นักวิทยาศาสตร์ไทยจับตาพายุสุริยะ 2554-60
นักฟิสิกส์3มหาวิทยาลัยวิจัยพายุสุริยะ เครื่องวัดรังสีบนดอยอินทนนท์ ไทยใกล้สนามแม่เหล็กเตือนไวกว่านาซา ระบุสัญญาณ นกหลงฟ้า โลมาและวาฬเกยตื้น
ศ.ดร.เดวิด รุฟโฟโล ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในเวทีเสวนาเรื่อง "พายุสุริยะ ภัยร้ายจากดวงอาทิตย์อาจจะเกิดขึ้นบนโลก คนไทยจะเตรียมรับมืออย่างไร" ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า มีความเป็นไปได้พายุสุริยะจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปีช่วงพ.ศ.2554-2560 แต่ยังไม่สามารถระบุให้ชัดเจน จากที่เคยเกิดมาแล้วเมื่อปี 2532 และปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้จับดูสถานการณ์
หลายประเทศเดินหน้าตั้งสถานีตรวจวัดปริมาณนิวตรอนจากพื้นดิน เพื่อทำนายช่วงเวลาการเกิดพายุสุริยะ คาดว่าทั่วโลกมีสถานีวิจัยดังกล่าวมากกว่า 40 สถานี รวมถึงประเทศไทยที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ต้นปี 2551 ด้วยความร่วมมือของนักฟิสิกส์จาก มหาวิทยาลัยมหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ทั้งนี้ สถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธรของประเทศไทย ตั้งบนยอดดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจุดได้รับรังสีได้มากที่สุด ทำให้ตรวจวัดปริมาณรังสีเข้มข้นมากกว่า จะสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ 4-6 ชั่วโมง ซึ่งรวดเร็วกว่าองค์การนาซาที่แจ้งเตือนล่วงหน้าได้ 30 - 40 ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุการณ์ ทั้งนี้สถานีเริ่มศึกษาการเปลี่ยนแปลงของรังสีคอสมิค จากปริมาณนิวตรอนที่วัดได้จากพื้นดิน ข้อมูลจะถูกบันทึกอัตโนมัติโดยอาศัยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณ เมื่อมีปริมาณรังสีเป็นจำนวนมากก็เป็นไปได้ที่จะเกิดพายุสุริยะ ระบบจะแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อเตรียมการรับมือได้
"ปัจจุบันสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ยังคงเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของปริมาณรังสีในแต่ละช่วงเวลา โดยทำงานในลักษณะของการวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยเดลาแวในสหรัฐ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน"
ดร.เดวิด กล่าวและยืนยันด้วยว่า ปริมาณรังสีที่ได้จากการตรวจวัดปัจจุบัน มีอยู่น้อยมาก อีกทั้งข้อมูลมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง และยังไม่ก่อให้เกิดความกังวลในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ต่างจากเมื่อ 21 ปีก่อนที่เขาเริ่มต้นศึกษาพายุสุริยะอย่างจริงจัง หลังเกิดเหตุการณ์พายุสุริยะรุนแรงที่ประเทศแคนาดา จนทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดและส่งผลให้ไฟฟ้าดับนานกว่า 9 ชั่วโมง
ด้าน ผศ. พงษ์ ทรงพงษ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสริมว่า ผลกระทบจากปรากฏการณ์พายุสุริยะส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับวงการสื่อสารโทรคมนาคม ดาวเทียมสื่อสาร มนุษย์อวกาศ ระบบควบคุมเครื่องบิน การใช้งานจีพีเอส ระบบไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มากกว่าที่จะเกิดกับสิ่งมีชีวิตบนโลกอย่างที่หลายคนเข้าใจ
"รังสีคอสมิกที่ถูกปลดปล่อยมาจากดวงอาทิตย์ในระดับความรุนแรงมากในรูปของพายุสุริยะ มีผลกระทบทำให้สนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนแปลง ระบบอิเล็กทรอนิกส์แปรปรวน มากกว่าจะส่งผลกับมนุษย์บนพื้นโลกที่มีโอกาสได้รับรังสีดังกล่าวในปริมาณน้อยมาก เนื่องจากสนามแม่เหล็กโลกและชั้นบรรยากาศสามารถป้องกันรังสีดังกล่าวได้ในระดับหนึ่ง” เขากล่าวยืนยัน
ขณะที่ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปรากฏการณ์พายุสุริยะอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบ้าง โดยเฉพาะสัตว์ที่ใช้คลื่นแม่เหล็กโลกนำทางในรูปของเข็มทิศชีวภาพ เช่น นกอพยพ โลมาและวาฬ ดังนั้น หากเกิดปรากฏการณ์พายุสุริยะขึ้นจริง ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น คือ นกบินหลงทาง ขณะที่วาฬและโลมาเกยตื้น อย่างไรก็ตาม นักชีววิทยาได้เดินหน้าศึกษาผลกระทบดังกล่าวกับผึ้งจำนวนหนึ่งด้วย