on fly stories: PBN (Performance Based Navigation)


1,969 ผู้ชม


on fly stories: PBN (Performance Based Navigation)

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันการบินพลเรือน
www.catc.or.th
ON  FLY  STORIES: PBN (Performance  Based  Navigation)  โดย....วิรัช  เทพารักษ์




on fly stories: PBN (Performance Based Navigation)
ปัจจุบันการนำร่องการบิน  (Navigation)  กำลังเข้าสู่ยุค  PBN  :  Performance  Based  Navigation  อธิบายง่ายๆ  นะครับ คือ ยุคที่เครื่องบินมีศักยภาพในการนำร่องด้วยตัวเองได้อย่างแม่นยำ  มีการตรวจสอบที่ดี  คลอบคลุม  และต่อเนื่องตลอดเวลา  (Accuracy , Integrity , Availability , and  Continuity)

ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกับ  Airspace  Concept  ก่อนครับ  Airspace  Concept  จะประกอบไปด้วย  3  ส่วนหลัก ๆ  คือ
1.  การควบคุมติดตาม  (Surveillance) 
2.  การติดต่อสื่อสาร  (Communication) 
3.  การนำร่อง  (Navigation) 
ในการบินทั้งสามส่วนต้องมีครบและพึ่งพาอาศัยกัน
ผมจะยกตัวอย่างให้นะครับ  ถ้าหากเราบินอยู่กลางมหาสมุทรห่างจากฝั่งมากกว่า  500nm  การควบคุมติดตามทำไม่ได้เลยเพราะอยู่นอกพื้นที่ครอบคลุมของเรดาร์  ดังนั้นการติดต่อสื่อสารก็ต้องทำตลอดเวลาเพื่อให้การติดตามเกิดขึ้นตลอดเวลา  แต่การติดต่อสื่อสารก็ทำได้ลำบาก  เพราะต้องติดต่อผ่านความถี่  HF  ซึ่งส่งสัญญาณได้ไกลกว่า  VHF  ที่มีรัศมีการใช้งานแค่ประมาณ  200nm  พอพูดถึงความถี่  HF  แล้วคนที่เป็นนักบินก็จะทราบดีว่าการติดต่อ  HF  จะมีความลำบากเนื่องจากคลื่นความถี่มีการรบกวนกันสูง  ฟังยากทั้งคนส่งและคนรับ  ข้อดีเพียงอย่างเดียวคือสื่อสารได้ไกล  ปัจจุบันจึงหาทางออกให้มีการใช้  Datalink  มาทดแทน  คือการสื่อสารด้วย  SATCOM  ผ่านการกดแป้นพิมพ์ส่งข้อความไปมาระหว่างเครื่องบินกับหอ  ทำให้  ATC  สามารถติดตาม  กำกับดูแลเครื่องบินเราได้สะดวกขึ้นแต่ก็ยังต้องใช้การติดต่อ  HF  เป็น  Backup  อยู่ดีครับ  เพราะ  SATCOM  มีโอกาสพบจุดอับสัญญาณเนื่องจากสภาพอากาศเหมือนกัน

ต่อเนื่องมาครับในเมื่อเราพูดถึงการควบคุมติดตามที่ไม่ดี  สามารถชดเชยด้วยการติดต่อสื่อสารที่ดีได้แล้วใช่ไหมครับ  แต่เมื่ออยู่กลางมหาสมุทร  ไม่ว่าอย่างไรก็ตามการติดต่อสื่อสารถือว่ายังยากกว่าอยู่ในบริเวณฝั่งพื้นดินอยู่ดี  เพราะสัญญาณการสื่อสารครอบคลุมกว่า  ดังนั้นทางออกคืออะไร...นั่นแหละครับ...ที่ผมจะพูดถึงในหัวข้อสุดท้าย  คือ  การนำร่องที่ดีครับ
ดังนั้นถ้าหากมีการนำร่องที่ดีแล้ว  ความจำเป็นที่จะต้องติดตามดูแล  หรือติดต่อสื่อสารก็จำเป็นน้อยลงไปในทันทีครับ  เพราะ ATC  จะหมดห่วง  (ตามหน้าที่ครับ)  แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าการนำร่องของเราดีแล้ว  ATC  จะได้สบายใจไม่ต้องติดตาม  เนื่องจากรู้ตลอดเวลาว่าเราอยู่ไหน  และบินถูกทิศทางแน่นอน  เราก็จำเป็นต้องมีอุปกรณ์คอยตรวจสอบความแม่นยำของการนำร่องของเราครับ  ซึ่งระบบนั้นมีติดอยู่บนเครื่องสมัยใหม่อยู่แล้วนั่นก็คือ  RAIM  :  Receiver  Autonomous  Integrity  Monitoring  ในวงการเรียกกันว่า  “แรม”  ซึ่งแปลง่ายๆ  ว่า  อุปกรณ์คอยตรวจสอบเครื่องรับสัญญาณอยู่ตลอดเวลา  (อันนี้ผมแปลเองนะครับ)  สัญญาณที่ว่าคือ  สัญญาณดาวเทียมจีพีเอสครับ  เจ้าตัวนี้จะเปรียบเทียบตำแหน่งของเครื่องบินกับจีพีเอสหลาย ๆ  ตัว  แล้ววเปรียบเทียบความถูกต้อง  เจ้าตัวนี้แหละครับเป็นหัวใจสำหรับการนำร่อง  แบบ  PBN  ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น  เมื่อการนำร่องที่ดีตาม  Airspace  concept  เราสามารถลดภาระของการติดต่อสื่อสารและการควบคุมติดตามได้มาก  นั่นก็หมายถึงจำนวนเงินมหาศาลที่ลดลงไปอีกด้วยครับ
ในแง่การนำไปใช้งาน  (Application)  ของระบบ  PBN  เราสามารถเพิ่มปริมาณการจราจรบนเส้นทางการบินได้มากขึ้น  เนื่องจากเราบินได้แม่นยำขึ้นไม่หลุดซ้ายที  ขวาที  ถนนก็สามารถซอยย่อยได้อีก  (เส้นทางเหล่านี้บน  Chart  จะกำหนดไว้ว่า  RNP …)  ในระดับ  Terminal  control  zone  ก็สามารถลดระยะทางในการทำ  Approach  ได้  เนื่องจากเครื่องบินไม่มีความจำเป็นจะต้องบินจุดต่อจุด  (Waypoint  to  Waypoint)  อีกต่อไป  การที่ต้องบินจุดต่อจุดก็เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเครื่องบินจะไม่บินออกนอกเส้นทางแน่นอนเพราะ  ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องบินผ่านจุดจุดนั้น  แต่ต่อจากนี้ไปเส้นทางบินโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  STAR  (Standard  Arrival  Route)  ก็ไม่ต้องกำหนดทุกจุดแล้ว  เนื่องจากเราสามารถบินตีโค้งไปมาตามจุดต่างๆ  ได้เพราะเครื่องบินของเราสร้างความมั่นใจได้ว่าสามารถบินอยู่บนเส้นทางได้อย่างแม่นยำ  ไม่เลี้ยวเกินขอบถนน  ส่งผลให้ระยะทางสั้นลง  เพราะสามารถออกแบบ  STAR  ที่โค้งไปมาตามข้อจำกัดของพื้นที่บริเวณสนามบินมาจนถึงแนวรันเวย์ได้ที่  Melbourne  STAR  จะสั้นลงจากปกติถึง  20nm  เลยทีเดียว
on fly stories: PBN (Performance Based Navigation)
สุดท้ายเมื่อทำการลงสนามในระดับ  CAT  I  เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสัญญาณ  ILS  หรือ  VOR  ที่ส่งมาจากสนามบินอีกต่อไปครับ  ในเมื่อความสามารถการนำร่องของเครื่องบินเราสูง  เราจะเก่งครับ  ของแค่มีรันเวย์ที่สามารถลงได้ก็จบครับ  ต่อให้มีอีกสี่ห้ารันเวย์ก็ไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์  ILS  (ค่าใช้จ่ายต่อตัวรวมสี่สิบล้าน  ยังไม่รวมค่าซ่อมบำรุงรายปีอีก)  เครื่องบินก็สามารถลงสนามบินได้อย่างสบายครับ  ต่อไปคาดว่าหลาย  ๆ  สนามบินในโลกจะเพิ่มการทำ  Approach  ประเภทนี้เรื่อยๆ  ครับ  ในประเทศไทยก็เริ่มแล้วที่ภูเก็ตเพราะเป็นสนามบินที่มีข้อจำกัดในด้านต่างๆ ค่อนข้างเยอะ  การทำ  RNP  Approach  สามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่างครับ  ทาง  AEROTHAI  ก็จะเริ่ม  Implement  ในสนามบินอื่นๆ  ตามมาในอนาคตครับ
โดยรวมแล้ว  PBN  คือการผลักภาระทุกอย่างมาให้แก่  Operator  คือ  Airline  ต่างๆ  ว่าต้อง  มีเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพ  เพื่อที่จะได้บินตามเส้นทางที่กำหนดได้  เพราะการบินตามเส้นทางที่กำหนดได้จะแก้ไขปัญหาต่างๆ  ที่เกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเพิ่มปริมาณการจราจร  หรือลดค่าใช้จ่ายต่างๆ  ที่ต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ  มาให้บริการกับเครื่องบินทุกรูปแบบ  นับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่จุดเดียวสามารถ  ทำให้ปัญหาต่างๆที่ตามมาหมดไปครับ  

อัพเดทล่าสุด