สมุนไพรใกล้ตัว สมุนไพรพื้นบ้าน เป็น สมุนไพรไทย สรรพคุณ ล้นเหลือ
ผู้ใหญ่เคยเล่าให้ฟังว่าก่อนที่ท่านชีวกโกมารภัจจ์ผู้ซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางด้านการแพทย์และเภสัชจะสำเร็จการศึกษา ท่านจะต้องสอบผ่านการสอบความรู้รวบยอด โดยจะต้องหาพืชที่ไม่มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร ซึ่งทำให้ท่านกังวลใจมาก และแล้ววันที่ท่านต้องส่งคำตอบก็มาถึง ท่านตอบอาจารย์ว่า ไม่มีต้นไม้ใดเลยที่นำมาใช้เป็นยาไม่ได้ เราคงไม่ต้องพูดถึงผลการสอบของท่าน
รอบ ๆ ตัวเรามีพืชสมุนไพรนานาชนิด เพียงแต่เรารู้ว่าจะหยิบส่วนไหนของพืชมาใช้และใช้อย่างไรให้ปลอดภัยก็จะสามารถมียาบรรเทาหรือรักษาอาการต่าง ๆ ได้ในเบื้องต้น การใช้สมุนไพรนอกจากจะต้องเลือกใช้ให้ถูกส่วนและรู้จักวิธีใช้แล้ว สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือจะต้องประเมินอาการของโรค การใช้สมุนไพรเป็นการรักษาโรคเบื้องต้นจึงเหมาะกับโรคที่มีอาการไม่รุนแรง สามารถรอเวลาในการรักษาได้ เช่น อาการหวัด ไอ เจ็บคอ ผื่นแพ้ที่ไม่รุนแรง และหากใช้สมุนไพรแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรจะไปพบแพทย์เนื่องจากอาจจะเป็นอาการของโรคอื่นที่เราไม่คาดคิด
กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการคัดเลือกพืชสมุนไพรเพื่อใช้ในการส่งเสริมสุขภาพและรักษาโรคและอาการเบื้องต้น โดยเน้นรักษาความเจ็บป่วยเบื้องต้นที่พบในชีวิตประจำวัน โดยอาศัยหลักที่ว่าพืชสมุนไพรนั้น ๆ มีประสิทธิภาพในการรักษา กล่าวคือเป็นพืชที่ได้มีผู้ทำการศึกษาสรรพคุณทางเภสัชวิทยา หรือได้มีการใช้เป็นยาสืบทอดกันมาและมีความปลอดภัยโดยพิจารณาจากข้อมูลทดสอบความเป็นพิษ และให้ใช้ในการรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคที่ประชาชนสามารถวินิจฉัยเองได้ นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่ปลูกง่ายโตเร็ว มีประโยชน์หลายอย่างสามารถปลูกเป็นรายได้เสริมได้ และได้ประกาศเป็นสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน โดยจำแนกสมุนไพรเพื่อการรักษาตามกลุ่มอาการเจ็บป่วย 5 กลุ่มโรคคือ
- กลุ่มอาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินอาหาร
- กลุ่มอาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินหายใจ
- กลุ่มอาการเจ็บป่วยในระบบทางเดินปัสสาวะ
- กลุ่มโรคผิวหนัง
- อาการอื่น ๆ เช่นเคล็ดขัดยอก อาการไข้ และโรคหิดเหา เป็นต้น
สมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐานเป็นสมุนไพรจากพืชที่เราคุ้นเคย หาได้ง่ายและมีอยู่รอบ ๆ ตัวเรา เช่น ตำลึง กล้วยน้ำว้า ขิง และขมิ้นชันเป็นต้น
ตำลึง
ผักตำลึงริมรั้วที่เคยเก็บยอดอ่อนมาทำแกงจืดกับหมูสับแสนอร่อยนั้น ใบตำลึงสดสามารถนำมาใช้บรรเทาอาการแพ้และอักเสบที่มีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนัง จากการถูกแมลงกัดต่อย เช่น ถูกยุงกัด ตัวบุ้ง หรือการแพ้พืชบางชนิด โดยการล้างใบตำลึงให้สะอาด ขยี้หรือตำให้ละเอียด หรืออาจจะผสมน้ำเล็กน้อย แล้วคั้นน้ำจากใบมาทาบริเวณที่มีอาการ ทาซ้ำบ่อย ๆ จนกว่าจะหาย ตำลึงมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Coccinia grandis เป็นพืชในวงศ์ Cucurbitaceae ซึ่งเป็นพวกเดียวกับแตงกวา ฟัก และมะระขี้นก เป็นต้น สังเกตได้ว่าตำลึงและพืชอื่น ๆ ในวงศ์นี้เป็นไม้เถาเลื้อยมีมือเกาะ สำหรับตำลึงมีดอกสีขาวข้างในมีเกสรสีเหลืองอ่อน ผลของตำลึงคล้ายผลแตงกวา แต่ขนาดเล็กกว่าผลดิบมีสีเขียวและมีลายสีขาว ส่วนผลสุกมีสีแดง นอกจากจะใช้ใบตำลึงในการบรรเทาอาการอักเสบแล้ว ในตำรายาไทยใช้ใบและรากตำลึงเป็นยาแก้ไข้ ใช้ผลรักษาโรคเบาหวาน มีรายงานการทดลองในสัตว์พบว่าน้ำคั้นจากผลดิบและใบสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้นจึงอาจนำมาใช้ในผู้ป่วยเบาหวานได้เนื่องจากโรคเบาหวานเกิดจากความผิดปกติของร่างกายในการนำน้ำตาลไปใช้ จึงทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง แต่ยังจะต้องมีการทดลองต่อไป งานสาธารณสุขมูลฐานให้ใช้ใบตำลึงบรรเทาอาการแพ้และอักเสบที่มีอาการปวดแสบ ปวดร้อนบริเวณผิวหนัง อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานการศึกษาฤทธิ์แต่จากการใช้เป็นยาสืบทอดกันมาพบ ว่าใช้ได้ผลและยังไม่พบว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้แต่อย่างใด |
สมุนไพรใกล้ตัว สมุนไพรพื้นบ้าน : กล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้าที่เราคุ้นเคยนั้นงานสาธารณสุขมูลฐานให้ใช้เป็นสมุนไพรที่รักษา โรคในระบบทางเดินอาหาร เช่น ใช้บรรเทาอาการท้องเสียและรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ กล้วยน้ำว้ามีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Musa ABB group (triploid ) cv. "Namwaa" เป็นพืชในวงศ์ Musaceae พืชในวงศ์นี้นอกจากกล้วยน้ำว้าแล้วยังมีกล้วยอื่น ๆ อีกเช่น กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยเล็บมือนางผลกล้วยน้ำว้าดิบมีรสฝาด มีสารแทนนินสะสมอยู่มากเมื่อสุกสารแทนนินจะค่อย ๆ ลดปริมาณลงแทนนินเป็นสารที่ทำให้ท้องผูก การชงชาแก่ ๆ จะมีแทนนินจากใบชาออกมามาก ดังนั้นน้ำชาแก่ ๆ จึงทำให้ท้องผูกเช่นเดียวกับกล้วยน้ำว้าดิบ จากการที่กล้วยน้ำว้าดิบมีแทนนินทำให้ท้องผูกจึงนำมาใช้บรรเทาอาการท้องเสีย ที่ไม่รุนแรงได้ นอกจากนี้กล้วยน้ำว้าดิบยังใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร มีรายงานการศึกษาฤทธิ์ของกล้วยน้ำว้าดิบในการป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะ อาหารโดยผลการทดลองพบว่าเซลล์ในเยื่อบุกระเพาะอาหารของหนูขาวที่กินกล้วย น้ำว้าดิบจะถูกกระตุ้นให้หลั่งสารเมือกออกมาเคลือบกระเพาะอาหารไว้จึงช่วย ป้องกันไม่ให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร การเตรียมกล้วยน้ำว้าดิบเป็นยาสมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการท้องเสียและเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหาร จะใช้กล้วยดิบฝานเป็นแว่นตากแดดให้แห้งบดเป็นผงแล้วชงน้ำดื่มครั้งละครึ่งผลถึงหนึ่งผล แต่อาจจะปรับรสให้รับประทานง่ายขึ้นโดยผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมเข้มข้นแล้วปั้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานวันละ 4 ครั้งก่อนอาหารและก่อนนอน หากเกิดอาการท้องอืดจากการรับประทานสามารถป้องกันได้โดยรับประทานสมุนไพรที่มีฤทธิ์ขับลมร่วมด้วย เช่น ดื่มน้ำขิง |
สมุนไพรใกล้ตัว สมุนไพรพื้นบ้าน : ขิง
ขิงเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่สามารถหาได้ง่าย มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Zingiber officinale เป็นพืชในวงศ์ Zingiberaceae ในวงศ์นี้มีพืชสมุนไพรอื่น ๆ อีก เช่น ข่า ไพล และขมิ้น เป็นต้น งานสาธารณสุขมูลฐานส่งเสริมให้ใช้ขิงเป็นสมุนไพรบรรเทาอาการท้องอืด จุกเสียดและบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน ส่วนของขิงที่นำมาใช้เป็นยาคือเหง้าแก่สด เหง้าคือลำต้นของขิงที่อยู่ใต้ดิน ขิงแก่มีน้ำมันหอมระเหยมากกว่าขิงอ่อนและขิงสดมีน้ำมันหอมระเหยมากกว่าขิงแห้ง เหง้าขิงมีรสเผ็ดร้อน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว กลิ่นหอมนี้เกิดจากน้ำมันหอมระเหยที่สะสมอยู่ในเหง้าขิง น้ำมันหอมระเหยมีฤทธิ์ขับลม ส่วนรสเผ็ดร้อนมาจากสารโชกาออล (shogaol) และจินเจอรอล (gingerol) ซึ่งสารทั้งสองชนิดมีฤทธิ์ขับน้ำดีช่วยย่อยไขมันและมีฤทธิ์ลดการบีบตัวของลำไส้ด้วย จึงช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ดังนั้นขิงจึงแก้อาการท้องอืด จุกเสียดได้ และยังช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการเมารถเมาเรือ เวลาที่รู้สึกพะอืดพะอมหากได้ดื่มน้ำขิงสักแก้ว หรือได้เคี้ยวขิงจะรู้สึกดีขึ้น ขิงใช้แก้อาการคลื่นไส้ได้ดีกว่ายาดรามามีน (Dramamine) ซึ่งเป็นยาแก้คลื่นไส้อาเจียนที่นิยมใช้กันอยู่ วิธีทำน้ำขิงคือนำเหง้าขิงแก่สด ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือมาทุบให้แตกแล้วนำมาต้มกับน้ำ หากเติมน้ำตาลเล็กน้อยพอให้หวาน ก็จะได้น้ำขิงรสอร่อย ในตำรายาไทยยังใช้ขิงบรรเทาอาการไอแบบมีเสมหะได้ด้วย โดยนำเหง้าขิงแก่สดมาตำผสมกับน้ำต้มสุกเล็กน้อยแล้วคั้นน้ำ ปรับรสให้อร่อยถูกใจ โดยเติมเกลือหรือน้ำมะนาวแล้วจิบบ่อย ๆ หากได้มีโอกาสเยี่ยมชมร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไม่ว่าจะเป็นตามศูนย์การค้าหรือร้านค้าผลิตภัณฑ์หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งตำบล อาจจะได้พบแชมพูสระผมที่มีส่วนผสมของขิง เนื่องจากมีรายงานการทดลองว่าน้ำมันหอมระเหยในขิงมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตที่มาเลี้ยงหนังศีรษะ ดังนั้นแชมพูสระผมที่มีส่วนผสมของขิงจึงทำให้รากผมแข็งแรง รักษาอาการผมร่วง ผมคันและเพิ่มความเงางามให้เส้นผมได้ |
สมุนไพรใกล้ตัว สมุนไพรพื้นบ้าน : ขมิ้นชัน
ขมิ้นชั้นเป็นพืชคู่ครัวเรือนไทย คนไทยใช้ประโยชน์จากเหง้าขมิ้นชันกันมานานแล้วไม่ว่าจะใช้กินคือเป็นส่วน ประกอบในเครื่องแกง หรือใช้ทาโดยใช้ขัดผิวให้งามผุดผ่อง ขมิ้นชันมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Curcuma longa เป็นพืชในวงศ์ Zingiberaceae เช่นเดียวกับขิง และข่า ลักษณะที่แตกต่างจากพืชอื่น ๆ ในวงศ์เดียวกันคือเนื้อเหง้าขมิ้นชันจะมีสีเหลืองเข้มจนถึงสีแสดเข้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวซึ่งเป็นกลิ่นของน้ำมันหอมระเหย พืชแต่ละชนิดที่มีน้ำมันหอมระเหยจะมีกลิ่นหอมแตกต่างกัน เนื่องจากมีองค์ประกอบของสารเคมีในน้ำมันหอมระเหยต่างกัน นอกจากมีน้ำมันหอมระเหยแล้วในเหง้าขมิ้นชันมีสารเคอร์คิวมิน (curcumin) ซึ่งทำให้เนื้อเหง้ามีสีเหลือง จากการทดลองพบว่าสารเคอร์คิวมินเป็นสารที่มีฤทธิ์หลากหลาย เช่น มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร โดยสารชนิดนี้สามารถกระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารหลั่งสารเมือกออกมา เคลือบกระเพาะ และมีผลบรรเทาอาการปวดท้องเนื่องจากแผลในกระเพาะอาหาร สารเคอร์คิวมินมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบของผิวหนังและสามารถทำลายเชื้อโรคที่ บริเวณผิวหนังได้ นอกจากนี้ยังพบว่าสารเคอร์คิวมินมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผิวหนังถูกทำลายและเกิดความแก่ งานสาธารณสุขมูลฐานส่งเสริมให้ใช้ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรสำหรับรักษาอาการท้องอืด จุกเสียด แน่นท้อง เช่นเดียวกับเหง้าขิง ใช้รักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบเช่นเดียวกับผลกล้วยน้ำว้าดิบ และใช้เป็นยาแก้แพ้จากแมลงกัดต่อยเช่นเดียวกับน้ำคั้นจากใบตำลึง |
การเตรียมขมิ้นชันเป็นยาสมุนไพรเพื่อรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบ จะใช้เหง้าแก่ที่ล้างสะอาดแล้ว ไม่ต้องปอกเปลือก หั่นบาง ๆ แล้วตากแดดจัด 1-2 วันบดให้ละเอียดแล้วผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นยาลูกกลอน รับประทานครั้งละ 2-4 เม็ด วันละ 4 ครั้งหลังอาหารและก่อนนอน การเตรียมเป็นยารักษาอาการท้องอืดก็ทำแบบเดียวกันแต่จะต้องใช้เหง้าสด เนื่องจากจะต้องใช้ประโยชน์จากน้ำมันหอมระเหยที่สะสมอยู่ในเหง้า การทำให้แห้ง เช่น อบหรือตากแดด จะทำให้น้ำมันระเหยออกไป การเตรียมขมิ้นชันเพื่อใช้เป็นยาแก้แพ้จากแมลงกัดต่อยจะใช้ผงขมิ้นชันหรือใช้เหง้าสดฝนกับน้ำต้มสุกทาบริเวณที่มีอาการ ปัจจุบัน รัฐบาลพยายามผลักดันให้ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่เป็นตัวแทนของประเทศไทย ในทำนองเดียวกับโสมเกาหลีเป็นตัวแทนของประเทศเกาหลี และชาเขียวเป็นตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นจึงมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขมิ้นชันในด้านต่าง ๆ เพื่อให้มีข้อมูลในการปรับปรุงพัฒนาพันธุ์ ปรับปรุงวิธีการปลูกและขยายพันธุ์ เพื่อให้ได้ขมิ้นชันคุณภาพดี มีน้ำมันหอมระเหยและสารเคอร์คิวมินในปริมาณมาก มีการศึกษาวิธีการตรวจวิเคราะห์สารเคมีในขมิ้นชัน เพื่อให้สามารถตรวจสอบคุณภาพของขมิ้นชันและผลิตภัณฑ์ที่มีขมิ้นชันเป็นองค์ประกอบได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้มีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาและตรวจสอบความเป็นพิษ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นในประสิทธิภาพและความปลอดภัยขมิ้นชัน ซึ่งทำให้ขมิ้นชันและผลิตภัณฑ์เป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้น |
การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากมีอาการเจ็บป่วยก็จำเป็นต้องรีบรักษาให้กลับมาแข็งแรงตามปกติ สำหรับอาการเจ็บป่วยที่ไม่รุนแรง การใช้สมุนไพรเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งอาจใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน หรือใช้เฉพาะสมุนไพร การเลือกใช้สมุนไพรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ให้ถูกโรค และถูกวิธี
Source: https://www.swu.ac.th/journal/swuvision/v1n3/article05.htm