สมุนไพรไทย - สรรพคุณสมุนไพรไทยต่างๆ (ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรไทย)


938 ผู้ชม


ข้อแนะนำในการใช้ยาสมุนไพร

  1. ใช้สมุนไพรให้ถูกต้น ทั้งนี้เพราะสมุนไพรมีชื่อพ้องหรือซ้ำกันมาก โดยเฉพาะชื่อที่เรียกกันในแต่ละท้องถิ่นอาจแตกต่างกันออกไป ทำให้เกิดการสับสนได้ง่าย ดังนั้นจึงควรระวังการใช้สมุนไพรผิดต้น

  2. ใช้สมุนไพรให้ถูกส่วน ส่วนต่างๆของพืชมีฤทธิ์ต่างกัน ดังนั้นการใช้สมุนไพรควรเลือกใช้ส่วนของพืชให้ถูกต้องตามที่กำหนดไว้

  3. ใช้สมุนไพรให้ถูกขนาด การใช้สมุนไพรควรใช้ในขนาดที่ถูกต้องตามที่ระบุไว้

  4. ใช้สมุนไพรให้ถูกวิธี การใช้สมุนไพรแต่ละชนิดรักษาโรคนั้นมีวิธีใช้แตกต่างกันไป

  5. ใช้สมุนไพรให้ถูกกับโรค

  6. ไม่ควรใช้ยาเข้มข้นเกินไป

  7. ขนาดที่ระบุไว้ในตำรับมักเป็นของผู้ใหญ่ ดังนั้นถ้าใช้กับเด็กจึงควรลดขนาดลงตามส่วน

  8. การใช้ยาสมุนไพรไม่ควรดัดแปลงเพื่อความสะดวกของผู้ใช้

  9. เมื่อเริ่มใช้ยาสมุนไพรควรสังเกตอาการ หากพบว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรหยุดใช้ยา และรีบปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน

  10. ไม่ควรใช้สมุนไพรนานเกินความจำเป็น เมื่อใช้ไปแล้วระยะหนึ่งอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์

  11. ึควรระมัดระวังในเรื่องความสะอาดของสมุนไพร ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในการเตรียมยา

การใช้ยาสมุนไพรในรูปต่างๆ

  1. ใช้ในรูปสมุนไพรสดๆ

  2. คั้นเอาน้ำกิน ใช้สมุนไพรสดๆตำให้ละเอียดจนเหลว ถ้าไม่มีน้ำให้เติมน้ำลงไปเล็กน้อย คั้นเอาน้ำยาที่ได้กิน สมุนไพรบางชนิดเช่น กระทือ กระชาย ให้นำไปเผาไฟให้สุกเสียก่อนจึงค่อยตำ   

  3. ยาต้ม   ใช้น้ำที่สะอาด ใส ไม่มีกลิ่น รส ปริมาณที่ใช้มักใส่พอท่วมยา ภาชนะที่ใช้ควรเป็นหม้อดินเผาหรือหม้อเคลือบ สมุนไพรที่นำมาต้มควรหั่นเป็นชิ้นพอดี   หลังจากเติมน้ำลงในสมุนไพร   คนให้เข้ากัน   แช่ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง ใช้ไฟขนาดกลางต้มให้เดือด พอเดือดแล้วลดไฟลง ต้มต่อไป คอยคนอยู่เสมอเพื่อไม่ให้ยาไหม้ ส่วนมากจะต้มให้น้ำที่ใส่ 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน หรือตามจำนวนที่ต้องการ ควรรับประทานเมื่อท้องว่างจึงจะได้ผลดี ยาต้มไม่ควรทิ้งค้างคืนไว้ ควรต้มดื่มรับประทานให้หมดภายในวันเดียว      

  4. ยาชง   มักได้จากการนำเอาส่วนของสมุนไพรมาล้างให้สะอาด ผึ่งลมหรือตากให้แห้ง เช่น ใบหญ้าหนวดแมว ดอกคำฝอย ชา บางชนิดนำสมุนไพรมาคั่วหรือย่างไฟก่อน เช่น ใบชุมเห็ดเทศเป็นต้น เติมน้ำเดือดลงในสมุนไพรแห้งนั้น ปกติใช้สมุนไพรหนึ่งส่วนต่อน้ำ 10 ส่วน ทิ้งไว้ 3-5 นาที อย่าแช่ไว้นาน

  5. ยาลูกกลอน ให้น้ำผึ้งมาเคี่ยวให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อโรค และไล่น้ำที่มีปนอยู่ออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้ยาที่ได้ขึ้นรา การเคี่ยวน้ำผึ้งช่วงแรกควรใช้ไฟแรง เมื่อเดือดแล้วจึงค่อยลดไฟลง เคี่ยวจนน้ำผึ้งได้ที่โดยสังเกตจากขนาดฟองที่เกิดจะมีขนาดเล็กลงๆจนเป็นฟองละเอียดมักใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที จากนั้นยกลงเตา กรองผ่านผ้าขาวบาง กวนต่อจนน้ำผึ้งเย็นจึงนำไปผสมกับยาที่บดเป็นผงละเอียด   ผงยาที่ใช้ต้องแห้งสนิท ใส่ผงยาในกะละมังที่แห้ง ตวงน้ำผึ้งที่เคี่ยวแล้วเทราดบนผงยา ใช้มือคลุกเคล้าผงยาให้เข้ากับน้ำผึ้งดี โดยทดลองนำยาที่เคล้าได้ปั้นเป็นเม็ดด้วยมือ ยาควรจะปั้นเม็ดเกาะกันได้ดีไม่ติดมือ และยาที่ปั้นได้ไม่แตกร่อน เมื่อได้ยาที่เคล้าได้ที่แล้วนำมาปั้นเป็นเม็ดให้กลมและมีขนาดสม่ำเสมอ การปั้นเม็ดทำได้โดยแบ่งยาที่ผสมแล้วมาปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย จากนั้นนำลูกกลอนที่ปั้นได้มาวางใส่ถาดอย่าให้เม็ดซ้อนกัน นำไปตากแดดจัดๆ 1-2 วัน จนเม็ดยาแห้งสม่ำเสมอ เมื่อแห้งดีแล้วเก็บใส่ขวดที่สะอาดและปิดสนิท ยาลูกกลอนอาจเตรียมไว้ใช้ได้นานกว่า 1 เดือน

  6. ยาพอก นำสมุนไพรสดๆที่ล้างสะอาดดีแล้วมาตำให้ละเอียดและเติมเหล้าเพื่อให้ออกฤทธิ์ดีขึ้น แล้วนำยาที่ได้ไปพอกแผลตามต้องการ                                                     

ข้อมูลที่มา  https://rnpong.tripod.com

อัพเดทล่าสุด