ข้าราชการ หื่น!!! "กฎ ก.พ." แก้ไขนิสัยชั่ว! ได้ จริงหรือ???


823 ผู้ชม


ข้าราชการ หื่น!!! "กฎ ก.พ." แก้ไขนิสัยชั่ว! ได้ จริงหรือ???

ความภาคภูมิใจกับการออกกฎหมายของ ก.พ. จะแก้ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศของระดับบิ๊กข้าราชการ ที่ลงมือกระทำต่อข้าราชการชั้นผู้น้อยได้หรือไม่ แล้วหนทางใดจะช่วยแก้ปัญหาได้ เริ่มกันที่คน กฎหมาย หรือสันดาน ตรงไหนถึงจะแก้ได้อย่างตรงจุด หรือเพราะความสวยเป็นเหตุ... 
เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎ ก.พ.ว่าด้วยการกระทำอันเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ หรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. ... หวังเอาผิดข้าราชการที่มีพฤติกรรมคุกคามข้าราชการหญิงชั้นผู้น้อย ด้วยการสัมผัสทางกาย วาจา เช่น ลวนลามทางสายตา ส่งข้อความส่อในทางเพศ แต่ไม่ถือเป็นความผิดร้ายแรง เว้นแต่การกระทำที่เข้าข่ายความผิดร้ายแรง ตามมาตรา 85 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 
จากสถิติความรุนแรงทางเพศของมูลนิธิเพื่อนหญิง ในปี 2552 มีข่าวการละเมิดทางเพศจำนวน 271 ข่าว มีผู้ถูกกระทำทั้งหมด 331 ราย เป็นช่วงอายุ 11-15 ปี มากที่สุด โดยมีจำนวน 132 ราย และผู้ถูกกระทำที่มีอายุน้อยที่สุดคือ 2 ปี 7 เดือน ถูกชายในสถานรับเลี้ยงเด็กข่มขืน ส่วนอายุมากที่สุดคือ 79 ปี และผู้กระทำมีจำนวน 485 ราย ในช่วงอายุ 16-20 ปี มีจำนวนมากที่สุด 112 ราย และผู้กระทำอายุมากที่สุดคือ 73 ปี อายุน้อยที่สุด 4 ขวบ เป็นเด็กอนุบาลที่ถูกครูสั่งให้เอานิ้วและอวัยวะเพศ สอดใส่ในอวัยวะเพศนักเรียนหญิง สำหรับประเภทการละเมิดทางเพศมากที่สุด คือ การข่มขืน รองลงมา คือ การรุมโทรม อนาจาร ตามลำดับ และสถิติการละเมิดทางเพศปี 2552 มีมากกว่าปี 2551 ที่มีเพียง 220 ราย 
สถิติดังกล่าวแสดงถึงปัญหาความรุนแรง ที่ดูเหมือนว่ายังไม่มีทีท่าจะลดลง ล่าสุดกับกรณีฉาว เมื่อเจ้าหน้าที่หญิงรัฐสภาระดับ 5 อดีตเชียร์ลีดเดอร์มหาวิทยาลัยดัง ซึ่งเป็นถึงลูกข้าราชการระดับสูง ที่เรียนจบปริญญาโทจากเมืองนอก เคราะห์ซ้ำกรรมซัดความสวยเป็นเหตุ เธอถูกอดีตประธานรัฐสภาคนหนึ่ง ใช้ตำแหน่งหน้าที่บังคับอ้างให้มาส่งเอกสารที่คอนโดฯ แล้วได้พยายามชักชวนให้ดูบอล ก่อนลงมือลวนลาม จนถึงขั้นละเมิดทางเพศ แต่ก็ไม่สามารถเอาผิดทางอาญากับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนนั้นได้ เนื่องจากติดขัดข้อกฎหมาย ที่อายุความมีอายุเพียงแค่ 3 เดือน 
นอกจากนี้ยังมีกรณีหัวหน้าองค์กรอิสระด้านสิทธิมนุษยชน กระทำการคุกคามทางเพศกับผู้ใต้บังคับบัญชาสาว ด้วยการพูดจาแทะโลม ลวนลามร่างกาย ทั้งในและนอกสถานที่ทำงาน ทั้งนี้ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนได้ความว่ากระทำผิดจริง จึงสั่งลงโทษโดยให้พักงาน 1 ปี แต่ผู้ชายไม่ยอมรับโทษ ตัดสินใจลาออกก่อน เท่านั้นก็พ้นผิดไปโดยปริยาย 
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานหรือองค์กรด้านผู้หญิงหลายภาคส่วน ต่างพากันออกมาประณามเรียกร้อง รวมทั้งให้ความช่วยเหลือผู้หญิงเหล่านั้นมาโดยตลอด ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสังคม ทั้งผู้ชมผู้ปฏิบัติต่างพากันหวังว่า รายนี้จะเป็นรายสุดท้าย เหตุการณ์ลักษณะนี้จะหมดไปจากเมืองไทยหรือไม่ กฎ ก.พ.ฉบับนี้จะเอาผิดข้าราชการที่ล่วงละเมิดทางเพศได้หรือไม่ ต้องฟังความเห็นจากสตรีแถวหน้าที่ "ไทยรัฐออนไลน์" ได้ติดต่อสัมภาษณ์มา 
เริ่มที่ "ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช" นักสังคมสงเคราะห์และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดขอนแก่น ได้แสดงความเห็นว่า เรื่องดังกล่่าวเป็นความพยายามในการแก้ปัญหา การกระทำความรุนแรงทางเพศในที่ทำงาน ตั้งแต่สายตาจนถึงขั้นละเมิดทางเพศ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี ที่จะปกป้องข้าราชการทั้งหญิงและชายรูปแบบหนึ่ง แต่ก็เห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะไม่สามารถช่วยเหลือผู้ถูกกระทำได้มากนัก เพราะไม่มีบทลงโทษชัดเจน มีแต่การภาคทัณฑ์ 
"คนที่มีพฤติกรรมความผิดทางเพศ ส่วนใหญ่จะได้รับโทษแค่ลหุโทษเท่านั้น เช่น เคยส่งข้อความไปว่า คุณนมสวย สะโพกสวย หน้าอกน่าฟัด ซึ่งมีหลักฐานปรากฎ และมีคนเห็นถึง 2-3 คน ซึ่งพอจะเป็นพยานให้ได้ แต่เมื่อไปร้องผู้บังคับบัญชาก็ไม่สามารถเอาผิดได้ ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนว่า หากไม่สามารถเอาผิดได้ ผู้บังคับบัญชาก็จะต้องรับผิดชอบด้วย" 
นางระเบียบรัตน์ ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาละเมิดทางเพศ ว่า การผ่านกฎ ก.พ.ดังกล่าว อาจจะไม่ได้ผลนัก เพราะนั่นเป็นเพียงมาตรการหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่ามีส่วนดี ในการป้องปรามผู้กระทำผิดได้ โดยจะช่วยแก้เรื่องบทลงโทษ และช่วยให้ข้าราชการหญิงอุ่นใจขึ้น สิ่งที่ช่วยได้จริง คือ ประเทศไทยต้องรณรงค์ปลูกจิตสำนึก ให้ผู้ชายที่คิดจะกระทำผิด รู้สึกละอายชั่ว กลัวบาป ทั้งกาย วาจา ใจ และเสนอว่า ในสภาฯ ควรที่จะมีผู้หญิงมากขึ้น เพื่อให้มีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย หากตนได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิง จะเป็นผู้ผลักดันกฎหมายเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด เพราะเห็นใจผู้หญิงที่ถูกกระทำ ที่ต้องเสียอนาคตไปตลอดชีวิต 
"กฎหมายมันต้องแรง เพราะว่าคนไม่มีศีลธรรม คุณธรรม สังคมอยู่ด้วยกันเยอะๆ ต้องมีกฎเกณฑ์ กติกา หากไม่มีก็เหมือนสัตว์ ที่ไม่ได้มีเมตตา คุณธรรม สัตว์จึงข่มขืนลูกของมันได้ เดี๋ยวนี้คนก็เป็นเหมือนสัตว์ไปหมดแล้ว จึงต้องช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้กับคนมากๆ ไม่ใช่แต่ผู้ชายเท่านั้น ที่อยากมีแต่เมียเด็ก ผู้หญิงก็อยากจะมีผัวเด็กเหมือนกัน แต่ละอายชั่วกลัวบาป เมื่อเราเลือกแล้ว ก็ต้องยุติ หากยังไม่แต่งงาน จะมีร้อยผัวร้อยเมียก็ไม่เป็นไร ดังนั้นต้องอย่าทำให้คนที่รักเราเสียใจ มีเพียงสิ่งนี้เท่านั้น ที่จะขอจากสังคมได้" นางระเบียบรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย 
เช่นเดียวกับ "ปวีณา หงสกุล" ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี เปิดเผยกับ "ไทยรัฐออนไลน์" คล้ายกับความเห็นในข้างต้นว่า การที่คณะรัฐมนตรีผ่านกฎ ก.พ. ดังกล่าว เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่การปฏิบัติหรือบทลงโทษยังไม่มีความชัดเจน จึงเชื่อว่าจะยังไม่สามารถเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้ เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยเอาผิดกับข้าราชการผู้ใหญ่ได้เลย เนื่องจากผู้ถูกกระทำต่างไม่มีพยานหลักฐาน หรือบางครั้งเมื่อไปแจ้งความกับตำรวจแล้ว ก็ถูกบีบบังคับให้ถอนแจ้งความ ส่วนตัวรู้สึกเห็นใจข้าราชการหญิงที่ต้องถูกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เอาเปรียบ โดยทางมูลนิธิปวีณาก็ได้รับการร้องทุกข์ร้องเรียนมาเป็นจำนวนมาก 
"ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่ถูกข่มขืน มักจะไม่ยอมบอก แต่เมื่อทนไม่ได้จริงๆ ถึงจะยอมเปิดเผย จากนั้นเมื่อมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมา ข้าราชการผู้กระทำผิด มักจะไม่ได้รับการลงโทษแต่อย่างใด เพราะบทลงโทษไม่ได้ชี้ชัดว่าจะลงโทษอย่างไร ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไขเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา" 
สำหรับบทลงโทษข้าราชการที่ล่วงละเมิดทางเพศข้าราชการหญิง นางปวีณา กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงเป็นแค่การป้องปรามผู้ที่คิดจะกระทำผิดเท่านั้น ส่วนที่จะเอาผิดกับข้าราชการผู้กระทำผิดนั้นยังไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงควรที่จะแก้ไขบทลงโทษใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ขั้นตอนที่ 1 จะลงโทษอย่างไร และหากกระทำผิดเป็นครั้งที่ 2 จะได้รับโทษอย่างไร และต้องระบุให้ชัดว่า จะไม่มีการช่วยเหลือระหว่างข้าราชการด้วยกัน เพราะต้องยอมรับว่า สังคมไทยยังคงเอื้อประโยชน์ต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน พี่น้อง ผู้บังคับบัญชา โดยไม่คำนึงถึงการกระทำผิด ที่ต้องได้รับบทลงโทษ อย่างไรก็ตามเห็นว่า คงเป็นเรื่องยากที่แก้ไขปัญหาเรื่องนี้ 
ประธานมูลนิธิปวีณา ได้เสนอทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้จึงควรมองที่วิธีปฏิบัติมากกว่า เนื่องจากทุกครั้งที่เกิดเหตุขึ้น และมีการร้องเรียนเข้ามานั้น จะต้องส่่งเรื่องไปที่ศาลหรือ ป.ป.ช. ในทันที พร้อมตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลรับผิดชอบเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศหรือสิทธิสตรีโดยเฉพาะ หรืออาจจะตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาดูแลข้าราชการหญิงชั้นผู้้น้อย โดยที่ไม่ต้องผ่านหน่วยงานใดๆ เลย 
เมื่อองค์กรที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงออกมาระบุชัดว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ ไม่น่าจะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ เห็นทีทุกคนจะต้องหันมาช่วยกัน "คิดดี-ทำดี" ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ไม่ใช่จะปล่อยตัวปล่อยใจเลยเถิด และคิดว่าที่กระทำไม่เรียก "ความผิด" ต่อไป. 

ที่มา: https://www.kruthai.info/

อัพเดทล่าสุด