อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia) สิ่งมีชีวิตที่จัดอยู่ในอาณาจักรมีมากกว่า 1.7 ล้านสปีชีส์ ในจำนวนนี้เป็นแมลงประมาณ 6 แสนชนิด สัตว์ถือเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในแง่ของผู้บริโภค ซึ่งเป็นผลทำให้มีการถ่ายทอดพลังงานไปยังผู้บริโภคระดับต่างๆ นอกจากนี้สัตว์ยังเป็นตัวทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีความสำคัญในการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช และก่อให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ เกณฑ์ในการพิจารณาและจัดสิ่งชีวิตเข้าไว้ในอาณาจักรสัตว์ 1. เซลล์แบบยูคาริโอต (eukaryotic cell) คือเซลล์ที่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส ในไซโทพลาสซึมมีออร์แกนเนลล์ต่างๆ กระจายอยู่ 2. ร่างกายประกอบด้วยเซลล์ชนิดที่ไม่มีผนังเซลล์ เรียกว่าเซลล์สัตว์ ทำให้เซลล์มีลักษณะอ่อนนุ่มและแตกต่างไปจากเซลล์พืช เซลล์เหล่านี้จะมารวมกันเป็นเนื้อเยื่อเพื่อทำหน้าที่เฉพาะอย่าง ซึ่งพบว่าเซลล์ในเนื้อเยื่อมักมีขนาดและรูปร่างเหมือนกัน มีการประสานการทำงานระหว่างกัน สัตว์ชั้นสูงมีเนื้อเยื่อหลายชนิดสามารถจำแนกตามหน้าที่และตำแหน่งที่อยู่ของร่างกายเป็น 5 ประเภท คือ เนื้อเยื่อบุผิว(epithelial tissue) เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ(muscular tissue) เนื้อเยื่อลำเลียง (vascular tissue) และเนื้อเยื่อประสาท (nervous tissue) 3. สร้างอาหารเองไม่ได้ เพราะไม่มีคลอโรฟิลล์ ดังนั้นการดำรงชีวิตจึงต้องกินสิ่งมีชีวิตอื่นเป็นอาหารซึ่งอาจเป็นพืชหรือสัตว์ด้วยกัน การดำรงชีวิตจึงมักเป็นแบบผู้ล่าเหยื่อหรือปรสิตเสมอ 4. โดยทั่วไปเคลื่อนที่ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิต มีบางชนิดพบว่าเมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้วเกาะอยู่กับที่ 5. โดยส่วนใหญ่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีระบบประสาท มีอวัยวะรับความรู้สึกและตอบสนอง เช่น การกินอาหาร การขับถ่าย การสืบพันธุ์ เป็นต้น เกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกหมวดหมู่ของอาณาจักรสัตว์ ปัจจุบันสัตว์ในโลกที่มนุษย์รู้จักมีมากกว่า 1 ล้านสปีชีส์ พบทั้งในน้ำจืด น้ำเค็มและบนบก ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ สัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง (invertebrate) และสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง (vertebrate) และสามารถจำแนกเป็นไฟลัมต่าง ๆ ได้ราว 35 ไฟลัม แต่ส่วนใหญ่จะเรียนรู้กันเฉพาะไฟลัมใหญ่ ๆ เท่านั้น ซึ่งในการจัดจำแนกจะใช้เกณฑ์ต่าง ๆดังนี้ 1. ระดับการทำงานร่วมกันของเซลล์ (level of cell organization) โดยดูการร่วมกันทำงานของเซลล์และการจัดเป็นเนื้อเยื่อนั้น มีลักษณะเป็นอย่างไรมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งทำให้แบ่งสัตว์ออกเป็นพวกใหญ่ ๆ คือ 1.1 เนื้อเยื่อที่ไม่แท้จริง( no true tissue) เรียกสัตว์กลุ่มนี้ว่า พาราซัว (parazoa) เนื่องจากเซลล์ในสัตว์กลุ่มนี้ไม่มีการประสานงานกันระหว่างเซลล์ โดยเซลล์ทุกเซลล์จะมีหน้าที่ในการดำรงชีวิตของตนเอง หน้าที่ทั่วไปคือด้านโภชนาการ และสืบพันธุ์ ได้แก่ พวกฟองน้ำ 1.2 เนื้อเยื่อที่แท้จริง (true tissue) เรียกสัตว์กลุ่มนี้ว่า ยูเมตาซัว (eumetazoa) ซึ่งเนื้อเยื่อจะถูกสร้างขึ้นเป็นชั้น หรือเรียกว่า ชั้นของเนื้อเยื่อ (germ layer) มี 2 ประเภทคือ 1.2.1 เนื้อเยื่อ 2 ชั้น (diploblastica) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อชั้นนอก (ectoderm) และเนื้อเยื่อชั้นใน (endoderm) ได้แก่ พวกไฮดรา แมงกะพรุน โอบีเลีย 1.2.2. เนื้อเยื่อ 3 ชั้น (triploblastica) ประกอบด้วยเนื้อเยื่อชั้นนอก ชั้นกลาง (mesoderm) และชั้นใน ได้แก่พวกหนอนตัวแบนขึ้นไป จนถึงสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง 2. สมมาตร (symmetry) คือลักษณะการแบ่งร่างกายออกเป็นซีก ๆ ตามความยาวของซีกเท่า ๆ กัน มีอยู่ 3 ลักษณะ ได้แก่ 2.1 ไม่มีสมมาตร (asymmetry) มีรูปร่างไม่แน่นอน ไม่สามารถแบ่งซีกซ้ายและซีกขวาได้ เท่า ๆ กัน ได้แก่ พวกฟองน้ำ 2.2 สมมาตรแบบรัศมี (radial symmetry) ร่างกายของสัตว์จะมีรูปร่างคล้ายทรงกระบอก หรือล้อรถ ถ้าตัดผ่านจุดศูนย์กลางแล้วจะตัดอย่างไรก็ได้ 2 ส่วนที่เท่ากันเสมอ หรือเรียกว่า มีสมมาตรที่ผ่าซีกได้เท่า ๆ กันหลาย ๆ ครั้งในแนวรัศมี ได้แก่ สัตว์พวกไฮดรา แมงกะพรุน ดาวทะเล เม่นทะเล 2.3 สมมาตรแบบครึ่งซีก (bilateral symmetry) หรือมีสามาตรที่ผ่าซีกได้เท่า ๆ กัน เพียง 1 ครั้ง สมมาตรแบบนี้สามารถผ่าหรือตัดแบ่งครึ่งร่างกายตามความยาวของลำตัวแล้วทำให้ 2 ข้างเท่ากัน ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น ได้แก่ พวกหนอนตัวกลม แมลง สัตว์มีกระดูกสันหลัง 3. ลักษณะช่องว่างในลำตัวหรือช่องตัว (body cavity or coelom) คือช่องว่างภายในลำตัวที่อยู่ระหว่างผนังลำตัวกับอวัยวะภายในตัว ภายใน coelom มักจะมีของเหลวอยู่เต็ม ของเหลวเหล่านี้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งระบบไหลเวียนโลหิตง่าย ๆ ในสัตว์บางพวกช่วยลำเลียงสารอาหาร ออกซิเจน และของเสีย เป็นต้น อีกทั้งยังช่วยลดแรงกระแทกจากภายนอกที่อาจเป็นอันตรายต่ออวัยวะภายใน และยังเป็นบริเวณที่ทำให้อวัยวะภายในเคลื่อนที่ได้อิสระจากผนังลำตัว ยอมให้อวัยวะขยายใหญ่ได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกสัตว์ได้ แบ่งเป็น 3 พวกคือ 3.1 ไม่มีช่องว่างในลำตัวหรือไม่มีช่องตัว (no body cavity or acoelom) เป็นพวกที่มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้นอยู่ชิดกัน โดยไม่มีช่องว่างในแต่ละชั้น ได้แก่พวกหนอนตัวแบน 3.2 มีช่องตัวเทียม (pseudocoelom) เป็นช่องตัวที่เจริญอยู่ระหว่าง mesoderm ของผนังลำตัว และ endoderm ซึ่งเป็นทางเดินอาหาร ช่องตัวนี้ไม่มีเยื่อบุช่องท้องกั้นเป็นขอบเขต ได้แก่ พวกหนอนตัวกลม โรติเฟอร์ (rotifer) 3.3 มีช่องตัวที่แท้จริง (eucoelom or coelom) เป็นช่องตัวที่เจริญแทรกอยู่ระหว่าง mesoderm 2 ชั้น คือ mesoderm ชั้นนอกเป็นส่วนหนึ่งของผนังลำตัว (body wall) กับ mesoderm ชั้นในซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผนังลำไส้ (intestinal wall) และ mesoderm ทั้งสองส่วนจะบุด้วยเยื่อบุช่องท้อง (peritoneum) ได้แก่ ไส้เดือนดิน หอย แมลง ปลา สัตว์มีกระดูกสันหลัง เป็นต้น 4. การเกิดช่องปาก ซึ่งสามารถแบ่งสัตว์ตามการเกิดช่องปากได้ 2 กลุ่ม 4.1 โปรโตสโตเมีย (protostomia) เป็นสัตว์พวกที่ช่องปากเกิดก่อนช่องทวารในขณะที่เป็นตัวอ่อน ซึ่งช่องปากเกิดจากบลาสโตพอร์ หรือบริเวณใกล้ ๆ บลาสโตพอร์ (blastopore) ได้แก่ พวกหนอนตัวแบน หนอนตัวกลม หนอนมีปล้อง หอย สัตว์ขาปล้อง 4.2 ดิวเทอโรสโตเมีย (deuterostomia) เป็นสัตว์พวกที่ช่องปากเกิดภายหลังช่องทวาร เกิดจากช่องใหม่ที่จะเจริญพัฒนาไปเป็นทางเดินอาหารซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ บลาสโตพอร์ ได้แก่ พวกดาวทะเล และสัตว์มีกระดูกสันหลัง 5. ทางเดินอาหาร (digestive tract) โดยทั่วไปแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ 5.1 ทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์ (incomplete digestive tract) เป็นทางเดินอาหารของสัตว์ที่มีปากแต่ไม่มีทวารหนัก หรือมีช่องทางเดินอาหารเข้าออกทางเดียวกัน หรือทางเดินอาหารแบบปากถุง (one-hole-sac) ได้แก่พวกไฮดรา แมงกะพรุน หนอนตัวแบน 5.2 ทางเดินอาหารแบบสมบูรณ์ (complete digestive tract) เป็นทางเดินอาหารของสัตว์ที่มีทั้งปากและทวารหนัก หรือมีช่องทางเข้าออกของอาหารคนละทางกัน หรือทางเดินอาหารแบบท่อกลวง (two-hole-tube) ได้แก่ พวกหนอนตัวกลม จนถึงสัตว์มีกระดูกสันหลัง 6. การแบ่งเป็นปล้อง (segmentation) การแบ่งเป็นปล้องเป็นการเกิดรอยคอดขึ้นกับลำตัวแบ่งออกเป็น 6.1 การแบ่งเป็นปล้องเฉพาะภายนอก (superficial segmentation) เป็นการเกิดปล้องขึ้นเฉพาะที่ส่วนผิวลำตัวเท่านั้นไม่ได้เกิดตลอดตัว เช่น พยาธิตัวตืด 6.2 การแบ่งเป็นปล้องที่แท้จริง (metameric segmentation) เป็นการเกิดปล้องขึ้นตลอดลำตัวทั้งภายนอกและภายใน โดยข้อปล้องเกิดขึ้นในเนื้อเยื่อชั้นกลาง ทำให้เนื้อเยื่อชั้นอื่น ๆ เกิดเป็นปล้องไปด้วย ได้แก่ ไส้เดือน กุ้ง ปู แมลง ตลอดไปจนสัตว์มีกระดูกสันหลังทุกชนิด สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรนี้แบ่งเป็น 9 ไฟลัม คือ 1. ไฟลัมพอริเฟอรา (Phylum Porifera) 2. ไฟลัมซีเลนเทอราตา (Phylum Coelenterata) 3. ไฟลัมเนมาโทดา (Phylum Nematoda) 4. ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Phylum Arthropoda) 5. ไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum Chordata) 6. ไฟลัมเอชิโนเดอร์มาตา (Phylum Echinodermata) 7. ไฟลัมแพลทีเฮลมินเทส (Phylum Platyhelminthes) 8. ไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca) 9. ไฟลัมแอนเนลิดา (Phylum Annelida)
การจำแนกชนิดของสิ่งมีชีวิต
ปัจจุบันมีสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการจำแนกชนิดประมาณ 2 ล้านชนิด โดยจำแนกออกเป็นอาณาจักร (Kingdom) ต่าง ๆกันถึง 5 อาณาจักร ซึ่งเป็นระบบที่นิยมกันมากที่สุดในปัจจุบัน
การจำแนกชนิดของสิ่งมีชีวิตนั้นอาศัยลักษณะสำคัญที่เป็นลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตแต่ละกลุ่ม โดยการแบ่งตามลำดับชั้นจากกลุ่มใหญ่ที่สุดลงไปถึงชนิดดังนี้
อาณาจักร (Kingdom)
ไฟลัม (Phylum) ของสัตว์ หรือดิวิชัน (Division) ของพืช
ชั้น (Class)
อันดับ (Order)
วงศ์ (Family)
สกุล (Genus)
ชนิด (Species)
การจำแนกอาณาจักรสิ่งมีชีวิต ออกเป็น 5 อาณาจักรดังนี้
อาณาจักรมอเนอรา (Kingdom Monera)
อาณาจักรเห็ดรา (Kingdom Fungi)
อาณาจักรโพรทิสตา (Kingdom Protista)
อาณาจักรพืช (Kingdom Plantae)
อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia)
อาณาจักรมอเนอรา (Kingdom Monera)
มอเนอราเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกเซลล์เดียวที่ไม่มีนิวเคลียส หรือไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส เรียกสิ่งมีชีวิตพวกนี้รวมๆ ว่า โพรแคริโอต (Prokaryote) ได้แก่ แบคทีเรีย และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน หรือไซอาโนแบคทีเรีย (cyanobacteria)
อาณาจักรเห็ดรา (Kingdom Fungi)
เห็ดราเป็นสิ่งชีวิตที่เซลล์มีนิวเคลียสหรือมีเยื่อหุ้มนิวเคลียสเรียกว่า ยูแคริโอต (eukaryote) อาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่เซลล์เดียวหรือหลายเซลล์ ไม่มีคลอโรฟิลล์ สังเคราะห์อาหารเองไม่ได้ กินอาหารโดยสร้างน้ำย่อยแล้วปล่อยออกมาย่อยสารอินทรีย์จนเป็นโมเลกุลเล็กและดูดเข้าเซลล์ (saprophyte) ได้แก่ เห็ดและราชนิดต่างๆ
อาณาจักรโพรทิสตา (Kingdom Protista)
โพรทิสตาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์ชนิดยูแคริโอต มีทั้งชนิดเซลล์เดียวและหลายเซลล์ ได้แก่ สัตว์เซลล์เดียว (protozoa) สาหร่ายต่างๆได้แก่ สาหร่ายสีเขียว สาหร่ายสีน้ำตาล สาหร่ายสีแดง สาหร่ายสีทอง เช่น ไดอะตอม
อาณาจักรพืช (Kingdom Plantae)
พืชเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ เซลล์เป็นชนิดยูแคริโอต มีสารสีเพื่อการสังเคราะห์ด้วยแสงเรียกว่าคลอโรฟิลล์ ซึ่งมีหลายชนิด มีผนังเซลล์เป็นสาร เซลลูโลส สืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ มีวัฏจักรชีวิตแบบสลับ (alternation of generation) การจำแนกเป็นไฟลัมหรือดิวิชันใช้ลักษณะวัฏจักรชีวิตแบบสลัลที่มีระยะแกมีโทไฟต์ (gemetophyte) และสปอโรไฟต์ (sporophyte) การมีท่อลำเลียงอาหารและน้ำ มีรากและใบ และมีดอก (fower) หรือไม่มีดอก แบ่งออกเป็นดิวิชัน ดังนี้
1. ดิวิชันไบรโอไฟตา (Division Bryophyta) เป็นพืชขนาดเล็ก ไม่มีระบบท่อลำเลียง มีระยะแกมีโทไฟต์เจริญเป็นอิสระนานกว่าระยะสปอโรไฟต์ ได้แก่ มอสส์ (moss) ลิเวอร์เวิร์ต (liverwort) และฮอร์นเวิร์ต (hornwort)
2. ดิวิชันไซโลไฟตา (Division Psilophyta) พืชมีลำต้นยาวเรียว เริ่มมีท่อลำเลียง ไม่มีใบและรากที่แท้จริง ได้แก่สกุล Psilotum หรือหวายทะนอย
3. ดิวิชันไลโคไฟตา (Divison Lycophyta) พืชโบราณ มีใบและรากที่แท้จริง มีท่อลำเลียง ได้แก่ สกุลSelagilnella หรือตีนตุ๊กแก สกุล Lycopediun หรือหญ้ารังไก่ สามร้อยยอด
4. ดิวิชันสฟีโนไฟตา (Division Sphenophyta) ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อ ๆ มีรากและใบที่แท้จริง มีท่อลำเลียงที่แท้จริง ได้แก่สกุล Equisetum หรือหญ้าถอดปล้อง สนหางม้า
5. ดิวิชันเทอโรไฟตา (Division Pterophyta) เป็นพืช เริ่มมีท่อลำเลียงพัฒนาดีขึ้น ไม่มีดอก ได้แก่เฟิร์น ผักแว่น จอกหูหนู แหนแดง ชายผ้าสีดา
6. ดิวิชันไพโนไฟตา (Division Pinophyta) เป็นพืชยืนต้น มีเนื้อไม้ มีท่อลำเลียงที่พัฒนาดีขึ้น มีรากและใบ มีเมล็ด แต่เมล็ดไม่มีส่วนหุ้มเมล็ด (คือ เปลือย [ghymnosperm]) แบ่งเป็นสามซับดิวิชัน (subdivision) คือ
6.1 ซับดิวิชัน Cycadicae คือพืชพวกปรง (Cycas)
6.2 ซับดิวิชัน Pinicae ได้แก่ แป๊ะก้วย สกุล Ginkgo และพืชพวกสน เช่น สนสองใบ (Pinus merkusii) สนสามใบ (Pinus Kesiya) ไซเพรสส์ (Cypress) เรดวูด (redwood)
6.3 ซับดิวิชัน Gneticae ส่วนใหญ่เป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ เช่น มะเมื่อย สกุล Gnetum และพืชในทะเลทรายแอฟริกา สกุล Welwitschia
7. ดิวิชันแมกโนลิโอไฟตา (Division Magnoliophyta) คือพืชไม้ดอกที่มีท่อลำเลียง มีใบและราก มีเมล็ดที่มีรังไข่ห่อหุ้ม แบ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (monocots) และพืชใบเลี้ยงคู่ (dicots) หรือแบ่งเป็นสองชั้นคือ
7.1 ชั้นแม็กโนลิออปซิดา (Class Magnoliopsida [dicots]) เช่น มะลิ
7.2 ชั้นลิลิออปซิดา (Class liliopsida [monocots]) เช่น ข้าว กล้วย หญ้า
อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia)
สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ ประกอบด้วยเซลล์ชนิดยูแคริโอต การจำแนกเป็นไฟลัมต่างๆใช้ลักษณะสำคัญคือ จำนวนชั้นของเนื้อเยื่อ ช่องภายในตัว ปล้องขา ลำตัว ชนิดของท่อทางเดินอาหาร สมมาตร (symmetry) ของลำตัว ชนิดของระบบไหลเวียน และการพัฒนาของระบบอื่นๆ แบ่งออกเป็นสอง ซับคิงดอม (Subkingdom) คือ ซับคิงดอมพาราซัว (Parazoa) ได้แก่ฟองน้ำและซับคิงดอมเมทาซัว (Metazoa) ได้แก่สัตว์อื่นๆที่เหลือ ซึ่งแบ่งย่อยเป็นไฟลัมต่างๆมากถึง 30 ไฟลัมในปัจจุบัน แต่ที่สำคัญมี 10 ไฟลัมคือ
1. ไฟลัมพอริเฟอรา (Phylum Porifera) เป็นสัตว์หลายเซลล์ ไม่มีสมมาตร ลำตัวเป็นรูพรุน มีช่องน้ำเข้าและช่องน้ำออก มีโครงร่างแข็งหรือเป็นเส้นใยโปรตีน เช่น ฟองน้ำแก้ว สกุล Euplectella ฟองน้ำน้ำจืด สกุล Spongilla ฟองน้ำถูตัว สกุล Spongia
2. ไฟลัมซีเลนเทอราตา (Phylun Coelenterata) เป็นสัตว์ที่มีเนื้อเยื่อสองชั้น มีสมมาตรแบบรัศมี(radial symmetry) มีท่อทางเดินอาหาร แต่ไม่มีช่องตัว มีเซลล์ไนโดไซต์ (cnidocyte) สร้างเข็มพิษ (nematocyst) แบ่งเป็นสามชั้น
2.1 ชั้นไฮโดรชัว (Hydrozoa) ได้แก่ ไฮดรา (Hydra) แมงกะพรุนไฟ (Physalia)
2.2 ชั้นไซโฟซัว (Scyphozoa) ได้แก่ แมงกะพรุนหนัง (Aurelia) แมงกะพรุนไฟ (Chironex)
2.3 ชั้นแอนโทซัว (Anthozoa) ได้แก่ ปะการัง (coral) ปะการังเขากวาง (Acrepora) กัลปังหา (sea fan)
3. ไฟลัมแพลทิเฮลมินทีส (Phylum Platyhelminthes) ได้แก่ หนอนตัวแบน มีเนื้อเยื่อสามชั้น ไม่มีช่องตัว มีสมมาตรแบบด้านข้าง (bilateralsymmetry) มีระบบย่อยอาหาร (บางชนิดไม่มี) แบ่งเป็นสามชั้น
3.1 ชั้นเทอร์เบลลาเรีย (Turbellaria) ได้แก่ พลานาเรีย (Dugesia)
3.2 ชั้นทรีมาโทดา (Trematoda) ได้แก่ พยาธิใบไม้ (fluke) เช่น พยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchis viverrini)
3.3 ชั้นเซสโทดา (Cestoda) ได้แก่ พยาธิตัวตืด (tape worm) เช่น พยาธิตัวตืดหมู (Taenia solium)
4. ไฟลัมเนมาโทดา (Nematoda) ได้แก่ หนอนตัวกลม มีเนื้อเยื่อสามชั้นมีสมมาตรแบบด้านข้าง มีช่องตัวเทียม (pseudocoet) เช่น พยาธิไส้เดือน (Ascaris lumbricoides) โรคเท้าช้าง (Brugia malayi)
5. ไฟลัมแอนเนลิดา (Phylum Annelida) หนอนปล้อง ลำตัวแบ่งเป็นปล้องชัดเจน มีเนื้อเยื่อสามชั้นมีสมมาตรแบบด้านข้าง มีช่องตัวที่แท้จริง (coelom) มีระบบไหลเวียนและระบบประสาท แบ่งเป็นสามชั้น
5.1 ชั้นโพลีคีตา (Polychaeta) ได้แก่ แม่เพรียง (Nereis) หนอนฉัตร (trbe worm)
5.2 ชั้นโอลิโกคีตา (Oligochaeta) ได้แก่ ไส้เดือนดิน (Pheretima)
5.3 ชั้นไฮรูดิเนีย (Hirudinea) ได้แก่ ปลิง (leech) ทากดูดเลือด (landleech)
6. ไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca) ลำตัวนิ่มมักมีเปลือกหุ้มเนื้อเยื่อสามชั้น มีสมมาตรด้านข้างมีช่องตัวลดรูปจนมีขนาดเล็ก มีระบบไหลเวียนและระบบประสาท แบ่งเป็นห้าชั้น
6.1 ชั้นแอมฟินิวรา (Amphimeura) ได้แก่ ลิ่นทะเล (chiton)
6.2 ชั้นแกสโทรโพดา (Gastropoda) ได้แก่ หอยกาบเดี่ยว (snail) หอยทาก (slug) ทากทะเล (nudibranch)
6.3 ชั้นแพลีไซโพดา (Pelecypoda) ได้แก่ หอยกาบคู่ (bivalves) เช่นหอยแมลงภู่ (Mytilus biridis)
6.4 ชั้นสแคโฟโพดา (Scaphoposa)ได้แก่ หอยงาช้าง (tusk shell)
6.5 ชั้นเซฟาโลโพดา (Cephalopoda) ได้แก่ ปลาหมึกสาย หรือปลาหมึกยักษ์ (Octopus) ปลาหมึกกล้วย (Loligo) หอยงวงช้าง (nautilus)
7. ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Phylum Arthropoda) สัตว์ที่มีลำตัวแบ่งเป็นปล้องมีโครงร่างภายนอกหรือเปลือกปกคลุม ขาต่อเป็นข้อๆ สมมาตรแบบด้านข้างมีระบบไหลเวียนและระบบประสาท แบ่งเป็นสองซับไฟลัม คือ เคลิเซอราตา (Chelicerata) ได้แก่ แมงดาทะเล และแมงมุม และซับไฟลัมแมนดิบูลาตา (Mandibulata) เช่น กุ้ง ปู ตะขาบ กิ้งกือ แบ่งเป็นชั้นดังนี้
7.1 ไซโฟซูริดา (Xiphosurida) ได้แก่ แมงดาจาน (Tachypleus gigas)
7.2 อะแร็กนิดา (Arachnida) ได้แก่ แมงมุม แมงป่อง
7.3 ครัสเตเชีย (Crustacea) ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู เพรียงหิน
7.4 ไคโลโพดา (Chilopida) ได้แก่ ตะขาบ
7.5 ไดโพลโพดา (Diplopoda)ได้แก่ กิ้งกือ
7.6 อินเซกตา (Insecta) ได้แก่ แมลงต่างๆ
8. ไฟลัมอีคิโนเดอร์มาตา (Phylum Echinodermata) เป็นสัตว์ทะเลทั้งหมด ผิวหนังมีหนาม ตัวอ่อนมีสมมาตรด้านข้าง ตัวเต็มวัยมีสมมาตรรัศมีมีระบบน้ำใช้ในการเคลื่อนที่ มีระบบไหลเวียน ระบบประสาท และระบบท่อทางเดินอาหาร จำแนกเป็นห้าชั้น
8.1 ชั้นแอสเทอรอยเดีย (Asteroidea) ได้แก่ ปลาดาว หรือดาวทะเล (star fish)
8.2 ชั้นโอฟิยูรอยเดีย (Ophiuroidea) เช่น ดาวเปราะ (brittle star)
8.3 ชั้นอีคิยูรอยเดีย (Echiuroidea) เช่น เม่นทะเล (sea urchin) เหรียญทราย (sand dollar)
8.4 ชั้นโฮโลทูรอยเดีย (Holothuroidea) เช่น ปลิงทะเล (sea cucumber)
8.5 ไคนอยเดีย (Crinoidea) เช่น ดาวขนนก (feather star) พลับพลึงทะเล (sea lilly)
9. ไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum Chordata) สัตว์มีกระดูกสันหลัง มีสมมาตรด้านข้าง มีช่องตัวอย่างแท้จริง มีระบบต่างๆพัฒนาสูงสุด จำแนกเป็นสามซับไฟลัมคือ
9.1 ซับไฟลัมยูโรคอร์ดาตา (Subphhylum Urochordata) ได้แก่ เพรียงหัวหอม (tunicate)
9.2 ซับไฟลัมเซฟาโลคอร์ดาตา (Subphylum Cephalochordata)ได้แก่แอมฟิออกซัส(Amphioxus)
9.3 ซับไฟลัมเวอร์ทีบราตา (Vertebrata) ได้แก่ สัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด จำแนกเป็นชั้นดังนี้
9.3.1 ชั้นแอ็กนาทา (Agnatha) ได้แก่ ปลาปากกลม (cyclostome)
9.3.2 ชั้นคอนดริกไทอีส (Chomdrichthyes) ได้แก่ ปลากระดูกอ่อน เช่น ปลาฉลาม ปลาฉนาก ปลากระเบน
9.3.3 ชั้นออสทีอิกไทอีส (Osteichthyes) ได้แก่ ปลากระดูกแข็ง เช่น ปลากะพง ปลาช่อน ปลาหมอเทศ
9.3.4 ชั้นแอมฟิเบีย (Amphibia) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ได้แก่ กบ คางคก เขียด แซลาแมนเดอร์
9.3.5 ชั้นแรปทิเลีย (Reptilia) สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ เต่า ตะพาบน้ำ แย้ ตะกวด จิ้งจก จิ้งเหลน จระเข้
9.3.6 ชั้นเอวีส (Aves) ได้แก่ นกชนิดต่างๆ เป็ด ไก่
9.3.7 ชั้นแมมมาเลีย (Mammalia) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ แพลทิปัสปากเป็ด(duck-billed platypus) สัตว์มีถุงหน้าท้อง (marsupials) เช่น จิงโจ้ โอพอส ซัม แทสมาเนียนเดวิล สัตว์มีรก (placenta) เช่น กระรอก กระต่าย วัว ควาย ช้าง แรด ลิง คน