แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555-2559)
โดย ประทีป ตั้งมติธรรม
มีโอกาสเข้าร่วมประชุมสัมมนาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ในฐานะเป็นตัวแทนจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
เนื้อหาสาระหลักๆ ของแผนฯ ฉบับที่ 11 ได้ประมวลไว้ใน วิสัยทัศน์ 3 พันธกิจ 3 วัตถุประสงค์ 4 เป้าหมายหลัก และ 7 ยุทธศาสตร์ ตามการศึกษาจากบริบทตลอดจนจุดแข็ง จุดอ่อนโอกาสและภัยคุกคามของประเทศไทย ดังนี้คือ :-
วิสัยทัศน์ "ประเทศมีความมั่นคงเป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง"
3 พันธกิจ ได้แก่ การพัฒนาฐานการผลิตและบริการ การสร้างความเป็นธรรมและ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และสร้างภูมิคุ้มกันจากวิกฤตการณ์
3 วัตถุประสงค์ เพื่อให้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน คนไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และพร้อมเชิญกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นสุข
4 เป้าหมายหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจมีความเข้มแข็งสมดุล ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น มีหลักประกันสังคมที่ทั่วถึง และสังคมไทยมีความสุขอย่างมีธรรมาภิบาล
7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การสร้างฐานการผลิตให้เข้มแข็ง สมดุล อย่างสร้างสรรค์ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการผลิต การค้า การลงทุน การพัฒนาคุณภาพคน ทั้งความรู้คู่คุณธรรม สังคม มั่นคงเป็นธรรม มีพลังและเอื้ออาทร เน้นการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความมั่นคงของพลังงานและอาหาร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
จะเห็นได้ว่า แผนฉบับที่ 11 นั้น เน้นการ "ตั้งรับ" มากกว่า "รุก" โดยเน้นการป้องกันปัญหาจากวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เพราะเราเพิ่งผ่านวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลก และวิกฤตการณ์ทางการเมืองภายในประเทศมาหมาดๆ
การเน้น "ภูมิคุ้มกัน" นั้นเป็นเพียงเป้าหมายขั้นต่ำเหมือนคนที่ปลอดโรค เพราะมีภูมิต้านทานโรค แต่ไม่ได้บอกว่าสุขภาพแข็งแรงมีกำลังวังชาดีเพียงไร
เชื่อว่าพวกเราไม่ได้ต้องการเพียงให้ประชาชนพอมีกินประชาชนควรจะ "กินดีอยู่ดี" และมี "คุณภาพชีวิต" ที่ดีขึ้นกว่าเดิม อีกนัยหนึ่ง ผลโดยรวมประเทศไม่ควรมีสถานะเพียงเกณฑ์เฉลี่ยของประเทศอาเซียนด้วยกันหรือเพียงแต่ดีกว่า พม่า ลาว กัมพูชา บ้าง แต่เราควรจะตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความ "มั่งคั่ง" อยู่ในชั้นแนวหน้าของอาเซียน ที่จะแข่งขันกับประเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ได้ และตัวอย่างที่ดีๆ ของประเทศนอกอาเซียนอื่นๆ เช่น เกาหลี และจีน เป็นต้น
เมื่อประเทศไทยมีความ "มั่งคั่ง" แล้วก็ไม่ต้องห่วงถึงปัญหาของ "ภูมิคุ้มกัน" อีก
การลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ควรบอกเป็นตัวเลขที่ชัดเจนว่า จะลดสัดส่วนความแตกต่างของคนจน คนรวย และจำนวนร้อยละของคนจนในประเทศลงเท่าไร
เป้าหมายต่างๆ ก็ควรตั้งเป็นตัวเลขดัชนีชี้วัด เช่น ความสุข รายได้ หนี้สิน อุบัติภัย อบายมุข ฯลฯ
ส่วน "ความสุข" ของสังคมนั้น แผนฉบับที่ 11 ของ สศช. ได้กล่าวไว้ในวัตถุประสงค์และเป้าหมายหลักว่า สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แต่ไม่ได้แสดงไว้ในวิสัยทัศน์ และไม่ได้เน้นถึง "ความสุขของแต่ละครัวเรือน" ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นวัตถุประสงค์และเป้าหมายอันดับแรกๆ ที่ประชาชนคนไทยต้องการ
"ความสุขของประชาชน" นั้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ทั่วโลกพยายามทำให้เกิดผล และเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญถึงความสำเร็จของการบริหารประเทศ
"ความสุขของประชาชน" นั้น ควรจะเกิดจากการที่ประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะมีสิ่งแวดล้อมดี ปลอดจากมลพิษภยันตรายต่างๆ ทั้ง ปัญหาอาชญากรรม อุบัติภัย และสารพิษปนเปื้อนต่างๆ อีกทั้ง ประชาชนต้องไม่มัวเมาในอบายมุข เช่น การพนัน เป็นต้น อันเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ ความยากจนเรื้อรังและปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ตามมาอีกมากมาย
"วิสัยทัศน์" ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้น เป็นองค์รวมที่แสดงถึงแนวทางนโยบายในการพัฒนาประเทศในระยะยาว จึงควรทำให้ประชาชนทุกคนเข้าใจตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ของรัฐฯ และเอกชนที่จะพัฒนาไปในแนวทางเดียวกัน ดังนั้น ควรใช้ถ้อยคำที่ชัดเจนเข้าใจง่าย และควรสื่อสารผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้เข้าใจและรับทราบอย่างทั่วถึง
ยุคสมัยหนึ่ง ผู้นำไทยเคยตั้งวิสัยทัศน์ด้วยถ้อยคำที่ จำง่าย เข้าใจง่าย ใจความชัดเจน ทำให้ประชาชนทั่วไปจำได้เป็นเวลานาน เช่น "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ"
วิสัยทัศน์ตามร่างของสภาพัฒน์ฯ ฉบับที่ 11 นั้น ถ้านำมาปรับปรุงให้เนื้อหาสาระครบถ้วน ทั้งความสุข ความมั่นคง และครอบคลุมทั้งประชาชน สังคม และประเทศ โดยจัดถ้อยจัดคำให้ง่ายต่อความเข้าใจแล้วก็ควรจะเป็น
"ประชาสุขสันต์ สังคมมั่งคง ประเทศมั่งคั่ง"
ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต้องการระดมความคิดจากทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ท่านที่มีความคิดเห็น ส่งได้ที่ : ตู้ ป.ณ. 49 ปทฝ. หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102 (วงเล็บที่มุมซองว่า แผนฯ 11) หรือ e-mail ที่ [email protected]
มติชนออนไลน์