เครื่องเทศและสมุนไพร : สุดยอดยาไทยพื้นบ้าน ที่คุณใฝ่หา!


1,031 ผู้ชม


เครื่องเทศ และสมุนไพร เป็นพืชที่มีการใช้ประโยชน์คู่กับคนไทยและคนทั้งโลก ทั้งในรูปอาหารและยารักษาโรค โดยเฉพาะชาวชนบทห่างไกลยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องเทศและสมุนไพรในรูป ยาพื้นบ้าน นอกจากนี้ ยังมีการนำเอาเครื่องเทศและสมุนไพรมาใช้เสริมความงาม บำรุงสุขภาพให้มีความสดใสอ่อนกว่าวัย จนมีการพัฒนาเป็นสินค้าขายต่างประเทศปีละนับพันล้านบาท
สวัสดีครับ แฟนๆ เทคโนโลยีชาวบ้านทุกท่าน เมื่อฉบับที่ 417 เดือนตุลาคม 2550 ผมได้เขียนสาระเกี่ยวกับเครื่องเทศและสมุนไพร โดยเน้นให้เห็นถึงประโยชน์หลากหลายของพืชกลุ่มนี้ในหลายประเด็น ไม่ว่าจะใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารประจำวันในครัวเรือน คุณค่าทางโภชนาการ ปลูกเพื่อเป็นรายได้ลดรายจ่ายแบบพอเพียง และใช้เป็นห้องเรียนสอนลูกหลานให้รู้จักการใช้เวลาว่าง สร้างภูมิคุ้มกันภัยทางสังคม ก็คงจะพอจำกันได้ ฉบับนี้ผมขอนำสรรพคุณของเครื่องเทศและสมุนไพรในมุมของการใช้เป็นยาไทยพื้น บ้านที่เป็นมรดก ภูมิปัญญาไทยแต่โบราณ และได้ผ่านการประยุกต์ร่วมกับวิทยาการแผนใหม่ จุดเน้นคือ ต้องการจะให้ปลูกไว้ใช้แบบพึ่งพาตนเอง เมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วยแบบฉุกเฉิน โดยเฉพาะกับท่านที่อยู่ห่างไกลโรงพยาบาล อีกอย่างก็เป็นการลดค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยงจากการแพ้ยาแผนใหม่ที่หลายคนประสบมาแล้ว กอปรกับระยะนี้อะไรก็แพงไปหมด เศรษฐกิจรอบข้างแย่ไปทุกอย่าง จึงต้องช่วยตัวเองให้มาก สุดท้ายก็จะเป็นข้อมูลที่อยากให้ทุกท่านรู้ว่าเครื่องเทศและสมุนไพรของเรา นั้นส่งเป็นสินค้าออกมูลค่านับพันล้านบาทต่อปี หากใครสนใจปลูกเป็นการค้าก็มีช่องทางสร้างอาชีพสร้างเงินได้ไม่ยาก ตามผมมาครับ

ยาไทยพื้นบ้านขนานแท้
ในอดีตกาลนั้นคนไทยอยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยทรัพยากรธรรมชาติค่อนข้างมาก ไม่ฟุ่มเฟือยเหมือนเดี๋ยวนี้ ที่เรียกว่า "อยู่กันตามมีตามเกิด" เป็นการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ที่เป็นทั้งแหล่งอาหารหลักและยารักษาโรค จนเกิดการเรียนรู้ว่าพืชชนิดใดที่ใช้กิน ทา ดม พอก นวด หรือประคบ เพื่อบรรเทาหรือรักษาโรคร้ายต่างๆ ได้ดีกว่ากัน แล้วก็ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์สืบต่อกันสู่คนรุ่นหลังจนถึงปัจจุบัน จนเดี๋ยวนี้ได้มีการพัฒนาเป็นสาขา "แพทย์แผนโบราณ" หรือ "แพทย์ทางเลือก" เป็นการรักษาแบบคู่ขนานกับแพทย์แผนใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าสามารถบรรเทาความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นที่ไม่ซับ ซ้อนและค่ารักษาพยาบาล ค่ายาปัจจุบันนั้นค่อนข้างแพง ที่สำคัญอาการเจ็บป่วยของหลายคนหลายลักษณะรักษาไม่หายขาดด้วยแพทย์แผนใหม่ และ/หรือคนไข้เกิดอาการแพ้ยาสังเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นการคลื่นไส้อาเจียน ผื่นคัน แสบร้อน หรือวิงเวียนศีรษะ จึงต้องกลับไปหายาสมุนไพรพื้นบ้านแบบกลับสู่พื้นฐานดั้งเดิม (Back to Basic) แล้วพบว่าการเจ็บป่วยทุเลาลงหรือหายไปเลย
หันมาดูว่า ในปัจจุบันมีการนำเครื่องเทศและสมุนไพรมาใช้เชิงอุตสาหกรรมมากขึ้น เช่น เครื่องสำอางสมุนไพร ยอดฮิตของสุภาพสตรี สารพัดรูปแบบ ทั้งครีมทาหน้า ครีมกันแดด ครีมอาบน้ำ แชมพู สบู่ ฯลฯ จนถึงเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะวงการนวดแผนโบราณ และธุรกิจสปา (Spa) ที่นำคุณค่าของสมุนไพรมาสร้างมูลค่าเพิ่มไปพร้อมๆ กัน นี่ก็เป็นกลุ่มการใช้ประโยชน์ในทางสุขภาพบำบัดเหมือนกัน เอาไว้โอกาสดีๆ จะนำรายละเอียดมาเล่าให้ฟังกันอีกมุมหนึ่ง เอาเป็นว่า ฉบับนี้ขอนำท่านไปรู้จักเครื่องเทศและสมุนไพรที่นำมาใช้ประโยชน์แบบยาไทย พื้นบ้าน ซึ่งได้พยายามค้นคว้าหามาฝากกัน ดังนี้
1. ระบบทางเดินอาหาร
1.1 อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด หรืออาจมีอาการปวดท้องบ้างเล็กน้อย มักพบในผู้ป่วยระบบทางเดินอาหารอยู่เสมอ อาจเกิดจากอาการย่อยไม่ปกติ หรือรับประทานอาหารมากเกินไปหรือมีก๊าซในกระเพาะอาหารมาก สมุนไพรที่นำมาใช้รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่น จุกเสียด มักมีส่วนประกอบที่สำคัญคือ มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีรสขมและมีฤทธิ์กระตุ้นผนังกระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ให้หลั่งน้ำย่อยเพิ่มขึ้น หรือทำให้เกิดการระคายเคือง มีอาการเคลื่อนไหวมาก เป็นผลให้ก๊าซที่คลั่งค้างอยู่ถูกขับออกไป รสขมจะกระตุ้นปุ่มสัมผัสที่ลิ้นและกระตุ้นให้มีการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะมาก ขึ้น ทำให้การย่อยดีขึ้น อาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อนทำให้การย่อยดีขึ้น อาหารที่มีรสชาติเผ็ดร้อนและมีส่วนประกอบของเครื่องเทศและสมุนไพร พวกกานพลู ขิง ข่า กะเพรา จะช่วยป้องกันอาการข้างต้นได้
1.2 อาการท้องเดิน บิดชนิดไม่มีตัว
อาการท้องเดิน หมายถึง อาการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำหรือถ่ายบ่อยๆ เมื่อเทียบกับภาวะปกติ หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก ต่างกับอาการท้องเสีย ซึ่งเป็นอาการถ่ายอุจจาระกะปริบกะปรอย เนื่องจากระบบการย่อยอาหารไม่เป็นปกติ อาการท้องเดินอาจเกิดจากกระเพาะลำไส้ไม่ดูดซึมสารอาหาร ทำให้มีน้ำคลั่งค้างอยู่ในสำไส้มาก หรือเกิดจากร่างกายได้รับสารพิษ (Toxin) ของเชื้อโรคบางชนิดได้รับสารกระตุ้น เยื่อบุกระเพาะลำไส้เกิดการขับถ่ายมากขึ้น หรือเกิดจากการผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร
บิด หมายถึง อาการถ่ายเป็นมูกปนเลือด ปวดเบ่ง คล้ายยังถ่ายไม่สุด มีการถ่ายและปวดบ่อยๆ อาการท้องเดินที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากเชื้อบิด หรือเชื้ออหิวาตกโรค และไม่ใช่เกิดจากความผิดปกติของทางเดินอาหาร (กระเพาะอาหาร สำไส้เล็ก-ลำไส้ใหญ่ รวมทั้งระบบการย่อยอาหาร) แต่เป็นอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อย สามารถรักษาอาการดังกล่าวได้ด้วย การใช้เครื่องเทศและสมุนไพรบางชนิดที่มีตัวยาฝาดสมานและสารออกฤทธิ์ที่ฆ่า เชื้อโรคบางชนิด และใช้กันตามแพทย์แผนโบราณ คือ เปลือกต้นมะเดื่อชุมพร เหง้าขมิ้นชัน เหง้าขมิ้นอ้อย ฟ้าทลายโจร เป็นต้น
1.3 อาการท้องผูก เป็นอาการที่อุจจาระแข็ง ถ่ายออกลำบาก พบได้ในคนทั่วไป บางคนมีอาการจนเป็นปกติวิสัย (Habit Constipation) ปกติไม่จำเป็นต้องใช้ยา แต่หากเป็นมากอาจมีอาการแน่นท้อง อึดอัด คลื่นไส้ อาเจียน วิธีแก้คือ ออกกำลังกาย ฝึกนิสัยการถ่าย กินอาหารมีเมือกมาก/มีกากมาก เช่น กล้วย ผลไม้ พืชผัก พวกเครื่องเทศและสมุนไพรบริเวณใกล้บ้านจะมีพิษน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน แบ่งเป็นกลุ่มๆ ดังนี้ พวกเพิ่มปริมาณกากอาหารในลำไส้ เป็นพวกพืชผักต่างๆ ผลไม้ กล้วย มะละกอ เมล็ดแมงลักที่พองตัวได้ดีเมื่อถูกน้ำ ทำให้ช่วยเพิ่มปริมาณกากอาหารในสำไส้ ช่วยแก้อาการท้องผูกที่เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีกากน้อยเกินไป
สมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยระบาย มีสารพวกแอนนาควิโนน (anthraquinones) ซึ่งจะออกฤทธิ์ระคายเคืองลำไส้ ทำให้มีการบีบตัวมากขึ้น จึงทำให้มีการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายดีขึ้น แต่การใช้ต้องไม่ติดต่อกันนานเกินไป ส่วนสมุนไพรที่มีผลข้างเคียงน้อย ได้แก่ ชุมเห็ดเทศ
1.4 อาการคลื่นไส้อาเจียน การอาเจียนเป็นกลไกของร่างกายในการนำสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารย้อนกลับออก มาทางปาก เป็นภาวะผิดปกติของร่างกายทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง เช่น การเมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน แพ้ท้อง กินอาหารมากเกินไป อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหาร แพ้สารเคมีต่างๆ อาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการเมารถ เมาเรือ หรือเกิดเวลาเป็นไข้ กินอาหารมากเกินไป อาจใช้สมุนไพร เช่น ขิง กะเพรา จันทน์เทศ
1.5 โรคพยาธิลำไส้ พยาธิเป็นสิ่งที่มีชีวิตขนาดเล็กที่เข้าไปอาศัยอยู่ในร่างกายคน และแย่งอาหารจากร่างกายคน มักเป็นในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ เกิดจากการกินอาหารที่มีไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิเข้าไป อาการที่พบคือ กินอาหารมากแต่ไม่อ้วน หิวบ่อย ปวดท้อง พุงอืด พุงโร ก้นปอด ที่พบบ่อยคือ พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย พยาธิตัวตืด พยาธิไส้เดือน ที่เรียกเด็กว่าเป็นซาง สมุนไพรที่ใช้เป็น ชุมเห็ดเทศ
1.6 อาการเบื่ออาหาร สมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาขมเจริญอาหารได้ดี คือ บอระเพ็ดและฟ้าทลายโจร
2. ระบบทางเดินหายใจ อาการไอขับเสมหะ อาการไอเป็นกลไกสำคัญของร่างกายที่จะช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหลอดลม อาจเป็นควันบุหรี่ ไอเสีย ฝุ่นละออง สารเคมี หรือร่างกายกระทบอากาศร้อน-เย็น ทันทีทันใด อาการไอช่วยขับสิ่งแปลกปลอมออกมาเป็นผลดีต่อร่างกาย อาจไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะก็ได้ สมุนไพรที่ใช้แก้ไอและขับเสมหะมีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์กระตุ้นต่อมทางเดิน หายใจให้หลั่งน้ำเมือกออกมามากขึ้น ทำให้เสมหะที่เข้มข้นอ่อนตัวลงและถูกขับออกจากทางเดินหายใจด้วยอาการไอ สมุนไพรกลุ่มที่มีน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ ขิง มะแว้งเครือ มะแว้งต้น และเพกา
3. อาการไข้ สมุนไพรแก้ไข้ส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์ลดไข้อย่างเดียว ไม่มีฤทธิ์แก้ปวดเหมือนยาแผนปัจจุบัน และมักมีรสขม ทำให้รับประทานได้ยาก วิธีการจึงใช้วิธีต้ม กลิ่นและรสจึงแรง ใช้กินเมื่อมีอาการไข้ต่ำหรือไข้ปานกลาง กลุ่มสมุนไพร ได้แก่ บอระเพ็ด ฟ้าทลายโจร ปลาไหลเผือก ลูกใต้ใบ กระดอม จันทน์เทศ ชิงช้าชาลี
4. โรคผิวหนัง
4.1 โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อราที่มีอยู่หลายชนิด ชอบเจริญเฉพาะบริเวณผิวหนังชั้นนอกสุด รวมทั้งผมและเล็บด้วย มักพบในบริเวณที่มีความชื้นสูง อากาศร้อน ติดต่อได้โดยการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง หรือใช้ของร่วมกับผู้ป่วย ตัวอย่าง สมุนไพรที่ใช้ได้ผลกับโรคผิวหนัง พวกกลาก เกลื้อน ได้แก่ ข่า ชุมเห็ดเทศ
4.2 เริมและงูสวัด เริม เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส อาการของโรคมักปวดแสบปวดร้อน ตรงผิวหนังที่จะเป็นใน 2-3 วัน จะมีตุ่มน้ำใสบริเวณรอบๆ จะเป็นพื้นแดง ตุ่มน้ำใสแตกออกเป็นสะเก็ดและจะหายไปเองใน 1-2 สัปดาห์ บริเวณที่พบบ่อย คือ ริมฝีปาก แก้ม จมูก หู ตา ก้น ติดต่อได้โดยการสัมผัส เป็นโรคที่หายเองและกำเริบได้เองอีก เพราะเชื้ออยู่ในร่างกาย อาจเป็นๆ หายๆ แบบเรื้อรัง
งูสวัด เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเช่นเดียวกับเริม อาการเริ่มแรกจะเป็นไข้ ปวดตามผิว โดยเฉพาะตามแนวเส้นประสาทที่จะเกิดงูสวัด ต่อมา 1-2 วัน จะมีเม็ดสีแดงซึ่งกลายเป็นตุ่มใสอย่างรวดเร็ว ต่อมาตุ่มใสนั้นจะเหลืองข้น แตกกลายเป็นสะเก็ด ปนเลือด ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ และคอมักโต โรคนี้จะหายไปเองภายใน 2-3 สัปดาห์
สำหรับเครื่องเทศและสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการของเริมและงูสวัด คือ พญายอ และเสลดพังพอน
4.3 ฝีและแผลพุพอง แนะนำให้ใช้สมุนไพรพวกชุมเห็ดเทศและขมิ้นชัน
4.4 อาการแพ้ ลมพิษ และอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ในกรณีที่เกิดพิษจากผึ้ง ต่อ แตน แมงป่อง หรือตะขาบ สามารถใช้สมุนไพรเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด อักเสบจากพิษแมลงและสัตว์เหล่านี้ได้ คือ เสลดพังพอน
5. ปวดฟัน อาการปวดฟันจากสาเหตุฟันผุ ไม่สะอาด มีเศษอาหารติดค้างอยู่ตามซอกฟัน ทำให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโต ฟันพุกร่อน เมื่อกินอาหารรสจัด น้ำเย็น ของหวาน หรือเมื่อมีเศษอาหารไปอุดฟัน แนะนำให้ใช้สมุนไพรที่ระงับอาการปวดได้ชั่วคราว คือ กานพลู
6. ริดสีดวงทวาร เป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง อาจเป็นบริเวณริมปากทวารหนัก เรียกว่า ริดสีดวงทวารภายนอก หรือกับเส้นเลือดที่ผนังท่อทวารหนัก เป็นชนิดริดสีดวงทวารภายใน มีอาการถ่ายอุจจาระลำบาก คันก้น รู้สึกเจ็บเวลาถ่าย บางครั้งมีเลือดออกเวลาถ่ายเป็นเลือดสีแดงสดๆ ตามหลังอุจจาระ หรือมีหัวริดสีดวงโผล่ออกมาที่ปากทวารหนักเป็นก้อนเนื้อนุ่มๆ อักเสบ เจ็บปวดมาก อาจนั่งเก้าอี้หรือพื้นแข็งไม่ได้ สาเหตุจากอาการท้องผูกบ่อยๆ อุจจาระแข็ง ไอเรื้อรัง อ้วน สมุนไพรแนะนำคือ เพชรสังฆาต
นั่นเป็นข้อมูลทางวิชาการที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้สรุปไว้ในหนังสือสมุนไพรพื้นบ้าน ซึ่งผมได้อ่านและคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อแฟนเทคโนโลยีชาวบ้าน จึงนำมาฝาก แต่เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมนำไปใช้ได้จริงๆ

สรรพคุณล้วนมากมี
ขอนำเสนอสรรพคุณและวิธีการใช้ของเครื่องเทศและสมุนไพรบางชนิดที่หยิบได้ง่ายและใช้สะดวก มาเป็นข้อมูลกับท่านผู้อ่านด้วย ดังนี้
กะเพรา : ใช้แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง โดยใช้ส่วนใบและยอด 1 กำมือ (น้ำหนักสดประมาณ 25 กรัม หรือใบแห้ง ประมาณ 4 กรัม) มาต้มเอาน้ำดื่ม ซึ่งเหมาะสำหรับเด็กมาก นอกจากนี้ ใช้แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน ที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ โดยใช้ใบและยอดสด ประมาณ 1 กำมือ (ประมาณ 25 กรัม) ต้มเพื่อดื่มน้ำขณะอุ่นๆ
กานพลู : แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง วิธีการคือ ใช้ดอกแห้ง 5-8 ดอก (0.12-0.6 กรัม) ต้มหรือบดเป็นยารับประทานหรือใช้ดอกกานพลู 3 ดอก ทุบแล้วแช่น้ำเดือด 1 ขวดเหล้า (750 ซีซี) ใช้ชงนมเด็กจะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กท้องอืด ท้องเฟ้อได้ดี อีกด้านคือ ใช้แก้อาการปวดฟันโดยกลั่นเอาน้ำมันใส่ฟันหรือใช้ทั้งดอกเคี้ยวแล้วอมไว้ตรง บริเวณที่ปวดเพื่อระงับอาการปวดฟัน
ขมิ้นชัน : รักษาโรคผิวหนังจำพวกพุพองน้ำเหลืองเสีย โดยใช้เหง้าสดหั่นเป็นแว่นบดให้ละเอียด เอาส่วนน้ำมาทาบริเวณที่เป็น หรือใช้เหง้าแห้งบดให้ละเอียดนำมาโรยแผล
- แก้อาการท้องเดินที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค โดยใช้เหง้าหั่นเป็นชิ้นๆ ครั้งละ 1 กำมือ น้ำหนักเหง้าสดโดยประมาณ 10-20 กรัม หรือแห้ง หนัก 5-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำพอประมาณ ต้มให้งวดหรือน้ำ 1 ใน 3 แล้วใช้ดื่มวันละครั้ง
ขมิ้นอ้อย : ใช้แก้อาการท้องเดินที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค ใช้ส่วนเหง้าหั่นเป็นชิ้นๆ ใช้ครั้งละ 1 กำมือ หรือน้ำหนักสด 20-30 กรัม หรือน้ำหนักแห้ง 10-20 กรัม ใส่น้ำพอควร ต้มให้เหลือ 1 ใน 3 เอาน้ำดื่มวันละครั้ง
ข่า : แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดท้อง ใช้ขนาดเท่ากับหัวแม่มือ สดประมาณ 5 กรัม แห้งประมาณ 2 กรัม ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม
- ใช้รักษาโรคผิวหนังชนิดเกลื้อน โดยใช้เหง้าสดฝนกับเหล้าโรง หรือน้ำส้มสายชู หรือตำแล้วแช่แอลกอฮอล์ใช้ทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน
ขิง : แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อและปวดท้อง และอาการคลื่นไส้ อาเจียน ที่เกิดจากธาตุไม่ปกติ ใช้เหง้าสดขนาดเท่าหัวแม่มือ (ประมาณ 5 กรัม) ทุบให้แตก ต้มเอาน้ำดื่ม
- แก้ไอและขับเสมหะ โดยใช้เหง้าขิงนำมาฝนกับน้ำมะนาวแทรกเกลือแบบข้นๆ แล้วใช้กวาดคอหรือจิบบ่อยๆ
บอระเพ็ด : ใช้แก้ไข้ โดยตัดยาว 2.5 คืบ หรือหนัก 30-40 กรัม วิธีการคือ ตำเอาน้ำดื่มหรือต้มกับน้ำดื่ม ก่อนอาหารวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือเวลามีอาการไข้
พญายอ : ใช้รักษาโรคผิวหนังจำพวกเริมและงูสวัด ใช้ใบสดประมาณ 1 กำมือ หรือเตรียมไว้ใช้ได้ตามอาการ นำมาตำผสมกับเหล้า ทาบริเวณที่เกิดอาการ ทาบ่อยๆ
-ใช้แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย (ไม่รวมพิษงู) ใช้ 2-10 ใบ ขยี้หรือตำให้แหลก นำมาทาหรือพอกบริเวณรอยกัดต่อย
เพกา : แก้ไอและขับเสมหะ โดยใช้เมล็ดครั้งละ 1 กำมือ ใส่น้ำประมาณ 300 ซีซี ต้มพอเดือดเคี่ยวนาน 1 ชั่วโมง รับประทานวันละ 3 ครั้ง
เพชรสังฆาต : ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก ใช้ส่วนเถาสด ยาว 1 ปล้อง หรือประมาณ 10 เซนติเมตร หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ห่อด้วยมะขามเปียกหรือใบผักกาดดอง แบ่งรับประทานวันละ 3 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ห้ามเคี้ยวให้กลืนทั้งห่อ เพราะจะระคายเคืองต่อเยื่อบุในปากได้
ฟ้าทลายโจร : แก้อาการท้องเดิน ใช้ต้นแห้งหั่นเป็นชิ้นพอประมาณ 1-3 กำมือ (3-9 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม ส่วนการแก้ไข้จะใช้ครั้งละ 1 กำมือ (แห้งหนัก 3 กรัม, สดหนัก 25 กรัม) ต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น หรือเวลามีอาการไข้
มะแว้งต้น : แก้ไอและขับเสมหะ ใช้ผลสด 5-10 ผล โขลกพอแหลกคั้นเอาแต่น้ำ ใส่เกลือจิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ
มะแว้งเครือ : แก้ไอ และขับเสมหะ ใช้ผลสด 5-10 ผล ใบโขลกพอแหลกคั้นเอาน้ำ ใส่เกลือจิบบ่อยๆ หรือใช้ผลสดเคี้ยวแล้วกลืนทั้งน้ำและเนื้อ
มะเดื่อชุมพร : ใช้แก้อาการท้องเดินที่ไม่ใช่บิดหรืออหิวาตกโรค ใช้ครั้งละประมาณ 1-2 กำมือ หรือหนัก 15-30 กรัม ต้มกับน้ำพอประมาณ เคี่ยวให้งวดเหลือ 1 ใน 3 เอาน้ำดื่มวันละครั้ง
ลูกใต้ใบ : แก้ไข ใช้ครั้งละ 1 กำมือ (ใบแห้ง 3 กรัม ใบสด 25 กรัม) ต้มกับน้ำดื่มก่อนอาหารเช้าและเย็น หรือเวลามีอาการ
เสลดพังพอน : ใช้รักษาโรคผิวหนังจำพวกเริมและงูสวัด โดยใช้ใบสดครั้งละ 1 กำมือ ตำให้ละเอียดแทรกด้วยพิมเสนเล็กน้อยนำมาทา หรือตำผสมเหล้าแล้วพอกบ่อยๆ บริเวณที่เป็นหรือใช้แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย (ไม่รวมงูพิษ) โดยใช้ 2-10 ใบ ขยี้หรือตำให้แหลกนำมาทาหรือพอกบริเวณที่เป็นโรค
คงจะพอเห็นคุณค่าของเครื่องเทศและสมุนไพรกันไปแล้ว ด้านการใช้เป็นยาพื้นเมืองที่ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นได้ครอบจักรวาล และวิธีการใช้ก็แสนง่าย หากมีไว้ในบ้าน ทีนี้ผมจะพาท่านพบกับ เครื่องเทศและสมุนไพรของไทยที่มีการส่งไปขายต่างประเทศ นำเงินตราเข้ามาปีละมากกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อเป็นกำลังใจกับผู้ที่ปลูกเครื่องเทศและสมุนไพรเป็นอาชีพ ไม่ว่าจะรายย่อยรายใหญ่จะส่งขายพ่อค้าท้องถิ่นส่งให้ผู้ส่งออกหรือโรงงานแปร รูป จะได้เกิดความมั่นใจในการประกอบอาชีพนี้ หรือเป็นข้อมูลเพื่อขยายการผลิต ปรับปรุงการผลิตให้ได้มาตรฐานทั้งการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ทำให้ได้คุณภาพตาม ลูกค้าต้องการ อีกอย่างคงมีผู้อ่านอีกหลายท่านที่ไม่เคยทราบข้อมูลเหล่านี้มาก่อนว่า เครื่องเทศและสมุนไพรไทยนั้น ทำเงินให้ประเทศชาติได้มากมายมหาศาล คงจะเป็นไอเดียให้กับผู้สนใจพืชกลุ่มนี้ได้พอสมควร มาดูข้อมูลกันครับ
สร้างอาชีพให้คนไทยสร้างรายได้เข้าประเทศ
จากข้อมูลกรมศุลกากร (2550) สรุปไว้ การส่งออกเครื่องเทศและสมุนไพรไปต่างประเทศ เป็นมูลค่ารวม ดังนี้ ในปี 2547 เป็นเงิน 1,876.7 ล้านบาท ปี 2548 เป็นเงิน 1,693.5 ล้านบาท และปี 2549 เป็นเงิน 1,710.9 ล้านบาท โดยในปี 2549 มีการส่งเครื่องเทศและสมุนไพรในรูปของพริกแห้งและพริกป่น 90.6 ล้านบาท กลุ่มขมิ้น ขิง ข่า และหอมแขก เป็นเงิน 453.7 ล้านบาท รูปของสารสกัดจากสมุนไพรต่างๆ เป็นเงิน 361.7 ล้านบาท พริกไทยป่นและเมล็ด เป็นเงิน 35.3 ล้านบาท มะขามเปียก 61.1 ล้านบาท นอกนั้นเป็นเครื่องเทศและสมุนไพรอื่นๆ ที่เป็นผลผลิตสดและแปรรูปที่เป็นส่วนประกอบของอาหารที่ประเทศไทยส่งออกไป 3 ลักษณะใหญ่ๆ คือ ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์วัตถุดิบสำหรับอาหารไทยและอาหาร ต่างประเทศ โดยมีประเทศต่างๆ ที่เราส่งไปขาย 10 อันดับ ตามมูลค่าการส่งออก ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น พม่า ปากีสถาน อินเดีย เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ บังกลาเทศ ฮ่องกง และเนปาล ส่วนประเทศลูกค้าอื่นๆ ได้แก่ เยอรมนี เบลเยียม ฝรั่งเศส สวีเดน แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม ตรงนี้ท่านจะเห็นว่าเครื่องเทศและสมุนไพรนั้นสร้างเงินเข้าประเทศนับพันล้าน บาทต่อปี ลองคิดดูสิครับว่าในส่วนนี้จะมีเกษตรกร พ่อค้า นักธุรกิจ และผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กระบวนการผลิตในฟาร์มถึงส่งขายปลายทางกี่ราย พวกเขาเหล่านั้นอยู่ได้ด้วยการมีอาชีพ มีรายได้จากเครื่องเทศและสมุนไพรทั้งสิ้น นั่นเป็นด้านที่เราดูว่าประสบความสำเร็จในการส่งเสริมและพัฒนาเครื่องเทศและ สมุนไพร จนส่งขายเป็นสินค้าสู่ตลาดโลกได้แล้ว โดยเฉพาะแถบตลาดยุโรป (กลุ่ม อียู) ที่กำลังเป็นตลาดใหญ่ของไทย
ข้อมูลที่มา  board.palungjit.com

อัพเดทล่าสุด