พัฒนาการ หมายถึง การเปลี่ยนแปลงหรือการเจริญงอกงาม ทั้งในโครงสร้าง (Structure) และแบบแผน (Pattern) ของอินทรีย์ทุกส่วน มนุษย์ทุกคนต้องผ่านขั้นตอนของพัฒนาการตลอดชีวิต ดังนั้นเรื่องพัฒนาการจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักจิตวิทยาให้ความสนใจศึกษา
รูปพัฒนาการทารกในครรภ์
องค์ประกอบที่มีผลต่อพัฒนาการของมนุษย์ คือ
1. พันธุกรรม (Heredity)
2. วุฒิภาวะ (Maturation)
3. การเรียนรู้ (Learning)
4. สิ่งแวดล้อม (Environment)
1. พันธุกรรม คือ ลักษณะต่าง ๆ ทั้งทางกายและทางพฤติกรรมที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน การถ่ายทอดนี้ผ่านทางเซลล์สืบพันธุ์ของพ่อและแม่ ลักษณะต่าง ๆ จากพ่อและแม่จะถ่ายทอดไปสู่ลูกโดยทางเซลล์สืบพันธุ์นี้ ซึ่งเรียกว่า โครโมโซม (Chromosome) สำหรับมนุษย์จะมีโครโมโซม 23 คู่ หรือ 46 ตัวมีอยู่คู่หนึ่งที่ทำหน้าที่กำหนดเพศหญิงหรือเพศชาย
อิทธิพลของพันธุกรรมที่มีต่อมนุษย์คือ เป็นตัวกำหนดเพศ รูปร่าง ชนิดของโลหิต สีผม ผิว ตา และระดับสติปัญญาเป็นต้น นักจิตวิทยาหลายคน เช่น แอนนาตาซี (Anastasi) ได้กล่าวว่าพันธุกรรมมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการของมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยีน (Gene) ที่แตกต่างจะเป็นตัวกำหนดให้แต่ละบุคคลมีพัฒนาการที่แตกต่างกันส่วนใหญ่แล้วพันธุกรรมจะมีผลต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายมากที่สุด
2. วุฒิภาวะ เป็นกระบวนการเจริญเติบโตและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติของบุคคลโดยไม่ต้องอาศัยการฝึกหัดหรือประสบการณ์ใด ๆ เช่น การยืน การเดิน การวิ่ง การเปล่งเสียง ซึ่งเป็นพื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นไปตามปกติเมื่อถึงวัยที่สามารถจะกระทำได้
3. การเรียนรู้ เป็นพัฒนาการที่เกิดจากประสบการณ์และการฝึกหัด หรือความสามารถทางทักษะอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ ซึ่งจะต้องอาศัยประสบการณ์และการฝึกหัดเป็นพื้นฐานสำคัญ ดังนั้นนักจิตวิทยาที่สนใจเรื่องการเรียนรู้ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องความพร้อม (Readiness) ว่าเป็นสิ่งสนับสนุนในเรื่องการเรียนรู้เป็นอย่างมาก จากการศึกษาเรื่องความพร้อมนักจิตวิทยาได้บ่งแนวความคิดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
3.1 ความพร้อมเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Natural Readiness Approach) กลุ่มนี้มีความเห็นว่า ความพร้อมของบุคคลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อถึงวัยหรือเมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ดังนั้นในกลุ่มนี้จึงเห็นว่าการทำอะไรก็ตามไม่ควรจะเป็น "การเร่ง" เพราะการเร่งจะไม่ทำให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ตรงกันข้ามอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมาคือ ความท้อถอย และความเบื่อหน่าย เป็นต้น
3.2 ความพร้อมเกิดจากการกระตุ้น (Guided Experience Approach) กลุ่มนี้มีความเห็นตรงข้ามกับกลุ่มแรก คือ เห็นว่า ความพร้อมนั้นสามารถเร่งให้เกิดขึ้นได้ โดยการกระตุ้น การแนะนำ การจัดประสบการณ์อันจะก่อให้เกิดเป็นความพร้อม ได้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเด็ก ซึ่งจะเป็นวัยที่มีช่วงวิกฤติ (Critical Period) ของการเรียนรู้และการปรับตัว เป็นอย่างมาก
4. สิ่งแวดล้อม ได้แก่ สิ่งที่อยู่รอบตัวบุคคลนั้น ๆ ทั้งสิ่งที่มีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต นอกจากนั้นสิ่งแวดล้อมยังหมายรวมถึงระบบและโครงสร้างต่าง ๆ ที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น เช่น ระบบครอบครัว ระบบสังคม ระบบวัฒนธรรม เป็นต้น
การแบ่งพัฒนาการของมนุษย์
พัฒนาการของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 4 ด้านใหญ่ ๆ คือ
1. พัฒนาการทางกาย เป็นการแบ่งพัฒนาการของมนุษย์ตามขั้นตอนในแต่ละวัย
2. พัฒนาการทางด้านความคิดหรือสติปัญญา (Cognitive Development) ของเพียเจท์
3. พัฒนาการทางด้านจิตใจ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น
3.1 พัฒนาการทางด้านจิตใจ - เพศ (Psychosexual Development) ของฟรอยด์ (Freud)
3.2 พัฒนาการทางด้านจิตใจ - สังคม (Psychosocial Development) ของอีริคสัน (Erikson)
4. พัฒนาการทางด้านจริยธรรม (Moral Devlopment) ของโคลเบิร์ก (Kohlberg)
Source: www.novabizz.com
พัฒนาการของทารกในครรภ์