รำกระบอง พิชิตโรคกระดูกคอ ความทุกข์ทรมานจากโรคหมอนรองกระดูกคออักเสบ ครั้งนั้นทำให้คุณมาลีวรรณ พรสมบัติเสถียร คุณแม่ลูกสอง วัย 41 ปี กลับมาดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างจริงจัง ที่สำคัญเธอยังได้ค้นพบยาวิเศษรักษาโรคที่หาได้ง่าย ประหยัด สนุกสนาน และได้ผลจริง เมื่อนวดแก้เมื่อยทำป่วย ถึงแม้คุณมาลีวรรณจะเคยปวดเมื่อยเนื้อตัวบ้าง โดยเฉพาะในยามเธอที่ต้องขับรถระยะทางไกลอยู่บ่อยครั้งในชีวิตประจำวัน แต่เธอก็ไม่ใช่คนขี้เมื่อยที่ชื่นชอบการนวดเท่าไรนัก ทว่าก็มีเหตุให้ต้องเข้าร้านนวดแผนไทย เธอกลับถึงบ้านพร้อมกับอาการปวดไหล่นิดๆ จากนั้นเพียงไม่กี่วัน เธอเริ่มปวดร้าวตั้งแต่ต้นคอไปจนถึงสะบักทั้งสองข้าง และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดความปวดทวีความรุนแรงจนถึงขั้นที่เธอทนทรมานไม่ไหว จึงตัดสินใจไปหาคุณหมอทันที และตรวจพบว่าเธอป่วยเป็นโรคหมอนรองกระดูกคออักเสบ ถึงแม้คุณหมอจะวินิจฉัยว่าเธอเป็นระยะเริ่มแรกที่ยังสามารถดูแลได้ แต่คุณหมอก็ย้ำไม่ให้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เสี่ยงอันตรายกับกระดูกต้นคอ “คุณหมอสั่งงดให้หมดทุกอย่างค่ะ ทั้งโยคะ ไทเก๊ก ซึ่งเป็นกิจกรรมการออกกำลังกายที่เราทำเป็นประจำก็ต้องหยุด เพราะอาจจะซ้ำเติมการบาดเจ็บได้ ตอนนั้นอีกเพียงหนึ่งสัปดาห์ เราจะต้องไปเข้าคอร์สชีวจิตกับคุณแม่สามี ซึ่งมีกิจกรรมการรำกระบอง เวลานั้นคิดว่าเราจะทำอย่างไรดี เพราะเพิ่งจะป่วยโรคกระดูกคอเช่นนี้” นอกจากคำตอบที่ได้จากการเข้าคอร์สชีวจิตครั้งนั้นจะทำให้เธอหายกังวลใจแล้ว เธอยังค้นพบยาวิเศษที่ช่วยรักษาโรคหมอนรองกระดูกคออักเสบอีกด้วย เตะสุดชีวิตแก้หมอนรองกระดูกคออักเสบ “ใน ใจตอนนั้นเจ็บมากค่ะ เพราะยิ่งท่าจูบสะดือที่ต้องใช้ท่อนแขนทั้งสองข้างควบคุมการกลิ้งขึ้นและลง ของกระบอง เพื่อนวดคลึงต้นคอให้ครบสามด้าน ยิ่งปวดสุดยอดเลย แต่เราก็อดทน ปวดไปทำไป คืนแรกเรียกว่ากลับไปนอนระบมมากทีเดียว” ถึงแม้ความเจ็บปวดจะคงอยู่ไม่จางหาย แต่ในเช้าวันที่สองและสามของการเข้าคอร์สชีวจิต เธอก็ยังคงร่วมรำกระบองอย่างตั้งอกตั้งใจและทำตามทุกท่าทุกขั้นตอน เหมือนเช่นในวันแรก “หลังจากจบคอร์สครั้งนั้นแล้ว กลับมาบ้านเราก็ยังรำกระบองต่อทุกๆ เช้า วันละประมาณ 30 – 45 นาที ถึงแม้ยังไม่หายขาด แต่ก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองค่อยๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะท่าจูบสะดือ และ ท่าแหงนดูดาว ที่ช่วยบริหารกระดูกคอได้อย่างดี” คุณมาลีวรรณเล่าพลางสาธิตท่าแหงนดูดาวประกอบ คุณมาลีวรรณยังคงรำกระบองเป็นกิจวัตรประจำยามเช้า จนกระทั่งเวลาผ่านไปได้ 2 สัปดาห์ อาการปวดร้าวต้นคอและสะบักทั้งสองข้างที่เธอเคยเป็นก็ค่อยๆ ทุเลาลง จนในที่สุดหลังจากนั้นเวลา 1 เดือนผ่านไป อาการที่เคยเป็นทั้งหมดก็หายขาดไปเป็นปลิดทิ้ง คุณมาลีวรรณเปิดเผยเคล็ด (ไม่) ลับของการรำกระบองบำบัดป่วยให้ฟังอย่างอารมณ์ดีว่า “เราต้องรำกระบองด้วยความตั้งใจ ทำให้ครบทุกท่า เพราะมีความสำคัญในทุกๆ ท่า และทำอย่างสม่ำเสมอ พยายามทำให้ได้ทุกวัน หลายคนมักมีข้ออ้างที่ใช้เป็นเหตุผล เช่น ไม่มีเวลา ในความเป็นจริงเราทุกคนมีเวลาเท่าๆ กัน แต่เราไม่จัดเวลาให้ตัวเองมากกว่า ถ้าทุกๆ เช้าเราสร้างวินัยให้ตัวเอง โดยฝึกตัวเองให้แต่ตื่นเช้ามาออกกำลังกายจนเป็นอัตโนมัติ เราสามารถทำได้ และจะเห็นถึงความสำคัญของตัวเอง ทั้งเรื่องร่างกายและจิตใจ โดยที่ไม่ต้องรอให้แก่หรือเจ็บป่วยก่อน เพราะสุขภาพดีคือต้นทุนชีวิตที่ดีค่ะ” แต่ไม่เพียงแค่การรำกระบองชีวจิตเท่านั้นที่จะเป็นองค์ประกอบของต้นทุนชีวิต ที่ดีของคุณมาลีวรรณในวันนี้ หากยังหมายรวมถึงการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งร่างกายและจิตใจด้วยค่ะ “เดิมเคยมาเข้าคอร์สชีวจิตครั้งแรกเมื่อปี 2546 หลังจากนั้นปฏิบัติตัวตามบ้าง แต่ไม่ได้เคร่งครัด ถึงแม้ที่บ้านจะกินข้าวกล้องมานานแล้ว แต่เพิ่งปรับกินอาหารชีวจิตได้มากขึ้น หลังจากที่ได้พาคนในครอบครัวเข้าคอร์สชีวจิตในครั้งต่อๆ มา ทั้งคุณแม่สามี คุณพ่อของตัวเองที่ป่วยด้วยโรคอัมพฤกษ์ รวมทั้งสามีและลูกๆ” ทุกวันนี้คุณมาลีวรรณและครอบครัวได้เติมเต็มความสมบูรณ์ของสุขภาพร่างกาย ด้วยอาหารตามแนวชีวจิต อีกทั้งไม่ลืมดูแลเรื่องจิตใจด้วยการเข้าวัดทำบุญและฟังเทศน์เป็นประจำทุก วันอาทิตย์แล้ว และที่ขาดไม่ได้คือการออกกำลังกายด้วยการรำกระบองชีวจิต รำกระบองเพื่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัว “ปกติคนในครอบครัวจะออกกำลังกายทุกเช้าเป็นประจำ ยกเว้นถ้าวันไหนที่สามีติดธุระต่างจังหวัดหรือมีงานแต่เช้า เขาจะกลับมารำกระบองกับลูกๆ ที่บ้านในตอนเย็นแทน ส่วนคุณพ่อ ถึงแม้แขนขวาเขาจะใช้งานได้ไม่ค่อยถนัด แต่ท่านก็ตั้งใจทำทุกวัน” “ถ้าเทียบการรำกระบองกับการเดินในสวนสาธารณะหลายๆ รอบแล้ว ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดก็คือการรำกระบองเราจะได้เหงื่อท่วมตัวและหัวใจ เต้นเร็วมากกว่า โดยใช้เวลาน้อยกว่า นอกจากนี้กระบองยังใช้เป็นเครื่องมือแก้ปวดเมื่อยใช้นวดใช้คลึงตามจุดต่าง ที่ต้องการ ได้เคลื่อนไหวทุกส่วนทั่วทั้งตัว เป็นกิจกรรมของครอบครัวที่ให้ทั้งความสนุกเพลิดเพลินและสร้างสุขภาพดี ที่สำคัญเป็นอุปกรณ์หาง่าย ราคาประหยัด” คัดจากนิตยสารชีวจิต 249 |