มารู้จักสบู่กัน
ขอขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของฝ่ายโภชนาการ กองส่งเสริมสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
https://www.phpd.cjb.net
สบู่แบ่งเป็นสบู่ถูตัวซึ่งมี 5 ชนิด ได้แก่ สบู่ถูตัวทั่วไป (toilet soap) สบู่ที่เติมสารระงับเชื้อ (antimicrobial soap) สบู่ประเทืองผิว (beauty soap) สบู่เด็ก (baby soap) และสบู่สังเคราะห์ (synthetic soap) และสบู่ประเภทอื่นๆ เช่น สบู่ยา (medicated soap) สบู่คาร์บอลิก (carbolic soap) สบู่ซักล้าง (laundry soap) สบู่เหลว (liquid soap)เป็นต้น
สบู่ถูตัวเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย (personal cleanliness product) เตรียมจากการ saponify ด่าง (sodium , potassium หรือ ammonium hydroxide) กับ fatty acid ของน้ำมันหรือไขมันจากพืชหรือสัตว์ได้เกลือ sodium, เกลือ potassium , เกลือ ammonium หรือเกลือ amine ของ fatty acid ของน้ำมันหรือไขมันจากพืชหรือสัตว์ ใช้สำหรับขจัดสิ่งสกปรกออกจากผิวหนัง อาจมีการเติมสารเสริมอื่นๆ เช่น สารระงับเชื้อ ได้แก่ trichlocarban , triclosan , สมุนไพร , สารที่มีประสิทธิภาพในการระงับเชื้ออื่นๆ , วิตามิน ได้แก่วิตามิน E acetate สารประเทืองผิวซึ่งเป็นกรด ไขมันหรือสารให้ความชุ่มชื้น (moisturizer) อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน เช่น cocoa butter ,น้ำมันแร่ (mineral oil), glycerine , sorbitol , propylene glycol เป็นต้น สบู่เด็กจะมีปริมาณไฮดรอกไซด์อิสระต่ำ เหมาะสำหรับ ผิวของเด็ก สำหรับสบู่สังเคราะห์จะอยู่ในรูปของสบู่ผงหรือสบู่เหลวและมีสารลดแรงตึงผิว (surfactant) ทั้งชนิด anionic , cationic non-ionic และ amphoteric
ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 29-2545 เรื่อง สบู่ถูตัว กำหนดว่าส่วนประกอบส่วนใหญ่ของ สบู่ถูตัว คือไขมัน โดยกำหนดปริมาณไม่น้อยกว่า 76.5 % w/w และไฮดรอกไซด์อิสระ(คำนวณเป็น sodium oxide) กำหนดไม่เกิน 0.05 % w/w ยกเว้นสบู่เด็กและสบู่สังเคราะห์มีได้ไม่เกิน 0.01 % w/w
โดยทั่วไปความเป็นกรด-ด่างของสบู่ถูตัวจะอยู่ในช่วง 9 ถึง 10 ยกเว้นสบู่บางสูตรที่มี สารให้ความชุ่มชื้นเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงจะมีค่าความเป็นกรด-ด่าง ไม่เกิน 7
สบู่ถูตัวใช้เพื่อทำความสะอาดร่างกาย เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วล้างออก จัดเป็นเครื่องสำอางทั่วไปตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 เรื่อง กำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของ เครื่องสำอางที่มีการควบคุมฉลากและประกาศคณะกรรมการเครื่องสำอาง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2536) เรื่องฉลากของเครื่องสำอางกำหนดว่าฉลากของเครื่องสำอางทั่วไปอย่างน้อยต้อง ระบุชื่อเครื่องสำอาง ประเภท ชื่อส่วน ประกอบสำคัญ ชื่อและที่ตั้งของผลิต/นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิต วิธีใช้เครื่องสำอาง ปริมาณสุทธิ และคำเตือนเกี่ยวกับ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่ออนามัยของบุคคล (ถ้ามี) ซึ่งผู้บริโภคควรอ่านฉลากและปฏิบัติตามวิธีใช้และคำเตือนเพื่อความปลอดภัย ของผู้บริโภค