การทำข้าวกล้องงอก ประโยชน์ข้าวกล้องงอก น้าข้าวกล้องงอก สรรพคุณ


955 ผู้ชม


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          เวลานี้อาหารสุขภาพยอดฮิตที่ถูกถามหากันมากที่สุด คงหนีไม่พ้น "น้ำข้าวกล้องงอก" เป็นแน่ เพราะตั้งแต่ผ่านพ้นช่วงปีใหม่มา "น้ำข้าวกล้องงอก" ก็ได้รับความสนใจและเป็นที่ต้องการเป็นพิเศษ วันนี้กระปุกเลยนำเรื่องราวของข้าวกล้องงอกมาฝาก พร้อมวิธีทำน้ำข้าวกล้องงอกด้วยค่ะ

 เรื่องราวของ "ข้าวกล้อง" และ "ข้าวกล้องงอก"

          สำหรับข้าวกล้องนี้ถือว่าเป็นเมนูยอดฮิตของคนรักสุขภาพเลยทีเดียว โดยข้าวกล้องนั้น ก็คือข้าวที่ผ่านกรรมวิธีการสีเพียงครั้งเดียว เพื่อให้เปลือก (แกลบ) หลุดออกไป ดังนั้นจึงยังมีจมูกข้าว และเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวที่เป็นสีน้ำตาลและสีแดง  (รำ) เหลืออยู่ ต่างจากข้าวประเภทอื่นๆที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวัน ซึ่งจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวหลุดลอกออกไปหมดแล้ว

          จมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าว (รำ) นี่แหละค่ะที่เป็นแหล่งอุดมไปด้วยกรดไฟติก (Phytic acid) วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 บี 12 วิตามินซี วิตามินอี สารกาบา (Gamma amino butyric acid) เส้นใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่นิยมรับประทานข้าวกล้องมากนัก ด้วยข้าวกล้องจะมีเนื้อแข็ง เพราะมีกากเยอะจึงไม่นิ่มเหมือนข้าวประเภทอื่นๆ ทำให้รู้สึกว่าทานไม่อร่อยนั่นเอง

          ส่วนข้าวกล้องงอก เป็นเรื่องที่เพิ่งได้ยินกันไม่นานนี้เอง ซึ่งข้าวกล้องงอก (Germinated brown rice หรือ GABA-rice) เป็นข้าวกล้องที่ต้องนำมาผ่านกระบวนการงอกเสียก่อน พอนำข้าวกล้องมาแช่น้ำจนกลายเป็นข้าวกล้องงอกแล้ว จะทำให้ข้าวกล้องมีสารอาหารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสารกาบา และข้าวกล้องที่แช่น้ำทิ้งไว้แล้วเมื่อนำไปหุงก็จะได้ข้าวที่นุ่มน่ารับประทานกว่าข้าวกล้องธรรมดาด้วย

"สารกาบา" พระเอกของข้าวกล้องงอก

          สารกาบา หรือ Gamma amino butyric acid เป็นกรดอะมิโนจากกระบวนการ Decarboxylation ของ กรดกลูตามิก ( Gutamic acid) กรดนี้มีความสําคัญในการทำหน้าที่สารสื่อประสาท (Neurotransmitter) ในระบบประสาทส่วนกลาง และสารกาบายังเป็นสารสื่อประสาทประเภทสารยับยั้ง (Inhibitor) โดยจะทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ช่วยทำให้สมองผ่อนคลายและนอนหลับสบาย อีกทั้งยังทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นต่อมไร้ท่อ (Anterior Pituitary) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ช่วยในการเจริญเติบโต (HGH) ทำให้เกิดการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้กล้ามเนื้อกระชับ และเกิดสาร Lipotropic ป้องกันการสะสมไขมัน

          จากการศึกษาและวิจัยพบว่า การบริโภคข้าวกล้องงอกที่มีสารกาบามากกว่าข้าวกล้องปกติ 15 เท่า จะสามารถป้องกันการทำลายสมอง และโรคสูญเสียความทรงจำ หรืออัลไซเมอร์ได้ ดังนั้น จึงได้มีการนำสารกาบามาใช้ในวงการแพทย์เพื่อการรักษาโรคเกี่ยวกับระบบประสาทต่างๆ หลายโรค เช่น โรควิตกกังวล โรคนอนไม่หลับ โรคลมชัก เป็นต้น รวมทั้งผลการวิจัยด้านสุขภาพระบุว่าข้าวกล้องงอกที่ประกอบด้วยสารกาบา มีผลช่วยลดความดันโลหิต ลด LDL (Low Density lipoprotein) ลดอาการอัลไซเมอร์ ลดน้ำหนัก ทำให้ผิวพรรณดี และใช้บำบัดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลางได้อีก

 ประโยชน์ของข้าวกล้องงอก

          ประโยชน์ที่ได้จากการรับประทานข้าวกล้องงอกนั้น นอกจากจะเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากสารกาบา ไม่ว่าจะเป็นช่วยให้สมองผ่อนคลาย ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ บำรุงระบบประสาท หรือลดความดันโลหิตแล้ว การรับประทานข้าวกล้องงอกยังช่วยลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ช่วยระบบย่อยอาหาร ช่วยให้สมองผ่อนคลาย นอนหลับสบาย และช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ด้วย แถมยังช่วยชะลอการเสื่อมสภาพของเซลล์ ไม่ให้แก่ก่อนวัยได้อีก (สาวๆ ต้องฟังไว้) ถือได้ว่าแค่รับประทานข้าวกล้องงอกก็ครบถ้วนไปด้วยสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น

 ผู้ที่ไม่ควรทานข้าวกล้องงอก

          สารต่างๆในข้าวกล้องงอกล้วนมีประโยชน์มากมาย ดังนั้นข้าวกล้องงอกจึงมีประโยชน์ต่อทุกเพศ ทุกวัย ยกเว้นกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเกาต์ ที่ไม่ควรรับประทาน เพราะเมล็ดข้าวกล้อง หรือยอดผักต่างๆ ที่กำลังจะงอก จะมีสารยูริคจำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่เหมาะกับคนที่เป็นโรคเกาต์ ซึ่งเป็นโรคเกิดจากการที่มีสารยูริคจำนวนมากสะสมอยู่ตามข้อ จนเกิดการอักเสบนั่นเอง

 วิธีทำน้ำข้าวกล้องงอกด้วยตัวเอง

ตบท้ายด้วยขั้นตอนการทำน้ำข้าวกล้องสำหรับรับประทานเอง

           1.คัดเลือกข้าวกล้อง โดยข้าวกล้องที่สามารถนำมาแช่น้ำให้เกิดการงอกได้ดีนั้นจะต้องเป็นข้าวกล้องใหม่ ที่ผ่านการกะเทาะเปลือกมาไม่เกิน 2 สัปดาห์ (ถ้าเป็นข้าวเก่า ส่วนปลายจะไม่สามารถงอกออกมาได้)

           2.นำเมล็ดข้าวกล้องใหม่นั้นมาซาวน้ำ ล้างเอากรวดทรายออกก่อนหนึ่งครั้ง

           3.นำข้าวกล้องไปแช่น้ำประมาณ 1 ลิตร ทิ้งไว้ประมาณ 5-6 ชั่วโมง จะเกิดเป็นตุ่มงอกสีขาวขึ้นมาที่เมล็ดข้าว

           4.จากนั้นนำข้าวขึ้นมาผึ่งให้แห้ง แล้วนำไปต้มให้เดือดโดยใช้ไฟปานกลาง แต่อย่าให้เดือดมาก เพราะถ้าร้อนมากไป สารกาบาจะถูกทำลายมาก แต่หากเดือดพอดีแล้วให้เคี่ยวต่อไปสัก 15-20 นาที สารกาบาจะยังเหลืออยู่ถึง 70% ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย

           5.เสร็จแล้วให้ใช้ผ้าขาวบางหรือตะแกรงกรองน้ำข้าวมารับประทานได้ทันที หรือจะเติมเกลือ น้ำตาลเล็กน้อย เพื่อให้ได้รสชาติที่ถูกปากค่ะ

          ท้ายนี้เรามีวิธีหุงข้าวกล้องมาฝากกันค่ะ โดยถ้าอยากหุงข้าวกล้องให้อร่อยนุ่มล่ะก็ จะต้องนำข้าวกล้องไปแช่น้ำทิ้งไว้ก่อนประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เมล็ดข้าวบานออกเล็กน้อย จากนั้นนำไปหุงก็จะได้ข้าวที่นุ่มน่ารับประทาน ซึ่งการหุงข้าวนี้จะทำให้สารกาบ้าถูกทำลายไป 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่าเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว แต่ถ้าทำเป็นข้าวกล้องงอกขึ้นมา จะช่วยเพิ่มสารอาหารให้มากขึ้นกว่า 10 เท่า เลยล่ะค่ะ

          รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมลองไปทำน้ำข้าวกล้องงอกทานกันนะคะ เพราะแค่รับประทานข้าวกล้อง หรือ น้ำข้าวกล้องงอก เราก็จะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนมีประโยชน์ โดยไม่ต้องไปหาซื้ออาหารเสริมมารับประทานเลยล่ะ

Source: kapook.com

อัพเดทล่าสุด