Air Traffic Control Tower Simulator


1,257 ผู้ชม


Air Traffic Control Tower Simulator

ขอขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันการบินพลเรือน
www.catc.or.th
โดย สิริวุฒิ  และ  photo : ชายแดน




Air Traffic Control Tower Simulator


           ปัจจุบันการเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติการควบคุมจราจรทางอากาศของสถาบันการบินพลเรือนได้พัฒนาด้วยการนำเอาระบบ  Air  Traffic  Control  Tower  Simulator  (360  องศา) และแบบ  Table  Top  มาใช้สำหรับการเรียนการสอนเพื่อฝึกฝนให้นักศึกษาของสถาบันได้เรียนรู้จากอุปกรณ์ที่ทันสมัยเสมือนจริง  และในโอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก  อาจารย์พันศักดิ์  เนินทราย  กองวิชาการบริการการบิน  สถาบันการบินพลเรือน  จะมาพูดถึงรายละเอียดให้กับนักเรียนและนักศึกษาที่มีความสนใจในด้านการบินให้เข้าใจถึงการเรียนการสอนของระบบใหม่มากยิ่งขึ้นครับ


Air Traffic Control Tower Simulator


           ปัจจุบันการจราจรทางอากาศมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเดินอากาศ  และการควบคุมจราจรทางอากาศเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญที่สุดองค์ประกอบหนึ่งในการประกันความปลอดภัยในการเดินอากาศของอากาศยาน  โดยเฉพาะในปัจจุบันการเดินอากาศมีความจำเป็นมากขึ้นทำให้มีปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
           การจัดการจราจรทางอากาศได้พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีระดับ สูงและการบริหารจัดการที่ทันสมัย  ทำให้ต้องมีการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการจัดการจราจรทางอากาศให้มีความรู้ ความสามารถและมีทักษะในการปฏิบัติงานด้านการควบคุมจราจรทางอากาศเพื่อรองรับ กับปริมาณการจราจรางอากาศที่เพิ่มมากขึ้นและเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการ ปฏิบัติงานควบคุมจราจรทางอากาศให้เป็นไปด้วยความปลอดภัย  มีความคล่องตัวและสะดวกรวดเร็ว  ซึ่งนักศึกษาต้องมีความรู้ด้านบริหารจัดการจราจรทางอากาศ  และสามารถที่จะปฏิบัติงานเป็นผู้ควบคุมจราจรทางอากาศได้โดยมีคุณสมบัติครบ ถ้วนตามระบบการประเมินผลของมาตรฐานสากลที่กำหนด  สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการบริหารและการจัดการและเทคนิคในการ ปฏิบัติงานเพื่อวความปลอดภัยในการเดินอากาศ
           การวิชาบริการการบิน  สถาบันการบินพลเรือน  ได้ดำเนินการจัดซื้อระบบ  Air  Traffic  Control  Tower  Simulator  ใหม่  เพื่อนำมาใช้ฝึกภาคปฏิบัติให้กับนักศึกษาสาขาวิชาการจัดการจราจรทางอากาศและนักศึกษาหลักสูตรฝึกอบรม  Aerodrome  Control  License  and  Rating  ในส่วนของรายวิชาปฏิบัติการควบคุมจราจรทางอากาศบริเวณสนามบิน ซึ่งเป็นแบบ  360  องศาที่ทันสมัย  และได้ดำเนินการติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วที่อาคาร  11  ชั้น  2  เป็นระบบคอมพิวเตอร์สามารถจำลองสภาพการจราจรทางอากาศ  ณ  บริเวณสนามบินทั้งในภาคอากาศแก่เครื่องบินภายในวงจรและบริเวณใกล้เคียงขณะที่บินอยู่บริเวณรอบๆ  สนามบิน  หรือกำลังบินเข้า-ออกจากบริเวณสนามบิน ,  ขึ้น-ลงบนทางวิ่ง , การจราจรของเครื่องบินที่กำลังขับเคลื่อนอยู่บนทางขับและลานจอดรวมทั้งการขับเคลื่อนของยวดยานพาหนะต่างๆ  ในสนามบินและสามารถจำลองภูมิประเทศรอบๆ  สนามบินได้  โดยการฉายภาพที่เหมือนจริงให้ปรากฏบนจอภาพแบบ  360  องศา  โดยรอบหอบังคับการบินจำลอง  โดยสมมุติสถานการณ์ของการจราจรทางอากาศ  รวมทั้งสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ  ได้  Air  Traffic  Control  Tower  Simulator  360  องศา  แบบใหม่นี้สามารถจำลองสภาพของสนามบินได้หลายสนามบินหรือสร้างสนามบินที่ต้องการที่จะใช้ฝึกเองได้  เพื่อที่จะลองรับการพัฒนาการฝึกปฏิบัติที่หลากหลายได้ต่อไปด้วย
Air Traffic Control Tower Simulator
           พร้อมกันนี้กองวิชาบริการการบิน  ได้จัดซื้อ    Air  Traffic  Control  Tower  Simulator  ชนิด  Table  Top  ด้วย  เพื่อเพิ่มเติมจากห้อง  Simulator  แบบ  Table  Top  เดิมที่มีอยู่แล้ว  โดยการจำลองภาพของสนามบินลงบนโต๊ะที่มีอัตราย่อส่วนลงจากสนามบินจริง  มีหอบังคับการบินจำลอง  โดยมีการติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศบนหอบังคับการบินกับนักบินโดยใช้วิทยุติดต่อสื่อสาร  ที่ให้นักศึกษาถือเครื่องบินจำลอง  โดยสมมุติสถานการณ์ให้เดินตามจุดต่างๆ  ที่จำลองเป็นวงจรของสนามบิน  ซึ่งการฝึกปฏิบัติก็จะคล้ายๆ  กับการฝึกปฏิบัติของห้อง  Simulator  แบบ  360  องศาเช่นกัน
           ในเรื่องของการฝึกปฏิบัติการจัดการจราจรทางอากาศแบบใหม่ที่ใช้ห้อง    Air  Traffic  Control  Tower  Simulator  แบบ  360  องศา  กับห้อง  Simulator  แบบเดิมที่ใช้  Table  Top  นั้น  ห้องแบบชนิด  360  องศา เป็นแบบที่ทันสมัยมากที่สุด  ที่ให้ความเหมือนจริง  ซึ่งจะยกตัวอย่างความแตกต่างหลักๆ  ของการฝึกปฏิบัติระหว่างห้องฝึก  2  แบบนี้  เช่น  ห้องฝึกแบบชนิด  360  องศา  นักศึกษาจะเห็นภาพของเครื่องบินแต่ละแบบซึ่งเป็นแบบเดียวกับเครื่องบินที่บินจริง  เมื่อมีการควบคุมเครื่องบินหลายเครื่อง  นักศึกษาจะต้องจัดการและแนะนำให้ข่าวสารที่จำเป็นกับเครื่องบินที่อาจเกิดปัญหาซึ่งกันและกัน  นักศึกษาสามารถให้คำแนะนำ  โดยการแจ้งแบบของเครื่องบินที่นักศึกษาเห็นแก่เครื่องบินอีกเครื่องที่เกิดปัญหาจากจอภาพที่ปรากฏได้ทันที  รวมทั้งจุดเข้าต่อวงจรต่างๆ  ของเครื่องบินก็ถูกต้องตามระยะทางหรือระยะสูงที่สร้างไว้ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์  แต่ห้องแบบ  Table  Top  แบบจำลองของเครื่องบินที่นักศึกษาถือ  จะไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก  แทบจะเหมือนกันทั้งหมดทำให้การแนะนำแบบของเครื่องบินทำค่อนข้างลำบาก  และการเดินต่อวงจรการบินของนักศึกษายังทำได้ไม่ถูกจุด  ทำให้ยากต่อการตัดสินใจในการจัดระยะต่อของเครื่องบินในวงจร  จากที่สังเกตเห็นในการฝึกของนักศึกษา  ส่วนใหญ่ในห้องฝึกแบบ  Table  Top  มักจะมองหรือจำตัวเพื่อนๆ  ที่ถือเครื่องบินมากกว่าที่จะมองดูตัวแบบจำลองเครื่องบิน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของความเร็วของเครื่องบิน  ห้องแบบชนิด  360  องศา  ความเร็วของเครื่องบินก็เป็นความเร็วจริงที่ปรากฏ  แต่ห้องแบบ  Table  Top  ความเร็วของเครื่องบินจะมีปัญหามากเพราะการเดินเข้าต่อวงจรการบินของนักศึกษาเร็ว-ช้าไม่เท่ากัน  อาจารย์ผู้ควบคุมการฝึกต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สมจริงมากที่สุด  ดังนั้นปัญหาการจราจรทางอากาศที่เกิดขึ้น  นักศึกษาต้องใช้การตัดสินใจที่เด็ดขาดและถูกต้อง  เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  ณ  เวลานั้นๆ
           ปัจจุบัน  กองวิชาบริการการบิน  สถาบันการบินพลเรือน  ก็ยังคงต้องใช้การฝึกปฏิบัติแบบ  Table  Top  นี้อยู่ต่อไป ควบคู่กับห้อง  Simulator  แบบ  360  องศา  ซึ่งการฝึกแบบ  Table  Top  จะง่ายต่อการฝึกปฏิบัติ  เช่น  การเตรียมแบบฝึกหัด  ถ้าต้องการสถานการณ์จำลองแบบไหน  อาจารย์ผู้ควบคุมการฝึกสามารถปรับเปลี่ยนหรือแทรกสถานการณ์จำลองได้ตลอดเวลาขณะกำลังดำเนินการฝึกปฏิบัติ  อุปกรณ์ก็ไม่ยุ่งยาก  ที่สำคัญคือ  ห้องฝึกปฏิบัติแบบ  Table  Top  อาจารย์ผู้สอนสามารถดูแลนักศึกษาได้อย่างใกล้ชิด  เพราะมองเห็นนักศึกษาได้ทั้งหมด  ส่วนห้องแบบ  360  องศา  ส่วนของนักบินกับส่วนของผู้ควบคุมจราจรทางอากาศจะแยกกันเป็นสัดส่วน  รวมทั้งห้องแบบ Table  Top  อาจารย์สามารถสั่งให้หยุดแบบฝึกหัดที่กำลังดำเนินอยู่หรือสามารถย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ได้  เมื่อนักศึกษาตัดสินใจหรือปฏิบัติผิดพลาด  เพื่ออธิบายการปฏิบัติใหม่ที่ถูกต้องและชัดเจนให้กับนักศึกษา
           สถาบันการบินพลเรือน  ได้เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรการควบคุมจราจรทางอากาศมาตั้งแต่เริ่มต้น จัดตั้งเป็นศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย  ผลิตบุคลากรด้านการควบคุมจราจรทางอากาศมาแล้วหลายรุ่น  และมีเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศที่มีคุณภาพหลายร้อยคนจากสถาบันการบิน พลเรือน  ปฏิบัติงานด้านการควบคุมจราจรทางอากาศตามสนามบินต่างๆ  ทั่วประเทศ  สถาบันการบินพลเรือนเป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทย  ที่จัดการศึกษาด้านกิจการการบิน  ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ  และกรมขนส่งทางอากาศ  ที่ผลิตเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ  ( Air  Traffic  Controller)  ที่มีมาตรฐานมากว่า  47  ปี  และปัจจุบันนี้ทางสถาบันการบินพลเรือนก็มีห้องฝึกปฏิบัติ Air  Traffic  Control  Tower  Simulator  แบบ  360  องศา  ที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ฝึกปฏิบัติให้กับนักศึกษา  ดังนั้นนักศึกษาสาขาวิชาการจัดการจราจรทางอากาศจะได้รับการฝึกภาคปฏิบัติได้ ครบตามเวลาที่กำหนดตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ  เพื่อให้นักศึกษาได้เกิดทักษะและประสบการณ์ในการจัดการควบคุมจราจรทางอากาศ ก่อนที่จะออกไปปฏิบัติงานจริงต่อไป
นายวชิรศรณ์   ภูวงษ์  :  ปอAir Traffic Control Tower Simulator
หลักสูตร  :  การจัดการจราจรทางอากาศ  ชั้นปีที่  ๓  รุ่นที่  ๘

• เหตุผลที่เลือกเรียนสาขานี้
           โดยเป้าหมายของการเข้ามาเรียนที่นี่ก็คืออยากเป็นนักบินเป็นทุนเดิมอยู่แล้วครับ  แต่ตามหลักสูตรระดับปริญญาตรีจะมีการแยกสาขาเมื่อขึ้นชั้นปีที่  ๓  ก็จะเลือกศึกษาต่อในหลักสูตรนี้เพราะมีความเกี่ยวข้องกับนักบินโดยตรง  รวมถึงเป็นการฝึกทักษะและเรียนรู้การปฏิบัติงาน - ขั้นตอนในการควบคุมอากาศยานให้เกิดความปลอดภัย  และเพื่อเอาความรู้ที่ได้จากการเรียนสาขานี้ไปเป็นแนวทางสำหรับความฝันในอนาคตต่อไปครับ
• การเรียนปัจจุบันกับการเรียนแบบใหม่
           ลักษณะการเรียนแบบเดิมคือการเรียนแบบ  “Table  Top”  คือการให้นักเรียนแต่ละคนถือเครื่องบินจำลองเสมือนเป็นเครื่องบินแต่ละลำ  แล้วทำการบินในวงจร  (Aerodrome  Traffic  Circuit)  พร้อมกับทำการบินเช้า  -  ออกสนามบินเพื่อสร้างสถานการณ์รวมถึงมีการจำลองเหตุการณ์ฉุกเฉินและสิ่งผิด ปกติต่างๆ  เช่นรันเวย์ปิด , มีฝูกนกอยู่บริเวณหัวทางวิ่ง  หรือการปฏิบัติการบินของเครื่องบินทหารซึ่งจะทำการบินในเชิงยุทธวิธี  สิ่งเหล่านี้นักเรียนจะต้องมีการฝึกให้เกิดทักษะมากที่สุดเพื่อสร้างความ ปลอดภัยและความไว้วางใจแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะนักบินครับ
           ส่วนการเรียนแบบใหม่นั้นมีขั้นตอนการปฏิบัติเหมือนเดิมทุกประการ  แต่แตกต่างกันในเรื่องของสภาพแวดล้อมห้องเรียนจำลองเป็นรูปแบบการปฏิบัติงานจริงเสมือนว่าในขณะนั้นนักเรียนอยู่บนหอบังคับการบินจริง  ความสูงจริง  โดยให้ความสมจริงมากกว่าการเรียนแบบเดิมมาก  และในเมื่อมีการบินอยู่รอบทิศทาง  นักเรียนจะต้องให้ความสำคัญกับเครื่องบินรอบๆ  แต่แบบ  “Table  Top”  เป็นมุมมองแบบด้านเดียว  (เห็นทุกอย่าง)  จึงส่งผลให้นักเรียนต้องมีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
• เรียนจบแล้วทำงานที่ใดได้บ้าง
           ในความคิดของผมแล้วก็คือ  “ที่ไหนที่มีเครื่องบิน  เครื่องบินลำนั้นจะต้องมีการควบคุมดูแลเสมอ”  ดังนั้นการจัดการจราจรทางอากาศจำเป็นจะต้องมีอยู่ทุกที่ที่มีเครื่องบิน  โดยในปัจจุบันนั้นไม่เพียงบริษัท  วิทยุการบินแห่งประเทศไทย  จำกัด  เท่านั้นที่มีการให้บริการ ฯ  แต่แม้กระทั่งบนแท่นขุดเจาะน้ำมันเองก็ต้องมีการควบคุมด้วยซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประจำแท่น  เรียกว่า  “Radio  Operator”  ทำหน้าที่ดูแลอยู่  นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าปัจจุบันภายในประเทศของเรามีสนามบินส่วนตัวเกิดขึ้นอยู่มากมาย  ดังนั้นโอกาสของงานก็มีอยู่ทั่วทุกสารทิศ  แนวโน้มและโอกาสงานประเภทนี้ถือว่ามั่นคงในระดับหนึ่งเลยทีเดียวเพราะไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ภายนอกเลย  เช่น  น้ำมันหรือ  ทองคำ  ฯลฯ  เพราะอย่างไรก็ดี  “ทุกที่ที่มีเครื่องบินที่นั่นต้องมีการควบคุมการจราจรทางอากาศครับ
• คำแนะนำถึงน้องๆ  ที่จะเข้ามาเรียน
           ผมทราบดีว่าอาชีพนักบินต้องการคนที่มีความสามารถแบบ  Multi-Functions  ATC  เองก็เช่นกันครับ  เมื่อการปฏิบัติงานนั้นต้องการความเร็วก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแบ่งแยกหน้าที่ของความคิดเราให้เป็นสัดส่วน  อาจารย์จะคอยบอกเสมอว่า  “ATC  เราต้อง....ตาดู  หูฟัง  สมองคิด  ปากพูด  มือเขียน”  ซึ่งเป็นการทำอะไรหลายๆ  อย่างพร้อมๆ  กัน  ฟังดูแล้วอาจจะเหมือนยากนะครับ  แต่การเรียนของที่นี่  นักเรียนทุกคนจะมีมาจรฐานเดียวกัน  เปรียบได้ดัง  “การเจียระไนเพชร  แม้จะได้น้ำไม่เหมือนกันแต่ด้วยคุณสมบัติของเพชรแล้วแม้จะมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปแต่ก็ยังคงเป็นเพชรดีล้ำค่า”  เมื่ออ่านแล้วก็อย่าพึ่งท้อถอยครับ  ก็เพราะหน้าที่ของเราคือการให้บริการการบินอย่างรวดเร็วและอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัย  ดังนั้นน้องๆ  ที่อยากเรียนในสาขานี้อย่าพึ่งท้อครับ  จริงอยู่!  แม้ว่าสิ่งที่เรารับรู้นั้นมันจะยาก  แต่ยังไงความฝันของเรานะครับ  เมื่อฝันแล้วเราก็ต้องไปให้ถึง  น้อยคนที่จะได้เจอกับความฝันที่เป็นตัวตนแท้จริง  ถ้าวันนี้เราเจอมันแล้วจะปล่อยให้ลอยไปโดยไม่ทำอะไรเลยได้อย่างไรกัน  ฝันและไขว่คว้าหาโอกาส....นั่นคือกำลังใจสู่ฝันที่เป็นจริงครับ
นางสาว  เบญจพร  เกื้อกูลธเนศ  :  หยกAir Traffic Control Tower Simulator
หลักสูตรที่เรียน  :  การจัดการจราจรทางอากาศ

• เหตุผลที่เลือกเรียนสาขานี้
           ตอนแรกไม่คิดว่าจะเลือกเรียน  ATC  ค่ะ  เพราะรู้สึกว่าเรียนหนักมาก  เห็นรุ่นพี่เรียนแล้วดูเหนื่อยและหนักมาก  แต่พอถึงเวลาต้อง  เลือกว่าจะเรียนอะไรตอนจะขึ้นปี 3  ทุกคนก็แนะนำให้เลือก  ATC  รุ่นพี่ก็บอกว่าเรียนสนุก  ครอบครัว  ATC  อบอุ่น  จึงตัดสินใจสมัครสอบ  ATC  แล้วก็สอบได้  พอมาเรียนก็รู้สึกสนุก  ถึงจะเรียนหนักและเหนื่อย  แต่ก็สนุกดีค่ะ
• จบแล้วทำงานที่ไหนได้บ้าง
           สนใจงานที่บริษัท  วิทยุการบินแห่งประเทศไทย  จำกัด  หรืออาจจะเป็นแท่นขุดเจาะน้ำมันต่างๆ  ในทะเลและชายฝั่ง  โดยเราสามารถนำความรู้ที่มีไปใช้กับงานต่างๆ   และทำงานที่เกี่ยวกับการบินได้ทั้งหมด  เพราะ  ATC  เป็นแผนกที่เรียนหลากหลายกว่าแผนกอื่นๆ
• คำแนะนำถึงน้องๆ  ที่จะเข้ามาเรียน
           ATC  เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งสมาธิและความรับผิดชอบสูงค่ะ  ในการที่จะนำเครื่องบินสักลำที่บินเข้ามาในน่านฟ้าของประเทศไทยให้บินได้อย่างปลอดภัย  ก็อยากให้น้องๆ  ที่อยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ATC  ตั้งใจเรียนและมีความรับผิดชอบ  ถ้าตั้งใจจริงทุกสิ่งที่หวังก็ไม่ยากค่ะ


อัพเดทล่าสุด