อุบัติการณ์โรคความดันโลหิตสูง การปฏิบัติตัวต่อผู้ป่วย การดูแลอย่างใกล้ชิด ข้อมูลละเอียด


861 ผู้ชม


โรคความดันโลหิตสูง  (Hypertension) คือ

สภาวะผิดปกติที่บุคคลมีระดับความดันโลหิตสูงขึ้นกว่าระดับปกติของคนส่วนใหญ่  ถือว่าเป็นสภาวะที่ต้องควบคุม    เนื่องจากความดันโลหิตทำให้เกิดความเสียหายและการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย
นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแดงแข็งและอุดตันหรือหลอดเลือดแตก    โรคที่จะเกิดขึ้นจากความดันโลหิตที่สูงผิดปกติมีหลายโรค     คือ   โรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคหัวใจขาดเลือด   โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคอัมพาต  โรคหัวใจวาย โรคไตวายเรื้อรัง  โรคสมองเสื่อม  การรักษาควบคุมความดันโลหิตให้ลดลงเป็นปกติจะสามารถป้องกันโรคร้ายแรงต่างๆ  ที่กล่าวถึงได้เป็นส่วนมาก

อุบัติการณ์

จากการสำรวจในประชากรไทยอายุตั้งแต่  35  ปีขึ้นไป  ในปี  พ.ศ.  2543  พบว่าผู้ที่มีความดันโลหิตอยู่ในเกณฑ์สูงมีอยู่ร้อยละ  22  และประชากรส่วนใหญ่ที่เป็นความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีอาการและมักจะไม่ได้รับประทานยารักษาอย่างถูกต้อง  หรือแม้จะได้รับยารักษาความดันโลหิตแล้ว  ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่สามารถควบคุมให้ความดันโลหิตลดลงมาเป็นปกติได้


วิธีการวัดความดันโลหิต

วิธีการวัดความดันโลหิตที่เป็นมาตรฐาน  คือ  การวัดโดยเครื่องวัดความดันโลหิตแบบปรอทที่พบเห็นตามห้องตรวจของโรงพยาบาลโดยทั่วไป  วิธีการวัดความดันโดยใช้เครื่องแบบอื่นๆ  เช่น  เครื่องอัตโนมัตที่แสดงตัวเลขไม่ได้เป็นวิธีที่ดีกว่าวิธีใช้เครื่องวัดแบบปรอท ค่าความดันที่วัดได้จะออกมา  2  ค่า  คือ  ตัวเลขค่าสูงและค่าต่ำ  ค่าสูง คือ  ระดับความดันโลหิตตอนที่หัวใจบีบตัว  ค่าต่ำ คือ  ระดับความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว  ตัวเลขทั้งสองค่าจะรายงานเป็นมิลลิเมตรปรอท

ระดับของความดันโลหิตที่ถือว่าสูงผิดปกติ  คือ  ค่าสูงตั้งแต่  140  มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป  หรือค่าต่ำสูงตั้งแต่  90  มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป  โดยระดับความดันทั้งสองค่านี้ยิ่งสูงมากก็ยิ่งจะมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆได้มากตามลำดับ


การตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฎิบัติการ

 แพทย์มักจะตรวจเพิ่มเติมตามความจำเป็น ดังนี้

1 .ตรวจปัสสาวะ
2. ตรวจเลือด เพื่อดูการทำงานของไต ระดับเกลือแร่ในร่างกาย  ตลอดจนตรวจปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ต่อโรค
หลอดเลือดหัวใจไปพร้อมกัน (เช่น ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดและระดับไขมันในเลือด)
3. ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ    
 
การพยากรณ์โรค

การพยากรณ์โรคของผู้เป็นความดันโลหิตสูงขึ้นอยู่กับ
1.ระดับของความดันโลหิต  ยิ่งสูงมากยิ่งเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนในอนาคตได้มาก
2.ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งโรคเบาหวาน
3.โรคต่างๆ ที่ผู้ป่วยเป็นร่วมกันอยู่  เช่น โรคหัวใจ  โรคไต  โรคหลอดเลือดสมอง  เช่น  อัมพาต  การมีปัจจัยเสี่ยงมากและมีโรคร่วมหลายโรคยิ่งทำให้การพยากรณ์โรคไม่ดี

หลักการดูแลสุขภาพทั่วไป

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรจะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. เลิกสูบบุหรี่
2. ควบคุมน้ำหนักตัวให้พอเหมาะ  ไม่อ้วนเกินไป 
3. ลดการดื่มสุรา
4. ลดการรับประทานอาหารที่เค็มจัด
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
6. รับประทานอาหารจำพวกผัก  ผลไม้  และลดปริมาณไขมันรวมในมื้ออาหาร


การพิจารณาให้ยาเพื่อลดความดันโลหิต

 แพทย์จะให้ยาลดความดันโลหิตแก่ผู้ป่วยในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงตั้งแต่แรก  ลักษณะของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ คือ
 1. มีความดันโลหิตสูงระดับรุนแรง
 2. มีโรคเบาหวาน
 3. มีโรคต่างๆที่เป็นร่วมกับความดันโลหิตสูง ดังได้กล่าวแล้ว
 4. มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป (ปัจจัยเสี่ยง คือ อายุเกิน 45 ปี ในเพศชาย  ,เกิน 55 ปีในเพศหญิง, การสสูบบุหรี่, ไขมันในเลือดผิดปกติ, ประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมองในครอบครัว)
 ส่วนผู้ป่วยที่ความเสี่ยงยังไม่สูงมาก  แพทย์อาจแนะนำให้ดูแลสุขภาพทั่วไปตามวิธีการข้างต้นที่กล่าวมาแล้วเสียก่อน แล้วนัดตรวจวัดความดันโลหิตเป็นระยะ  ถ้าหากความดันโลหิตไม่ลดลงหรือเพิ่มสูงขึ้นอีก  จึงค่อยให้ยาลดความดัน


หลักในการให้ยาลดความดันโลหิต

  1. ควรเลือกใช้ยาที่ออกฤทธิ์นานครอบคลุมได้ตลอด  24  ชั่วโมง  ลักษณะการออกฤทธิ์ของยาดังกล่าว  จะทำให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาวันละครั้งก็พอ  ทำให้สะดวกและไม่ลืมรับประทานยา  นอกจากนี้การใช้ยาที่ควบคุมความดันโลหิตได้สม่ำเสมอตลอดเวลา  จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ  ได้ดีกว่าการใช้ยาที่ออกฤทธิ์สั้น  ซึ่งนอกจากจะรับประทานยาวันละหลายครั้งแล้วยังอาจทำให้ความดันโลหิตแกว่งขึ้นได้ง่ายขณะที่ยาหมดฤทธิ์และอาจลดลงต่ำมากเกินหลังจากการรับประทานยามื้อต่อไป
 2. จากการศึกษาพบว่า  โรคแทรกซ้อนทั้งทางด้านโรคหัวใจ  และโรคหลอดเลือดสมองมักจะเกิดกำเริบขึ้นในช่วงตอนตื่นนอนเช้า  ซึ่งถ้าหากความดันโลหิตสูงขึ้นในช่วงนั้น  ก็จะทำให้โอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนมีมากกว่าเดิม  การใช้ยาที่ออกฤทธิ์นานครอบคลุมถึงช่วงเวลาดังกล่าวจึงมีประโยชน์ในการป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆได้ดีกว่ายาที่ออกฤทธิ์สั้น
 3. ควรเริ่มใช้ยาในขนาดต่ำ  1 ถึง  2  ชนิดและค่อยๆปรับยา  โดยต้องรอเวลาให้ยาที่ใช้ไปออกฤทธิ์ได้อย่างเต็มที่เสียก่อน
 4. เมื่อยาขนานใดเกิดผลข้างเคียงขึ้น  แพทย์จะพิจารณาให้หยุดยาและเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นๆในขนาดต่ำ

 
 ยาที่ใช้ในการรักษาความดันโลหิตที่มีใช้ในปัจจุบันแทบทุกชนิดจะมีประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตได้ใกล้เคียงกัน แต่แพทย์จะเลือกใช้ยาโดยอาศัยหลักดังต่อไปนี้

1.ยาชนิดนั้นๆ มีหลักฐานการยืนยันทางการแพทย์ว่า  สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนทางด้านหัวใจและหลอดเลือดลงมาได้อย่างแน่นอน
2. ยาชนิดนั้นๆ ควรจะเกิดประโยชน์ต่อโรคอื่นๆ ที่ผู้ป่วยอาจมีอยู่นอกจากโรคความดันโลหิตสูง  เช่น
โรคหัวใจล้มเหลว  โรคหัวใจขาดเลือด  โรคต่อมลูกหมากโต  เป็นต้น
3. ยาชนิดนั้นๆ ไม่ควรก่อผลเสียต่อโรคอื่นๆที่ผู้ป่วยอาจจะมีอยู่นอกจากโรคความดันโลหิตสูง   เช่น ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานสูงกว่าเดิมไม่ทำให้เกิดโรคเกาท์กำเริบไม่ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลงกว่าเดิม  เป็นต้น
4. ยาชนิดนั้นๆ มีผลข้างเคียงน้อย  และมีราคาที่เหมาะสม

 เป้าหมายความดันโลหิตที่ต้องการ

เป้าหมายหลักของการรักษาความดันโลหิตสูง  คือ  การพยายามให้ผู้ป่วยมีอายุยืนและลดความเสี่ยงระยะยาวของโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด

จากหลักฐานในปัจจุบันสรุปได้ว่า  ควรต้องลดความดันโลหิตทั้งความดันค่าสูงและค่าต่ำลงมาให้ต่ำกว่า  140/90  มิลลิเมตรปรอทลงมาเป็นอย่างน้อย  สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานหรือโรคไตควร ต้องลดความดันโลหิตลงมาให้ต่ำกว่า  130/80  มิลลิเมตรปรอท  ประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับจาการรักษาอย่างต่อเนื่องตามเกณฑ์ดังกล่าว  คือ  สามารถลดโอกาสที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโรคหัวใจขาดเลือดได้มากกว่าร้อยละ  20 สามารถลดโอกาสอัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าร้อยละ  40   สามารถลดโอกาสเกิดโรคหัวใจล้มเหลวได้ร้อยละ  50  ตลอดจนความเสี่ยงของโรคไตวายเรื้อรังลงมาได้อย่างชัดเจน

 สรุป

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคร้ายแรง  ซึ่งอาจนำไปสู่โรคแทรกซ้อน  ซึ่งอันตรายและอาจนำไปสู่ความพิการถาวรหรือควรเสียชีวิตก่อนวัยอันควร  โรคนี้อาจไม่มีอาการชัดเจนในระยะเริ่มแรก  ทำให้ผู้ที่เป็นโรคละเลยต่อการรักษาควบคุมให้ถูกต้องตามวิธีการ

โรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องได้รับยา  เพื่อลดความดันโลหิต  ยาที่ออกฤทธิ์นานครอบคลุมได้ตลอด  24  ชั่วโมง  น่าจะป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ดีกว่ายาที่ออกฤทธิ์สั้น  การรักษาควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง  สามารถลดอัตราการเสียชีวิต  และอัตราเกิดโรคแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงได้อย่างมาก  และถ้าหากอยู่ในความควบคุมของแพทย์อย่างสม่ำเสมอผู้ป่วยจะไม่เสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยา  จึงถือว่าเป็นการรักษาที่คุ้มค่าที่สุด

 จากเอกสารเผยแพร่ บริษัท ทาเคดา (ประเทศไทย)จำกัด

อัพเดทล่าสุด