"แหล่งเรียนรู้ หินภูเขาไฟ"
เบ็ญจวรรณ ศรีเจริญ
หินภูเขาไฟเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
หินภูเขาไฟ (Volcanic rock) หรือ หินอัคนีพุ (Extrusive rock) เกิดจากการปะทุขึ้นมาของแมกมาจากใต้โลกขึ้นสู่ ผิวโลกเป็นลาวาไหลออกมา ซึ่งการปะทุขึ้นมาของแมกมาเกิดขึ้นได้ หลายรูปแบบ เช่น
1. การปะทุแบบไม่รุนแรง เป็นการปะทุตามปล่องหรือรอยแตก รอยแยกของแผ่นเปลือกโลกลาวาไหลหลากเอ่อล้นไป ตามลักษณะภูมิประเทศ ลาวาจะถ่ายโอนความร้อนให้กับบรรยากาศภายนอกอย่างรวดเร็ว ทำให้อะตอมของธาตุ ต่าง ๆ มีเวลาน้อยในการจับตัวเป็นผลึก หินลาวาหลากจึงประกอบด้วยแร่ที่มีผลึกขนาดเล็กหรือเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นและจำแนกผลึกได้ด้วยตาเปล่า เช่น
- หินบะซอลต์ เป็นหินที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวาที่มีความหนืดน้อย มีปริมาณซิลิกาอยู่ในช่วง 45-52 เปอร์เซ็นต์
- หินแอนดีไซต์ เป็นหินที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวาที่มีความหนืดปานกลาง มีปริมาณซิลิกาอยู่ในช่วง 52-66 เปอร์เซ็นต์
- หินไรโอไรต์ เป็นหินที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวาที่มีความหนืดมาก มีปริมาณซิลิกามากกว่า 66 เปอร์เซ็นต์
2. การปะทุแบบรุนแรง เป็นการปะทุแบบระเบิด เกิดตามปล่องภูเขาไฟ ขณะที่แมกมาเกิดปะทุพ่นขึ้นมาด้วยแรง ระเบิดพร้อมกับฝุ่น ก๊าซ เถ้า ไอน้ำ และชิ้นวัตถุที่มีรูปร่างขนาดต่างๆ กันกระเด็นขึ้นไปบนอากาศ ชิ้นวัตถุุุเหล่านี้อาจเป็นเศษหินและแร่ เย็นตัวบนผิวโลกตกลงมาสะสมตัวทำให้เกิดแหล่งสะสมชิ้นภูเขาไฟ เมื่อแข็งตัวจะเป็นหินชิ้นภูเขาไฟหรือหินตะกอนภูเขาไฟ (pyroclastic rock) ได้แก่ หินทัฟฟ์ (tuff) หินแอกโกเมอเรต (agglomerate) หินพัมมิซ หินสคอเรีย เป็นต้น
หมายเหตุ นักธรณีวิทยาบางคนได้จัดหินตะกอนภูเขาไฟเป็นหินอัคนีแต่บางคนจัดเป็นหินตะกอนเนื่องจากกระบวนการเกิดในช่วง แรกเกิดแบบหินอัคนี แต่ช่วงหลังมีการพัดพาไปสะสมแบบหินตะกอน
ในประเทศไทยพบหินภูเขาไฟที่ใดบ้าง
จากการสำรวจของนักธรณีวิทยา จากกรมทรัพยากรธรณีของประเทศไทย พบหินภูเขาไฟอยู่ในบริเวณต่าง ๆ ของภาคเหนือ ที่ราบภาคกลาง แนวเขาเพชรบูรณ์ ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และที่ราบสูงโคราช ซึ่งหินภูเขาไฟเหล่านี้จะมีส่วนประกอบของแร่ธาตุต่าง ๆ ตั้งแต่ แร่ธาตุที่มีสีเข้มดำ จนถึงแร่ธาตุที่มีสีจาง หินภูเขาไฟที่พบมีช่วงอายุการเกิดต่างกันที่มีอายุแก่ที่สุดที่พบจะมีอายุ อยู่ในยุคไซลูเรียน ถึงช่วงล่างของยุคเพอร์เมียน (ประมาณ 435 ล้านปี จนถึง 280 ล้านปี) ซึ่งหินภูเขาไฟที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ส่วนใหญ่มักจะถูกแปรสภาพกลายเป็นหินแปรไปมากแล้ว ต่อมาในช่วงเวลา ตั้งแต่ตอนบนของยุคเพอร์เมียนถึงตอนล่างของยุคไทรแอสซิก (ประมาณ 250 ล้านปี ถึง 200 ล้านปี) มีหินภูเขาไฟเกิดขึ้นมากในบริเวณต่าง ๆ ของไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือภาคกลางตอนบน และขอบที่ราบสูงตอนล่าง และในช่วงปลายมหายุคซีโนโซอิก (ประมาณ 0.9-0.6 ล้านปี) นับเป็นช่วงสุดท้ายของการเกิดการระเบิดของภูเขาไฟในประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดหินบะซอลต์เป็นส่วนใหญ่
เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง? จากแหล่งที่พบหินภูเขาไฟ
สถานที่ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ * เป็นบริเวณที่พบหินภูเขาไฟ ซึ่งจัดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถพานักเรียน เข้าไป ทำกิจกรรม เพื่อศึกษา เกี่ยวกับ หินภูเขาไฟได้ชัดเจน และสะดวกในการเดินทาง1. วัดเมืองเก่าแสนตุ่ม บ้านเขาตาโม๊ะ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด
2. อ่าวตาลคู่ อำเภอเมือง จังหวัดตราด
3. เขากระโดง ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
4. เขาพนมรุ้ง ตำบลตาเป็ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
5. ภูพระอังคาร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
6. เขาหินกลิ้ง อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
7. เขาพระพุทธฉาย อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี
8. เขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์* สิน สินสกุล นักธรณีวิทยา สาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท. แหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาในประเทศไทย 2547.
บรรณานุกรมกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม. 2544 ธรณีวิทยาในประเทศไทย. กองธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ถนนพระรามที่ 6 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2545. ธรณีวิทยาเบื้องต้นสำหรับครููในระดับ
ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น. เอกสารประกอบการประชุม.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. 2547. แหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาในประเทศไทย. https://www.ipst.ac.th/science/vocano.html