เอสพลานาด รัชดาภิเษก
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
-
เอสพลานาด รัชดาภิเษก (Esplanade Ratchadapisek) ตั้งอยู่บน ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ภายในเป็นห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ และศูนย์ความบันเทิงอื่น ๆ ตัวอาคารสูง 6 ชั้นและชั้นใต้ดิน 1 ชั้น มีพื้นที่ทั้งหมด 105,000 ตารางเมตร บริหารโครงการโดยบริษัทสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เริ่มเปิดอย่างไม่เป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2549[1] มีแนวความคิดให้เป็น ศูนย์ศิลปะบันเทิงแห่งแรกของไทย (Art & Entertainment Center)
นอกจากนี้ เอสพลานาด ยังเปิดให้บริการสาขาที่ 2 เอสพลานาดซีนีเพล็กซ์ รัตนาธิเบศร์ ตั้งอยู่ริมถนนรัตนาธิเบศร์ เขตเทศบาลนครนนทบุรี ซึ่งเช่าพื้นที่บางส่วนของ เทสโก้ โลตัส สาขารัตนาธิเบศน์ ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์ 16 โรง ลานโบว์ลิ่ง สเก็ตน้ำแข็ง คาราโอเกะ และร้านค้าต่างๆมากมาย เปิดให้บริการเมื่อ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552
เอสพละนาด ใช้งบการลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท[1]ออกแบบตัวอาคารโดยบริษัท The Office of Bangkok Architect ส่วนการตกแต่งภายในโดย Jacqueline et Henri Boiffils สถาปนิกจากปารีส ที่มีผลงานการออกแบบให้กับเอ็มโพเรี่ยม และสยามพารากอน แต่มีข้อแตกต่างคือมีพื้นที่การจัดแสดงงานศิลป์และศูนย์วัฒนธรรมอยู่ภายใน
ภายใน ดิ เอสพละนาด มีการตกแต่งและแนวความคิดภายใต้ศิลปะ 7 แขนงประกอบด้วยด้านดนตรี (Music) ประติมากรรม (Sculpture) ภาพวาด (Painting) วรรณกรรม (Poetry) โรงละครเพลง (Performing Art)สถาปัตยกรรม (Architecture) และภาพยนตร์ (Celluloid Art) มีร้านค้ามากกว่า 120 ร้าน และศูนย์ความบันเทิงต่าง ๆ ซึ่งบางส่วนยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง มีรายละเอียดดังนี้
- โรงภาพยนตร์เอสพละนาด ซีนีเพล็กซ์ (Esplanade Cineplex) โรงภาพยนตร์ระดับ Megaplex 12 โรงภาพยนตร์ บริหารงานโดย เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ โดยแบ่งเป็นโรงฉายภาพยนตร์ทั่วไป 10 โรงภาพยนตร์ และอีก 2 โรงสำหรับจัดฉายภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับศิลป์โดยเฉพาะ เอสพละนาดซินีเพล็กซ์เป็นแฟลกชิปซีนิเพล็กซ์(โรงภาพยนตร์ต้นแบบ)แห่งที่สองของเมเจอร์ซินีเพล็กซ์ ต่อจากเมเจอร์ซินีเพล็กซ์ รัชโยธิน
- โรงละคร เมืองไทย รัชดาลัย เธียเตอร์ (Muangthai Ratchadalai Theatre) โรงละครเวทีและละครเพลง สามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 1,455 ที่นั่ง พื้นที่ประมาณ 3,500 ตารางเมตร ควบคุมและดูแลโดย บริษัท ซีเนริโอ จำกัด ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งโรงละครนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทซีเนริโอ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด และ ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด(มหาชน)
- มิวสิคพลาซา เป็นที่สำหรับทางด้านดนตรี จัดเป็นพื้นที่ 300 ตารางเมตร เป็นที่ตั้งของร้านขายสินค้าเกี่ยวกับดนตรี โรงเรียนสอนดนตรี ร้านขายงานเพลง-ซีดี มิวสิกแกลอรี่ รวมถึงคาราโอเกะ จำนวน 50 ห้อง
- พื้นที่สำหรับงานประติมากรรม จะเป็นพื้นที่รวมงานภาพเขียน นิทรรศการผลงานปั้น ตลอดจนอาร์ตแกลอรี่
- พื้นที่สำหรับงานวรรณกรรม เป็นสถานที่จัดงานที่เกี่ยวข้องกับวรรณกรรม เวทีสำหรับนักเขียนหน้าใหม่และนักเขียนอิสระทั่วไป และร้านหนังสือบีทูเอส-เพจวัน (B2S Page One) พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร
- ลานโบว์ลิ่ง บลูโอริธึมแอนด์โบว์ (Blu-O Rhythm & Bowl) ประกอบด้วยลานทั้งหมด 22 เลน พื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร
- ลานไอซ์สเกต ซับซีโร (Sub Zero Ice Skating Arena) พื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางเมตร
- ท็อปส์ มาร์เกต พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร
- ซัมซุงแฟลกชิฟสโตร์ แห่งแรกของประเทศไทย
- แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ เอสพละนาด คลับ (รัชดาภิเษก) พื้นที่ 3,660 ตารางเมตร
อ้างอิง
- ชาญยุทธ ปะวะขัง, เรื่องจากปก, หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก City Life ฉบับที่ 370 วันที่ 12 ม.ค. 2007 [2]
- ข้อมูลโครงการโดยบริษัท อรุณชัยเสรีคอนซัลติ้งเอนจิเนียร์ส จำกัด
แหล่งข้อมูลอื่น
- เว็บทางการ ดิ เอสพละนาด
- ข้อมูลโครงการ ดิ เอสพละนาด (อังกฤษ)
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ เอสพลานาด รัชดาภิเษก
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย หรือ กูเกิลแมปส์
- แผนที่ จาก มัลติแมป หรือ โกลบอลไกด์
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
พิกัดภูมิศาสตร์: 13°45′41″N 100°33′58″E / 13.761486°N 100.566016°E
|
ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น