การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แนะ วิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด


6,404 ผู้ชม


สัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นโรคที่พบมากในวัยรุ่น ซึ่งมีสาเหตุจากการเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน โดยที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ การป้องกันตัวเองทั้งการตั้งครรภ์และโรคติดต่อ การที่เรามีความรู้เกี่ยวกับการติดต่อ อาการของโรค การรักษา จะเป็นขั้นแรกของการป้องกันโรค ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ควรทราบ

  1. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย ทุกชนชั้น แต่พบมากในหมู่วัยรุ่น
  2. อัตราการติดเชื้อของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์พบมากขึ้นเนื่องจากวัย รุ่นมีค่านิยมที่จะอยู่ก่อนแต่งงาน หรือนิยมมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังไม่มาก และที่สำคัญมีการหย่าล้างสูงทำให้คนมีสามีหรือภรรยาหลายคน ทำให้โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น
  3. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยมากมักจะไม่เกิดอาการ ดังนั้นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถติดต่อโดยที่ไม่รู้ตัว แพทย์บางประเทศจึงแนะนำให้มีการตรวจค้นหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำหรับคน ที่สำส่อน
  4. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ยังก่อให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุขอย่างมาก
  5. โรคอาจจะลุกลามไปยังมดลูกหรือท่อรังไข่ทำให้เกิดการอักเสบในช่องท้อง (Pelvic inflammatory disease) ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดการเป็นหมัน หรือตั้งครรภ์นอกมดลูก
  6. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อาจจะทำให้เกิดโรคมะเร็ง เช่นการติดเชื้อ human papillomavirus infection (HPV) ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
  7. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถติดต่อไปยังทารกในครรภ์

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  1. ห้ามซื้อยากินเอง ( ระหว่างรักษา )
  2. ควรพบแพทย์โดยเร็วและเล่าอาการต่างๆ โดยละเอียดและไม่ปิดบัง
  3. ถ้ามาพบแพทย์ด้วยอาการทางท่อปัสสาวะ ควรกลั้นปัสสาวะ 4-6 ชั่วโมง ก่อนมาตรวจ
  4. ถ้ามาพบแพทย์ด้วยอาการมีแผลที่อวัยวะเพศห้ามใส่ยาผงโรยแผลก่อนมาตรวจ
  5. ถ้ามีภรรยาหรือผู้สัมผัสโรคและมีเพศสัมพันธ์กันหลังจากไปเที่ยว ควรนำมาตรวจทุกคน
  6. ควรจำระยะเวลาที่มีอาการ อาการแสดงของกามโรคที่เป็นอยู่
  7. เชื่อและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด เช่น รับประทานยาให้ถูกต้อง ครบถ้วนหรือมาตามนัดทุกครั้งจนกว่าจะหาย
  8. แจ้งชื่อผู้สัมผัสโรคหรือคู่นอน ให้เจ้าหน้าที่ทราบ
  9. ระหว่างการรักษา ควรปฏิบัติตนดังนี้
  • งดดื่มสุรา เบียร์และของมึนเมาทุกชนิด
  • งดร่วมเพศและสำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค และการอักเสบลุกลาม
  • กรณีเป็นกามโรคทางท่อปัสสาวะ ห้ามบีบรีดท่อปัสสาวะเพื่อตรวจดูเอง
  • เมื่อตรวจซ้ำเกี่ยวกับท่อปัสสาวะควรกลั้นปัสสาวะ 4 – 6 ชั่วโมง ก่อนมาตรวจ
  • อย่าไปซื้อยากินเอง หรือเปลี่ยนยาเองเมื่ออาการไม่ทุเลา ควรไปตรวจซ้ำพร้อมคู่นอน หรือผู้สัมผัส จนกว่าแพทย์บอกว่าหายขาด

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุดคือการไม่มีเพศสัมพันธ์ หากยังมีเพศสัมพันธ์ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก

  1. ไม่เปลี่ยนคู่นอน ให้มีสามีหรือภรรยาคนเดียว
  2. ใส่ถุงยางให้ถูกต้องหากจะมีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่ทราบว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
  3. อย่ามีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อยเพราะจากสถิติหากมีเพศสัมพันธ์อายุน้อยจะมีโอกาสติดโรคสูง
  4. ให้ตรวจประจำปีเพื่อหาเชื้อโรคแม้ว่าจะไม่มีอาการ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการแต่งงานใหม่
  5. เรียนรู้อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  6. อย่าร่วมเพศขณะมีประจำเดือน เพราะจะทำให้เกิดโรคติดต่อได้ง่าย
  7. อย่ามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หากจำเป็นให้สวมถุงยางอนามัย
  8. อย่าสวนล้างช่องคลอดเพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย

ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัย ในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัยในการคุมกำเนิด

ถุงยางอนามัย เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ดี มีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้ ถ้าใช้ถุงยางอนามัยที่ได้มาตรฐาน ไม่เสื่อม ไม่รั่ว ไม่ซึม ใช้อย่างถูกวิธีและใช้อย่างสม่ำเสมอ จะมีอัตราตั้งครรภ์ 3 ราย ใน 100 ราย ที่ใช้ใน 1 ปี

วิธีใช้ถุงยางอนามัย

ถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง โดยการใช้ถุงยางอนามัยควรใช้ก่อนที่อวัยวะเพศทั้งสองฝ่ายจะสัมผัสกัน เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการสวมจะต้องให้อวัยวะเพศชานแข็งตัวเต็มที่แล้ว ซึ่งขั้นตอนการใช้ถุงยางอนามัยมีดังนี้

  1. ฉีกซองอย่างระมัดระวัง แล้วหยิบออกจากซองอย่างนิ่มนวล ระวังอย่าให้ถุงยางอนามัยสัมผัสกับเล็บหรือของประดับที่มีคม
  2. ถุงยางอนามัยบรรจุในซองในลักษณะม้วนเป็นรูปวงแหวน ให้รอยม้วนอยู่ด้านนอก คลี่ถุงยางออกมาสัก 1 – 2 เซนติเมตร
  3. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบกระเปาะ (ติ่งตรงปลาย) ไล่ลมออก น้ำมาครอบปลายอวัยวะเพศ (ถ้าหนังหุ้มยาว ต้องรูดขึ้นไปให้พ้นปลายหัว)
  4. ใช้อีกมือรูดถุงยางขึ้นไปจนถึงโคน (อีกมือยังคงบีบปลายติ่งอยู่)
  5. ถ้าใส่ถูกต้อง ตรงติ่งต้องแบนไม่มีลมอยู่ภายใน (ถ้าเป็นแบบปลายมา ต้องเหลือปลายถุงยางไว้ประมาณ 1 เซนติเมตร) ทั้งนี้เพื่อป้องกันถุงยางอนามัยแตก
  6. ถ้าความหล่อลื่นไม่พอก็สามารถทาสารหล่อลื่นเพิ่มเติมได้ แต่ต้องหลังจากสวมใส่แล้ว และสารหล่อลื่นที่ใช้ต้องเป็นสารที่มีส่วนผสมเป็นน้ำหรือซิลิโคน ห้ามใช้วาสลินเนื่องจากมี petroleum เป็นส่วนประกอบ
  7. หลังเสร็จกิจต้องรีบถอนอวัยวะเพศออกทันทีก่อนที่จะอ่อนตัว เพื่อป้องถุงยางหลุดค้างในอวัยวะเพศของฝ่ายหญิง โดยมือต้องจับขอบปลายส่วนเปิดไว้ด้วย และต้องระมัดระวังไม่ให้มือไปโดนด้านนอก ของถุงยางที่มีสารคัดหลั่งของฝ่ายหญิงอยู่ เพราะอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ (กรณีมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยา)
  8. เมื่อถอดออกแล้ว ให้ทดสอบรอยรั่วได้โดยเอาไปรองน้ำจากก๊อกใส่ถุงยางที่ใช้แล้ว ถ้ารั่วก็จะเห็นได้

ถุงยางอนามัยสตรี

ผลิตจากโพลียูรีเธน โปร่งใส ยืดหยุ่น และมีความทนทาน มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับถุงยางอนามัยผู้ชาย คือ คุมกำเนิด และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิด รวมทั้งเอดส์ด้วย

วิธีใช้ คือ ใช้นิ้วหัวแม่มือนิ้วชี้และนิ้วกลางจับขอบห่วงถุงยางให้ถนัดแล้วบีบขอบห่วง ในให้ห่อตัวเล็กลง นั่งท่าที่เหมาะสม เช่น นั่งยอง ๆ หรือยกขาข้างใดข้างหนึ่งวางบนเก้าอี้แล้วค่อย ๆ สอดห่วงถุงยางที่บีบไว้เข้าไปในช่องคลอด ดันให้ลึกที่สุด ใช้นิ้วสอดเข้าไปในถุงยางจนนิ้วสัมผัสกับขอบล่างของห่วงด้านใน แล้วจึงดันขอบห่วงถุงยางลึกเข้าไปในช่องคลอด ให้ถึงส่วนบนของเชิงกระดูกหัวเหน่า ด้วยการงอนิ้วไปทางด้านหน้าของตัวคุณให้ลึกเข้าไปในปากช่องคลอดประมาณ 2-3 นิ้ว ในการถอดถุงยางให้หมุนบิดปิดปากถุง เพื่อให้น้ำอสุจิคงอยู่ภายในถุงยาง แล้วจึงค่อย ๆ ดึงออก

เอกสารอ้างอิง

พงศักดิ์ ชัยศิลป์วัฒนา. โรคติดเชื้อที่พบบ่อยของอวัยวะเพศสตรีและช่องคลอด (Common infectious disease in female genital organ and vaginal) กรุงเทพฯ: เอช.ที.พี.เพรช, 2548: 19-77.

บุษบา จินดาวิจักษณ์ และคณะ. เภสัชกรห่วงใยสุขภาพและการใช้ยาในบุรุษ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล, 2548

เอกสารประกอบการฝึกปฏิบัติวิชาชีพด้านการบริบาลทางเภสัชกรรม หลักสูตรการบริบาลเภสัชกรรม (รุ่นที่ 1) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. สงขลา. 2550

ที่มา healthy.in.th

อัพเดทล่าสุด