มะเร็งปากมดลูกรวมวิธีป้องกันและการรักษามะเร็งปากมดลูก(ถาม-ตอบ)


762 ผู้ชม


การรักษามะเร็งปากมดลูก

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์


ปากมดลูกคืออวัยวะอะไร?
ปาก มดลูกเป็นอวัยวะเฉพาะของผู้หญิง  เป็นส่วนปากของตัวมดลูก  จึงเรียกว่า ปากมดลูก  เป็นอวัยวะในส่วนที่เมื่อตรวจภายในแล้วมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า


มะเร็งปากมดลูกเกิดได้อย่างไร?
สาเหตุ ที่แน่นอนของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ยังไม่ทราบ  แต่จากการศึกษา เชื่อว่า มาจากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น จากความผิดปรกติทางพันธุกรรมชนิดไม่ถ่ายทอด ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงสำคัญอื่นๆ   เช่น การติดเชื้อไวรัส เฮชพีวี (HPV)จากมีเพศสัมพันธ์     การมีลูกมาก     การมีเพศสัมพันธ์ส่ำส่อน  และ/หรือ การติดเชื้อไวรัส เฮชไอวี (HIV)


โรคมะเร็งปากมดลูกเกิดในคนอายุเท่าไร?
โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคมะเร็งของผู้ใหญ่  เกิดได้ในทุกอายุ  แต่พบบ่อยกว่าในช่วงอายุ ๔๕ - ๕๕ ปี


มะเร็งปากมดลูกมีอาการอย่างไร?
อาการ ของโรคมะเร็งปากมดลูก ไม่ใช่อาการเฉพาะ แต่เป็นอาการเหมือนการอักเสบของปากมดลูก  โดยอาการที่พบได้บ่อย  คือ   ถ้าเป็นระยะเริ่มต้นจริงๆ จะไม่มีอาการ (ตรวจพบได้จากการตรวจภายใน และ การตรวจแป๊บสเมียร์)   ต่อเมื่อโรคเริ่มลุกลาม  จึงมีตกขาว   มีกลิ่นเหม็น    มีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์    มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปรกติไปจากประจำเดือนปรกติ   หรือ มีประจำเดือนมามาก มาบ่อย ผิดปรกติ  และเมื่อโรคลุกลามมาก อาจมีอาการปวดในช่องท้องน้อย และ/หรือมีอาการทางการปัสสาวะ และ/หรืออุจจาระผิดปรกติได้  ทั้งนี้เพราะ กระเพาะปัสสาวะเป็นอวัยวะอยู่ติดด้านหน้าของปากมดลูก/ตัวมดลูก ส่วนลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย(ลำไส้ตรง) อยู่ติดกับด้านหลังของปากมดลูก/ตัวมดลูก  ดังนั้นเมื่อก้อนมะเร็งในปากมดลูกลุกลามมากขึ้นจึงมีผลกระทบถึงกระเพาะ ปัสสาวะ และลำไส้ตรง


รู้ได้อย่างไรว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก?
รู้ ได้ว่าเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกโดยการตรวจภายใน และ นำเซลล์จากปากมดลูกเพื่อตรวจทางเซลล์วิทยา เรียกว่า แป๊ปสเมียร์ (pap- smear) หรือ ตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อในปากมดลูก ตรวจทางพยาธิวิทยา


โรคมะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ไหม?
โรค มะเร็งปากมดลูก สามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ร่วมกับการตรวจภายใน ตรวจแป๊ปสเมียร์  เป็นประจำอย่างน้อยทุกปีในคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว  ซึ่ง ถ้าผลตรวจพบมีการอักเสบของปากมดลูกอย่างรุนแรงอันนำไปสู่การกลายเป็นมะเร็ง ได้  แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดปากมดลูก หรือ ผ่าตัดตัวมดลูก ทั้งนี้ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์              

                 ในปัจจุบัน มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้  ให้ผลประมาณร้อยละ ๗๐ แต่มีข้อจำกัดในการใช้วัคซีนหลายอย่าง และถึงแม้ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องตรวจ แป๊ปสเมียร์ อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ ถ้าผู้อ่านสนใจเรื่องการฉีดวัคซีน ควรสอบถาม สูตินรีแพทย์ และ/หรือ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง เช่น รังสีรักษาแพทย์


มีวิธีตรวจให้พบมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่แรกเป็นไหม?
โรค มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่มีวิธีตรวจคัดกรอง หรือ ตรวจให้พบโรค ตั้งแต่เริ่มเป็นขณะยังไม่มีอาการที่มีประสิทธิภาพมาก ผู้หญิงซึ่งมีเพศสัมพันธ์แล้วทุกคน ทุกวัย หรือ ตั้งแต่อายุ ๒๐ ปีขึ้นไป (ในคนที่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์)  ควรได้รับการตรวจภายใน และตรวจแป๊ปสเมียร์ ทุกปี   เมื่อพบว่า ผลตรวจปรกติ ติดต่อกัน ๒-๓ ปี  สามารถลดการตรวจเป็นทุก  ๒-๓ ปีได้  ส่วนผู้หญิงซึ่งอายุตั้งแต่ ๖๕ ปีขึ้นไป และ ผลตรวจแป๊ปสเมียร์ปรกติมาตลอด อาจยกเลิกการตรวจ หรือ ขึ้นกับแพทย์แนะนำ  

                เมื่อการตรวจ พบมีความผิดปรกติ  แพทย์จะให้คำแนะนำผู้ป่วยเป็นรายๆไป ขึ้นกับความผิดปรกติที่ตรวจพบ  เช่น ถ้าการผิดปรกติไม่ชัดเจน แพทย์อาจนัดตรวจภายใน/แป๊ปเสมียร์ซ้ำ  บ่อยขึ้น อาจทุก ๓-๖ เดือน  ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรมาตรวจตามแพทย์นัดสม่ำเสมอ


โรคมะเร็งปากมดลูก มีกี่ชนิด?
โรคมะเร็งปากมดลูกมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีความรุนแรงโรคต่างกัน แต่ทุกชนิดมีวิธีรักษาคล้ายคลึงกัน


มะเร็งปากมดลูกมีกี่ระยะ?
โรคมะเร็งปากมดลูก มี ๔ ระยะหลัก ได้แก่

ระยะที่ ๑  โรคมะเร็งเป็นอยู่เฉพาะที่ปากมดลูก

ระยะที่ ๒  โรคมะเร็งลุกลามออกนอกปากมดลูก แต่ยังลุกลามไม่มาก

ระยะที่ ๓  โรคมะเร็งลุกลามออกนอกปากมดลูกมากขึ้น หรือ มีการทำงานของไตเสียไปแล้ว

ระยะที่ ๔  โรคมะเร็งลุกลามเข้ากระเพาะปัสสาวะ  และ/หรือ ลำไส้ใหญ่   และ/หรือ มีโรคแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง  และ/หรือต่อมน้ำเหลืองไหปลาร้า/ลำคอ  และ/หรือ แพร่กระจายเข้ากระแสเลือด/โลหิตไปอวัยวะอื่นๆ  ที่พบบ่อย คือ ไปปอด และ กระดูก

                นอกจากนี้ ในแต่ละระยะของโรค ยังแบ่งเป็นระยะย่อยๆอีก ซึ่งแพทย์โรคมะเร็งใช้เป็นเครื่องบ่งชี้วิธีรักษา


มะเร็งปากมดลูก รักษาอย่างไร?
การ รักษาโรคมะเร็งปากมดลูก ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ ระยะโรค  ชนิดเซลล์มะเร็ง  ขนาดก้อนมะเร็ง  อายุ  สุขภาพผู้ป่วย และการทำงานของไต

                โดยทั่วไป โรคระยะที่ ๑-๒ อาจใช้ผ่าตัด หรือ รังสีรักษา  หรือ ทั้งสองวิธีร่วมกัน หรือ ร่วมกับยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยต่างๆดังกล่าวแล้ว

                โรคระยะที่ ๓ มักเป็นรังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัด หรือ รังสีรักษาวิธีการเดียว ขึ้นกับปัจจัยต่างๆดังกล่าวแล้ว

                โรคระยะที่ ๔ การรักษาขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย  เป็นรายๆไป และ ขึ้นกับปัจจัยดังกล่าวแล้วเช่นกัน

          ส่วนวิธีการรักษาอื่นนอกเหนือจาก การผ่าตัด รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด เช่น การใช้ยารักษาตรงเป้า ยังอยู่ในการศึกษา


มะเร็งปากมดลูกรักษาหายไหม?
โรค มะเร็งปากมดลูกในระยะที่ ๑  เมื่อรักษาแล้ว มีโอกาสหายสูง  แต่โรคในระยะที่  ๒ และ๓ หรือ ถ้าก้อนมะเร็งโตมาก ผลการรักษาต่ำกว่าโรคในระยะที่ ๑ ตามลำดับ   ส่วนโรคในระยะที่ ๔  ไม่มีโอกาสรักษาหาย  ผลการรักษาขึ้นกับอาการ อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย เป็นรายๆไป และมักเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ


การรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกมีผลข้างเคียงไหม?
การ รักษาโรคมะเร็งปากมดลูก ทั้งโดยการผ่าตัด รังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด มีผลข้างเคียงเสมอ แต่โดยทั่วไป เป็นผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง เป็นผลข้างเคียงที่ผู้ป่วยและครอบครัวยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ และคำอธิบาย ผู้ป่วย/ครอบครัวควรสอบถามให้เข้าใจ และไม่ควรกังวลใจจนถึงขั้นปฏิเสธการรักษา


ระหว่างรักษาโรคมะเร็งปากมดลูกมีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?
ใน ระหว่างการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก แพทย์จะแนะนำไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ เพราะจะทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะสืบพันธ์  ซึ่งมักเป็นการอักเสบติดเชื้อรุนแรง จนอาจต้องหยุดพักการรักษา  นอกจากนั้น ยังทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดได้ง่าย และเลือดออกได้มาก  เกิดภาวะซีด มีผลให้การรักษาโรคมะเร็งไม่ได้ผลเท่าที่ควร  อย่างไรก็ตาม ภายหลังเมื่อการรักษาครบแล้ว และอวัยวะเพศภายในกลับเป็นปรกติ  แพทย์จะแนะนำให้กลับมามีเพศสัมพันธ์ได้ตามเดิม


รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว ยังมีลูกได้ไหม?
ภาย หลังการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก  ผู้ป่วยไม่สามารถมีลูกได้อีก เพราะถ้าผ่าตัด จะตัดเอามดลูกออก  ส่วนรังสีรักษาจะมีผลให้มดลูกฟ่อ ไม่สามารถมีลูกได้อีก


รักษาโรคมะเร็งปากมดลูกแล้ว ยังมีประจำเดือนไหม?
ภาย หลังการรักษาโรคมะเร็งปากมดลูก ผู้ป่วยจะหมดประจำเดือน ไม่สามารถมีประจำเดือนได้อีก เพราะมีการผ่าตัดมดลูกจากการผ่าตัด  หรือ มีมดลูกฝ่อจากรังสีรักษา  แต่ถ้าภายหลังครบการรักษาแล้ว ผู้ป่วยกลับมามีเลือดออกทางช่องคลอดอีก  ควรต้องรีบพบแพทย์ เพราะอาจเกิดจากมีโรคมะเร็งย้อนกลับเป็นซ้ำ หรือ มีความผิดปรกติอื่น เช่น การอักเสบของช่องคลอด  เป็นต้น


โรคมะเร็งปากมดลูกติดต่อได้ไหม?
โรค มะเร็งปากมดลูกไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อแบบไหน  ไม่สามารถติดต่อลูกหลาน  สามี หรือคนใกล้ชิดได้     ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นรวมทั้งเด็กทารก หญิงตั้งครรภ์  รับประทานอาหาร และใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปรกติ นอกจากนั้น  ยังไม่ใช่โรคถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ /พันธุกรรม ดังนั้น ผู้ป่วย  สามี  คนใกล้ชิด และครอบครัวไม่ต้องกังวล

ข้อมูลที่มา thastro.org

อัพเดทล่าสุด