกล้วยไข่ที่มีคุณภาพสำหรับการส่งออกได้  เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าเปรียบเทียบจากการผลิตแบบเดิม อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าความต้องการของตลาดกล้วยไข่จะมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นหรือถึงแม้ชาวสวนจะขยายพื้นที่ปลูกกล้วยไข่เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาหลักที่พบ คือ การผลิตกล้วยไข่ให้มีคุณภาพเพื่อการส่งออกนั้นยังไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับส่งผลให้ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดโลก  
          ฝ่ายเกษตร สกว. ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่คุณภาพเพื่อการส่งออก จึงได้สนับสนุนให้นักวิจัย โดย รศ.ดร. จริยา  วิสิทธิ์พานิช สังกัดภาควิชากีฏวิทยา  คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ ทำโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่คุณภาพเพื่อการส่งออก โดยมีแปลงต้นแบบที่จังหวัดนครสวรรค์ แพร่ และจังหวัดชุมพร โดยได้มีการพัฒนาเทคนิคการจัดการดิน ปุ๋ย และน้ำอย่างเหมาะสม มีการให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน และให้ปุ๋ยไปพร้อมระบบน้ำ รวมทั้งการจัดการศัตรูพืชอย่างถูกต้อง พบว่ากล้วยไข่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากที่ปลูกแบบเดิมถึง 20% กล่าวคือ เมื่อปลูกแบบเดิมได้น้ำหนักเพียง 7 กิโลกรัมต่อต้น แต่เมื่อปลูกในระบบน้ำหยด ผลผลิตเพิ่มเป็น 8.6-14.9 กิโลกรัมต่อต้น และการตกเครือของกล้วยได้เร็วและสม่ำเสมอขึ้น  


กล้วยไข่ไทยคุณภาพ : เทคโนโลยีเพื่อการส่งออก


          ในด้านคุณภาพของผลผลิตกล้วยไข่อีกประการหนึ่ง คือ ปัญหาผลกล้วยไข่ลาย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกนั้น คณะผู้วิจัยได้พิสูจน์สาเหตุและสามารถแก้ไขปัญหาผลลายให้เกษตรกรและผู้ส่งออกโดยทดลองใช้สารเคมีที่ทำลายแมลงศัตรูพืชได้สำเร็จ ทำให้ในปี 2551 ผลผลิตกล้วยไข่สามารถส่งออกได้มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และมีรายได้สูงกว่าราคาที่ขายในประเทศถึง 2 เท่า นอกจากนี้ผลผลิตนอกเหนือไปจากเทคโนโลยีการผลิตกล้วยไข่คุณภาพดังกล่าวแล้ว ยังทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่มีความสามารถขยายผลงานวิจัยไปสู่ชุมชนอื่นๆ ได้มากกว่า 100 ราย 

          สำหรับในปี 2552 สกว. จะดำเนินการสนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาของเกษตรกรในการผลิตกล้วยไข่ให้มีคุณภาพสูง ต้านโรคและแมลง และปรับปรุงคุณภาพผลกล้วยไข่ในพื้นที่ของจังหวัดแพร่ นครสวรรค์ และชุมพร ซึ่งพบว่าเป็นแหล่งปลูกกล้วยไข่เพื่อบริโภคทั้งในประเทศ และส่งออก ประกอบทั้งเพื่อสร้างนักวิจัยในระดับปริญญาตรี และปริญญาโทที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการผลิต และการแก้ปัญหาในเรื่องกล้วย รวมทั้งสนับสนุนระบบการตัดสินใจ ในการเพิ่มพื้นที่ปลูกกล้วยในจังหวัดแพร่ และนครสวรรค์ต่อไป 


กล้วยไข่ไทยคุณภาพ : เทคโนโลยีเพื่อการส่งออก


          การประเมินผลความสำเร็จของการผลิตกล้วยไข่ในระดับเกษตรกร จากผลการสนับสนุนการวิจัยของ สกว. ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2549  พบว่า เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่สามารถลดต้นทุนการผลิตลง ลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ย ได้กล้วยไข่ที่มีคุณภาพสูง (ผิวไม่ลาย) ที่สามารถขายและส่งออกได้ราคาดี



อัพเดทล่าสุด