พื้นที่น้ำแข็งสะท้อนพลังงานแดดลดลง 0.45 วัตต์กระตุ้นโลกร้อนขึ้นอีก


768 ผู้ชม


พื้นที่น้ำแข็งสะท้อนพลังงานแดดลดลง 0.45 วัตต์กระตุ้นโลกร้อนขึ้นอีก

เผยผลการศึกษาการหดของพื้นที่น้ำ แข็งและหิมะที่ปกคลุมซีกโลกทางเหนือ สะท้อนพลังงานแดดกลับสู่อวกาศได้น้อยกว่าเมื่อก่อน 0.45 วัตต์ กลายเป็นอีกปัจจัยของภาวะโลกร้อน และทุกองศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นหมายถึงการสะท้อนพลังงานที่ลดลง 0.3-1.1 วัตต์
       
       จากรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ข้อมูลดาวเทียมบ่งชี้ว่าน้ำแข็ง ธารน้ำแข็งและหิมะในแถบอาร์กติกและน้ำแข็งของกรีนแลนด์ สะท้อนพลังงานจากดวงอาทิตย์กลับสู่อวกาศได้น้อยลง ตามข้อมูลที่รวบรวมระหว่างปี 1979-2008 ซึ่งการลดลงของพื้นที่สีขาวซึ่งช่วยปกป้องแสงแดดนี้ได้เพิ่มพื้นที่ของน้ำ และพื้นดิน ซึ่งทั้งคู่มีสีที่เข้มกว่าและดูดกลืนความร้อนได้มากกว่าพื้นที่ขาวด้วย
       
       จากการศึกษาประมาณว่า น้ำแข็งและหิมะในซีกโลกเหนือขณะนี้ได้สะท้อนพลังงานจากดวงอาทิตย์กลับสู่ ชั้นบรรยากาศด้านบนเพียงตารางเมตรละ 3.3 วัตต์ ซึ่งลดลงจากช่วงปลายทศวรรษ 1970 ประมาณตารางเมตรละ 0.45 วัตต์
       
       “ปรากฏการณ์ความเย็นถูกลดลง และได้เพิ่มปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดาวเคราะห์ของเราดูดกลืนมากขึ้น ซึ่งค่าการลดลงของการสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์นี้มากกว่าในแบบจำลองสภาพภูมิ อากาศที่มีอยู่ในปัจจุบัน” มาร์ก แฟลนเนอร์ (Mark Flanner) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) และเป็นหัวหน้าคณะในการศึกษาครั้งนี้กล่าว ซึ่งได้เผยแพร่ผลงานในวารสารเนเจอร์จีโอไซน์ (Nature Geoscience)
       
       แฟลนเนอร์กล่าวถึงบทสรุปของการศึกษาว่า บริเวณไครโอสเฟียร์ (cryosphere) หรือบริเวณที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง และหิมะนั้นมีผลกระทบต่อความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากกว่าที่เคย เข้าใจด้วย
       
       ทั้งนี้ ยิ่งมีพื้นดินและน้ำที่รับแสงแดดมากเท่าไร การดูดซับความร้อนยิ่งเร่งการละลายของหิมะและน้ำแข็งมากขึ้น และน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกที่ลดลงในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้เป็นไปในทิศ ทางที่คณะนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศของสหประชาชาติกล่าวโทษว่า เป็นผลกระทบหลักๆ จากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษยชาติได้เผาผลาญพลังงานฟอสซิลในโรงงาน โรงไฟฟ้าและรถยนต์
       
       นอกจากนี้หลายๆ การศึกษายังชี้ว่าน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกจะหายไปหมดในช่วงฤดูร้อนของศตวรรษ นี้ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะทำลายวัฒนธรรมการล่าของชนพื้นเมือง และคุกคามหมีขั้วโลกกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ตลอดจนการเพิ่มปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอีกด้วย
       
       อย่างไรก็ดี แฟลนเนอร์กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ ที่จะวาดข้อสรุปจากการศึกษาครั้งนี้ถึงอัตราการละลายของน้ำแข็งในอนาคต เพราะเป็นการศึกษาบนข้อมูลย้อนหลังกลับไปเพียง 30 ปีเท่านั้น และยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมาที่ทำลายสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปัจจัยอื่นนั้นรวมถึงเมฆที่จะมีมากขึ้นบนโลกที่ร้อนขึ้นและจะกลายเป็น หลังคาสีขาวที่สะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป หรืออาจจะมีไอน้ำที่ดักจับความร้อนมากขึ้นในชั้นบรรยากาศ
       
       การศึกษาในครั้งนี้ประมาณว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส หมายถึงน้ำแข็งและหิมะในซีกโลกเหนือลดการสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์สู่อวกาศลง ตารางเมตรละ 0.3-1.1 วัตต์ และในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาอุณหภูมิในซีกโลกเหนือได้เพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 0.75 องศาเซลเซียส แต่ทีมวิจัยไม่ได้ศึกษาในส่วนของซีกโลกใต้ที่ทวีปแอนตาร์กติกาที่มีปริมาณ น้ำแข็งมากกว่า และยังหนาวจัดกว่า อีกทั้งแสดงสัญลักษณ์ของผลกระทบจากโลกร้อนน้อยกว่าด้วย
       
       “โดยภาพรวมระดับโลก ดาวเคราะห์ของเราดูดกลืนพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปีในอัตราประมาณ 240 วัตต์ต่อตารางเมตร และโลกอาจเข้มขึ้นแล้วดูดกลืนพลังงานอีก 3.3 วัตต์เมื่อไม่มีพื้นที่น้ำแข็งในซีกโลกเหนือ” แฟลนเนอร์กล่าว.
คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น
พื้นที่น้ำแข็งสะท้อนพลังงานแดดลดลง 0.45 วัตต์กระตุ้นโลกร้อนขึ้นอีก
ภูมิประเทศที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งในกรีนแลนด์เมื่อ 17 มี.ค.10 ที่ผ่านมา (รอยเตอร์)

พื้นที่น้ำแข็งสะท้อนพลังงานแดดลดลง 0.45 วัตต์กระตุ้นโลกร้อนขึ้นอีก

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

อัพเดทล่าสุด