คุณค่าด้านสังคม
ประเพณีและความเชื่อ แม้บทละครเรื่องอิเหนาจะมีที่มาจากชวา แต่รัชกาลที่ 2 ทรงดัดแปลงแก้ไขให้เข้ากับธรรมเนียมประเพณีของบ้านเมืองของไทย เราจึงสามารถหาความรู้เรื่องเหล่านี้จากวรรณคดีเรื่องอิเหนาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งปรากฏอยู่หลายตอน เช่น ตอนท้าวดาหาเสด็จออกรับทูตเมืองกะหมังกุหนิง
"เมื่อนั้น พระองค์ทรงพิภพดาหา
ครั้นสุริย์ฉายบ่ายสามนาฬิกา ก็โสรจสรงคงคาอ่าองค์
ทรงเครื่องประดับสรรเสร็จ แล้วเสด็จย่างเยื้องยูรหงส์
ออกยังพระโรงคัลบรรจง นั่งลงบนบัลลังก์รูจี
ยาสาบังคมบรมนาถ เบิกทูตถือราชสารศรี
จึงดำรัสตรัสสั่งไปทันที ให้เสนีนำแขกเมืองมา
นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องโชคชะตา การเชื่อเรื่องคำทำนาย ดังที่ท้าวกะหมังกุหนิงให้โหรมาทำนายก่อนจะยกทัพไปเมืองดาหา โหรก็ทำนายว่า
บัดนั้น พระโหราราชครูผู้ใหญ่
รับรสพจนารถภูวไนย คลี่ตำรับขับไล่ไปมา
เทียบดูดวงชะตาพระทรงยศ กับโอรสถึงฆาตชันษา
ทั้งชั้นโชคโยคยามยาตรา พระเคราะห์ขัดฤกษ์พาสารพัน
จึงทูลว่าถ้ายกวันพรุ่งนี้ จะเสียชัยไพรีเป็นแม่นมั่น
งดอยู่อย่าเสด็จสักเจ็ดวัน ถ้าพ้นนั้นก็เห็นไม่เป็นไร
แม้ตอนที่อิเหนาจะยกทัพไปช่วยเมืองดาหาก็ต้องดูฤกษ์ยาม มีการทำพิธีตัดไม้ข่มนามหรือพิธีฟันไม้ข่มนาม โดยนำเอาต้นไม้ที่มีชื่อร่วมตัวอักษรกับชื่อฝ่ายข้าศึก มาฟันให้ขาดประหนึ่งว่าได้ฟันข้าศึก และยังมีพิธีเบิกโขลนทวาร ซึ่งทำพิธีตามตำราพราหมณ์ โดยทำเป็นประตูสะด้วยใบไม้ สองข้างประตูมีพราหมณ์นั่งประพรมน้ำมนต์ให้ทหารที่เดินลอดประตู ทั้ง 2 พิธีนี้ทำเพื่อความเป็นสิริมงคล และสร้างขวัญกำลังใจให้ทหาร ดังคำประพันธ์ต่อไปนี้
"พอได้ศุภกฤกษ์ก็ลั่นฆ้อง ประโคมคึกกึกก้องท้องสนาม
ประโรหิตตัดไม้ข่มนาม ทำตามตำราพิชัยยุทธ์
...........................................
ชีพ่อก็เบิกโขลนทวาร โอมอ่านอาคมคาถา
เสด็จทรงช้างที่นั่งหลังคา คลาเคลื่อนโยธาทุกหมวดกอง
ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
บุญลักษณ์ เอี่ยมสำองค์ เกื้อกมล พฤกษประมูล และโสภิต พิทักษ์. ภาษาไทย วรรณคดีและวรรณกรรม ม.4. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์