อิเหนาตอนศึกกะหมังกุหนิง แปล ถอดความอิเหนาตอนศึกกะหมังกุหนิง


7,397 ผู้ชม


ใจความสำคัญของเรื่อง อิเหนา  ตอน ศึกกะหมังกุหนิง


                ตั้งแต่วิหยาสะกำได้ชมรูปภาพของนางบุษบาก็หลงรักนาง และอยากได้นางมาเป็นมเหสี ท้าวกะหมังกุหนิงก็ตามใจลูกส่งทูตไปขอนางบุษบากับท้างดาหา และเตรียมกองทัพไว้ถ้าท้าวดาหาปฏิเสธก็จะยกทัพไปตีเมืองดาหา ท้าวกะหมังกุหนิงได้เล่าเรื่องราวและขอความช่วยเหลือจากน้องชาย คือ ระตูปาหยัง และท้าวประหมัน ซึ่งระตูทั้งสองก็ทูลทัดทาน ขอให้ตรึกตรองดูให้ดี เพราะท้าวดาหาเป็นวงศ์อสัญแดหวา ซึ่งมีกำลังทหารมากมาย ทั้งไพร่พลก็ชำนาญในการสงคราม ท้าวกะหมังกุหนิงก็บ่ายเบี่ยงเลี่ยงตอบว่าการทำสงครามครั้งนี้เป็นการช่วงชิงนางบุษบาจากจรกา แม้พระอนุชาจะอ้างเหตุผลอย่างไรก็ตาม ท้าวกะหมังกุหนิงก็ยืนยันความตั้งใจเดิม ไม่เปลี่ยนใจจะทำเพื่อลูก

                ฝ่ายท้าวดาหาเมื่อปฏิเสธไม่ยอมยกนางบุษบาให้แล้ว ก็มีหนังสือไปขอความช่วยเหลือไปหาท้าวกุเรปัน พระเชษฐา  ท้าวกาหลังและท้าวสิงหัดส่าหรี พระอนุชาทั้งสอง ท้าวสิงหัดส่าหรีเมื่อทราบข่าวก็ส่งทหารไปบอกท้าวดาหาว่าไม่ต้องวิตก จะส่งสุหรานากงไปช่วย ฝ่ายเมืองกุเรปันท้าวกุเรปันได้มีหนังสือ 2 ฉบับ ให้ดะหมังนำไปให้อิเหนา 1ฉบับ และให้ระตูหมันหยา 1 ฉบับ แล้วให้กะหรัดตะปาตี ยกทัพไปสมทบกับอิเหนา ช่วยท้าวดาหาทำศึก กะหรัดตะปาตีก็ยกทัพไปคอยอิเหนาที่ชายเมืองหมันหยา ส่วนท้าวกาหลังก็ให้ตำมะหงงกับดะหมังคุมพลยกออกจากเมืองกาหลังมาพบสุหรานากงจากเมืองสิงหัดส่าหรี สองทัพก็สมทบกันยกไปเมืองดาหา

               เมื่อท้าวดาหาปฏิเสธไม่ยอมยกนางบุษบาให้ ท้ากะหมังกุหนิงก็เตรียมจัดทัพยกไปตีเมืองดาหา ให้วิหยาสะกำเป็นกองหน้า พระอนุชาทั้งสองเป็นกองหลัง ท้าวกะหมังกุหนิงเป็นจอมทัพ ท้าวกะหมังกุหนิงได้ให้โหรโหรตรวจดูดวงชะตาว่าร้ายดีประกาใด โหรทำนายว่าดวงชะตาของท้าวกะหมังกุหนิงและวิหยาสะกำนั้นถึงฆาต ถ้ายกทัพไปในวันพรุ่งนี้จะพ่ายแพ้แก่ศัตรูแน่นอน ให้เว้นไปซัก 7 วัน แล้วจึงจะพ้นเคราะห์ไปทำศึกได้ แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็มิได้เปลี่ยนความตั้งใจ ยกทัพไปตามกำหนดที่ตั้งใจไว้

                เมื่อท้าวดาหาทราบข่าวศึกก็ให้ตั้งค่ายรอบกรุงดาหาไว้ ทัพเมืองกะหมังกุหนิงก็ได้ยกทัพมาประชิดเมืองดาหา ท้าวดาหาเมื่อเห็นศึกมาประชิดเช่นนั้นก็รู้สึกน้อยใจอิเหนาว่าศึกครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะอิเหนาเป็นต้นเหตุ สุหรานากงและเสนาเมืองกาหลังเมื่อมาถึงก็เข้าเฝ้าท้าวดาหา สุหรานากงแจ้งให้ท้าวดาหาทราบว่า ท้าวกุเรปันส่งกะหรัดตะปาตีให้สมทบกับทัพอิเหนามาช่วย ท้าวดาหาก็เชื่อว่ากะหรัดตะปาตีนั้นคงมา แต่ไม่เชื่อว่าอิเหนาจะจากหมันหยามาได้ ท้าวดาหาเสนอแนะการทำศึกแก่สุหรานากงว่าไม่ควรออกไปสู้รบนอกเมือง เพราะกองทัพศัตรูกล้ายกมาครั้งนี้ก็ย่อมมีความสามารถมีกำลัง ควรตั้งมั่นไว้ในเมืองก่อน ถ้าทัพต่างๆยกมาช่วยแล้วค่อยตีกระหนาบ ศึกก็จะลาเลิกไป

              อิเหนาเมื่อได้รับหนังสือจากท้าวกุเรปันให้ยกทัพไปช่วยท้าวดาหา ถ้าไม่ยกไปช่วยก็ขาดจากความเป็นพ่อลูกกัน แม้ตายก็ไม่ต้องไปเผา

                อิเหนาอ่านจบแล้วก็นึกว่า นางบุษบาจะงามแค่ไหน ใครต่อใครจึงมาหลงรัก ถ้างามเหมือนจินตะหราก็สมควรที่จะหลงรัก อิเหนาคิดว่าอีก 7 วันจึงจะยกทัพไปแต่ดะหมังทูลเตือนว่าอาจไปช่วยไม่ทัน อิเหนาจึงจำใจยกทัพไปวันรุ่งขึ้น อิเหนาได้เข้าเฝ้าท้าวหมันหยาซึ่งก็ได้รับหนังสือจากท้าวกุเรปันมีใจความตำหนิพระธิดาและท้าวหมันหยา ถ้าท้าวหมันหยายังเห็นดีเห็นงามไม่ให้อิเหนายกทัพไปช่วยศึกดาหา ก็จะตัดญาติขาดมิตรกัน ท้าวหมันหยาจึงเร่งให้อิเหนายกทัพไปและให้ระเด่นดาหยนคุมทัพจากหมันหยาไปสมทบอิเหนาด้วย

              อิเหนาจึงมาลาจินตะหรา สการะวาตี และมาหยารัศมี ทั้งที่ใจไม่อยากจากไป อิเหนาสัญญากับจินตะหราว่าเสร็จศึกจะรีบกลีบมาทันที อิเหนายกทัพจากเมืองหมันหยาไปด้วยความโศกเศร้า และคิดถึงสามนางมาตามทางที่ผ่านไป อิเหนายกทัพสมทบกับกะหรัดตะปาตีที่คอยท่าอยู่แล้วพากันยกไปเมืองดาหา เมื่อถึงแดนดาหาอิเหนาก็หยุดตั้งค่าย ให้ตำมะหงงไปทูลท้าวดาหาว่าจะทำศึกให้เสร็จสิ้นก่อนแล้วจึงจะมาเข้าเฝ้า ท้าวดาหาก็ยินดีเมื่อรู้ว่าอิเหนายกทัพมาแล้ว เพราะรู้ว่าอิเหนาเก่งกล้าสามารถ ย่อมชนะศึกแน่นอน ส่วนสุหรานากงก็ยกทัพออกไปสมทบกับอิเหนาแล้วเล่าเรื่องที่ท้าวดาหากล่าวถึงอิเหนาให้ฟัง

                ฝ่ายท้าวกะหมังกุหนิงแม้รู้ข่าวว่ามีทัพยกมาช่วยท้าวดาหาแต่ก็ยังไม่เปลี่ยนใจได้เตรียมทำศึกเต็มที่ เมื่อทัพกะหมังกุหนิงประจันทัพกับทัพของอิเหนา ท้าวกะหมังกุหนิงไม่รู้ว่าเป็นทัพของอิเหนาจึงถามว่าผู้ใดคือจรกา อิเหนาจึงตอบว่าจรกามิได้มาด้วย เรายกมาแต่กุเรปันเพื่อมาช่วยน้อง ท้าวกะหมังกุหนิงเมื่อรู้ว่าเป็นอิเหนาก็รู้สึกหวาดหวั่นแต่ก็มีมานะเจรจาตอบ ในที่สุดสังคามาระตะก็ออกต่อสู้กับวิหยาสะกำ และได้ฆ่าวิหยาสะกำตาย ท้าวกะหมังกุหนิงจึงเข้าต่อสู้กับสังคามาระตะ อิเหนาเข้ารับไว้และฆ่าท้าวกะหมังกุหนิงสำเร็จ ระตูปาหยังและท้าวประหมันเห็นเหตุการณ์เป็นดังนั้นจึงยอมแพ้แก่อิเหนา และจะยอมเป็นเมืองขึ้นจะส่งเครื่องบรรณาการมาถวายตามประเพณี อิเหนาก็ได้อนุญาตให้นำศพท้าวกะหมังกุหนิงและวิหยาสะกำกลับไปที่เมืองเพื่อจัดพิธีศพตามประเพณีต่อไป

ลักษณะ                 กลอนบทละคร
 
อธิบายผังโครงสร้าง

                ๑) แสดงผังโครงสร้างกลอนบทละคร ความยาว ๒ บท

                ๒) กลอน ๑ บท มี ๒ บาท คือ บาทเอกและบาทโท

                ๓) กลอน ๑ บาท มี ๒ วรรคคือบาทเอกประกอบด้วย วรรค สดับ และวรรค รับ บาทโทประกอบด้วย วรรค รอง และวรรค ส่ง

                ๔) กลอน ๒ วรรค เรียกว่า ๑ คำกลอน

                ๕) เส้นโยงแสดงจุดสัมผัสนอก เป็นกฎบังคับต้องมี สำหรับกลอนวรรค รับ และ ส่ง จะเลือกสัมผัสตรงคำที่ ๒, ๓ หรือ ๕ ก็ได้ ในกลอนบทละครนิยมสัมผัสตรงคำที่ ๒ และ ๕ มาก สำหรับจุดสัมผัสใน โปรดดูคำอธิบาย ที่กลอนสุภาพ

                ๖) กลอนยาว ๒ บทขึ้นไป ต้องเชื่อมสัมผัสท้ายวรรค ส่ง ไปยังคำท้ายวรรค รับ ของบท ถัดไปเสมอ

                 กลอนบทละคร เป็นกลอนสุภาพประเภทหนึ่งจัดอยู่ในหมวดกลอนขับร้อง เช่นเดียวกับกลอนดอกสร้อย สักวา กลอนเสภา และเพลงไทยเดิม

                วัตถุประสงค์ในการแต่งกลอนบทละคร เพื่อนำไปแสดงละครร้องและรำ ซึ่งในอดีตถือเป็นการแสดงชั้นสูงที่มีเฉพาะในรั้วในวังเท่านั้น

ลักษณะข้อบังคับ

                ลักษณะบังคับ (ฉันทลักษณ์) กลอนบทละคร เช่นเดียวกับกลอนสุภาพ แต่จำนวนคำในวรรค จะอยู่ที่จำนวน ๖-๗ เป็นส่วนมาก ทั้งนี้เพื่อให้จังหวะของเสียงเข้ากับท่าร่ายรำของตัวละคร และท่วงทำนองเพลงปี่พาทย์

                นอกจากนี้ กลอนบทละคร จะมีคำนำ ในบางบท เพื่อบอกถึงการกระทำ หรือเหตุการณ์สำคัญ ที่กำลังดำเนินไป ซึ่งจะมีอยู่ ๒ คำ คือ "เมื่อนั้น" กับ "บัดนั้น"คำว่า "เมื่อนั้น" ใช้สำหรับตัวละครสูงศักดิ์ ส่วนคำว่า"บัดนั้น" ใช้สำหรับตัวละครชั้นสามัญ  สิ่งสำคัญที่สุด ที่กวีผู้แต่งบทกลอนละครร้อง จะต้องทราบคือ

                ๑. ท่าร่ายรำต่าง ๆ ในการแสดง โขน และละคร

                ๒. ท่วงทำนอง จังหวะ ของเพลงปีพาทย์ ขั้นพื้นฐาน และ

                ๓. เพลงหน้าพาทย์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ประมาณ ๓๐ เพลง  ซึ่งถือเป็นเพลงปี่พาทย์ชั้นสูงของไทย ใช้เป็นเพลง ประกอบการบวงสรวง ไหว้ครู โหมโรงในพิธีการ ประกอบถึงท่าเหาะเหินของตัวละคร

                ความสำคัญดังกล่าวนี้ กวีผู้แต่งบทละครร้อง จะกำหนดไว้ ท้ายบทกลอนแต่ละบท ว่ามีจำนวนคำ (คำกลอน) กี่คำ และใช้เพลงใดกำหนด ท่ารำของตัวละคร

                ผู้เขียนจำได้ว่า เคยชมการแสดงโขนสด ของ กรมศิลปากร เรื่องรามเกียรติ เวลาผู้พากย์ ๆ จบในแต่ละละคำ (คำกลอน) จะลงท้ายด้วยคำว่า ... บัดนั้น.... เชิด.... วงปี่พาทย์ก็จะบรรเลงเชิด ตัวละครก็ร่ายรำไปตามจังหวะ และท่วงทำนองเพลงนั้น ๆ

                จากรายละเอียดที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้สังเกตได้ว่ากวีที่แต่งบทกลอนละครร้องนั้น ล้วนเป็นพระราชวงศ์ ชั้นสูงทั้งสิ้น ทั้งนี้เพราะการแสดงก็ตาม องค์ประกอบ ความรู้ ที่จะนำมาสอดใส่ไว้ในบทกลอนก็ตาม ล้วนเป็น ความรู้ของชนชั้นสูงศักดิ์ทั้งสิ้น

อัพเดทล่าสุด