สมุนไพรรักษา โรคน้ำกัดเท้า


1,200 ผู้ชม


สมุนไพรรักษา โรคน้ำกัดเท้า

ปีนี้นับเป็นประวัติศาสตร์หนึ่งที่เราต้องจดจำ เพราะเกือบเจ็ดสิบปีที่น้ำไม่เคยท่วมหนักในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ซึ่งภัยธรรมชาติดังกล่าวทำให้การเตรียมรับมือไม่ทัน เพราะไม่มีใครคาดคิดว่าจะรุนแรงได้ถึงเพียงนี้ เราคงเคยได้รับข้อมูลข่าวสารหรือมีการทำนายว่าอีกไม่กี่ปีน้ำจะท่วมในหลายประเทศ ที่ราบ-ลุ่มจะกลายเป็นทะเล ภูเขาหิมะละลายจากภาวะโลกร้อน แต่ใครจะคิดว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดกับประเทศไทยเรา โดยเฉพาะพื้นที่สูงอย่างภาคอีสาน ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินสภาพจิตใจ คุณภาพชีวิต ทุกเพศทุกวัยเดือดร้อนกันทั่วหน้ายากที่จะประเมินค่าความเสียหายเป็นตัวเลขได้ จากการติดตามข่าวช่วงนี้บางพื้นที่น้ำเริ่มลดแล้วและพบปัญหาด้านสุขภาพประชาชนต้องการยารักษาโรค เช่น ยาทาแผลที่เท้าเนื่องจากน้ำกัดเท้า ยาลดไข้ แก้หวัด เป็นต้นกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ให้การสนับสนุนยาสมุนไพรที่ผลิตโดยโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐาน GMP บริจาคให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน แต่ต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือได้ครอบคลุมทั่วถึง วิธีที่ดีที่สุดในตอนนี้คือการให้คำแนะนำ หาวัสดุที่มีใกล้ตัวเพื่อช่วยแก้ปัญหา สมุนไพรเป็นหนึ่งของยารักษาโรคและอาการในภาวะนี้ได้ เนื่องจากสมุนไพรส่วน-ใหญ่ใช้เป็นอาหาร ดังนั้น การเตรียมสมุนไพรที่ใช้ทาภายนอกนั้นสามารถทำได้ทุกครัวเรือน บทความนี้จึงขอให้ข้อมูลการเตรียมสมุนไพรในการรักษาโรคน้ำกัดเท้า ที่หาง่ายราคาไม่แพงดังต่อไปนี้

ข่า เป็นสมุนไพรในครัวเรือน นำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น ต้มยำ เครื่องแกง ตามตำรายาไทย ข่ามีรสเผ็ดปร่า มีสรรพคุณช่วยขับลมแก้บวม ฟกช้ำผลการวิจัยข่ามีสารออกฤทธิ์ คือ 1’-acetoxychavicol acetate,1’-acetoxyeugenolacetate และ eugenol ช่วยลดการอักเสบ และตำรับยาที่มีข่าเป็นส่วนประ-กอบมีฤทธิ์ลดอักเสบได้ ใช้รักษากลากเกลื้อนข่ามีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาช่วยลดการอักเสบฤทธิ์ฆ่าเชื้อราและมีผลการศึกษาทางคลินิกได้ผลดี
วิธีเตรียม ใช้เหง้าข่าแก่ล้างให้สะอาด ฝานเป็นแว่นบาง ๆ หรือตำให้แหลกนำไปแช่เหล้าขาวทิ้งไว้หนึ่งคืน หลังจากนั้นกรองเอาน้ำที่ได้ใส่ในขวดปิดฝาให้สนิท ก่อนทายาล้างบริเวณผิวที่เป็นให้สะอาด เช็ดเท้าให้แห้ง นำยาที่เตรียมไว้ชุบสำลีทาบริเวณที่เป็นแผลน้ำกัดเท้าวันละ 3 - 4 ครั้ง จนกว่าจะหายและทาต่ออีก 7 วัน ควรเตรียมพอใช้ประมาณ 2 - 3 วันเมื่อยาใกล้หมดค่อยเตรียมใหม่และไม่ควรเตรียมเก็บไว้นาน เนื่องจากเราไม่ได้ใช้หลักของการเตรียมยาที่ปราศจากเชื้อ อาจมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียได้

ทองพันชั่ง เป็นสมุนไพรรสเบื่อเมา ตามสรรพคุณยาไทย เป็นยาดับ-พิษไข้ แก้แพ้ผดผื่นคัน และแก้กลาก-เกลื้อน จากผลการวิจัยพบว่าสมุนไพรทองพันชั่งมีผลการศึกษาการฆ่าเชื้อราTrichophyton rubrum (สาเหตุของโรคกลาก) เทียบกับยามาตรฐาน griseofulvinและ nystatin สารสกัดทองพันชั่งด้วยเมทานอลไดคลอโรมีเทนและเฮกเซนมีผลยับยั้งเชื้อรา Epidermophytonfloccousm, Microsporum gypseum,Trichophyton mentagrophytes และT.rubrum ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังได้
วิธีเตรียม ใช้ส่วนที่เป็นรากป่น-ละเอียดแช่ในเหล้าขาว 7 วัน กรองเอาน้ำที่ได้ใส่ขวดที่สะอาด ก่อนทายาให้ล้างทำความสะอาดบริเวณที่เป็นแผลน้ำกัดเท้า เช็ดให้แห้งใช้สำลีชุบน้ำยาทาแผลวันละ 3 - 4 ครั้งจนกว่าจะหาย

พลู เป็นพืชสมุนไพรที่รู้จักกันดี คนสมัยก่อนใช้ปูนแดงทาบนใบพลู เคี้ยวกินกับหมาก นอกจากนี้ นำใบพลูมารักษาโรคลมพิษที่ผิวหนัง ด้วยการนำใบสดมาตำกับเหล้าขาวทาบริเวณผื่นจากการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ พบว่า ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหย เรียกว่า Betel oil อยู่ประมาณ 0.7 - 2.6เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้ำมันหอมระเหยนี้ มีส่วนประกอบหลักคือchavieol eugenol และ chavibetol ซึ่งมีฤทธิ์ชาเฉพาะที่ บรรเทา
อาการคัน และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคบางชนิด จากการศึกษาฤทธิ์ด้านจุลชีพของเจลพลู พบว่า เจลพลูมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราทุกชนิดได้ดีมาก ใกล้เคียงกับครีมคลอไตรมาโซล (clotrimazole cream 1 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งเป็นยาต้านเชื้อรา ในรูปยาทาภายนอกที่มีประสิทธิภาพสูง และให้ผลดีกว่าครีมโทลนาฟเตต (tolnaftate cream 1 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งเป็นยาทาต้านเชื้อราอีกชนิดหนึ่ง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
วิธีเตรียม ใช้ใบพลูสด 2 - 3 ใบ ตำให้ละเอียด เติมเหล้าโรงท่วมยา ทิ้งไว้หนึ่งคืน กรองเอาน้ำยาที่หมักไว้เก็บในขวดสะอาด ปิดฝาให้สนิท ก่อนทายาควรล้างเท้าให้สะอาด เช็ดเท้าให้แห้ง หลังจากนั้นใช้สำลีชุบน้ำยาทาบริเวณตุ่มหรือแผลที่เท้าวันละ 3 - 4 ครั้งจนกว่าจะหาย สรรพคุณของยาจะช่วยระงับอาการคัน และลดการอักเสบได้

มังคุด ตามสรรพคุณยาไทย เปลือกมังคุดทั้งสดหรือแห้งมีรสฝาด ช่วยสมานแก้อาการท้องเสีย รักษาแผลพุพอง นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยพบว่า เปลือกมังคุดมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุการเกิดหนอง สารสกัดเปลือกมังคุดมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการเกิดหนอง คือStaphylococcus aureus และ S. aureus ที่ดื้อยา methicillin ส่วนโลชั่นที่ประกอบด้วยสารสกัดจากเปลือกผล 0.75 เปอร์-เซ็นต์ และสบู่เหลวที่ประกอบด้วยสารสกัดแอลกอฮอล์จากเปลือกผล มีฤทธิ์S. aureus ฤทธิ์รักษาแผล Mangostinจากผลมังคุดมีผลรักษาแผลติดเชื้ออักเสบและแผลในผู้ป่วยเบาหวาน ปัจจุบันมีการวิจัยทั้งรูปแบบที่เป็นอาหารเสริม ยา เวชภัณฑ์เครื่องสำอาง
วิธีเตรียม นำเปลือกมังคุดทั้งสดหรือแห้งมาฝนกับน้ำปูนใสหรือน้ำต้มสุกทาบริเวณแผลที่เท้า หรือนำเปลือกมังคุดไปต้มในน้ำเดือด 5 - 10 นาทีทิ้งไว้ให้พออุ่นแช่ฝ่าเท้า วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น จนกว่าจะหาย

ขมิ้นชัน ตามสรรพคุณยาไทย ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่ช่วยในการรักษาอาการผื่นคัน ลดการอักเสบ จากผลการศึกษาวิจัยขมิ้นชันเป็นสมุนไพรสารพัดประโยชน์ช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดรักษาโรคกระเพาะอาหารอักเสบสำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปัจจุบันได้พัฒนาขมิ้นชันเป็นโลชั่นทาผิว ครีมขัดผิว ครีมอาบน้ำ และครีมช่วยกระตุ้นการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิวและลดริ้วรอยจากสิวอักเสบได้
วิธีเตรียม นำผงขมิ้น (นำเหง้าบดเป็นผง) มาเคี่ยวกับน้ำมันงาหรือน้ำมัน-มะพร้าว ทำน้ำมันใส่แผลสด หรือจะใช้ขมิ้นชันสด (ใช้เหง้าสดล้างให้สะอาด) ตำ-ละเอียดผสมน้ำต้มสุก คั้นเอาน้ำทาแผล วันละ 3 - 4 ครั้ง จนกว่าจะหายจากข้อมูลสมุนไพรรักษาน้ำกัดเท้าดังกล่าว เป็นการเตรียมสมุนไพรไว้สำหรับใช้เองในครอบครัว วิธีการเตรียมแบบง่ายไม่ใช่การเตรียมในห้องเตรียมยาที่ปราศจากเชื้อ ไม่ควรเตรียมเก็บไว้นาน การใช้สมุนไพรที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะต้องเลือกเพียงชนิดเดียว ขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละครอบครัว โดยมีข้อควรระวังและคำแนะนำในการใช้ คือถ้าไม่เคยใช้สมุนไพรมาก่อนก่อนใช้ควรทาบริเวณท้องแขนเพื่อทดสอบว่ามีอาการแพ้ ถ้าพบว่ามีผื่นแดง แสบร้อน หรืออาการอื่นที่ผู้ใช้รู้สึกไม่สบาย ควรหยุดทันทีและไปพบแพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือสอบถามข้อมูลมาที่สถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย หรือหากท่านมีปัญหาสุขภาพสามารถมาตรวจวินิจฉัย และรักษาด้วยแพทย์แผนไทย ที่ตั้งอาคารสถาบันวิจัยการแพทย์แผนไทย(ยศเส) ติดกับโรงพยาบาลหัวเฉียว เบอร์โทรศัพท์ 0 2224 3261 - 5 ในวัน เวลาราชการ

www.moph.go.th

อัพเดทล่าสุด