กศน.เปิดเชิงรุกระดับรากแก้วหวังสร้างสังคมแห่งการอ่าน


797 ผู้ชม


กศน.เปิดเชิงรุกระดับรากแก้วหวังสร้างสังคมแห่งการอ่าน

 

การ อ่าน เป็นกุญแจสำคัญกับการเปิดประตูสู่โลกกว้าง ทำให้มนุษย์เกิดความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างรอบด้าน ทั้งวิทยาการ  อาชีพ สุขภาพร่างกาย วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และการรับรู้ถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาในเชื้อชาติซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ เกิดความตระหนัก รัก หวงแหนความเป็นชาติ เผ่าพันธุ์ของตนเองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการที่ต้องอาศัยอยู่บนโลกยุคไร้พรมแดน การติดต่อสื่อสารและการแข่งขันในการพัฒนาของแต่ละประเทศย่อมเกิดขึ้นอย่าง หลีกเลี่ยงไม่ได้  การอ่านและการแสวงหาความรู้  จึงถือว่ามีความจำเป็นและสำคัญยิ่งที่ประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติจนกลายเป็น วิถีชีวิตปกติ มิฉะนั้นแล้วก็จะกลายเป็นคนตกยุค ล้าหลัง ซึ่งจะพลอยทำให้ประเทศชาติด้อยพัฒนาตามไปด้วย
   
แต่อย่างไรก็ตามแม้ทุกฝ่ายจะรู้ว่า การอ่านและการแสวงหาความรู้ มีประโยชน์มากมายเพียงใดก็ตาม สำหรับคนไทยแล้ว ก็ยังให้ความสำคัญเรื่องนี้กันอยู่ในวงแคบ ๆ กับกลุ่มที่เรียนรู้อยู่ในระบบหรือประชาชน ที่จบการศึกษาในระดับต่าง ๆ ที่ออกไปประกอบอาชีพแล้วต้องการหาความรู้พัฒนางานหรือพัฒนาตนเอง เท่านั้น แต่กับเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้ศึกษาอยู่ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ออกกลางคัน กลุ่มด้อยโอกาสบริบทต่าง ๆ รวมถึงผู้คนที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นรากแก้วของประเทศส่วนใหญ่แล้ว  อย่าว่าแต่จะให้มีนิสัยรักการอ่านหรือเป็นผู้สนใจแสวงหาความรู้อย่างต่อ เนื่องเลย แค่เจตคติที่จะมีให้กับการอ่านก็แทบจะหาไม่เจออยู่แล้ว
   
ส่วนนี้จะไปตำหนิประชาชนกลุ่มที่ว่านี้ก็ไม่ได้ ด้วยกลุ่มประชาชนระดับรากแก้วยังต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตรอดไปวัน ๆ ด้วยส่วนใหญ่ยังประสบกับปัญหาหลักที่แก้ไขได้ยาก คือ ความยากจนอยู่ ทำให้เวลาที่มีอยู่แทบจะทั้งหมดใช้ไปกับการทำมาหากิน เพราะเมื่อความยากจนยังรบกวนจิตใจ ความหิวโหยยังเกิดขึ้นกับบุตรหลานอยู่ ความสนใจที่จะหันไปขวนขวายหาอาหารสมองให้กับตนเองและครอบครัวนั้นก็คงเป็นไป ได้ยาก และยิ่งบางกลุ่มอ่านไม่ได้ อ่านไม่คล่อง ก็ยิ่งเพิ่มปัญหากับการอ่านและการเรียนรู้เข้าไปอีก จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมสถิติการอ่านของคนไทยไม่ว่าจะเป็นการสำรวจทั้งในและ ต่างประเทศทุกครั้ง จึงเปรียบเทียบกับประเทศที่เจริญแล้วไม่ได้ เมื่อคนในชาติยังตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ การที่จะช่วยให้กลุ่มรากแก้วหลุดพ้นจากบ่วงวงจรอุบาทว์ “โง่ จน เจ็บ” ก็คงเป็นไปได้ยากอยู่ต่อไป
   
จากความสำคัญของการอ่านที่ส่งผลต่อการพัฒนาคนและประเทศชาติอย่างยิ่งนี้ รัฐบาลยุคปัจจุบัน จึงได้กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ นั่นก็หมายความว่า ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกัน ส่งเสริม สนับสนุน บุคลากรของชาติทุกช่วงอายุวัย คงไม่ใช่จำกัดอยู่แค่กลุ่มเด็ก เยาวชน ที่ศึกษาอยู่ในระบบโรงเรียนเท่านั้น แต่จะรวมถึงประชาชนของประเทศ ทุกคนด้วย ให้มีนิสัยรักการอ่านอย่างถาวร ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนให้เกิดขึ้นให้ได้
   
เมื่อนโยบายออกมาเช่นนี้ หน่วยงานที่ต้องรองรับกับภารกิจสำคัญที่ว่านี้โดยตรงก็คงหนีไม่พ้นกระทรวง ศึกษาธิการ และหน่วยงานจัดการศึกษาในสังกัด โดยเฉพาะ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน. ที่ต้องจัดการศึกษาให้กับเยาวชนและประชาชน ที่ไม่ได้ศึกษาในระบบ รวมถึงกลุ่มที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศซึ่งก็น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคนอยู่ก่อนแล้วนั้น เมื่อต้องดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอีกภารกิจหนึ่งจึงเป็น เรื่องหนักหนาสาหัสพอสมควร
   
แม้ กศน. จะต้องรับภาระงานหนัก งานสำคัญที่ว่านี้เพิ่มขึ้นก็ตามแต่ด้วยความเป็นหน่วยงานที่มีฐานการจัดการ ศึกษานอกระบบที่มั่นคง แข็งแกร่ง เพราะได้สะสมประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาระบบดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการได้ผ่านผู้บริหารมืออาชีพที่มีคุณภาพยิ่งมาทุกยุคสมัยตั้งแต่ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ดร.รุ่ง แก้วแดง คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา ดร.ทองอยู่  แก้วไทรฮะ จนถึง นายอภิชาติ จิระวุฒิ ในปัจจุบัน ซึ่งแต่ละคนถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจกับการจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัยอย่างลึกซึ้งและถ่องแท้ ทำให้การดำเนินงานของ กศน. มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นกับประชาชนระดับรากหญ้ามาแล้วอย่างดียิ่ง ทำให้ความพร้อมรับกับการดำเนินงานวาระแห่งชาติด้านการอ่านนี้ จึงน่าจะมีอยู่ไม่น้อย
   
ในความพร้อมที่ว่านี้ นายอภิชาติ จิระวุฒิ เลขาธิการ กศน.คนปัจจุบัน ได้ให้ความมั่นใจกับการดำเนินงานว่า กศน. มีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนระดับรากแก้วที่ อยู่นอกระบบโรงเรียนได้อย่างทั่วถึงแม้จะต้องให้บริการประชากรที่มีปริมาณ ค่อนข้างมากก็ตาม ซึ่งก็รวมถึงภารกิจส่งเสริมนิสัยการอ่านให้เกิดขึ้นกับกลุ่มดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ก็ด้วย กศน. มีความพร้อมของแหล่งส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยมีห้องสมุดให้บริการอย่างทั่วถึง ทุกระดับตั้งแต่จังหวัด จะมีห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี”  ส่วนระดับอำเภอก็มีห้องสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” แล้วส่วนหนึ่ง และยังมีห้องสมุดประชาชนระดับอำเภอ และทุกแห่งยังมีที่อ่านหนังสือประจำตำบลและหมู่บ้าน ซึ่งห้องสมุดและที่อ่านหนังสือที่ว่านี้ ปัจจุบัน กศน.ได้พัฒนาจนเกิดความพร้อมทั้งด้านสื่อ หนังสือ เอกสาร วารสาร ต่าง ๆ ไว้ให้บริการกับประชาชนได้หาอ่านและค้นคว้าหาความรู้ตามความสนใจไว้อย่าง หลากหลาย ทันสมัย  ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านวิทยาการ อาชีพ สุขภาพอนามัย วัฒนธรรม ประเพณี ความรู้ทั่ว ๆ ไป รวมถึง ได้จัดให้มีสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ไว้ให้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังจัดระบบการบริหารจัดการ ห้องสมุดเพื่อให้ผู้รับบริการเกิดความสะดวก สบายและได้รับประโยชน์สูงสุดอีกด้วย
   
“แม้ว่าตอนนี้ กศน.จะได้พัฒนาห้องสมุดและที่อ่านหนังสือจนมีความพร้อมมากพอสมควรแล้วก็ตาม แต่ด้วยบุคลากรที่รองรับกับการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่ มีเป้าหมายมากกว่า 30 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานด้านการเรียนรู้แตกต่างกันอย่างมาก ทั้งกลุ่มอ่านไม่ได้ อ่านไม่คล่อง กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ออกกลางคันต้องมาเรียนใหม่เพื่อให้จบหลักสูตรการศึกษา ขั้นพื้นฐานหรือหลักสูตรตามความสนใจ กลุ่มที่ต้องการพัฒนาด้านอาชีพ เป็นต้น ซึ่งการจะสร้างความตระหนักหรือกระตุ้นให้ประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ ที่ว่านี้ให้หันมาสนใจการอ่านจนเกิดเป็นกิจนิสัยถาวรได้นั้น ห้องสมุดจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้แน่  ด้วยกลุ่มเป้าหมายที่ว่านี้ส่วนใหญ่จะเป็น เด็ก ประชาชนวัยทำงาน รวมไปถึงผู้สูงอายุ การที่จะรอให้มารับบริการถึงที่ตั้งห้องสมุดโดยตรง จึงน่าจะเกิดขึ้นได้น้อย การดำเนินงานจึงต้องใช้เชิงรุกด้วยการทำให้ห้องสมุดมีชีวิตจริง ๆ ด้วยวิธีนำความรู้ วิทยาการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในห้องสมุดเคลื่อนที่ออกไปหาชุมชน โดย กศน.จะได้ร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรเอกชนและปราชญ์ชาวบ้าน ออกไปให้ความรู้ด้านอาชีพ การดูแลสุขภาพอนามัย เรื่องอื่น ๆ ที่ประชาชนสนใจพร้อมจัดหาหนังสือ ตำรา เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนำไปแจกจ่ายให้ด้วย เมื่อตำรามีเนื้อหาตรงกับความสนใจของผู้อ่านตามกลุ่มที่สนใจ ก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดการอ่านกันมากขึ้น  นอกจากนั้น กศน. ก็ยังได้เน้นให้ครูในสังกัดนำการอ่านบูรณาการกับการจัดการเรียนรู้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเห็นคุณค่าและสนใจการอ่านมากยิ่งขึ้นอีก ด้วย          
          
“ ในการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนตามแนวทางการ จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น  คงไม่สามารถใช้รูปแบบ หรือวิธีการใดวิธีการหนึ่งแล้วจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้ ด้วยความพร้อมของประชาชนแต่ละกลุ่มดังที่กล่าวไปแล้วยังเป็นอุปสรรคปัญหา อยู่ การส่งเสริมการอ่านของ กศน. จึงได้ดำเนินการไปตามบริบทของพื้นที่ แก้ไขปัญหาที่พบไปทีละขั้นตอนอย่างเป็นระบบ  อาทิ กลุ่มประชากรที่อ่านไม่ได้ หรืออ่านไม่คล่อง ก็จำเป็นต้องสอนให้อ่านได้ อ่านคล่องก่อน ซึ่งเรื่องนี้ ได้เน้นให้ครูในสังกัดใช้วิธีการพัฒนาผู้อ่านไม่ได้ อ่านไม่คล่อง ให้สามารถฝึกการอ่านด้วยตนเองได้ ซึ่งแนวคิดก็ยังเห็นว่าวิธีการที่ใช้กันมาในอดีต คือการฝึกอ่านแบบแจกลูก สะกดคำ น่าจะยังมีความเหมาะสมกับคนไทยอยู่ ด้วยภาษาไทย มีพยัญชนะ สระ จำนวนมาก และที่สำคัญยังมีวรรณยุกต์ เสียงสูง ต่ำ บริบทของการอ่านและการจำจึงไม่เหมือนกับภาษาต่างประเทศ การที่จะไปฝึกให้อ่านเป็นคำหรือเป็นพยางค์เหมือนภาษาต่างประเทศ โดยที่เด็กไม่ได้สะกดคำ หรือผันเสียงตามวรรณยุกต์ ด้วยนั้นจะทำให้ผู้อ่านไม่รู้ที่ไปที่มาฝึกอ่านด้วยตนเองไม่ได้ และที่สำคัญการฝึกอ่านเป็นคำหรือพยางค์ต้องใช้วิธีการจำอย่างเดียว หากเด็กหรือผู้อ่านจำไม่ได้ก็จะอ่านไม่ได้เช่นกัน
   
นอกจากอุปสรรคดังกล่าวแล้ว กศน. ก็ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากรที่จะมาดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ อยู่ไม่น้อย ซึ่งก็รวมถึงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นกับประชาชนด้วย  ทั้งนี้ด้วยปริมาณงานและประชากรที่ต้องไปให้บริการมีจำนวนมาก การที่จะให้บริการได้อย่างทั่วถึงและเกิดคุณภาพกับประชาชนตามมาได้นั้น จำเป็นต้องใช้บุคลากรดำเนินงานจำนวนที่พอเพียงและมีศักยภาพในอัตราส่วนเหมาะ สม แม้ขณะนี้จะได้รับความอนุเคราะห์จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ได้เพิ่มบุคลากรให้จำนวนหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอโดยเฉพาะบุคลากรด้านครูผู้สอนและครูบรรณารักษ์ แต่ถึงแม้จะมีปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอยู่แต่ทาง กศน.ก็จะพยายามผลักดันงานทุกด้านให้ก้าวหน้าเป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่ กำหนดไว้  เพราะหากทำส่วนนี้สำเร็จก็หมายถึงประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะมีคุณภาพชีวิต ที่ดีขึ้นนั่นเอง”เลขาธิการ กศน. กล่าวในที่สุด
   
เมื่อเห็นความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงของผู้บริหารสูงสุด กศน. เช่นนี้แล้ว ก็เชื่อว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้มีนิสัยรักการอ่านก็น่าจะเกิดขึ้นได้เป็นรูปธรรม แต่การดำเนินงานก็คงต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคไม่น้อย ด้วยประชากรที่ต้องพัฒนานั้นนอกจากจะมีจำนวนมาก หลากหลายสถานภาพกับความพร้อมรับและความต้องการที่แตกต่างกันแล้ว ความยากจนยังถือว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ยังติดตามมาทุกยุคทุกสมัย ที่พร้อมจะทำให้งานทุกอย่างสะดุดลงได้ เพราะเมื่อปาก ท้องยังร้องหาความหิวโหยอยู่ ก็คงไม่มีจิตใจที่จะแสวงหาความรู้ หรืออยากอ่านหนังสือเพื่อความรู้เป็นแน่
   
ส่วนนี้จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะต้องหาทางแก้ปัญหาความยากไร้ของผู้คนระดับรากแก้วลดลงให้ได้ ถ้าหากยังต้องการเห็นคนไทยมีสถิติการอ่านที่สูงขึ้น หรือเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต  เป็นสังคมแห่งการอ่านอย่างที่คิดหรือวาดฝันกันไว้มากขึ้น ซึ่งการแก้ปัญหาความยากจนกับการพัฒนาด้านสติปัญญา สร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนนั้นไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เมื่อรัฐบาลพยายามแก้ปัญหาความยากจนด้วยการทำประชา (นิยม) วิวัฒน์ แจกปัจจัยภายนอกให้ไปพอสมควรแล้วก็น่าจะต้องมาทำประชานิยมแจกอาหารสมอง ให้ความรู้ ความฉลาดทางปัญญา กับประชาชนอย่างจริงจังกันบ้าง เพราะอาหารสมองที่ประชาชนได้รับน่าจะเกิดคุณค่าและมีความคงทนถาวรมากกว่า ปัจจัยภายนอกที่ใช้แล้วก็หมดไปแล้วก็ต้องหามาแจกกันใหม่อยู่อย่างไม่มีวันจบ สิ้น หากคิดแค่ประชาวิวัฒน์แจกปัจจัยภายนอกอยู่เช่นนี้ไม่รู้ว่าจะเป็นเตี้ยอุ้ม ค่อมกันได้อีกนานแค่ไหน เพราะทั้งประเทศและประชาชนต่างก็จนไม่แพ้กันอยู่แล้วไม่ใช่หรือ.
กลิ่น สระทองเนียม

/www.dailynews.co.th

อัพเดทล่าสุด