การรักษาโรคกรดไหลย้อน และบรรเทา อาการของโรคกรดไหลย้อน ด้วยการกินอาหารที่ถูกต้อง


939 ผู้ชม


(1). กินมื้อเล็กๆ (eat smaller meals)

  • อาหารมื้อเล็กๆ ค้างอยู่ในกระเพาะอาหารไม่นาน อาหารมื้อใหญ่ค้างอยู่นานหลายชั่วโมง ทำให้โอกาสเกิดการไหลย้อน (reflux) เพิ่มขึ้น

  • ให้ลองกินมื้อเล็กๆ วันละหลายๆ มื้อดู เช่น วันละ 4-5 มื้อเล็กๆ แทน 2-3 มื้อใหญ่ๆ ฯลฯ

(2). ผ่อนคลาย (relax)

  • ความเครียดทำให้กระเพาะฯ หลั่งกรดออกมามากขึ้น เพราะฉะนั้นขอให้นั่งลง... กินช้าๆ เคี้ยวช้าๆ ไม่รีบร้อน

  • หลังจากนั้นให้หาอะไรที่คลายเครียดทำเพิ่มขึ้น เช่น ฝึกหายใจช้าๆ ลึกๆ (deep breathing) ฝึกสมาธิ ไทเกก-ไทชิ โยคะ ฯลฯ

(3). ตั้งตัวตรงเข้าไว้ (remain upright)

  • ให้ตั้งตัวตรง (นั่งหรือยืน) หลังอาหารอย่างน้อย 3 ชั่วโมง นั่นคือ "เพลไม่เพล(เพล = ฉันหรือกินข้าวเที่ยง; ไม่เพล = มื้ออื่นๆ)ก็อย่าเพิ่งเอน"

  • การนอนหลังอาหาร ก้มตัวลงนานๆ หรือยกของหนักหลังอาหารจะทำให้กรดไหลย้อนได้ง่าย เรื่องนี้เปรียบคล้ายขวดใส่น้ำ... ถ้าจับขวดตั้งไว้ น้ำคงจะไม่หกง่ายๆ แต่ถ้าเอียงขวดลง น้ำจะหกออกจากขวดได้ง่ายขึ้น

(4). อย่ากินมื่อใหญ่ก่อนนอน (avoid eating)

  • อย่ากินอาหารมื้อใหญ่ก่อนนอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

(5). ลดน้ำหนัก (lose weight) ถ้าจำเป็น

  • น้ำหนักที่เกินจะทำให้ไขมันใต้ผิวหนัง รอบพุง และไขมันในช่องท้องเพิ่มขึ้น ทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น บีบกระเพาะฯ ทำให้กรดไหลย้อนได้ง่าย

  • ถ้าช่องท้อง "เบา โล่ง โปร่ง สบาย" หน่อย... โอกาสกรดไหลย้อนจะลดลง

(6). ไม่สวมเสื้อผ้าคับ (loosen up = ทำให้หลวม)

  • ไม่ควรสวมเข็มขัด รัดประคต(สายคาดเอวพระ) หรือสายคาดเอวแน่น และไม่สวมเสื้อผ้าคับรัดรูป

  • การสวมเสื้อผ้าคับทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้น โอกาสเกิดกรดไหลย้อนเพิ่มขึ้น

การรักษาโรคกรดไหลย้อน และบรรเทา อาการของโรคกรดไหลย้อน ด้วยการกินอาหารที่ถูกต้อง

(7). หลีกเลี่ยงอาหารบางอย่าง (avoid foods that burn = หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้ไหม้ หรือเกิดอาการแสบร้อนในอก)

  • อาหารบางอย่างทำให้กระเพาะฯ หลั่งกรดออกมามากขึ้น ทำให้อาหารค้างในกระเพาะฯ นานขึ้น หรือทำให้กล้ามเนื้อหูรูดด้านบนกระเพาะฯ คลายตัว (คล้ายๆ กับการเปิดปากถุงทะเล) ผลคือ ทำให้กรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น

  • ควรลดปริมาณ (ไม่จำเป็นต้องงด ยกเว้นช่วงอาการรุนแรง) อาหารแสลงโรคที่พบบ่อยได้แก่ อาหารไขมันสูง เครื่องเทศบางอย่าง มะเขือเทศ ส้ม ส้มโอ มะนาว กระเทียม หัวหอม นม น้ำอัดลม กาแฟ ชา ชอคโกแลต และมิ้นท์

  • ควรงดแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ)

 (8). เลิกบุหรี่ (stop smoking)

  • บุหรี่มีสารนิโคตินที่กระตุ้นให้กระเพาะฯ หลั่งกรดมากขึ้น ทำให้ลมในท้องมากขึ้น

(9). เคี้ยวหมากฝรั่ง (chew gum)

  • หมากฝรั่งเพิ่มการหลั่งน้ำลาย ซึ่งเมื่อกลืนลงไปจะช่วยลดความเข้มข้นของกรดและน้ำย่อยในหลอดอาหาร ทำให้อาการทุเลาลง (ควรลองดู เพราะบางคนก็มีอาการท้องอืดจากน้ำตาลเทียมในหมากฝรั่งได้ - ผู้เขียน)

(10). ปรึกษายากับหมอ (medications)

  • ยาบางอย่างอาจทำให้อาการแย่ลง เช่น แอสไพริน ยากดการอักเสบหรือ "ยากระดูก" (NSAIDs) ฯลฯ

  • วิธีง่ายๆ คือ นำยาที่ใช้ทุกชนิดไปให้หมอหรือเภสัชกรที่ดูแลท่านตรวจสอบว่า กินต่อดีหรือไม่

(11). หนุนหัวเตียง (raise your bed's head)

  • การหนุนขาเตียงด้านหัวเตียงให้สูงกว่าขาเตียงด้านเท้ามักจะทำให้กรดไหลย้อนช่วงนอนลดลง

  • ไม่ควรหนุนหมอนสูง หรือหนุนหมอนหลายใบแทนการหนุนขาเตียง เนื่องจากอาจทำให้ปวดคอได้

(12). ออกกำลังให้เป็น (exercise wisely = ออกกำลังอย่างฉลาด)

  • ไม่ออกกำลังหลังอาหารทันที ควรรอประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อให้อาหารส่วนใหญ่ไหลลงลำไส้เล็กไปก่อนออกกำลัง

ข้อมูลwww.thaiblogonline.com

อัพเดทล่าสุด