หนูน้อยวัย 8 ขวบ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์!!


974 ผู้ชม


หนูน้อยวัย 8 ขวบ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์!!

วิทยาศาสตร์ก็เหมือนกับการเล่นเกม" เป็นความรู้สึกของนักวิทยาศาสตร์ที่น่าจะอายุน้อยที่สุด

โครงงานวิทยาศาสตร์ของเด็กๆ

  หนูน้อยวัย 8 ขวบ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์!!           คุณได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยครั้งแรกตอนอายุเท่าไหร่? บางคนอาจเริ่มตีพิมพ์ผลงานของตัวเองอย่างจริงจัง หลังจากเริ่มทำงานวิจัยหลายปี หลายคนได้พิมพ์ผลงานวิจัยในรูปแบบของปริญญานิพนธ์ เพราะเป็นเงื่อนไขบังคับในการจบการศึกษา แต่หนูน้อยจากโรงเรียนประถม Blackawton กลับได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยของตัวเอง ตอนอายุ 8 ขวบ
             บางคนอาจไม่ทราบว่าการได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารมีความสำคัญอย่างไร ในแวดวงวิชาการวิธีการเผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด คือ การตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นสายวิทยาศาสตร์ หรือสายสังคมศาสตร์ เมื่อมีการศึกษาวิจัยจนได้องค์ความรู้ใหม่ๆ การได้ตีพิมพ์ผลงานในวารสารระดับนานาชาติถือว่างานวิจัยนั้นได้รับการยอมรับในเบื้องต้นว่ามีคุณภาพ
 
             งานวิจัยเริ่มขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน จากความสงสัยของเด็กๆ ในชั้นเรียน ที่สงสัยเกี่ยวกับพฤติกรรมของผึ้งว่า ผึ้งค้นหาและเลือกดูดน้ำหวานจากดอกไม้ โดยพิจารณาจากอะไร หลังจากคุยกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม (ปัจจุบันอายุ 8-10 ขวบ) และอาจารย์ที่ปรึกษา เด็กๆ จึงเริ่มงานวิจัยของตนเองขึ้น หลังจากศึกษาอยู่ร่วม 2 ปี จึงค้นพบว่าผึ้งเลือกดูดน้ำหวานจากดอกไม้โดยพิจารณาจากความสัมพันธ์เชิง พื้นที่ของสีดอก  ผลงานวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Biology letters เมื่อปลายเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา
             ถ้าคุณได้อ่านบทความวิจัยเรื่องนี้จะทราบทันทีว่าคนเขียนผลงานต้องเป็นเด็กแน่นอน บทความวิจัยนี้ขึ้นต้นด้วยคำว่า "กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว" (Once upon a time) สำนวนภาษาที่ใช้ในการเล่าเรื่องเหมือนเวลาฟังเด็กๆ พูดคุยกันเวลา บรรยายการทดลองมีเสียงอุทานประกอบ (‘the puzzle’ . . .duh duh duuuuhhh) บทความมีภาพผลการทดลองที่สวยงามและมีชีวิตชีวา ที่เขียนด้วยลายมือ วาดและระบายสีลงในกระดาษด้วยผีมือเด็กๆ แทนการบันทึกผลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปในคอมพิวเตอร์
หนูน้อยวัย 8 ขวบ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์!!หนูน้อยวัย 8 ขวบ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์!!
             เด็กๆ เหล่านี้อาจเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่อายุน้อยที่สุด หลายคนอาจคิดว่าหนูน้อยพวกนี้เป็นเด็กอัจฉริยะ แต่แค่ความฉลาดเพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้งานวิจัยสำเร็จได้ สิ่งสำคัญคือใจที่รักในการเรียนรู้ สำหรับเด็กๆ เหล่านี้ "วิทยาศาสตร์" เปรียบเสมือน "เกม" การเรียนรู้วิทยาศาสตร์เหมือนกับการเล่นเกม ที่มีกฎเบื้องต้นให้ผู้เล่นทุกคนปฏิบัติตาม นอกจากนั้นเป็นเทคนิคของผู้เล่นแต่ละคนว่าจะมีวิธีการเล่นพลิกแพลงไปอย่างไร สำหรับเด็กๆ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์จึงเป็นการเล่นสนุก เต็มไปด้วยความท้าทาย โดยมีคำตอบของสิ่งที่อยากรู้เป็นรางวัล
             งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยาก น่าปวดหัว และซับซ้อนเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าถึง งานวิจัยอาจเป็นเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่สนุกสนานเหมือนการเล่นเกม ที่ผู้เล่นมีอิสระในการพลิกแพลงวิธีเล่นได้ตามใจ ขอเพียงไม่ขัดกับกฎเบื้องต้นของเกม อย่างงานวิจัยของหนูน้อย 8 ขวบ แม้จะเขียนเหมือนกับการเล่านิทานด้วยสำนวนของเด็กๆ ภาพประกอบเป็นภาพวาดระบายสี แต่สิ่งสำคัญที่เป็นหัวใจของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์นั้นมีอยู่ครบถ้วน มีการตั้งสมมุติฐาน การออกแบบการทดลองที่มีการควบคุมตัวแปรต่างๆ อย่างรัดกุม เก็บผลการทดลอง วิเคราะห์และสรุปผลอย่างไม่เอนเอียง
             อย่างไรก็ตามด้วยตัวของเด็กๆ เอง เป็นเรื่องยากที่จะเรียนรู้  "กฎของเกม" หรือ "ระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์" ต้องยกความดีความชอบให้อาจารย์ที่ปรึกษาของเด็กๆ เหล่านี้ ที่สร้างแรงบันดาลใจ และมีวิธีการสอนที่กระตุ้นความสนใจของเด็กๆ รวมทั้งสอน "วิธีการแสวงหาความรู้" แทนที่จะบอก "คำตอบ" เพียงอย่างเดียว พร้อมทั้งให้การสนับสนุนเด็กๆ จนทำสำเร็จในที่สุด
            
             ถ้าพูดถึงเฉพาะเรื่อง "ความเก่ง" เด็กไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ถ้าเทียบกันที่  "ความคิด" เห็นทีเด็กไทยจะตามหลังอยู่หลายขุม มัก มีข่าวและบทความในทำนองว่า "เด็กไทยยิ่งเรียนยิ่งโง่" ออกมาอยู่เนืองๆ สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบการศึกษาไทย รัฐบาลมักจะแถลงนโยบายว่าจะสนับสนุนการศึกษา ให้ความสำคัญกับการค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ขึ้นเอง แต่นั่นคงเป็นแค่คำพูดสวยหรูเท่านั้น
             ความคิดและปัญญาจะเกิดได้อย่างไร? ภายใต้ระบบการเรียนที่สอนและบีบให้เด็กมุ่งไปที่การสอบให้ผ่าน มุ่งเรียนเพื่อให้จบการศึกษา โดยไม่สนใจการพัฒนาความรู้และความคิด วิธีการสอนที่บอกสิ่งที่ถูกให้เด็กจำ บอกคำตอบให้เด็กท่อง จะทำให้เด็กที่มีความคิดได้อย่างไร ทุกวันนี้เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนอย่างเข้าใจ ไม่แม้กระทั่งเรียนแบบท่องจำด้วยซ้ำ แต่เรียนแบบ "ให้ผ่านๆ ไป" ต่างหาก
             เทศกาลวันเด็กมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กได้เห็นความสำคัญของตนเองต่ออนาคต ของชาติ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ แล้วผู้ใหญ่ทั้งหลายสอนให้เด็กรู้คุณค่าของตนเองอย่างไร ด้วยการคิดคำขวัญที่มีความหมายดีๆ ออกมาสอนงั้นหรือ "รอบคอบ รู้คิด มีจิตสาธารณะ" แต่กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กๆ "รู้คิด" ในช่วงเทศกาลวันเด็กช่างมีน้อยเหลือเกิน
หนูน้อยวัย 8 ขวบ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์!! หนูน้อยวัย 8 ขวบ ตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์!!
 
             ตรง กันข้าม กิจกรรมที่ให้เด็กได้ลองสัมผัสปืนกล ปืนใหญ่ และปีนป่ายรถถัง แทบจะเป็นธรรมนียมของประเทศไทยไปแล้ว ทั้งที่บางครั้งในภาพยนตร์แค่ปืนพกเหน็บอยู่ที่เอวยังถูกเซ็นเซอร์ ด้วยเกรงว่าเยาวชนจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ไม่รู้ว่าการให้โอกาสสัมผัสกับสัญลักษณ์ของความรุนแรงนี้ช่วยสร้างแรงบันดาล ใจอะไรให้เยาวชนบ้าง ความกล้าหาญ? รักชาติ? หลายๆ ปีที่ผ่านมา อาวุธเหล่านั้นถูกนำมาใช้ปกป้องประชาชนอย่างกล้าหาญและรักชาติจริงๆ หรือ?
อ่าน บทความวิจัยของหนูน้อย 8 ขวบ ที่ Biol. Lett.-2010-Blackawton-rsbl.2010.1056.pdf(January 10, 2011 12:21)

 

 

www.vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด