เล็งปี56"มหานครแห่งการอ่าน"กทม.ปั้นคนกรุงหนอนหนังสือ
กทม.เสนอยูเนสโกตั้ง เป้าปี 2556 เป็น "มหานครแห่งการอ่าน" ผนึกเครือข่ายทุ่มงบประมาณ 200 ล้านปั้นคนกรุงหนอนหนังสือ จัดประชุมสมัชชาการอ่าน 1 ก.พ.นี้
นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า นโยบายของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. ได้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมการอ่านหนังสือ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ประกาศให้การอ่านเป็น วาระแห่งชาติและตั้งคณะทำงานขึ้นมา โดยกทม.เป็นหน่วยงานหลัก ทั้งนี้ สถิติล่าสุดเยาวชนไทยอ่านปีละ 5 เล่ม ส่วนคนไทยทั้งประเทศอ่านหนังสือปีละ 2 เล่ม หากเทียบกับต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ปีละ 60 เล่ม ญี่ปุ่นปีละ 50 เล่ม สิงคโปร์ 40 เล่ม ดังนั้น กทม.จะผลักดันการอ่านให้เป็นวาระสำคัญ และปีนี้ได้เสนอต่อยูเนสโกให้ กทม.เป็นมหานครแห่งการอ่านในปี ค.ศ.2013 หรือปี พ.ศ.2556
รองผู้ว่าฯกทม.กล่าวอีก ว่า ยุทธศาสตร์ดำเนินการนั้น กทม.ยึดตามเกณฑ์ของยูเนสโก เช่น การมีภาคีเครือข่ายและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งปัจจุบันมี 93 เครือข่าย จะขยายเครือข่าย จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน พิมพ์หนังสือ และเพิ่มพื้นที่อ่านหนังสือ โดยจัดระเบียบพื้นที่เดิมให้น่าสนใจและสร้างพื้นที่ใหม่ เช่น ห้องสมุด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 37 เขต และผู้ว่าฯกทม.มีนโยบายจะเพิ่มให้ครบ 50 เขต และเพิ่มบ้านหนังสือ และพื้นที่สาธารณะ เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ สามารถอ่านได้ทุกเวลา รวมทั้งการมีส่วนร่วมเพิ่มห้องสมุดในโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ร้านทำผม ฯลฯ ส่วนงบดำเนินการทั้งกทม.และภาคีเครือข่ายต่างๆ คาดว่าใช้งบประมาณทั้งสิ้น 200 ล้านบาท
"กทม.จัดประชุมสมัชชาการอ่านใน วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 09.00-16.00 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่ห้องเพลนารี 1-2 และมิตติ้งรูม ภายในงานมีกิจกรรม เช่น ปาฐกถาพิเศษโดยผู้ว่าฯกทม. นิทรรศการต้นแบบการส่งเสริมการอ่านของภาคีเครือข่าย และมีบุคคลต้นแบบที่รักการอ่านเช่น ผู้ว่าฯ กทม. การที่กทม.มีเป้าหมายเป็นมหานครแห่งการอ่าน จะต้องไม่ใช่แค่ได้ชื่อว่าเป็นมหานครแห่งการอ่าน แต่เด็กและชาวกทม.ต้องมีนิสัยรักการอ่านอย่างแท้จริง และมีการจัดพิมพ์หนังสือเพิ่มขึ้น" นางทยา กล่าว
คมชัดลึก