สช.ค้านเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา


669 ผู้ชม

ชี้ผลักภาระผู้ปกครอง สมาคมฯ โรงเรียนนอกระบบหวั่นรัฐโยนหินถามทาง


 

ชี้ผลักภาระผู้ปกครอง สมาคมฯ โรงเรียนนอกระบบหวั่นรัฐโยนหินถามทาง

วันนี้ ( 7 ม.ค.) นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวถึง กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 11 ม.ค.ให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจว่า สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำหนังสือชี้แจงเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของครม.แล้ว โดยได้ชี้แจงว่า โรงเรียนกวดวิชาเป็นโรงเรียนนอกระบบที่ไม่ได้รับการอุดหนุนทางการเงินจากรัฐ และได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ที่บัญญัติให้รัฐส่งเสริมการจัดการศึกษาอบรมขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชน โดยการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินที่ได้รับจากการดำเนินกิจการ โรงเรียน
               
นายชาญวิทย์ กล่าวด้วยว่า ใน พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ยังได้กำหนดด้วยว่าการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นของ โรงเรียนเอกชนนอกระบบ ต้องไม่มีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควร ซึ่ง สช.ได้ให้แนวทางโรงเรียนกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยให้นำค่าใช้จ่ายของโรงเรียนรวมกับผลตอบแทนมากำหนดเป็นค่าธรรมเนียมการ ศึกษา ซึ่งในส่วนของผลตอบแทนให้กำหนดไว้ที่ 20% เช่นเดียวกับโรงเรียนในระบบ อีกทั้งการที่ปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาตั้งขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะผู้ปกครองและนักเรียนเห็นความจำเป็นที่ต้องเรียนกวดวิชา หากมีการจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาก็ไม่ได้ทำให้ความต้องการในการเรียนกวด วิชาลดลง แต่ในทางตรงกันข้ามโรงเรียนกวดวิชาจะผลักภาระส่วนนี้ให้แก่ผู้เรียน ซึ่งจะทำให้ค่าธรรมเนียมการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น นักเรียนและผู้ปกครองต้องรับภาระมากขึ้น นอกจากนี้การเลือกเก็บภาษีเฉพาะโรงเรียนกวดวิชาประเภทเดียว อาจมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงเห็นว่ายังไม่ควรมีการจัดเก็บภาษีจากโรงเรียนกวดวิชาในขณะนี้
เลขาธิการ กช. กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องความปลอดภัยนั้น กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของอาคารที่จะนำมาใช้จัด ตั้งโรงเรียน โดยระบุไว้ในระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชา พ.ศ.2545 อาทิ ต้องจัดให้มีทางหนีไฟ และให้มีมาตรการป้องกันอัคคีภัย เป็นต้น อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนที่ไม่ได้ลงทะเบียนกับสช.เกิด ขึ้น ซึ่ง สช.จะออกตรวจและดำเนินการตามกฏหมายต่อไป
นางจิตรา จันทรากุล นายกสมาคมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนนอกระบบ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมสมาคมฯ โดยตั้งข้อสังเกตว่า หากรัฐเก็บภาษีจากโรงเรียนกวดวิชาจริง จะเข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากโรงเรียนกวดวิชาเป็นหนึ่งในการศึกษานอกระบบทั้งหมด โดยการศึกษานอกระบบจะมีลักษณะธุรกิจที่คล้ายๆ กัน อาทิ โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนสอนดนตรี เป็นต้น ซึ่งทางกลุ่มกังวลกับเรื่องดังกล่าวมาก เพราะท้ายสุดอาจจะไม่ได้เก็บภาษีจากโรงเรียนกวดวิชาเท่านั้น แต่เป็นการเปิดประเด็นขึ้นมาก่อน ซึ่ง สช.และศธ.ที่ดูแลเราก็เข้าใจดีว่าเราเป็นการศึกษาทางเลือก เป็นธุรกิจทางการศึกษาไม่ใช่เป็นธุรกิจเพียวๆ ที่ไม่ต่างกับโรงเรียน และมหาวิทยาลัยเอกชน หากรัฐมีนโยบายที่จะหารายได้ ก็ต้องมองในภาพรวมทั้งระบบ.

อัพเดทล่าสุด