ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ สู่…ความกลมเกลียว


917 ผู้ชม


ตำนาน …ขนมไหว้พระจันทร์  
ตำนานขนมไหว้พระจันทร์ สู่…ความกลมเกลียว
จากเรื่องเล่าพงศาวดารจีน เมื่อประมาณ 600 ปีก่อน  สมัยปลายราชวงศ์หยวน  เจงกิสข่าน  จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งมองโกล เข้ายึดครองแผ่นดินใหญ่และปกครองชาวจีนอย่างเข้มงวด   มากด้วยกฎระเบียบอันหฤโหด เผด็จการ   ส่งผลให้ชาวจีนที่อยู่ภายใต้อำนาจกดดันจนต้องก่อตั้งขบวนการใต้ดินเพื่อคิดการ “ปฏิวัติ”  
  ด้วยความฉลาด จึงตั้งอุบายจัดงานไหว้พระจันทร์ขึ้น  และใช้ขนมก้อนกลมขนาดใหญ่มีไส้หนา เป็นสื่อ แล้วส่งมอบขนมให้กันในหมู่ญาติมิตร  
โดยที่ภายในนั้น ซ่อนจดหมายนัดแนะกันไว้ 
    เมื่อถึงเพลาตามกำหนด ในช่วง เที่ยงคืนของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8  ไพร่พลจีน ต่างตีเกราะเคาะร้องเป็นการส่งสัญญาณ  (คำฮิต เรียก เป่านกหวีด)  พร้อมใจกันผนึกกำลังสังหารพวกมองโกล  สุดท้ายจีน ก็สามารถกู้เอกราชคืนกลับมาจนได้  
เมื่อบ่วงบาศก์พันธนาการแห่งการไร้สิ้นอิสรภาพผ่านพ้นไป   บ้านเมืองกลับมาสงบสุขอีกครั้ง คนจีนจึงถือเอา วันเพ็ญเดือนแปด เป็นประเพณีวันไหว้พระจันทร์เรื่อยมา เพื่อระลึกถึงวีรกรรมของเหล่าวีรชนที่ร่วม “กู้ชาติ”  จนได้มาซึ่งชัยชนะ
ทีเด็ดของขนมไหว้พระจันทร์ อยู่ตรงไส้ ซึ่งถูกปรุงแต่งด้วยรสชาติที่แตกต่างกัน ตามวัสดุที่เลือกสรร ทั้งยังต่างไปตามแต่ละถิ่น และเพื่อเพิ่มความสวยงามให้เหมาะกับพระจันทร์ ต่อมาได้มีการเพิ่มลวดลายไปบนส่วนหน้าขนมให้เกิดความงดงาม และดูน่ารับประทานขึ้น 
ตำรับจีนแท้ดั้งเดิม  ส่วนผสมของขนมไหว้พระจันทร์ ประกอบด้วย  ถั่วแดง ลูกนัทจีน 5 ชนิด และ เมล็ดบัว เป็นต้น   แต่ก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เรียกว่า สูตรใครสูตรมัน แล้วแต่ความชอบ นอกจากนี้ยังทำให้ชื่อเรียกต่างกันไปด้วย  เช่น ไส้ผลไม้ ไส้ถั่วแดง ไส้ลูกบัว ไส้แฮม ไส้ไข่เค็ม เป็นต้น 
 
พิธีกรรม… 
 
ธรรมเนียมการไหว้พระจันทร์ของคนจีน  ตามปกติจะเริ่มหลังจากที่ดวงจันทร์ขึ้นแล้ว ตั้งแต่เวลา 1 ทุ่มไปจนถึงเที่ยงคืน โดยตั้งของบูชาไว้ที่หน้าบ้าน บนโต๊ะขนาดใหญ่ และต้องให้ผู้หญิงเป็นผู้รับผิดชอบยกของไหว้มาจัดวาง ที่อาจมีทั้ง ขนมอี้ ขนมโก๋ ขนมเปี๊ยะ ถั่ว รากบัว ผลไม้ ฯลฯ และขนมไหว้พระจันทร์ ไส้ต่างๆ ประดับด้วยอ้อยมัดเป็นซุ้มอย่างสวยงาม ขนาบสองข้างด้วยโคมจีนดวงโต   
เหตุที่ใช้ผู้หญิง  เพราะเชื่อว่า  พระจันทร์มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างแนบแน่นกับเทพเจ้าสตรี  ดังนั้น   การประกอบพิธีกรรมจึงมักมีการบูชาด้วยแป้งและเครื่องสำอางด้วย ด้วยหวังว่า จะนำมาซึ่งความสวยงามและผิวงามแก่สมาชิกในครอบครัว
 
สู่…ความกลมเกลียว
  
เมื่อการบูชาจบลง คนทั้งบ้านก็จะแบ่งขนมกันกิน เนื่องจากขนมไหว้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความสามัคคี  ของคนในครอบครัว หรือคนในชาติ ดังนั้นบางคน เขาก็จะเรียก ขนมไหว้พระจันทร์ว่า ” ขนมแห่งความกลมเกลียว “
นี่ล่ะมั้ง เหตุที่ขนมไหว้พระจันทร์ต้องก้อนกลม  เพราะ ความกลมของขนมหมายถึง การได้กลับมาอยู่พร้อมหน้า พร้อมตาของคนภายในครอบครัว
 
  ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยน  อะไรก็ดูจะแทนที่ด้วยเทคโนโลยี ซ้ำการดำเนินชีวิตยังต้องอยู่ท่ามกลางสมรภูมิแก่งแย่งแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันอีก ทำให้พิธีกรรมต่างๆ ที่เคยสืบทอดจากบรรพบุรุษค่อยๆลางเลือนไปตามกาลเวลา  คงไม่แปลกหากการไหว้พระจันทร์ จะพลอยถูกลดความสำคัญไปด้วย จนอาจเหลือแค่ตัวขนม ที่เด็กบางคนรู้แค่ว่า ปีหนึ่งจะได้กลับมากินสักครั้งเท่านั้น  
นัยยะที่แฝงจากจุดกำเนิดด้วยเรื่องเล่าต่างๆ สะท้อนความระลึกคิดของผู้คนใส่ไว้ในจิตใจ ดังนั้น ขนมไหว้พระจันทร์ที่ปรุงแต่งด้วยคุณค่าศาสตร์และศิลป์จึงเปรียบสัญลักษณ์แห่งความเป็น “น้ำหนึ่งใจเดียวกัน”  เห็นตัวอย่างได้จากคนจีน  เพราะถ้าเมื่อไหร่ ที่แตก “สามัคคี”  เมื่อนั้น ก็จะถูกรุกรานและครอบงำ  เมื่อไหร่ที่เกิดความไม่หนักแน่น เมื่อนั่นความหายนะก็จะบังเกิด

อัพเดทล่าสุด