อาการแท้ง ลูก อาการแท้งบุตร อาการแท้งเป็นอย่างไร สํญญานเตือนที่ต้องระวัง


2,107 ผู้ชม


การแท้ง

          การแท้งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ พบประมาณร้อยละ ๑๐-๑๕ ของการตั้งครรภ์
ส่วนใหญ่อาการเมื่อเริ่มจะแท้งจะมีเลือดออกทางช่องคลอด ในระยะแรกมักจะออกไม่มาก ต่อมาจะปวดท้องเป็นพัก ๆ คล้ายปวดประจำเดือนแต่มากกว่าอันตรายสำคัญของการแท้ง คือ การตกเลือด เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในรายที่ไปทำแท้งโดยผิดกฎหมายอาจพบอาการแทรกซ้อนได้มาก เนื่องจากมีการติดเชื้อ เช่น มีไข้สูง เลือดเป็นพิษ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ มดลูกทะลุ เนื้อเน่าตาย และบาดทะยัก เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตทั้งสิ้น บางรายอาจทำให้ท่อนำไข่ตันทั้งสองข้าง อันเป็นสาเหตุของการเป็นหมันในภายหลัง

          ผู้ป่วยที่แท้งบุตรนั้น อาจจะมีเลือดออก, ปวดท้องน้อยหรือไม่มีอาการใด ๆ เลย โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของการแท้งนั้น โดยจะมีชนิดของการแท้งบุตรเป็น

          1.แท้งคุกคาม การแท้งแบบนี้เด็กจะเสียชีวิตแล้ว แต่ยังไม่ออกจากมดลูกจะมีเลือดไหลออกจากโพรงมดลูก ตัวเด็กจะยังอยู่ในมดลูก การแท้งชนิดนี้ เด็กอาจจะยังไม่เสียชีวิต ถ้ารักษาทันท่วงทีอาจ ตั้งครรภ์ต่อไปได้ การรักษาได้แก่ การนอนพัก งดมีเพศสัมพันธ์ การสังเกตดูอาการเลือดออก การให้ฮอร์โมนป้องกันการแท้งนั้นจะเลือกใช้ ในบางรายที่คิดว่าเกิดจากรังไข่สร้างฮอร์โมนน้อย เช่น ในรายที่มีสาเหตุแท้งคุกคามจากการผ่าตัดรังไข่ หรือการแท้งคุกคามร่วมกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก การใช้ฮอร์โมนนั้น ต้องแน่ใจว่าทารกยังมีชีวิตอยู่ เพราะถ้าใช้ในรายที่มิได้เกิดจากการขาดฮอร์โมน อาจทำให้เป็นการแท้งค้าง

          2.แท้งออกมาชนิดครบ คือ เด็กทารกและเนื้อรกหลุดออกมาจากโพรงมดลูกชนิดสมบูรณ์ เลือดจะออกมาตอนแรกพร้อมกับปวดท้องน้อย จากนั้นเลือดหยุดออกและหายปวดหลังทารกคลอดออกมาครบหมด

          3.แท้งออกมาชนิดไม่ครบ คือ เด็กทารกและเนื้อรกหลุดออกมาไม่ครบ เลือดจะออกมาเรื่อย ๆ ผู้ป่วยจะปวดท้องน้อยเป็นพัก ๆ การท้องแบบนี้มี อาจทำให้เสียเลือดมาก จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการขูดมดลูก

          4.การแท้งค้าง หมายถึง เด็กทารกเสียชีวิตแล้ว แต่ทารกไม่แท้งหลุดออกมา ผู้ป่วยอาจไม่มีเลือดและไม่ปวดท้องน้อยอาจมีเพียง อาการคัดตึงเต้านมและคลื่นไส้อาเจียนหายไปเท่านั้น การรักษามักจะต้องการขูดมดลูก การทิ้งไว้อาจมีการแท้งบุตรเองได้ในภาวะฉุกเฉิน

          โดยปกติการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย เช่น การนั่งรถยนต์โดยไม่มีอุบัติเหตุ หรือการยกของหนัก, การขึ้นบันไดบ้าน ไม่ทำให้เกิดการแท้งบุตรส่วนการทำงานหน้าเครื่องคอมพิวเตอร์, และโทรศัพท์มือถือ ยืนยันไม่มี รายงานว่าทำให้เกิดการแท้งเพิ่มขึ้น

          ถ้าสตรีที่มีเลือดออกสงสัยว่าจะแท้งบุตรควรงดการมีเพศสัมพันธ์ (โดยปกติสตรีตั้งครรภ์สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ยกเว้นในกรณีที่มีเลือดออก, ปวดท้องน้อยและควรหยุดมีเพศสัมพันธ์ 1 เดือนก่อนครบกำหนด) และรีบไปพบสูติ-นรีแพทย์โดยเร็ว

          ในการแท้งบุตรเพียง 1-2 ครั้ง ไม่ถือเป็นภาวะเสี่ยงสูงต่อการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป (ไม่นับการแท้งผิดกฎหมาย) โดยปกติจะสามารถมีบุตรได้ ไม่ต่างจากบุคคลทั่วไป

การขูดมดลูก

โดย นพ.ธีรศักดิ์  ธำรงธีระกุล  และ ทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากวิภาวดี

          1.1  การขูดมดลูก  คือ การใช้ห่วงเล็ก ๆ สอดเข้าไปทางปากมดลูกเข้าไปในมดลูกเพื่อขูดผนังมดลูกเอาส่วนของการตั้งครรภ์ และ/หรือเยื่อบุโพรงมดลูกออกมา เพื่อการรักษาภาวการณ์ตั้งครรภ์ผิดปกติ การแท้งบุตร  การมีสิ่งแปลกปลอมในโพรงมดลูก  หรือเพื่อการวินิจฉัยสาเหตุกรณีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก
การทำอาจมีความรู้สึกเจ็บบ้าง จึงมีการทำภายใต้การให้ยาป้องกันและบรรเทาปวด  หรือให้ยาสลบ  แล้วแต่กรณีของผู้ป่วยที่มีสภาวะและสาเหตุแตกต่างกัน  หรือความถนัด, ความชำนาญของแพทย์ที่แตกต่างกัน

          1.2  การขูดมดลูกที่เกิดจากการมีเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก  จะทำด้วยเหตุผลเพื่อการพิสูจน์หาสาเหตุของเลือดออกผิดปกติโดยนำเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกและเนื้อเยื่อบุของปากมดลูกไปตรวจหาพยาธิสภาพ  ซึ่งผลพลอยได้คือ ทำให้เลือดที่ออกหยุดลงหรือทุเลาลงได้ ปกติจะไม่ทำเพื่อต้องการให้เลือดหยุดอย่างเดียว  เพราะการทำให้เลือดหยุด (ในกรณีที่รู้สาเหตุแล้ว เช่น รังไข่ทำงานผิดปกติ) สามารถทำได้โดยการให้ยาแก้

          1.3  กรณีการแท้งที่หยุดยั้งไม่ได้ (มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ ปวดท้อง ปากมดลูกเปิด) หรือแท้งไม่ครบ (มีการแท้งแล้ว แต่ส่วนของการตั้งครรภ์หลุดออกมาจากโพรงมดลูกไม่หมดทำให้เลือดไม่หยุดไหล)  หรือแท้งค้าง (มีการแท้งแบบหยุดยั้งไม่ได้ หรือแบบแท้งไม่ครบเลือดออกเรื้อรังเป็นเวลานาน ๆ)  เมื่อขูดเอาส่วนของการตั้งครรภ์ออกมาหมดแล้ว  อาการปวดท้องและเลือดออกจะทุเลาและดีขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ 

          1.4  กรณีการขูดมดลูกที่ทราบว่าตั้งครรภ์ผิดปกติแน่นอน  แพทย์อาจจะขูดมดลูกเอาส่วนของการตั้งครรภ์ออกก่อนที่จะมีอาการแท้ง (ปวดท้อง + เลือดออก)ออกมาเอง  เพื่อจะได้กำหนดเวลาและสถานที่  วิธีการ  โดยที่ผู้ป่วยกับแพทย์ได้มีการเตรียมตัวก่อนที่จะทำ  มักทำในอายุครรภ์  หรือขนาดของครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์  เพราะมีภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าครรภ์อายุมากกว่า 12  สัปดาห์ ถ้าครรภ์อายุน้อยกว่า 8 สัปดาห์  อาจใช้วิธีดูดออกด้วยระบบสุญญากาศอย่างเดียว  หรือร่วมกับการขูดมดลูก  หรือขูดมดลูกอย่างเดียว  ถ้าอายุครรภ์มากกว่า 8 สัปดาห์  การใช้สุญญากาศอย่างเดียวอาจได้ผลไม่ดี  หรือทำไม่ได้ผล  ต้องใช้วิธีขูดมดลูกร่วมด้วย  หรือขูดมดลูกอย่างเดียว

          อาการของคนไข้กรณีนี้  หลังขูดมดลูกจะแตกต่างกับกรณี 1.3 (แท้งเอง)  คือ หลังจากขูดมดลูกแล้ว  จะมีอาการเลือดออกบ้างและหลังจากนั้น 2-5 วัน (ไม่เกิน 7 วัน) จะมีอาการปวดท้องจากมดลูกบีบตัว และมีเลือด หรือเศษชิ้นเนื้อออกมาอีกครั้งหนึ่ง  หลังจากนั้นอาการปวดท้องและปริมาณเลือดจะลดลงภายในข้ามคืน  และจะค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นปกติภายใน 1 สัปดาห์ต่อมา  กรณี 1.3 ต่างกับ 1.4 เพราะแตกต่างกันในระดับฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ในร่างกาย  และมีผลต่อการบีบตัวของมดลูก แพทย์อาจจะให้ยาแก้ปวดท้องน้อยไว้คอยกันหรือแก้ปวดท้อง  และถ้าเห็นว่ามีการเสียเลือดมากจะให้ยาบำรุงเลือดไปรับประทานด้วย  แล้วนัดมาดูอาการอีกครั้ง

ข้อปฏิบัติตัวของผู้ป่วย หลังจากขูดมดลูกแล้ว 

          ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ สังเกตดูอาการมีเลือดออกทางช่องคลอดและอาการปวดท้องในข้อ 1.2-1.4  ถ้ามีอาการปวดเรื้อรัง  ปวดมากเกินกว่าที่กล่าวข้างต้น หรือเลือดไม่มีทีท่าจะหยุดภายใน 5-7 วัน หรือมีไข้  หรือมีกลิ่นผิดปกติของเลือดหรือตกขาวจากช่องคลอด  ควรรีบปรึกษาแพทย์ก่อนถึงวันนัด  การมีเพศสัมพันธ์ให้มีได้หลังจากเลือดหยุดสนิทแล้ว 1-2  วัน

 ที่มา
www.kanchanapisek.or.th
www.bangkokpattayahospital.com
www.vibhavadi.com

อัพเดทล่าสุด