ลักษณะครูไทยที่พึงประสงค์ คุณลักษณะของครูไทยที่พึงประสงค์ จรรยาบรรณครู


10,888 ผู้ชม


ผลสรุปจากการวิจัยได้แสดงคุณลักษณะของครูที่ดีที่พึงปรารถนา 3 ด้านคือ

1. มีความรู้ดี ซึ่งได้แก่ ความรู้ในวิชาการทั่วไป ความรู้ในเนื้อหาวิชาที่จะสอน ความรู้ในวิชาครู ความรู้ในหน้าที่และงานครูทุกประการ

2.มีทักษะในการสอนและการปฏิบัติงานครู เช่น อธิบายเก่ง สอนสนุก ใช้สื่อและอุปกรณ์เสมอ จัดกิจกรรมสร้างบรรยากาศได้น่าเรียน เร้าพฤติกรรม ตลอดจนชี้แนะแนวทางในการศึกษา จนนำไปสู่การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง โดยใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นต้น

3.มีคุรุธรรมนิยม อันได้แก่ คุณธรรมของครู จริยธรรม และคตินิยมในความเป็นครู เช่น ภาคภูมิใจที่ได้เป็นครู มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพครู รักการสอน พอใจที่ได้ทำประโยชน์แก่การดำเนินชีวิตของศิษย์ ช่วยพัฒนาคนและสังคม ตลอดจนมีวิญญาณแห่งความเป็นครู  เป็นต้น

(อำไพ สุจริตกุล.2533:23-26)

จรรยาบรรณครู


จรรยาบรรณครู  หมายถึง  ข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติหรือการปฏิบัติตน                   ของผู้ประกอบวิชาชีพครู  เพื่อรักษาหรือส่งเสริมเกียรติคุณขื่อเสียงและฐานะของความเป็นครูไทย  ได้มีบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร และกฎหมายรองรับเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2506  โดยอาศัยอำนาจบังคับของพระราชบัญญัติครู  พ.ศ.2488  ที่กำหนดให้คุรุสภาเป็นสถาบันผู้ออกระเบียบข้อบังคับ ได้เรียกว่า  ระเบียบประเพณีของครูว่าด้วยจรรยาบรรณครู 10  ข้อ และระเบียบว่าด้วยวินัยครู10 ข้อ  จนกระทั่งปี พ.ศ.2539     คุรุสภาได้ปรับปรุงข้อบังคับเกี่ยวกับจรรยาบรรณของครูขึ้นใหม่ โดยตัดข้อความที่มีลักษณะเป็นวินัยออกไปเหลือเพียงบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็นจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ  เรียกว่า ระเบียบคุรุสภาว่าด้วย  จรรยาบรรณครู  พ.ศ.2539  โดยประกาศใช้ตั้งแต่   วันที่  7  พฤษภาคม  2539  มีทั้งหมด  9 ข้อ  ดังนี้


1.   ครูต้องรักศิษย์และเมตตาศิษย์  โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริม  ให้กำลังใจ  ในการศึกษาแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า


2.  ครูต้องอบรม  สั่งสอน  ฝึกฝน  สร้างเสริมความรู้  ทักษะและนิสัยที่ถูกต้องดีงาม ให้แก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ


3.  ครูต้องประพฤติ  ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย  วาจา  และจิตใจ


4.  ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย  สติปัญญา  จิตใจ  อารมณ์  และสังคมของศิษย์


5.  ครุต้องไม่แสวงหาประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ  และไม่ใช้ศิษย์กระทำการใดๆ อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ


6.  ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ  ด้านบุคลิกภาพ  และวิสัยทัศน์  ให้ทัน                  ต่อการพัฒนาทางวิทยาการเศรษฐกิจ  สังคมและการเมืองอยู่เสมอ


7.  ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู  และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู


8.  ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์


9.  ครูพึงประพฤติ  ปฏิบัติตน  เป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญา  และวัฒนธรรมไทย


ดังนั้น  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ  จึงได้กำหนดจรรยาบรรณครู       ของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาเอกชนแห่งชาติขึ้นมา  เพื่อกำหนดให้ครูทุกคนต้องถือปฏิบัติ                  มี  12  ข้อ ดังนี้


1.  ต้องรักษาความสามัคคี  ชื่อเสียงของหมู่คณะและสถานศึกษาที่สังกัดอยู่


2.  ต้องไม่ลบลู่  ดูหมิ่นศาสนา


3.  ต้องรักษาชื่อเสียง  มิให้ขึ้นชื่อว่าประพฤติชั่ว


4.  ไม่ละทิ้งการสอน  อุทิศเวลาให้แก่ศิษย์  และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ


5.  ต้องรักษาความลับของศิษย์ เพื่อนร่วมงานและสถานศึกษา


6.  ต้องถือปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมที่ดีของสถานศึกษา


7.  ต้องประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์  สุจรจิและเที่ยงธรรม                      โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์อันมิชอบ


8.  ต้องไม่ปิดบังอำพราง  หรือบิดเบือนเนื้อหาสาระทางวิชาการ


9.  ต้องไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามเพื่อนร่วมงานและบุคคลใด ๆ เชื่อฟังและไม่กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา  ซึ่งสั่งการในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมาย  และระเบียบ                แบบแผนของสถานศึกษา


10.  ต้องไม่เบียดบังใช้แรงงาน  หรือนำผลงานของศิษย์ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัว


11.  ต้องไม่นำหรือยอมให้นำผลงานทางวิชาการของตนไปใช้ในทางทุจริต  หรือเป็นภัยต่อมนุษยชาติ


12.  ต้องไม่นำผลงานของผู้อื่นมาแอบอ้างเป็นผลงานของตนเอง


จะเห็นได้ว่า  จรรยาบรรณครูทั้ง 2 ฉบับ  เปรียบเสมือนศีลธรรมของครูที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้ครูได้ประพฤติปฏิบัติให้เป็นปกตินิสัย  ถ้าครูปฏิบัติได้ทุกข้อตามจรรยาบรรณครู ทั้ง 2 ฉบับแล้ว  สังคมก็จะศรัทธาและให้ความสำคัญกับอาชีพครูอันจะนำไปสู่การมีเกียรติและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพครู

วิชาการดอทคอม

อัพเดทล่าสุด