น้ำหนัก ตัวที่มากเกินไป อาจเป็นโรคอ้วน ถ้ามีไขมันในร่างกายมากกว่าความจำเป็น เราควรเอาใจใส่บ้าง เพราะโรคอ้วนก่อปัญหาทางสุขภาพหลายอย่าง
ดูอย่างไรว่าอ้วน
จากลักษณะภายนอกพอบอกได้ ถ้าอ้วนมากจริง ๆ แต่สายตาแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงมีการคิดค้นการวัดหลายวิธี ที่ใช้สะดวกได้ง่าย และไม่ค่อยผิดเพี้ยนกันมาก เมื่อคนวัดต่างกัน ก็คือการวัดส่วนสูง และน้ำหนักไปด้วนกัน ซึ่งอาจนำมาคำนวณโดยใช้สูตรง่าย ๆ เพื่อดูความรุนแรงของความอ้วน คือ ค่า
เกณฑ์ BMI ที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 20-25 ก.ก. ต่อเมตร2 ซึ่งจากการเก็บข้อมูลประชากรจำนวนมากพบว่ามีอัตราเสี่ยงต่อการตายจากโรคน้อย สุด บางแห่งอาจจะถือว่าเข้าเกณฑ์อ้วนที่ BMI มากกว่า 27-30 ก.ก. / เมตร2 ซึ่งจะประมาณน้ำหนักเท่ากับ 120% ของน้ำหนักมาตรฐาน และเริ่มพบอัตราเสี่ยงต่อการตายมากขึ้น
อย่างไรก็ดี BMI สูง อาจพบในคนไม่อ้วน แต่มีกล้ามเนื้อมาก เช่น ในพวกใช้แรงงานมาก ๆ นักกีฬา นักกล้าม ซึ่งกลุ่มนี้ไม่พบว่ามีโรคที่เสี่ยงต่ออันตรายมากขึ้น จึงมีการวัดสัดส่วนประกอบด้วน เพราะพบว่าพวกที่น้ำหนักมากจากไขมันที่พุงต่างหากที่มีความเสี่ยง ค่าที่นิยมใช้กันคือ WHR (WAIST – HIP RATIO) หรือสัดส่วนระหว่างเส้นรอบเอวกับเส้นรอบสะโพก ซึ่งในผู้ชายไม่ควรเกิน 1.0 และในผู้หญิงไม่ควรเกิน 0.8 ถึงตรงนี้คุณก็อาจสำรวจตัวคุณเองได้ว่า อ้วนเกินไป จะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหรือไม่
อันตรายจากโรคอ้วน ภาวะอ้วนทำให้เกิดโรค และความผิดปกติต่าง ๆ ได้มาก หรือเร็วกว่าคนไม่อ้วน ได้แก่
- ความดันโลหิตสูง : พบว่าถ้าลดน้ำหนักโดยยังมีปริมาณเกลือในอาหารเท่าเดิมก็ลดความดันโลหิตลงได้
- เบาหวานชนิดไม่พึ่งพาอินซูลิน : ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานชนิดนี้ที่รุนแรงสุดกว่าปัจจัยใด ๆ
- ไขมันในเลือดผิดปกติ
- โรคหลอดเลือดตีบ (Atherosclerosis) เช่น หลอดเลือดสมองตีบ ทำให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาต โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยพบว่าความอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคนี้โดยตรง และยังเพิ่มความเสี่ยงโดยอ้อมจากภาวะไขมันในเลือดผิดปกติ เบาหวาน และความดันโลหิตสูงด้วย
- นิ่วถุงน้ำดี และถุงน้ำดีอักเสบ
- โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อสะโพก ข้อเข่า และยังเพิ่มโอกาสเกิดโรคข้ออักเสบจากเก๊าท์ด้วย
- มะเร็งบางชนิด พบมากขึ้นในคนอ้วน และสัตว์ทดลองที่ถูกทำให้อ้วน จากการศึกษาของ American Cancer Society โดยอิงน้ำหนักที่คนไข้บอกเองพบว่าถ้าน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน 40% จะมีอัตรารายจากมะเร็งสูงขึ้น 1.33-1.55 เท่า ที่สำคัญ คือ มะเร็งเยื่อบุมดลูกเต้านม ต่อมลูกหมาก ลำไส้ใหญ่
นอกจากนี้เมื่อไม่สบาย ยังเกิดปัญหาในการดูแลรักษามากขึ้น เช่น การหาเส้นเพื่อให้น้ำเกลือยากขึ้น การดมยาสลบทำได้ยากขึ้น การขนย้าย หรือพลิกตัวคนไข้ยากขึ้น การผ่าตัดก็ยากขึ้น เป็นต้น
สาเหตุของโรคอ้วน
น้ำหนักเกินอาจไม่ใช่โรคอ้วน นักกล้ามก็หนักเกินได้ แต่ไม่มีผลเสียต่อสุขภาพดังข้างต้น ยังมีภาวะบางอย่างทำให้น้ำหนักเกินได้ เช่น โรคความผิดปกติของฮอร์โมน (ต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยเกินไป ระดับฮอร์โมนพวกคอร์ติโคสเตียรอยด์มากเกินไป) โรคที่มีการบวมคั่งน้ำมากขึ้นในร่างกาย (ได้แก่โรคหัวใจ โรคไตบางชนิด โรคตับที่อาจมีน้ำในช่องท้อง) เป็นต้น
ส่วนโรคอ้วนที่มีการสะสมของไขมันในร่างกาย มากกว่าปกติ เกิดจากดุลพลังงานเกินมาก คือร่างกายได้รับพลังงานจากอาหารมากกว่าพลังงานที่ร่างกายนำไปใช้ โดยมีปัจจัยในแต่ละคนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น กรรมพันธุ์ บางคนจึงอ้วนง่าย บางคนอ้วนยาก สารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายคือโปรตีน (เช่น ถั่ว เนื้อสัตว์) ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต (เช่น แป้ง น้ำตาล)
ที่สำคัญมากสุด คือ อาหารกลุ่มไขมัน ซึ่งนอกจากให้พลังงานมากว่ากลุ่มอื่นในปริมาณอาหารที่หนักเท่ากันแล้ว ในปริมาณที่คิดเป็นพลังงานเท่ากันอาหารไขมันก็ยังถูกสะสมไว้ในร่างกาย มากกว่าอาหารกลุ่มอื่นด้วย
ตารางข้างล่างแสดงพลังงานซึ่งอาจได้จากอาหารชนิดต่าง ๆ
(ไขมันให้พลังงาน 9 แคลอรี่ต่อกรัม โปรตีน และคาร์โบไอเดรตให้พลังงาน 4 แคลอรี่ต่อกรัม พลังงาน 1 แคลอรี่ ทำให้น้ำ 1 ลิตรร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส)
อาหาร | ปริมาณต่อมื้อ | ปริมาณแคลอรี่ |
ไข่ไก่ | 1 ฟอง | 80 |
เนย | 1 ช้อนโต๊ะ | 108 |
แยม | 1 ช้อนโต๊ะ | 55 |
เนื้อไก่ย่าง | 3 ออนซ์ | 180 |
เนื้อหมูไม่ติดมัน | 3 ออนซ์ | 215 |
เนื้อวัวไม่ติดมัน | 3 ออนซ์ | 180 |
มันฝรั่งบด | ½ ถ้วย | 94 |
มันฝรั่งทอด | ½ ถ้วย | 228 |
กะหล่ำปลีสุก | 1 ถ้วย | 23 |
ดอกกะหล่ำสุก | 1 ถ้วย | 27 |
ข้าวขาวสุก | 1 ถ้วย | 164 |
ข้าวซ้อมมือสุก | 1 ถ้วย | 178 |
สับปะรด | ½ ถ้วย | 52 |
ส้ม (เส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว) | 1 ผล | 73 |
กล้วยหอม ยาวประมาณ 6 นิ้ว | 1 ผล | 85 |
น้ำอัดลม | 12 ออนซ์ | 124 |
เบียร์ | 12 ออนซ์ | 151 |
ไวน์ | 3 ½ ออนซ์ | 85 |
น้ำตาลทรายขาว | 1 ช้อนกาแฟ ปาดเรียบ | 16 |
และตารางต่อไปนี้ แสดงปริมาณพลังงานที่ใช้ไปในกิจกรรมต่าง ๆ (เป็นแคลอรี่ต่อชั่วโมง)
กิจกรรมที่ทำ | ปริมาณแคลอรี่ ที่ใช้ต่อชั่วโมง |
นอนหลับ | 75 |
ลงนอน (ไม่หลับ) | 85 |
นั่งดูโทรทัศน์ | 107 |
นั่งทำงานใช้สมอง | 110 |
เย็บผ้า | 115 |
รีดผ้า | 150 |
ซักผ้าด้วยมือ | 240 |
ทำสวน | 250 |
เลื่อยไม้ | 515 |
เดินบนทางราบด้วยความเร็ว 3.2 กม./ชม. | 180 |
เดินบนทางราบด้วยความเร็ว 4.8 กม./ชม. | 260 |
เดินบนทางราบด้วยความเร็ว 5.6 กม./ชม. | 300 |
เดินบนทางราบด้วยความเร็ว 6.4 กม./ชม. | 350 |
เดินขึ้นบันได้ด้วยความเร็ว 3.2 กม./ชม. นาทีละ | 10.67 |
เดินลงบันได นาทีละ | 3.58 |
วิ่งบนทางราบด้วยความเร็ว 8.8 กม./ชม. | 660 |
วิ่งบนทางราบด้วยความเร็ว 12.8 กม./ชม. | 825 |
วิ่งบนทางราบด้วยความเร็ว 18.2 กม./ชม. | 1,390 |
ว่ายน้ำด้วยความเร็ว 1.12 กม./ชม. | 300 |
ว่ายน้ำด้วยความเร็ว 2.00 กม./ชม. | 600 |
ว่ายน้ำด้วยความเร็ว 2.56 กม./ชม. | 700 |
ว่ายน้ำด้วยความเร็ว 3.00 กม./ชม. | 850 |
ขี่จักรยานด้วยความเร็ว 8.8 กม./ชม. | 240 |
ขี่จักรยานด้วยความเร็ว 14.4 กม./ชม. | 415 |
ขี่จักรยานด้วยความเร็ว 20.0 กม./ชม. | 660 |
กรรเชียงเรือด้วยความเร็ว 4.0 กม./ชม. | 300 |
กรรเชียงเรือด้วยความเร็ว 5.6 กม./ชม. | 660 |
กรรเชียงเรือด้วยความเร็ว 17.6 กม./ชม. | 970 |
วอลเล่ย์บอล, เล่นเพื่อสนุก | 350 |
วอลเล่ย์บอล, แข่งขัน | 600 |
เทนนิส, เล่นเพื่อสนุก | 450 |
เทนนิส, แข่งขัน | 600 |