อาณาจักรทั้ง 5 สรุปสั้นๆ เข้าใจง่าย ลองเอาไปอ่านดู


73,443 ผู้ชม


อาณาจักรทั้ง 5

1. อาณาจักรสัตว์

2. อาณาจักรพืช

3. อาณาจักรโปรติสต้า

4. อาณาจักรโมเนอรา

5. อาณาจักรไวรัสไวรอยด์

สิ่งมีชีวิตที่มีอยู่บนโลกของเรานั้น มีจำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วนเลยล่ะค่ะ นักวิทยาศาสตร์ จึงต้องทำการแยกสิ่งมีชีวิตออกเป็นกลุ่ม เพื่อที่จะจัดให้เป็นระเบียบ และแยกประเภทด้วย ซึ่งเราเรียกระบบการจำแนกกลุ่มสิ่งมีชีวิตนี้ว่า " ระบบอาณาจักรทั้ง5 " ซึ่งก็คือสิ่งมีชีวิตหลักๆ 5 กลุ่ม ที่สามารถแยกประเภทได้นั่นเอง ใช้พื้นฐานการจำแนก โดยดูจากความแตกต่างทางเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ทั้ง 5 กลุ่ม นั่นก็คือ

  • กลุ่มที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ง่ายที่สุด ลักษณะเด่นก็คือ เซลล์ของมันจะไม่มีนิวเคลียส หรือใจกลางของเซลล์ เช่นแบคทีเรีย สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่ขึ้นในน้ำเป็นต้น
  • กลุ่มที่สองคือ สิ่งมีชีวิตประเภทเซล์เดียวเช่นตัวอมีบา และสาหร่ายเล็กๆ สิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ จะมีการดำรงชีวิตได้เหมือนสัตว์ คือต้องหาอาหาร หรือบางชนิดยังดำรงชีวิตแบบพืช คือใช้แสงอาทิตย์ในการสร้างอาหาร เพื่อเป็นพลังงานให้ตัวมันเอง
  •  กลุ่มที่สามคือสิ่งมีชีวิตจำพวกเห็ดและรา ซึ่งดำรงชีวิตโดยการดูดซึมสารเคม ีที่ปล่อยออกมาจากซากพืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อย
  •  กลุ่มที่สี่คือพืช ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ การจับแสงอาทิตย์มาช่วยในการสร้างอาหาร หรือที่เราเรียกว่าการสังเคราะห์แสง พลังงานแสงอาทิตย์ จะถูกใช้ในการเชื่อมสารเล็กๆ ที่มีอยู่ในพืช ให้เป็นอาหารที่มีโมเลกุลที่ใหญ่ขึ้น เช่น คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน นอกจากนี้พืชยังแบ่งเป็นชนิดต่างๆ ได้มากมายตั้งแต่สาหร่ายทะเล มอส เฟิร์น ดอกไม้ และต้นไม้ค่ะ
  • กลุ่มที่5คือสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์ ที่ดำรงชีวิตโดยการย่อยสลายสิ่งมีชีวิต ประเภทอื่นๆ ให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อที่จะทำให้เป็นพลังงานเพื่อร่างกายต่อไป ซึ่งพลังงานดังกล่าวก็คืออาหารนั่นเอง แมลง ปลา นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดจัดอยู่ในกลุ่มที่เป็นสัตว์ทั้งสิ้นค่ะ 
ปัจจุบันมีสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการจำแนกชนิดประมาณ 2 ล้านชนิด โดยจำแนกออกเป็นอาณาจักร (Kingdom) ต่าง ๆกันถึง 5 อาณาจักร ซึ่งเป็นระบบที่นิยมกันมากที่สุดในปัจจุบัน

การจำแนกชนิดของสิ่งมีชีวิตนั้นอาศัยลักษณะสำคัญที่เป็นลักษณะเฉพาะของสิ่งมีชีวิตแต่ละกลุ่ม โดยการแบ่งตามลำดับชั้นจากกลุ่มใหญ่ที่สุดลงไปถึงชนิดดังนี้

 

อาณาจักร (Kingdom)

 

ไฟลัม (Phylum) ของสัตว์ หรือดิวิชัน (Division) ของพืช

 

ชั้น (Class)

 

อันดับ (Order)

 

วงศ์ (Family)

 

สกุล (Genus)

 

ชนิด (Species)


การจำแนกอาณาจักรสิ่งมีชีวิต ออกเป็น 5 อาณาจักรดังนี้

  1. อาณาจักรมอเนอรา (Kingdom Monera)

  2. อาณาจักรเห็ดรา (Kingdom Fungi)

  3. อาณาจักรโพรทิสตา (Kingdom Protista)

  4. อาณาจักรพืช (Kingdom Plantae)

  5. อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia)

 

อาณาจักรมอเนอรา (Kingdom Monera)

มอเนอราเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกเซลล์เดียวที่ไม่มีนิวเคลียส หรือไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส เรียกสิ่งมีชีวิตพวกนี้รวมๆ ว่า โพรแคริโอต (Prokaryote) ได้แก่ แบคทีเรีย และสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน หรือไซอาโนแบคทีเรีย (cyanobacteria)

 

อาณาจักรเห็ดรา (Kingdom Fungi)

                เห็ดราเป็นสิ่งชีวิตที่เซลล์มีนิวเคลียสหรือมีเยื่อหุ้มนิวเคลียสเรียกว่า ยูแคริโอต (eukaryote) อาจเป็นสิ่งมีชีวิตที่เซลล์เดียวหรือหลายเซลล์ ไม่มีคลอโรฟิลล์ สังเคราะห์อาหารเองไม่ได้ กินอาหารโดยสร้างน้ำย่อยแล้วปล่อยออกมาย่อยสารอินทรีย์จนเป็นโมเลกุลเล็กและดูดเข้าเซลล์ (saprophyte) ได้แก่ เห็ดและราชนิดต่างๆ

 

อาณาจักรโพรทิสตา (Kingdom Protista)

                โพรทิสตาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์ชนิดยูแคริโอต มีทั้งชนิดเซลล์เดียวและหลายเซลล์ ได้แก่ สัตว์เซลล์เดียว (protozoa) สาหร่ายต่างๆได้แก่ สาหร่ายสีเขียว สาหร่ายสีน้ำตาล สาหร่ายสีแดง สาหร่ายสีทอง เช่น ไดอะตอม

 

อาณาจักรพืช (Kingdom Plantae)

                พืชเป็นสิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ เซลล์เป็นชนิดยูแคริโอต มีสารสีเพื่อการสังเคราะห์ด้วยแสงเรียกว่าคลอโรฟิลล์ ซึ่งมีหลายชนิด มีผนังเซลล์เป็นสาร เซลลูโลส สืบพันธุ์ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ มีวัฏจักรชีวิตแบบสลับ  (alternation of generation) การจำแนกเป็นไฟลัมหรือดิวิชันใช้ลักษณะวัฏจักรชีวิตแบบสลัลที่มีระยะแกมีโทไฟต์ (gemetophyte) และสปอโรไฟต์ (sporophyte) การมีท่อลำเลียงอาหารและน้ำ มีรากและใบ และมีดอก (fower) หรือไม่มีดอก แบ่งออกเป็นดิวิชัน ดังนี้

1.       ดิวิชันไบรโอไฟตา (Division Bryophyta) เป็นพืชขนาดเล็ก ไม่มีระบบท่อลำเลียง มีระยะแกมีโทไฟต์เจริญเป็นอิสระนานกว่าระยะสปอโรไฟต์ ได้แก่ มอสส์ (moss) ลิเวอร์เวิร์ต (liverwort) และฮอร์นเวิร์ต (hornwort)

2.       ดิวิชันไซโลไฟตา (Division Psilophyta) พืชมีลำต้นยาวเรียว เริ่มมีท่อลำเลียง ไม่มีใบและรากที่แท้จริง ได้แก่สกุล Psilotum หรือหวายทะนอย

3.       ดิวิชันไลโคไฟตา (Divison Lycophyta) พืชโบราณ มีใบและรากที่แท้จริง มีท่อลำเลียง ได้แก่ สกุลSelagilnella หรือตีนตุ๊กแก สกุล Lycopediun หรือหญ้ารังไก่ สามร้อยยอด

4.       ดิวิชันสฟีโนไฟตา (Division Sphenophyta) ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อ ๆ มีรากและใบที่แท้จริง มีท่อลำเลียงที่แท้จริง ได้แก่สกุล Equisetum หรือหญ้าถอดปล้อง สนหางม้า

5.       ดิวิชันเทอโรไฟตา (Division Pterophyta) เป็นพืช เริ่มมีท่อลำเลียงพัฒนาดีขึ้น ไม่มีดอก ได้แก่เฟิร์น ผักแว่น จอกหูหนู แหนแดง ชายผ้าสีดา

6.       ดิวิชันไพโนไฟตา (Division Pinophyta) เป็นพืชยืนต้น มีเนื้อไม้ มีท่อลำเลียงที่พัฒนาดีขึ้น มีรากและใบ มีเมล็ด แต่เมล็ดไม่มีส่วนหุ้มเมล็ด (คือ เปลือย [ghymnosperm]) แบ่งเป็นสามซับดิวิชัน (subdivision) คือ

6.1    ซับดิวิชัน Cycadicae คือพืชพวกปรง (Cycas)

6.2    ซับดิวิชัน Pinicae ได้แก่ แป๊ะก้วย สกุล Ginkgo และพืชพวกสน เช่น สนสองใบ (Pinus merkusii) สนสามใบ (Pinus Kesiya) ไซเพรสส์ (Cypress) เรดวูด (redwood)

6.3    ซับดิวิชัน Gneticae ส่วนใหญ่เป็นไม้เลื้อยขนาดใหญ่ เช่น มะเมื่อย สกุล Gnetum และพืชในทะเลทรายแอฟริกา สกุล Welwitschia

7.       ดิวิชันแมกโนลิโอไฟตา (Division Magnoliophyta) คือพืชไม้ดอกที่มีท่อลำเลียง มีใบและราก มีเมล็ดที่มีรังไข่ห่อหุ้ม แบ่งเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว (monocots) และพืชใบเลี้ยงคู่ (dicots) หรือแบ่งเป็นสองชั้นคือ

7.1    ชั้นแม็กโนลิออปซิดา (Class Magnoliopsida [dicots]) เช่น มะลิ

7.2    ชั้นลิลิออปซิดา (Class liliopsida [monocots]) เช่น ข้าว กล้วย หญ้า 

 

อาณาจักรสัตว์ (Kingdom Animalia)

                สิ่งมีชีวิตหลายเซลล์ ประกอบด้วยเซลล์ชนิดยูแคริโอต การจำแนกเป็นไฟลัมต่างๆใช้ลักษณะสำคัญคือ จำนวนชั้นของเนื้อเยื่อ ช่องภายในตัว ปล้องขา ลำตัว ชนิดของท่อทางเดินอาหาร สมมาตร (symmetry) ของลำตัว ชนิดของระบบไหลเวียน และการพัฒนาของระบบอื่นๆ แบ่งออกเป็นสอง ซับคิงดอม (Subkingdom) คือ ซับคิงดอมพาราซัว (Parazoa) ได้แก่ฟองน้ำและซับคิงดอมเมทาซัว (Metazoa) ได้แก่สัตว์อื่นๆที่เหลือ ซึ่งแบ่งย่อยเป็นไฟลัมต่างๆมากถึง 30 ไฟลัมในปัจจุบัน แต่ที่สำคัญมี 10 ไฟลัมคือ

1.       ไฟลัมพอริเฟอรา (Phylum Porifera) เป็นสัตว์หลายเซลล์ ไม่มีสมมาตร ลำตัวเป็นรูพรุน มีช่องน้ำเข้าและช่องน้ำออก มีโครงร่างแข็งหรือเป็นเส้นใยโปรตีน เช่น ฟองน้ำแก้ว สกุล Euplectella ฟองน้ำน้ำจืด สกุล Spongilla ฟองน้ำถูตัว สกุล Spongia

2.       ไฟลัมซีเลนเทอราตา (Phylun Coelenterata) เป็นสัตว์ที่มีเนื้อเยื่อสองชั้น มีสมมาตรแบบรัศมี(radial symmetry) มีท่อทางเดินอาหาร แต่ไม่มีช่องตัว มีเซลล์ไนโดไซต์ (cnidocyte) สร้างเข็มพิษ (nematocyst) แบ่งเป็นสามชั้น

2.1    ชั้นไฮโดรชัว (Hydrozoa) ได้แก่ ไฮดรา (Hydra) แมงกะพรุนไฟ (Physalia)

2.2    ชั้นไซโฟซัว (Scyphozoa) ได้แก่ แมงกะพรุนหนัง (Aurelia) แมงกะพรุนไฟ (Chironex)

2.3    ชั้นแอนโทซัว (Anthozoa) ได้แก่ ปะการัง (coral) ปะการังเขากวาง (Acrepora) กัลปังหา (sea fan)

3.       ไฟลัมแพลทิเฮลมินทีส (Phylum Platyhelminthes) ได้แก่ หนอนตัวแบน มีเนื้อเยื่อสามชั้น ไม่มีช่องตัว มีสมมาตรแบบด้านข้าง (bilateralsymmetry) มีระบบย่อยอาหาร (บางชนิดไม่มี) แบ่งเป็นสามชั้น

3.1    ชั้นเทอร์เบลลาเรีย (Turbellaria) ได้แก่ พลานาเรีย (Dugesia)

3.2    ชั้นทรีมาโทดา (Trematoda) ได้แก่ พยาธิใบไม้ (fluke) เช่น พยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchis viverrini)

3.3    ชั้นเซสโทดา (Cestoda) ได้แก่ พยาธิตัวตืด (tape worm) เช่น พยาธิตัวตืดหมู (Taenia solium)

4.       ไฟลัมเนมาโทดา (Nematoda) ได้แก่ หนอนตัวกลม มีเนื้อเยื่อสามชั้นมีสมมาตรแบบด้านข้าง มีช่องตัวเทียม (pseudocoet) เช่น พยาธิไส้เดือน (Ascaris lumbricoides) โรคเท้าช้าง (Brugia malayi)

5.       ไฟลัมแอนเนลิดา (Phylum Annelida) หนอนปล้อง ลำตัวแบ่งเป็นปล้องชัดเจน มีเนื้อเยื่อสามชั้นมีสมมาตรแบบด้านข้าง มีช่องตัวที่แท้จริง (coelom) มีระบบไหลเวียนและระบบประสาท แบ่งเป็นสามชั้น

5.1    ชั้นโพลีคีตา (Polychaeta) ได้แก่ แม่เพรียง (Nereis) หนอนฉัตร (trbe worm)

5.2    ชั้นโอลิโกคีตา (Oligochaeta) ได้แก่ ไส้เดือนดิน (Pheretima)

5.3    ชั้นไฮรูดิเนีย (Hirudinea) ได้แก่ ปลิง (leech) ทากดูดเลือด (landleech)

6.       ไฟลัมมอลลัสกา (Phylum Mollusca) ลำตัวนิ่มมักมีเปลือกหุ้มเนื้อเยื่อสามชั้น มีสมมาตรด้านข้างมีช่องตัวลดรูปจนมีขนาดเล็ก มีระบบไหลเวียนและระบบประสาท แบ่งเป็นห้าชั้น

6.1    ชั้นแอมฟินิวรา (Amphimeura) ได้แก่ ลิ่นทะเล (chiton)

6.2    ชั้นแกสโทรโพดา (Gastropoda) ได้แก่ หอยกาบเดี่ยว (snail) หอยทาก (slug) ทากทะเล (nudibranch)

6.3    ชั้นแพลีไซโพดา (Pelecypoda) ได้แก่ หอยกาบคู่ (bivalves) เช่นหอยแมลงภู่ (Mytilus biridis)

6.4    ชั้นสแคโฟโพดา (Scaphoposa)ได้แก่ หอยงาช้าง (tusk shell)

6.5    ชั้นเซฟาโลโพดา (Cephalopoda) ได้แก่ ปลาหมึกสาย หรือปลาหมึกยักษ์ (Octopus) ปลาหมึกกล้วย (Loligo) หอยงวงช้าง (nautilus)

7. ไฟลัมอาร์โทรโพดา (Phylum Arthropoda) สัตว์ที่มีลำตัวแบ่งเป็นปล้องมีโครงร่างภายนอกหรือเปลือกปกคลุม ขาต่อเป็นข้อๆ สมมาตรแบบด้านข้างมีระบบไหลเวียนและระบบประสาท แบ่งเป็นสองซับไฟลัม คือ เคลิเซอราตา (Chelicerata) ได้แก่ แมงดาทะเล และแมงมุม และซับไฟลัมแมนดิบูลาตา (Mandibulata) เช่น กุ้ง ปู ตะขาบ กิ้งกือ แบ่งเป็นชั้นดังนี้

7.1 ไซโฟซูริดา (Xiphosurida) ได้แก่ แมงดาจาน (Tachypleus gigas)

7.2 อะแร็กนิดา (Arachnida) ได้แก่ แมงมุม แมงป่อง

7.3 ครัสเตเชีย (Crustacea) ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู เพรียงหิน

7.4 ไคโลโพดา (Chilopida) ได้แก่ ตะขาบ

7.5 ไดโพลโพดา (Diplopoda)ได้แก่ กิ้งกือ

7.6 อินเซกตา (Insecta) ได้แก่ แมลงต่างๆ

8. ไฟลัมอีคิโนเดอร์มาตา (Phylum Echinodermata) เป็นสัตว์ทะเลทั้งหมด ผิวหนังมีหนาม ตัวอ่อนมีสมมาตรด้านข้าง ตัวเต็มวัยมีสมมาตรรัศมีมีระบบน้ำใช้ในการเคลื่อนที่ มีระบบไหลเวียน ระบบประสาท และระบบท่อทางเดินอาหาร จำแนกเป็นห้าชั้น

8.1 ชั้นแอสเทอรอยเดีย (Asteroidea) ได้แก่ ปลาดาว หรือดาวทะเล (star fish)

8.2 ชั้นโอฟิยูรอยเดีย (Ophiuroidea) เช่น ดาวเปราะ (brittle star)

8.3 ชั้นอีคิยูรอยเดีย (Echiuroidea) เช่น เม่นทะเล (sea urchin) เหรียญทราย (sand dollar)

8.4 ชั้นโฮโลทูรอยเดีย (Holothuroidea) เช่น ปลิงทะเล (sea cucumber)

8.5 ไคนอยเดีย (Crinoidea) เช่น ดาวขนนก (feather star) พลับพลึงทะเล (sea lilly)

9. ไฟลัมคอร์ดาตา (Phylum Chordata) สัตว์มีกระดูกสันหลัง มีสมมาตรด้านข้าง มีช่องตัวอย่างแท้จริง มีระบบต่างๆพัฒนาสูงสุด จำแนกเป็นสามซับไฟลัมคือ

9.1 ซับไฟลัมยูโรคอร์ดาตา (Subphhylum Urochordata) ได้แก่ เพรียงหัวหอม (tunicate)

9.2 ซับไฟลัมเซฟาโลคอร์ดาตา (Subphylum Cephalochordata)ได้แก่แอมฟิออกซัส(Amphioxus)

9.3 ซับไฟลัมเวอร์ทีบราตา (Vertebrata) ได้แก่ สัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมด จำแนกเป็นชั้นดังนี้

9.3.1 ชั้นแอ็กนาทา (Agnatha) ได้แก่ ปลาปากกลม (cyclostome)

9.3.2 ชั้นคอนดริกไทอีส (Chomdrichthyes) ได้แก่ ปลากระดูกอ่อน เช่น ปลาฉลาม ปลาฉนาก ปลากระเบน

9.3.3 ชั้นออสทีอิกไทอีส (Osteichthyes) ได้แก่ ปลากระดูกแข็ง เช่น ปลากะพง ปลาช่อน ปลาหมอเทศ

9.3.4 ชั้นแอมฟิเบีย (Amphibia) สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ได้แก่ กบ คางคก เขียด แซลาแมนเดอร์

9.3.5 ชั้นแรปทิเลีย (Reptilia) สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ เต่า ตะพาบน้ำ แย้ ตะกวด จิ้งจก จิ้งเหลน จระเข้

9.3.6 ชั้นเอวีส (Aves) ได้แก่ นกชนิดต่างๆ เป็ด ไก่

9.3.7 ชั้นแมมมาเลีย (Mammalia) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ แพลทิปัสปากเป็ด(duck-billed platypus) สัตว์มีถุงหน้าท้อง (marsupials) เช่น จิงโจ้ โอพอส ซัม แทสมาเนียนเดวิล สัตว์มีรก (placenta) เช่น กระรอก กระต่าย วัว  ควาย ช้าง แรด ลิง คน

ที่มา ubonzoo.com

อัพเดทล่าสุด