เปลี่ยนความคิดพิชิตคณิตศาสตร์


841 ผู้ชม


เปลี่ยนความคิดพิชิตคณิตศาสตร์ จบเลขเป็นได้มากกว่า "ครู"

จะเรียน เลขมากมายไปทำไมให้ปวดหัว? เรียนคณิตศาสตร์แล้วจะทำมาหากินอะไรได้? จบคณิตศาสตร์ใครที่ไหนเขาจะรับเข้าทำงานถ้าไม่เป็นอาจารย์สอนหนังสือ? อีกสารพันคำถามและความคิดที่เกิดจากความไม่เข้าใจคณิตศาสตร์ แต่ต่อไปนี้เตรียมตัวลืมความเชื่อแบบนี้ไปได้เลย โดยเฉพาะในยุคของสังคมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงรอบด้าน
      
       นัก เรียนชั้น ม.ปลาย จากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 150 ชีวิต ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของไทย ในกิจกรรมเสวนากับนักวิทยาศาสตร์ระดับชาติ ระหว่างเข้าค่ายกับโครงการ "ไทย ไซน์ แคมป์ ไทยแลนด์" (Thai Science Camp, Thailand) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มี.ค.52 ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นของไทยมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นกับ เด็กๆ อย่างเป็นกันเอง ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์
      
       ศ.ดร.ยงค์วิมล เลณบุรี อาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นสาขากายภาพ ประจำปี 2550 กล่าวในระหว่างบรรยายเรื่อง "ความเชื่อปรำปรากับวิชาคณิตศาสตร์" ว่าสมัยก่อนผู้คนมักมีความเชื่อว่า เรียนคณิตศาสตร์แล้วจะไปทำอะไรได้นอกจากเป็นครูเงินเดือนน้อยๆ
      
       ทว่าปัจจุบันนี้ มีหลายองค์กรที่ต้องการนักคณิตศาสตร์เข้าไปร่วมงานจำนวนมาก และให้ค่าตอบแทนสูง เช่น ธนาคาร บริษัทประกันภัย องค์กรด้านการลงทุนต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีนักคณิตศาสตร์ช่วยในการวางแผน วิเคราะห์ข้อมูล หรือบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะนักคณิตศาสตร์ประกันภัย นอกจากนี้ก็ยังสามารถทำงานเกี่ยวกับสถิติ คอมพิวเตอร์ ฟิสิกส์ วิศวกรรมศาสตร์ ก็ได้เช่นกัน
      
       "เหตุที่เราต้องเรียนคณิตศาสตร์ เพราะว่าคณิตศาสตร์นั้น เกี่ยวกับการแก้ปัญหา ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์มีปัญหาต้องแก้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการหาสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร ให้เพียงพอต่อความต้องการ หรือการสร้างที่อยู่อาศัย การจัดการโซ่อุปสงค์อุปทาน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีอยู่ให้เราต้องแก้จนถึงทุกวันนี้" ศ.ดร.ยงค์วิมลกล่าว
      
       ทั้ง นี้ ผู้ที่จะแก้ปัญหาได้สำเร็จ ต้องเข้าใจปัญหา สามารถตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ถูกต้องได้อย่างชาญฉลาด มีการวางแผนอย่างรอบคอบ และทดลองดำเนินการ เพื่อค้นหาวิธีการที่เหมาะสม ถูกต้องและความสมเหตุสมผล
      
       สำหรับความคิด (โบร่ำโบราณ) ที่ว่า "เลือกเรียนสายศิลป์แล้ว แต่ทำไมยังต้องถูกบังคับให้เรียนคณิตศาสตร์อีก ทั้งที่ไม่เห็นจำเป็นจะต้องใช้อีกเลย เอาแค่คำนวณเงินในสมุดบัญชีธนาคารของเราได้ก็พอแล้ว" ศ.ดร.ยงค์วิมลชี้แจงว่า คณิตศาสตร์นั้นมีประโยชน์มากมายกว่าแค่การคิดเงินเท่านั้น
      
       คณิตศาสตร์ ใช้ได้ทั้งใน "ฮาร์ดไซน์" (hard science) ได้แก่ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ และ “ซอฟต์ไซน์" (soft science) คือ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา สังคมศาสตร์ และใช้ได้กับวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีทุกสาขา เช่น คอมพิวเตอร์ จรวดและการสื่อสาร เป็นต้น ส่วนด้านศิลปกรรมศาสตร์ สามารถนำคณิตศาสตร์ไปใช้ได้ทั้งด้านสถาปัตยกรรม การวาด การออกแบบ ไม่เว้นแม้แต่ดนตรี
      
       ศ. ดร.ยงค์วิมล มีคำแนะนำว่า คนที่ชอบคณิตศาสตร์ ชอบความท้าทาย ชอบอะไรที่ใช้เหตุผล และไม่ชอบท่องจำ สามารถเรียนคณิตศาสตร์ได้เลย ส่วนการเรียนคณิตศาสตร์ให้ได้ดีและสนุกนั้น ต้องหมั่นฝึกฝนทำแบบฝึกหัด ก็จะทำให้ทำข้อสอบได้คะแนนดี เมื่อยิ่งได้คะแนนดี ก็จะยิ่งรู้สึกสนุกมากขึ้นและชอบเรียนวิชานี้มากขึ้น ทำให้ยิ่งชอบทำแบบฝึกหัด และก็ได้คะแนนดี และรู้สึกว่ายิ่งสนุก เป็นวัฏจักรแบบนี้เรื่อยไป
      
       นอกจากนี้ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และนักวิทยาศาสตร์ชีวภาพแถวหน้าของไทยก็ได้มาร่วมให้ข้อคิดและคำแนะนำกับ เด็กๆ ด้วย โดยบอกว่า วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องราวของคนหนุ่มสาว และวิทยาศาสตร์มีความสวยงามอยู่ในตัวเองเพราะเป็นเรื่องใหม่ๆ และวิทยาศาสตร์ยังก้าวหน้าเร็วมาก เราต้องตามให้ทัน ต้องมีจิตใจที่กระตือรือล้น มีความขยันและอดทน
      
       ใคร ที่คิดว่าชอบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เริ่มต้นศึกษาได้เลยแต่เนิ่นๆ เพราะเวลาไม่เคยรอใคร และการเรียนวิทยาศาสตร์ก็อย่าคิดเพียงว่า จะต้องเก่งและชนะ ต้องอาศัยเวลาและความอดทน เมื่อถึงจุดที่ตนเองพัฒนาแล้วก็ต้องหมั่นเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ
      
       พร้อม กับยกตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกที่ประสบความสำเร็จหรือเริ่มงานวิทยา ศาสตร์ตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น ไอน์สไตน์, ลาวัวซิเอร์, ทิม เบอร์เนอร์-ลี (ผู้สร้างเวิลด์ไวด์เว็บ: www) เมื่ออายุ 25 ปี และชาร์ลส์ ดาร์วิน และพวกเขาเหล่านี้ยังทุ่มเทเวลาศึกษาต่อไปอีกหลายปี เพื่อให้งานมีความสมบูรณ์มากที่สุด
      
       ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร นักฟิสิกส์ระดับหัวแถวของไทย เล่าว่าตนเองเป็นเด็กต่างจังหวัด (จ.ตรัง) เดิมที่ไม่ได้คิดจะเรียนวิทยาศาสตร์ แต่มีใจรักอยากจะเป็นครู ทั้งที่ค่านิยมในสมัยนั้นต้องเรียนแพทย์หรือวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ก็พยายามสอบชิงทุน จนได้ไปเรียนสาขาฟิสิกส์ในอังกฤษและสหรัฐฯ และกลับมาเป็นอาจารย์สอนที่ มศว. โดยมีไอน์สไตน์ และมาดามคูรี เป็นฮีโรในดวงใจ
      
       อาจารย์ฟิสิกส์ให้ข้อคิดว่า การเรียนเก่ง ได้เกรดดี ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำงานเก่งด้วย โดยยกตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกอย่าง ดาร์วิน เรียนจบแค่ปริญญาตรีด้วยเกรดระดับปานกลาง หรืออย่างไอน์สไตน์ที่มีประวัติสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยไม่ได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเป็นอัจฉริยะมาจากความขยันหมั่นเพียร พร้อมกับให้คำแนะนำว่าให้มองอนาคตหลังเรียนจบด้วยว่าเราจะทำงานอะไรที่ทำ แล้วมีความสุขและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
      
       น. ส.รสสุคนธ์ รุ่งโรจน์โชติช่วง ชั้น ม.5 จากโรงเรียนท่ามะกาวิทยาคม จ.กาญจนบุรี หนึ่งในนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ได้ความรู้เพิ่มเติมมากมาย หลายๆ เรื่องเป็นเรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน แล้วยังมีโอกาสได้ซักถามปัญหาคาใจกับอาจารย์สุทัศน์ ที่ติดตามผลงานของอาจารย์มานานแล้ว และยิ่งทำให้รู้สึกว่าวิทยาศาสตร์ยังมีอะไรให้น่าค้นหาอีกมาก และตั้งใจว่าจะเรียนวิทยาศาสตร์แล้วนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม โดยมีมาดามคูรีเป็นนักวิทยาศาสตร์ในดวงใจ
      
       ด้านนาย รังสิมันตุ์ เพ็ชรป้อม ชั้น ม.5 โรงเรียนเทพมงคลรังษ์ จ.กาญจนบุรี เผยความรู้สึกว่าหลังจากได้ฟังเรื่องราวจากอาจารย์นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 คน ทำให้รู้ว่าวิทยาศาสตร์ยังมีเรื่องน่าสนใจให้ศึกษาอีกมากมาย และความรู้บางเรื่องอาจถูกหักล้างได้เมื่อมีการค้นพบใหม่ ยิ่งทำให้สนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้นกว่าเดิมที่สนใจอยู่แล้ว โดยเฉพาะด้านชีววิทยาและดาราศาสตร์ โดยคิดว่าจะเลือกเรียนสาขาชีววิทยาแน่นอน และหลังจากนั้นจะพยายามศึกษาต่อไปในด้านชีวดาราศาสตร์.

www.enn.co.th

อัพเดทล่าสุด