กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง
ผู้แต่ง เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง)
ลักษณะคำประพันธ์ กาพย์ห่อโคลง
คำประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลง มีลักษณะทางฉันทลักษณ์ดังนี้ ขึ้นต้นด้วยกาพย์ยานี 1 บท แล้วตามด้วยโคลงสี่สุภาพ 1 บท ใจความเหมือนกัน กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง นั้นมีกาพย์ยานีและโคลงสี่สุภาพรวม 108 คู่ และโคลงปิดท้ายมี 2 บท
จุดประสงค์ในการแต่ง เป็นบทชมธรรมชาติ เพื่อความเพลิดเพลินในการเดินทาง
ที่มาของเรื่อง หนังสือปริทรรศน์ วรรณคดีไทยของนายตำรา ณ เมืองใต้
เที่ยวเล่นเป็นสุขเกษม แสนสิ่งสนุกปลุกใจหวัง
เร่ร่ายผายผาดผัง หัวริกรื่นชื่นชมไพร
สนุกเกษมเปรมหน้าเหลือบ ลืมหลัง
แสนสนุกปลุกใจหวัง วิ่งหรี้
เดินร่ายผายผันยัง ชายป่า
หัวร่อรื่นชื้นชี้ ส่องนิ้วชวนแล
ถอดคำประพันธ์ได้ว่า การเที่ยวเล่นในครั้งนี้ช่างมีความสุขสนุกสนาน เหลือเกินเดินอย่างรวดเร็วเข้าไปในป่า หัวร่อต่อกระซิบกันอย่างสดชื่นรื่นเริงโดยการชี้ชวนให้ชมธรรมชาติต่างๆ
คำศัพท์
- ผาดผัง, ผายผัน หมายถึง เดินอย่างรวดเร็ว
- หรี้ คือ เป็นคำโทโทษของ “รี่” คำโทษคือคำที่ไม่เคยใช้ไม้โท แต่เอา มาแปลงใช้โดยเปลี่ยนวรรณยุกต์เป็นโท เพื่อให้ได้เสียงโทตามบังคับ, รี่ หมายถึง อาการที่เคลื่อนเข้าไปเรื่อยไม่รีรอ
- สองนิ้ว คือ ชี้นิ้ว
เลียงผาอยู่ภูเขา หนวดพรายเพราเขาแปล้ปลาย
รูปร่างอย่างแพะหมาย ขนเหม็นสาบหยาบเหมือนกัน
เลียงผาอยู่พ่างพื้น ภูเขา
หนวดพู่ดูเพราเขา ไปล่ท้าย
รูปร่างอย่างแพะเอา มาเปรียบ
ขนเหม็นสาบหยาบร้าย กลิ่นกล้าเหมือนกัน
ถอดคำประพันธ์ เลียงผาอยู่บนภูเขา มีรูปร่างคล้ายแพะ มีหนวดงาม ปลายเขาโค้งไปข้างหน้า ขนหยาบและมีกลิ่นเหม็นสาบเช่นเดียวกับแพะ
คำศัพท์
- เพรา , พรายเพรา หมายถึง งาม
- แปล้ หมายถึง แบนราบ
- ไปล่ท้าย หมายถึง ปลายโค้งไปข้างหน้า
กระจงกระจิตเตี้ย วิ่งเรี่ยเรี่ยน่าเอ็นดู
เหมือนกวางอย่างตาหู มีเขี้ยวน้อยสร้อยแนมสอง
กระจงกระจิดหน้า เอ็นดู
เดินร่อยเรี่ยงามตรู กระจ้อย
เหมือนกวางอย่างตาหู ตีนกีบ
มีเคี่ยวขาวน้อยช้อย แนบข้างเคียงสอง
ถอดคำประพันธ์ กระจงเป็นสัตว์ที่มีตัวขนาดเล็กมองดูน่ารักน่าเอ็นดู มีตาหูและตีนกีบเหมือนกวาง มีเขี้ยวน้อยสีขาวสองเขี้ยวแต่ไม่มีเขา
คำศัพท์
- กระจิด หมายถึง เล็กน้อย
- แนม หมายถึง แนบ
- หน้า หมายถึง หน้า เป็นคำโทโทษของ น่า
- กระจ้อย หมายถึง เล็กน้อย
- เคี่ยว หมายถึง เคี่ยว เป็นคำเอกโทโทษของ เขี้ยว
- ช้อย หมายถึง อ่อนช้อย
ฝูงลิงใหญ่น้อยกระจุ้ย ชะนีอุ่ยอุ้ยร้องหา
ฝูงค่างหว่างพฤกษา ค่างโจนไล่ไขว่ปลายยาง
ฝูงลิงยวบยาบต้น พวาหนา
ฝูงชะนีมี่กู่หา เปล่าข้าง
ฝูงค่างหว่างพฤกษา มาสู่
ครอกแครกไล่ไขว่คว้าง โลดเลี้ยวโจนปลิว
ถอดคำประพันธ์ ฝูงลิงขย่มต้นพวาอยู่ยวบยาบ ฝูงชะนีร้องกู่หาคู่ของมัน ฝูงค่างกระโดดไปมาระหว่างต้นไม้ ฝูงลิงต่างพากันร้องขู่ตะคอกพร้อมทั้งกระโดดไล่ไขว่คว้ากัน
คำศัพท์
- กระจุ้ย หมายถึง เล็กๆ
- ยวบยาบ หมายถึง อาการที่ลิงขย่มต้นไม้ขึ้นลง
- พวา หมายถึง ต้นมะม่วง
- ครอกแครก หมายถึง เสียงขู่ตะคอกของลิง
งูเขียวรัดตุ๊กแก ตุ๊กแกแก่คางแข็งขยัน
กัดงูงูยิ่งพัน อ้าปากง่วงล้วงตับกิน
งูเขียวแลเหลื้อมพ่น พิษพลัน
ตุ๊กแกคางแข็งขยัน คาบไว้
กัดงูงูเร่งพัน ขนดเครียด
ปากอ้างูจึงได้ ลากล้วงตับกิน
ถอดคำประพันธ์ งูเขียวตัวเงาเป็นมันแต่ไม่มีพิษถูกตุ๊กแกคาบไว้ ในขณะเดียวกันงูเขียวก็รัดตุ๊กแกจนต้องอ้าปากและเข้าไปล้วงตัยตุ๊กแกเป็นอาหาร
คำศัพท์
- เหลื้อม หมายถึง เหลื้อม เป็นรูปโทโทษของ เลื่อม หมายถึงเป็น เงามัน
- พันขนดเครียด หมายถึง รัดให้แน่นมาก
ดูหนูสู่รูงู งูสุดสู้หนูสู้งู
หนูงูสู้ดูอยู่ รูปงูทู่หนูมูทู
ดูงูขู่ฝูดฝู้ พรูพรู
หนูสู่รูงูงู สุดสู้
งูสู้หนูหนูสู้ งูอยู่
หนูรู้งูงูรู้ รูปถู้มูทู
ถอดคำประพันธ์ งู่ขู่หนูฟู่ๆ เพราะหนูจะเข้าไปในรูงู งูจึงสู้กับหนู หนูก็สู้กับงู สัตว์ทั้งสองต่างก็รู้เชิงซึ่งกันและกันโดยทำเสียงขู่ใส่กัน
คำศัพท์
- มูทู หมายถึง มูทู คือ มู่ทู่ หมายถึง ป้าน , ไม่แหลม (ในที่นี้ลดวรรณยุกต์เอก)
- ฝู้ หมายถึง ฝู้ เป็นรูปโทโทษของ ฟู่ หมายถึง เสียงดังเช่นนั้น คือ เสียงดังฟู่ เหมือนเสียงงูเวลาขู่
- ถู้ หมายถึง เป็นรูปโทโทษของ ทู่ หมายถึงไม่แหลม
หัวลิงหมากลางลิง ต้นลางลิงแลหูลิง
ลิงไต่กระไดลิง ลิงโลดคว้าประสาลิง
หัวลิงหมากเรียกไม้ ลางลิง
ลางลิงหูลิงลิง หลอกขู้
ลิงไต่กระไดลิง ลิงห่ม
ลิงโลดฉวยผู้ชม ฉีกคว้าประสาลิง
ถอดคำประพันธ์ กวีกล่าวถึงเถาหัวลิง ต้นหมากลิง และลิงบางตัวก็ขึ้นต้นหูลิงทำหน้าหลอกคู่ของมัน บ้างก็ไล่เถากระโดลิงขย่มเล่น บ้างก็กระโดดฉวยชมพู่คว้ามาฉีกเล่นตามภาษาลิง
คำศัพท์
- หัวลิง หมายถึง ไม้เถาชนิดหนึ่ง ผลขนาดส้มจีน มีสันตรงกลางคล้ายหัวลิง
- หมากลางลิง หมายถึง ชื่อปาล์มชนิดหนึ่ง
- ลางลิง , กระไดลิง หมายถึง ไม้เถาเนื้อแข็งชนิดหนึ่ง เถาแบนยาว - งอกลับไปกลับมาคล้ายขั้นบันได
- หูลิง หมายถึง ชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่ง
- ขู้ หมายถึง ขู้ เป็นคำโทโทษของคำว่า คู่
- ชมผู้ หมายถึง ชมผู้ เป็นรูปโทโทษของคำว่า ชมพู่ หมายถึงผลไม้ชนิดหนึ่ง
https://writer.dek-d.com/Writer/story/viewlongc.php?id=353900&chapter=12