โรงเรียนสมบูรณ์แบบ บทความ โรงเรียนสมบูรณ์แบบ


1,124 ผู้ชม


โรงเรียนสมบูรณ์แบบ

โรงเรียนสมบูรณ์แบบ 

ดร.อำรุง จันทวานิช และคณะ

โรงเรียนสมบูรณ์แบบ คือโรงเรียนที่มีสังคม บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ มีความพร้อมในด้านทรัพยากรวัตถุ เทคโนโลยี งบประมาณ และทรัพยากรบุคคล สามารถจัดการศึกษาได้อย่างดี ทั้งในด้านการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพสูงตามมาตรฐานกำหนด และได้รับการพัฒนาอย่างครบถ้วนทุกด้าน เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข เป็นโรงเรียนที่สามารถจัดการศึกษาได้สนอง สอดคล้องความต้องการของชุมชน เป็นที่ชื่นชมของชุมชน รวมทั้งเป็นโรงเรียนที่สามารถเป็นแบบอย่างในการให้ความช่วยเหลือชุมชนและ โรงเรียนอื่นในชุมชนได้

แนวคิดพื้นฐาน “โรงเรียนสมบูรณ์แบบ” ได้มาจากทฤษฎีและผลการศึกษาวิจัยต่างๆซึ่งนำไปสู่การกำหนดองค์ประกอบ ปัจจัยหลักความสำเร็จและดัชนีชี้วัดความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบโดยใช้แนวคิด เชิงระบบ CIPP Model เป็นกรอบกำหนดรูปแบบเพื่อผู้บริหารโรงเรียนจะได้นำไปใช้ประกอบการพิจารณา ดำเนินการพัฒนาโรงเรียนตามศักยภาพ ความพร้อม และความเป็นไปได้ของแต่ละโรงเรียน และแต่ละเขตพื้นที่

โรงเรียนสมบูรณ์แบบมีองค์ประกอบที่สำคัญ แนวทาง และขั้นตอนการพัฒนาสู่ ความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ ดังนี้

องค์ประกอบที่สำคัญ โรงเรียนสมบูรณ์แบบมีองค์ประกอบที่สำคัญ 14 องค์ประกอบ ปัจจัยหลักความสำเร็จ 38 ปัจจัย และดัชนีชี้วัด 61 ดัชนี (จัดลำดับโดยให้ความสำคัญกับผลผลิตและผลลัพธ์ของโรงเรียน)ประกอบด้วย

องค์ประกอบด้านผลผลิต / ผลลัพธ์ ( 3 องค์ประกอบ )

1. ผู้เรียนมีคุณภาพมาตรฐาน มีพัฒนาการทุกด้าน เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข เรียนต่อและประกอบอาชีพได้ มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 4 ปัจจัย คือ ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีพัฒนาการทุกด้านเต็มตามศักยภาพ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ตามที่หลักสูตร และสถานศึกษากำหนด และคุณภาพผู้เรียนเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยมีดัชนีชี้วัด 5 ดัชนี ได้แก่ ร้อยละของผู้เรียนที่เป็นคนดี เก่ง และมีความสุข ร้อยละของผู้เรียนที่มีพัฒนาการตามวัย ร้อยละของผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ตามที่หลักสูตร และสถานศึกษากำหนด ร้อยละของผู้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และประกอบอาชีพ และร้อยละของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่พึงพอใจ และยอมรับคุณภาพผู้เรียน

2.โรงเรียนเป็นที่ชื่นชมของชุมชน มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 1 ปัจจัย คือ ชุมชน พึงพอใจ และศรัทธาต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนโดยมีดัชนีชี้วัด 2 ดัชนี ได้แก่ ร้อยละของผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนที่พึงพอใจต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียน และค่าเฉลี่ยร้อยละของผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนที่ร่วมมือต่อกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน

3.โรงเรียนเป็นแบบอย่าง และให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชน และโรงเรียนอื่น มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 3 ปัจจัย คือ โรงเรียนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชุมชนและโรงเรียนอื่นในการพัฒนา ครูและบุคลากรร่วม และสนับสนุน ส่งเสริมกิจกรรมชุมชน ครูและบุคลากรส่งเสริม และสนับสนุน โรงเรียนอื่นพัฒนาการจัดการศึกษาโดยมีดัชนีชี้วัด 3 ดัชนี ได้แก่ จำนวนกิจกรรมที่เป็นแบบอย่าง ค่าเฉลี่ยร้อยละของครู และบุคลากรที่ร่วมและส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมชุมชน และร้อยละของครู และบุคลากรที่ส่งเสริม สนับสนุนโรงเรียนอื่นพัฒนาการจัดการศึกษา

องค์ประกอบด้านกระบวนการ ( 4 องค์ประกอบ )

4. การจัดกระบวนการเรียนรู้เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 4 ปัจจัยคือ ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้เรียนคิดเองและปฏิบัติจริง ครูจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ ผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้โดยมีดัชนีชี้วัด 5 ดัชนี ได้แก่ค่าเฉลี่ยร้อยละของผู้เรียนที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ค่าเฉลี่ยร้อยละของผู้เรียนที่คิดกิจกรรมองและปฏิบัติเอง ร้อยละของครูที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล ของผู้เรียน ร้อยละของครูที่มีพฤติกรรมการสอนเน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด และร้อยละของผู้ปกครอง และชุมชนที่มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้

5. การจัดบรรยากาศการเรียนรู้เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 2 ปัจจัย คือ อาคารสถานที่ ห้องเรียน และบริเวณโรงเรียนถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย ร่มรื่น สวยงามเอื้อต่อการเรียนรู้ ผู้เรียนมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ โดยมีดัชนีชี้วัด 4 ดัชนี ได้แก่ระดับความสำเร็จของ การจัดกิจกรรม 5 ส จำนวนแหล่งวิชาการและมุมกิจกรรมของโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ จำนวนชมรม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และร้อยละของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมชมรม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

6. การบริหารจัดการดี ใช้โรงเรียนเป็นฐาน และเน้นการมีส่วนร่วม มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 2 ปัจจัย คือบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล โดยมีดัชนีชี้วัด 2 ดัชนี ได้แก่ จำนวนกิจกรรมการบริหารจัดการที่เปิดโอกาสให้ครู บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนมีส่วนร่วม และร้อยละของกิจกรรม การบริหารจัดการที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

7. การประกันคุณภาพการศึกษามีประสิทธิภาพ เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหาร โรงเรียน มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 2 ปัจจัย คือ มีระบบการประกันคุณภาพภายในที่ชัดเจน ครบวงจร ปฏิบัติได้ และมีความพร้อมรับการประเมินภายนอก โดยมีดัชนีชี้วัด 3 ดัชนี ได้แก่ มีระบบและมีแผน งานการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน มีการดำเนินการตามระบบและแผนงาน ตลอดจนมีการประเมินตนเอง และการจัดทำรายงาน

องค์ประกอบด้านปัจจัย ( 6 องค์ประกอบ )

8. ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษามืออาชีพและจำนวนเพียงพอ มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 7 ปัจจัย คือครูมีความสามารถจัดการเรียนการสอนตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู ประพฤติ ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพครู ได้รับการพัฒนาตรงตามความต้องการ สอดคล้องกับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ ครูครบตามเกณฑ์ที่กำหนดและมีภาระงานเหมาะสม มีขวัญ และกำลังใจในการประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสามารถพัฒนางานได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ และประพฤติ ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพโดยมีดัชนีชี้วัด 10 ดัชนี ได้แก่ร้อยละของครูที่ปฏิบัติงานได้ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู ร้อยละของครูที่ประพฤติ ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพครูจนถือเป็นแบบอย่างได้ ร้อยละของครูที่ได้รับการพัฒนาตรงตามความต้องการ ร้อยละของครูที่ได้รับการพัฒนาสอดคล้องกับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ อัตราส่วนของครูต่อนักเรียน ร้อยละของครูที่สอนตรงตามสาขาวิชาที่มีความถนัด ค่าเฉลี่ยคาบการสอนต่อสัปดาห์ ร้อยละของครูที่มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน คุณภาพของผลการปฏิบัติงานที่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพของผู้บริหาร การประพฤติ ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพจนถือเป็นแบบอย่างได้ของผู้บริหาร

9. ลักษณะทางกายภาพของโรงเรียนได้มาตรฐาน มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 4 ปัจจัย คือ พื้นที่โรงเรียน โครงสร้างพื้นฐาน อาคารเรียน อาคารประกอบ ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องบริการ และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมกีฬาและการพักผ่อนเหมาะสม โดยมีดัชนีชี้วัด 7 ดัชนี ได้แก่ ความเพียงพอ และเหมาะสมของพื้นที่ใช้สอยของโรงเรียน ความสะอาด และเพียงพอของน้ำดื่ม น้ำใช้ ความสะอาด และเพียงพอของห้องน้ำ ห้องส้วม มีระบบไฟฟ้าที่สมบูรณ์ ความสะดวก สบาย ปลอดภัยของถนน และทางเดิน ความเพียงพอ และเหมาะสมของพื้นที่จัดกิจกรรมกีฬา

10. หลักสูตรเหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 1 ปัจจัย คือ หลักสูตรของสถานศึกษาสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตอบสนองต่อความต้องการของ ผู้เรียนและท้องถิ่นโดยมีดัชนีชี้วัด 3 ดัชนี ได้แก่ จำนวนรายวิชาครบตามโครงสร้างของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละของรายวิชาที่นำสาระท้องถิ่นเข้าบูรณาการ และจำนวนรายวิชาที่ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำ

11. สื่อ อุปกรณ์ เทคโนโลยีทันสมัย มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 1 ปัจจัย คือสื่อ อุปกรณ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการเหมาะสม ทันสมัย และเพียงพอ โดยมีดัชนีชี้วัด 2 ดัชนี ได้แก่ ความเพียงพอ เหมาะสม และทันสมัยของสื่อ อุปกรณ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการ และอัตราส่วนนักเรียนต่อหน่วยของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเรียนการสอนแต่ละ ครั้ง

12. แหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียนหลากหลาย มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 3 ปัจจัย คือ ห้องสมุดได้มาตรฐาน มีศูนย์วัฒนธรรมชุมชนในโรงเรียน มีแหล่งการเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่หลากหลายไว้บริการแก่ผู้เรียน และชุมชน โดยมีดัชนีชี้วัด 6 ดัชนี ได้แก่ จำนวนหนังสือต่อนักเรียน ร้อยละของนักเรียนที่เข้าใช้ห้องสมุดต่อภาคเรียน ประเภทของวัฒนธรรมที่จัดบริการในศูนย์วัฒนธรรม ร้อยละของนักเรียนที่ใช้บริการศูนย์วัฒนธรรมต่อภาคเรียน จำนวน/ประเภทแหล่งการเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่จัดบริการในโรงเรียน และค่าเฉลี่ยร้อยละของการใช้แหล่งการเรียนรู้ทุกประเภท

13. งบประมาณมุ่งเน้นผลงาน มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 1 ปัจจัย คือ มีการจัดงบประมาณตามมาตรฐานการจัดการทางการเงิน 7 Hurdles โดยมีดัชนีชี้วัด 1 ดัชนี คือ การจัดงบประมาณตามมาตรฐานการจัดการทางการเงิน 7 Hurdles ที่สำเร็จตามเป้าหมาย

องค์ประกอบด้านบริบท ( 1 องค์ประกอบ )

14. สภาพแวดล้อมภายนอกของโรงเรียนดี มีสังคม บรรยากาศ สิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 3 ปัจจัย คือ ที่ตั้งเหมาะสม ชุมชนร่วมมือ และแหล่งการเรียนรู้ในชุมชนหลากหลาย โดยมีดัชนีชี้วัด 8 ดัชนีได้แก่ค่าเฉลี่ยจำนวนเวลาในการเดินทางมาเรียนของนักเรียน จำนวนแหล่งอบายมุขบริเวณรอบโรงเรียน ระดับมลภาวะตามเกณฑ์มาตรฐานสิ่งแวดล้อม จำนวนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ที่ชุมชนให้การสนับสนุนเพื่อการศึกษาของโรงเรียน ค่าเฉลี่ยร้อยละของผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนที่ให้ความร่วมมือในกิจกรรม ต่างๆ จำนวน/ประเภทแหล่งการเรียนรู้ในชุมชน จำนวน/ประเภทแหล่งการเรียนรู้ที่โรงเรียนนำมาใช้ในการจัดการศึกษาของ โรงเรียน ค่าเฉลี่ยร้อยละของนักเรียนที่ใช้แหล่งการเรียนรู้ในชุมชน

แนวทางการพัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
แนวทางสำคัญที่โรงเรียนสามารถใช้ในการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ ประกอบด้วย

1. กำหนดเป้าหมายผลผลิต/ผลลัพธ์
1.1 ผู้เรียนมีคุณภาพ มาตรฐาน มีพัฒนาการทุกด้าน เรียนต่อและประกอบอาชีพได้
1.2 โรงเรียนเป็นที่ชื่นชมของชุมชน เป็นแบบอย่าง และให้ความข่วยเหลือแก่ชุมชน และโรงเรียนอื่นได้

2. ดำเนินการไปสู่เป้าหมาย โดยมีกระบวนการใน 3 เรื่อง
2.1 กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด
2.2 การบริหารจัดการดี ใช้โรงเรียนเป็นฐาน เน้นการมีส่วนร่วม
2.3 การประกันคุณภาพการศึกษามีประสิทธิภาพ เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารโรงเรียน

3. จัดให้มีปัจจัย
3.1 ทรัพยากรบุคคลมืออาชีพ และจำนวนเพียงพอ
3.2 ทรัพยากรวัตถุ เทคโนโลยี และงบประมาณได้มาตรฐาน เหมาะสม ทันสมัย และเพียงพอ

4. บริหารจัดการด้านบริบทให้เอื้อต่อการดำเนินการสู่เป้าหมาย

ขั้นตอนการพัฒนาสู่ความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
โรงเรียน สามารถพัฒนาตนเองสู่ความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบตามศักยภาพ ความพร้อม และความเป็นไปได้ โดยดำเนินการตามขั้นตอน 7 ขั้นตอนต่อไปนี้
1. เตรียมการ และสร้างความเข้าใจ
1.1 เตรียมการ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดโรงเรียนสมบูรณ์แบบแก่ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
1.2 จัดให้มีผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ ซึ่งอาจจะแต่งตั้งในรูปองค์คณะบุคคล
1.3 จัดให้มีการเตรียมข้อมูลในภาพรวมของโรงเรียน และเตรียมการนำเสนอ ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ

2. ตรวจสอบสถานภาพโรงเรียน
2.1 ตรวจสอบสถานภาพตนเองในแต่ละองค์ประกอบของการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ โดยตรวจสอบทั้ง 14 องค์ประกอบทีละองค์ประกอบ และในแต่ละองค์ประกอบให้ตรวจสอบปัจจัยหลักความสำเร็จทีละปัจจัย (ได้นำเสนอเครื่องมือตรวจสอบสถานภาพการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบไว้ในภาคผนวก ของเอกสารแนวทางการพัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ) ถ้าองค์ประกอบใดมี 1 ปัจจัยหลักความสำเร็จ มีดัชนีชี้วัดมากกว่า 1 ดัชนี ให้ตรวจสอบ 1 ปัจจัยหลักความสำเร็จ และคำนวณหาค่าเฉลี่ยระดับผลการประเมินของดัชนีชี้วัด แล้วสรุปผลการประเมินเป็นระดับสถานภาพองค์ประกอบ ถ้าองค์ประกอบใดมีตั้งแต่ 2 ปัจจัยหลักความสำเร็จขึ้นไป ให้ดำเนินการตรวจสอบทุกปัจจัยหลักตวามสำเร็จ และคำนวณหาค่าเฉลี่ยระดับผลการประเมินของปัจจัยหลักความสำเร็จ แล้วแปลความหมายตามเกณฑ์ ได้ผลการประเมินเป็นระดับสถานภาพองค์ประกอบนั้นๆ
2.2 สรุปการตรวจสอบสถานภาพการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ โดยพิจารณาว่าโรงเรียนมีสถานภาพการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบในระดับใด (สูง ปานกลาง ต่ำ)ซึ่งเป็นการพิจารณาจากความถี่สูงสุดในระดับนั้น บางกรณีมีความถี่สูงสุดเห็นชัดเจน บางกรณีไม่ชัดเจนจึงเป็นเพียงแนวโน้มว่ามีสถานภาพระดับนั้นๆ ดังนั้นผลการตรวจสอบสถานภาพการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบอาจจะสรุปเป็นภาพรวม ชัดเจนจนกำหนดได้ หรือเป็นเพียงลักษณะแนวโน้ม ในการยกระดับการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ จึงจำเป็นต้องพิจารณาทั้ง 3 ระดับสถานภาพประกอบกัน

3. กำหนดเป้าประสงค์การพัฒนา
3.1 กำหนดให้ทุกองค์ประกอบเป็นเป้าหมายของการพัฒนาโรงเรียนให้เป็น โรงเรียนสมบูรณ์แบบโดยเน้นองค์ประกอบที่โรงเรียนต้องการยกระดับก่อน – หลังตามผลการตรวจสอบสถานภาพขององค์ประกอบการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
3.2 กำหนดระดับความสำเร็จในแต่ละปัจจัยหลักความสำเร็จตามดัชนีชี้วัดที่เป็นเป้า หมายการพัฒนาตามศักยภาพ ความพร้อม และความเป็นไปได้ของโรงเรียน
3.3 กำหนดเงื่อนไขเวลาการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบเป็น1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี

4. กำหนดแผนปฏิบัติการยกระดับ โดยอาจกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา โรงเรียน หรือแยกเป็นแผนพัฒนาโรงเรียนสมบูรณ์แบบต่างหาก
4.1 ศึกษา และวิเคราะห์องค์ประกอบ 14 องค์ประกอบ และปัจจัยหลัก ความสำเร็จ 38 ปัจจัย
4.2 กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยนำผลการศึกษา วิเคราะห์องค์ประกอบ มาใช้เป็นข้อมูลในการกำหนด การเน้นยุทธศาสตร์ด้านใดก่อน – หลัง ในช่วงปีใด ให้เป็นไปตามผล การตรวจสอบสถานภาพ โดยมีกลยุทธ์ในการดำเนินการในแต่ละยุทธศาสตร์
4.3 จัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ตามสถานภาพของโรงเรียนและความจำเป็นเร่งด่วนที่ โรงเรียนจะต้องได้รับการพัฒนา ( ความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง )
4.4 วิเคราะห์เป้าประสงค์ของการพัฒนา และกำหนดเป้าหมายรายปีตามสถานภาพของโรงเรียน และความต้องการที่จะยกระดับในแต่ละองค์ประกอบ โดยพิจารณาความเป็นไปได้ของการดำเนินงานทั้งในด้านบุคลากร งบประมาณ และปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
4.5 กำหนดแนวทางดำเนินการยกระดับ โดยพิจารณาจากผลการตรวจสอบสถานภาพของโรงเรียน แนวทางดำเนินการและพิจารณากำหนดระยะเวลาการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ คือ
     - โรงเรียนที่มีลักษณะความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบระดับสูง ควรดำเนินการพัฒนาทุกองค์ประกอบเพื่อให้เป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบภายใน 1 ปี และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
     - โรงเรียนที่มีลักษณะความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบระดับปานกลาง ควรดำเนินการพัฒนาทุกองค์ประกอบ และเน้นองค์ประกอบที่โรงเรียนต้องการยกระดับเพื่อให้เป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ ภายใน 3 ปี และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
     - โรงเรียนที่มีลักษณะความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบระดับต่ำ ควรดำเนินการพัฒนาทุกองค์ประกอบ และเน้นองค์ประกอบที่โรงเรียนต้องการยกระดับเพื่อให้เป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ ภายใน 5 ปี และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

5. ดำเนินการยกระดับสู่ความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
5.1 ประชาสัมพันธ์แผนปฏิบัติการเพื่อให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบภารกิจ เข้าใจ ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ( วิธีคิด วิธีทำงาน และวิธีบริหารจัดการ ) ของตนเอง และมีส่วนร่วมในการดำเนินการยกระดับโรงเรียน
5.2 กำหนดกลไก และภารกิจ โดยกำหนดองค์คณะบุคคลรับผิดชอบในการ ดำเนินการ ติดตามประเมินผล และจัดทำรายงาน และกำหนดพันธกิจที่ชัดเจน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโรงเรียนในระยะ เวลาที่รวดเร็ว
5.3 ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนตามสถานภาพของโรงเรียน และช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนกำหนดไว้ในแผน รวมทั้งกระตุ้นและเสริมแรงให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันดำเนินการตามแผน

6. ประเมินความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
6.1 โรงเรียนประเมินตนเอง เพื่อทราบผลการพัฒนา แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น กำหนดเป้าหมายการพัฒนา และเตรียมการพัฒนาในปีต่อๆไป
6.2 กรมต้นสังกัด/เขตพื้นที่ประเมิน และนำผลการประเมินมาใช้ประกาศยกย่องโรงเรียนที่มีผลการพัฒนาตามเกณฑ์ที่ กำหนด เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างเรียนรู้ ( Show Case ) รวมทั้งให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่มีผลการพัฒนาน้อย หรือมีปัญหาต้องการความช่วยเหลือ
6.3 กระทรวงประเมินเพื่อยกย่องโรงเรียนที่สามารถพัฒนาเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ เป็นที่ปรากฏชัดเจน ประกาศยกย่องเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบระดับกระทรวง และเผยแพร่สู่สาธาณชน ทั้งนี้ การประเมินทุกระดับจะเน้นข้อมูลสภาพจริง และประโยชน์ที่จะส่งผลต่อผู้เรียนเป็นสำคัญ

7. สร้างความยั่งยืนในการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
7.1 โรงเรียนทบทวนผลการประเมิน สรุปจุดที่สำเร็จ และจุดที่จะต้องปรับปรุง แก้ไข ตลอดจนกำหนดแผนผดุงการพัฒนาที่จะดำเนินต่อไป
7.2 เขตพื้นที่ กรมต้นสังกัด และกระทรวงศึกษาธิการรวบรวมข้อมูลความสำเร็จ และผลการพัฒนาที่น่าชื่นชม ยกย่อง และประกาศรับรอง ตลอดจนนำเสนอผลงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนอื่น ผู้เกี่ยวข้อง และสาธารณชน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบผลการพัฒนาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ กรมต้นสังกัดจะต้องรวบรวมข้อมูลทั้งความสำเร็จ และสิ่งที่จะต้องปรับปรุงมาใช้กำหนดแนวทางการพัฒนา หรือสนับสนุนต่อเนื่องให้เหมาะสม และหลากหลายลักษณะ สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนเพื่อที่จะผดุงให้การพัฒนามีความต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไป

แหล่งที่มา :   ดร.อำรุง จันทวานิช

อัพเดทล่าสุด