แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)


1,025 ผู้ชม


แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)

แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล มีการค้นพบครั้งแรกในประเทศโคลัมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ ในปัจจุบันแมงมุมชนิดนี้สามารถพบได้ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก นักสัตววิทยาจึงจัดแมงมุมชนิดนี้เป็นชนิดที่สามารถพบได้ทั่วโลก

แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)

                ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ  3 ปีก่อน ภาพแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลที่ถ่ายได้ในบ้านเราปรากฏขึ้นครั้งแรกในกระทู้ หนึ่งในเว็บไซต์ siamensis.org นี่เอง เป็นภาพที่พี่นณณ์ ถ่ายได้จากตลาดนัดจตุจักรเพื่อขอข้อมูลยืนยันว่าเป็นแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล จริงหรือไม่ ประเด็นในขณะนั้นมุ่งเน้นถึงสถานภาพการเป็นสัตว์ต่างถิ่นซึ่งหลุดรอดออกมา จากการนำเข้าเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงของผู้ค้าบางราย แต่ดูเหมือนเรื่องจะเงียบไปและมีแนวโน้มว่าสามารถควบคุมได้ นั่นคือจุดเริ่มต้นที่พวกเราออกค้นหาและเก็บตัวอย่างแมงมุมจากตลาดนัดแห่ง นั้นมาอย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสอบและปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญแมงมุมกลุ่มนี้ พบว่าแมงมุมต้องสงสัยนั้นเป็นแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลจริงๆ
                วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 พวกเราได้รับตัวอย่างแมงมุมตัวนึงจากเพื่อน ได้ความว่าน้องของเค้าพบมันที่บ้านในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อตรวจสอบตัวอย่างดังกล่าวพบว่าเป็นแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลเจ้าเก่า เหมือนที่เคยพบในกรุงเทพ พวกเราจึงตามไปเก็บตัวอย่างเพิ่มเติม จากนั้นจึงโพสต์เพื่อเตือนภัยใน siamensis.org นี้ เป็นที่มาให้รายการทีวีรายการหนึ่งติดต่อเข้ามาขอถ่ายทำในเรื่องนี้ จากภาพบางภาพและข้อมูลที่ผิดพลาดบางส่วนที่ถูกเผยแพร่ออกไปทำให้แมงมุมชนิด นี้น่ากลัวเกินความเป็นจริง เป็นการปลุกกระแสแมงมุมให้ตื่นตัวขึ้นและเป็นข่าวออกสื่อมากมาย แต่อย่างไรก็ตามก็ยังคงเกิดความสับสนเสมอในการระบุตัวแมงมุมว่าใช่หรือไม่ ใช่อันตรายจริงหรือไม่ และพวกมันมาจากไหน พวกเราได้ออกสำรวจและเก็บตัวอย่างรวมทั้งศึกษาแมงมุมชนิดนี้ในหลายแง่มุม เพื่อมาบอกเล่าให้คลายความสงสัยเกี่ยวกับเจ้าแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลมาทำ ความรู้จักกับแมงมุมชนิดนี้กันค่ะ


แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)


                แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลหรือ Brown Widow มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Latrodectus geometricus มีการ ค้นพบครั้งแรกในประเทศโคลัมเบีย ทวีปอเมริกาใต้ จากนั้นได้มีการกระจายกว้างออกไปยังทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปแอฟริกา ทวีปออสเตรเลีย โดยส่วนใหญ่ติดไปกับการขนส่งทางเรือและอากาศ จากนั้นก็มีรายงานพบที่ทวีปเอเชียโดยเริ่มจากประเทศฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่นและอินเดีย กล่าวได้ว่าในปัจจุบันแมงมุมชนิดนี้สามารถพบได้ในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่ว โลก นักสัตววิทยาจึงจัดแมงมุมชนิดนี้เป็นชนิดที่สามารถพบได้ทั่ว โลก(cosmopolitan species)ในประเทศไทยจากการออกเก็บตัวอย่าง รวมถึงการแจ้งข่าวและการส่งตัวอย่างมาให้ตรวจสอบ พบว่าแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลมีรายงานการพบในหลายจังหวัดของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี  สมุทรสงคราม ราชบุรี เชียงใหม่ พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง พิจิตร ชัยนาท ระยอง จันทบุรี นครราชสีมา และหนองบัวลำภูซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านในหลายพื้นที่ ได้ข้อมูลว่าแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลถูกพบอยู่ในพื้นที่มานานแล้วก่อนมีการพบ ที่ตลาดนัดจตุจักรเสียอีก แต่ชาวบ้านไม่ทราบว่าเป็นแมงมุมชนิดไหน  จากข้อมูลดังกล่าวซึ่งพบแมงมุมชนิดนี้ในเกือบทุกภาคของประเทศ ประกอบกับบันทึกอย่างไม่เป็นทางการของ Professor Konrad Thaler จากมหาวิทยาลัย Innsbruck ซึ่งเข้ามาสำรวจแมงมุมในประเทศไทยได้บันทึกการพบแมงมุมที่ระบุว่าเป็น brown widow ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980  ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน แสดงให้เห็นว่าแมงมุมชนิดนี้อาจกระจายเข้ามาในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีใครพบเห็นหรือสนใจ จึงแทบไม่มีข้อมูลของแมงมุมชนิดนี้เลยก่อนหน้านี้
                แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลจัดอยู่ในวงศ์ Theridiidae เรียกง่ายๆว่ากลุ่มแมงมุมขาหวี (comb-footed spiders)  เนื่องจากแมงมุมในกลุ่มนี้มีขนลักษณะพิเศษคล้ายตะขอเรียงเหมือนซี่หวีอยู่บน ขาปล้องสุดท้าย (tarsus) ของขาคู่ที่ 4 ใช้ในการสาวใยพันเหยื่อก่อนกินเป็นอาหาร ชื่อสกุล Latrodectus มาจากรากศัพท์ภาษาละติน 2 คำให้ความหมายว่า “หัวขโมยนักกัด”เนื่องจากพฤติกรรมการล่าเหยื่อของแมงมุมชนิดนี้จะสร้างใยรูป ทรง 3 มิติ ลักษณะพิเศษโดยมีใยดักเหยื่อเชื่อมจากรังนอนซึ่งมักทำอยู่ใต้วัตถุที่อยู่ ไม่สูงจากพื้นแล้วนำมาเชื่อมติดกับพื้น เป็นเส้นใยเส้นเดียวเรียงราย ที่ปลายใยดักเหยื่อมีหยดกาวเหนียวติดอยู่ เมื่อแมลงหรือสัตว์ขนาดเล็กวิ่งมาชนหยดกาว ใยที่เชื่อมกับพื้นจะขาดออก ทำให้ตัวเหยื่อถูกดึงขึ้นไปแขวนกลางอากาศ แรงสั่นสะเทือนจากการดิ้นรนของเหยื่อถูกส่งไปตามใยดักเหยื่อถึงรังนอนด้านบน เมื่อแมงมุมได้รับสัญญาณจะรีบไต่ลงมาแล้วใช้ขาคู่สุดท้ายสาวใยพันเหยื่อและ ลากกลับขึ้นไปยังรังนอนอย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงกัดปล่อยพิษเข้าสู่ตัวเหยื่อเพื่อให้เป็นอัมพาต คล้ายพฤติกรรมของโจรที่ปล้นชิงทรัพย์นั่นเอง ส่วนที่มาของชื่อแมงมุมแม่หม้ายมาจากพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยส่วนใหญ่แมงมุมเพศเมียจะกินแมงมุมเพศผู้หลังการผสมพันธุ์เสร็จสิ้น ในธรรมชาติเราจึงพบแมงมุมเพศเมียอยู่โดดเดี่ยวไร้คู่เหมือนชีวิตของแม่หม้าย นั่นเอง


แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)


แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)


แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)


มารู้จักลักษณะสำคัญของแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลกันค่ะ
                แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลเป็นแมงมุมขนาดกลางเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้4-6 เท่า ส่วนท้อง (abdomen) ของเพศเมียกลมป่องใหญ่กว่าส่วนหัว (cephalothorax) อย่างชัดเจน เพศผู้จะมีขนาดเล็ก ส่วนหัวและท้องมีขนาดใกล้เคียงกัน ในธรรมชาติเพศเมียมีความหลากหลายของสีสัน ตั้งแต่โทนสีขาวสว่างไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ลวดลายด้านบนของส่วนท้องมักไม่แปรผัน โดยบริเวณกลางหลังจะมีจุดสีแดงหรือส้มล้อมรอบด้วยสีขาวทรงเลขาคณิตเรียงต่อ กันเป็นแถว เชื่อมต่อด้วยแถบสีเดียวกันพาดไปทางด้านท้ายลำตัว สองข้างของแนวกลางตัวจะมีจุดสีดำข้างละ 4 จุด เรียงต่อกันเห็นชัดในแมงมุมที่ตัวเล็ก ส่วนแมงมุมที่มีอายุมากจะเห็นชัดเพียงข้างละ 3 จุด ด้านใต้ท้องเป็นตำแหน่งที่พบแถบสีคล้ายรูปนาฬิกาทรายสีส้มสดอยู่ ถ้าเห็นแถบสีนี้ท่านก็สามารถฟันธงได้ว่าแมงมุมที่เห็นเป็นแมงมุมแม่หม้ายสี น้ำตาลเพราะแถบสีรูปนาฬิกาทรายนี้เป็นลักษณะเด่นที่พบในแมงมุมชนิดนี้และ สังเกตได้ง่าย แมงมุมเพศผู้มีลวดลายคล้ายเพศเมีย แต่ส่วนหัวมีสีดำเข้มและมีอวัยวะที่ใช้ในการสืบพันธุ์คล้ายนวมอยู่ด้านหน้า 1 คู่ ขาของทั้งสองเพศมีสีน้ำตาลตามข้อต่อเป็นสีดำ แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลหลังผสมพันธุ์จะใช้เวลา 7-10 วันในการสร้างถุงไข่ (อาจจะนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของอาหารเพราะแมงมุมเพศเมียสามารถ เก็บน้ำเชื้อของเพศผู้ได้เป็นเวลานาน) ลักษณะของถุงไข่สามารถช่วยในการยืนยันว่าเป็นแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลได้ คือมีรูปทรงกลม สีครีม ผิวมีลักษณะเป็นหนามคล้ายทุ่นระเบิดซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของแมงมุมชนิดนี้ โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 0.5-1.2 เซนติเมตรขึ้นกับขนาดตัวและความสมบูรณ์ของแม่แมงมุม ภายในถุงมีไข่จำนวน 30-90 ฟอง แมงมุมเพศเมียสามารถสร้างถุงไข่ได้ 20-22 ครั้ง จากการผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว หลังจากวางไข่ประมาณ 16-26 วัน ลูกแมงมุมก็เจาะออกจากถุงไข่ แรกเกิดมีความยาวตัวเพียง 1 มิลลิเมตรช่วงสัปดาห์แรกจะยังไม่กินอาหาร หลังจากนั้นลูกแมงมุมจะเริ่มกินกันเอง ลูกแมงมุมเพศเมียมีการลอกคราบ 8 ครั้งและ4 ครั้ง ในเพศผู้เพื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์


แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)


แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)


แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)


แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)


มารู้จักพิษของ แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล
                พิษของแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Latrotoxin ซึ่งจัดเป็นพิษที่มีผลหลักต่อระบบประสาท (neurotoxin) โดยพิษจะทำให้เกิดช่องว่างบริเวณปลายเซลล์ประสาท ส่งผลให้แคลเซียมไอออน (Ca2+) ไหลเข้าสู่ปลายเซลล์ประสาทซึ่งเป็นกลไกให้เกิดการปล่อยสารสื่อประสาท (neurotransmitter) ตลอดเวลา ทำให้เกิดการส่งกระแสประสาทอย่างต่อเนื่องและมากกว่าปกติ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็งจนเป็นอัมพาต ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตจะเกิดจากกล้ามเนื้อกระบังลมและกล้ามเนื้อหัวใจหยุด ทำงาน นอกจากนี้พิษของแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลยังมีองค์ประกอบที่ส่งผลต่อการทำลาย เนื้อเยื่อรอบแผลทำให้เกิดความเจ็บปวดและแผลจะหายช้า แต่ยังไม่เคยมีรายงานการเสียชีวิตจากการโดนแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลกัดเลย แม้ว่าจะมีการศึกษาพบว่าพิษของแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลนั้นรุนแรงกว่าแมงมุม แม่หม้ายดำ (Latrodectus mactans) ที่พบในอเมริกา 2 เท่าตัว เมื่อเทียบพิษในปริมาณที่เท่ากันก็ตามที เพราะมีหลายปัจจัยที่อยากนำมาบอกกล่าวให้ทราบว่าแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลนั้น ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ประการแรกคือ มีเฉพาะแมงมุมเพศเมียเต็มวัยเท่านั้นที่สามารถกัดผ่านผิวหนังมนุษย์ได้ ส่วนแมงมุมเพศผู้และแมงมุมที่ยังไม่เต็มวัยมีเขี้ยวที่เล็กและสั้นจนไม่ สามารถกัดผ่านผิวหนังของคนได้ ประการที่สองคือแมงมุมแม่ หม้ายสีน้ำตาลจะปล่อยพิษในการกัดแต่ละครั้งน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างความเจ็บปวดในบริเวณที่โดนกัดเท่านั้นหรือหากเป็นการโดน กัดอย่างจังก็อาจทำให้ปวดทั่วทั้งอวัยวะได้ ประการสุดท้ายคือ แมงมุมชนิดนี้ไม่มีนิสัยก้าวร้าว เมื่อถูกรบกวนจะวิ่งหนีเข้าหาซอกที่กำบังในรังนอนของมันหรือทิ้งตัวลงไป แกล้งตายที่พื้น ทำให้แมงมุมชนิดนี้มีโอกาสกัดคนน้อยมาก ส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกกัดเกิดจากไปสัมผัสหรือกดทับตัวแมงมุมให้ได้รับบาดเจ็บจึง ถูกกัด ซึ่งพิษอาจมีผลรุนแรงกับเด็กหรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจรวมถึงผู้ที่แพ้พิษเท่า นั้น พวกเราได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ที่โดนแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลกัด 2 ท่าน ซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งคู่ โดยทั้งคู่ได้นำตัวอย่างแมงมุมที่กัดมาให้ตรวจสอบและพบว่าเป็นแมงมุมแม่ หม้ายสีน้ำตาล อาการที่พบมีเพียงความเจ็บปวดบริเวณที่ถูกกัดคล้ายถูกผึ้งต่อยและแผลใช้เวลา นาน 1-3 เดือน จึงหายและมีร่องรอยแผลเป็นทิ้งไว้ดูต่างหน้าเท่านั้นค่ะ
รู้จักวิธีป้องกันแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล
                ถึงบทความด้านบนอาจกล่าวในทำนองว่าโอกาสที่แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลกัดนั้นมี น้อย แต่การป้องกันเป็นสิ่งจำเป็น ถ้าหากในบ้านเรามีเด็ก คนสูงอายุ หรือคนป่วยอยู่ก็ควรมีการป้องกันหรือการกำจัดไว้ก่อนเพื่อความปลอดภัย วิธีการแรกคือ การกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัย ที่ๆแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลชอบคือใต้วัสดุอย่างเช่น ตู้ โต๊ะ เก้าอี้ ชั้นว่างของต่างๆ กล่องกระดาษ หรืออะไรก็ตามที่ไม่ได้เคลื่อนย้ายเป็นเวลานาน และสูงจากพื้นไม่มากนัก อย่างใต้ท้องรถที่จอดทิ้งไว้นานๆ ก็มีสิทธิ์ที่จะถูกแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลยึดไปครอบครองได้ ดังนั้นเราควรหมั่นทำความสะอาดใต้ตู้ ใต้โต๊ะเสมอ หรือชั้นวางของที่ทิ้งร้างมานานก็ควรเคลื่อนย้ายไปไว้นอกบริเวณที่คนอาศัย วิธีที่สองคือ การกำจัดแหล่งอาหาร ข้อนี้ดูเหมือนจะทำได้ยาก เนื่องจากบ้านเราเป็นประเทศเขตร้อน แมลงและสัตว์ต่างๆ มีความหลากหลายและมีจำนวนมาก ถ้าไม่อยากให้ภายในบ้านมีแมงมุมหลากหลายชนิดทำโดยหมั่นกำจัดแมลงต่างๆอย่าง สม่ำเสมอ แต่ข้อนี้ไม่ค่อยสนับสนุนค่ะ เนื่องจากการกำจัดแมลงตามบ้านมักใช้สารเคมีในการกำจัด   ทางที่ดีคือควรดูแลรักษาความสะอาดบ้านและบริเวณรอบๆบ้านอย่างสม่ำเสมอน่าจะ ดีกว่า นอกจากนั้นแล้วแมงมุมขายาวที่อาศัยอยู่ตามบ้านก็มีส่วนช่วยในการควบคุมหรือ ลดจำนวนแมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลได้
                ถึงจะเป็นแมงมุมที่ใครต่อใครกล่าวถึงแต่ความรุนแรงของพิษ แต่แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศเหมือนกับแมงมุมหลายๆ ชนิด มีประโยชน์ในการควบคุมปริมาณแมลง ดังนั้นการป้องกันเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ทั้งคนและสัตว์อยู่ร่วมกันได้ค่ะ


แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)     แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)


แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาล (Brown Widow)


ขอขอบคุณข้อมูลดีจากsiamensis

 

 

www.vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด