ศิลปะการเห่เรือ การพายเรือพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเห่เรือของกษัตริย์ไทย เรื่องหายาก


1,033 ผู้ชม

เห่เรือ คือ ทำนองหนึ่งของการร้องหรือ ออกเสียงประกอบการให้จังหวะแก่ฝีพายในการพายเรือ


ศิลปะการเห่เรือ การพายเรือพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค การเห่เรือของกษัตริย์ไทย เรื่องหายาก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

.....

ศิลปะการเห่เรือ โดย นางสาวพิมพ์พรรณ ไพบูลย์หวังเจริญ

เห่เรือ คือ ทำนองหนึ่งของการร้องหรือ ออกเสียงประกอบการให้จังหวะแก่ฝีพายในการพายเรือ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่ง ในการพายเรือพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค ช่วยผ่อนแรงในการพายเรือระยะทางไกลๆ ได้อีกด้วย
วัตถุประสงค์ของการเห่เรือ
การเห่เรือในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดก็คือ การให้จังหวะแก่ฝีพายจำนวนมากในการพายเรือพระราชพิธีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคให้พร้อม- เพรียงเป็นระเบียบเรียบร้อย สง่างาม และ เป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกศิลปวัฒนธรรม ของชาติที่เกี่ยวกับพระราชประเพณีดั้งเดิมในการใช้กระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจของพระมหา-กษัตริย์ไทยให้คงอยู่สืบไป
การเห่เรือของคนไทยแต่โบราณน่าจะไม่ได้มีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหรือศาสนาแต่ประการใด หากแต่เป็นไป เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือปลุกเร้าฝีพายให้มีกำลังฮึกเหิม ไม่เหน็ดเหนื่อยง่าย อันจะส่งผลให้เกิดพลังและกำลังใจในการ ยกกระบวนพยุหยาตราเพื่อออกไปทำการ รณรงค์สงครามป้องกันพระราชอาณาเขต ดังปรากฏหลักฐานในลิลิตยวนพ่าย ความว่า
นอกจากนั้น ยังปรากฏหลักฐานว่ามีการเห่เรือในกระบวนทางชลมารค เพื่อความสำราญส่วนพระองค์ของเชื้อพระวงศ์ ตั้งแต่ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไป ดังบทเห่เรือที่เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรทรงพระนิพนธ์ขึ้นสำหรับเห่เรือพระที่นั่งของพระองค์ เมื่อตามเสด็จไปยังพระพุทธบาท สระบุรี บทเห่เรือบรรยายการโดยเสด็จออกจากกรุงศรีอยุธยาในตอนเช้าถึงท่าเจ้าสนุกในตอนเย็นพอดี
ประวัติความเป็นมาของการเห่เรือ
ต้นกำเนิดของการเห่เรือน่าจะมีที่มาได้เป็น ๒ ทาง ดังที่ปราชญ์โบราณได้กล่าวไว้ดังนี้ คือ
๑. เป็นกิจกรรมที่คนไทยคิดขึ้นเอง และน่าจะมีควบคู่มากับการใช้เรือยาวเป็นพาหนะ เมื่อต้องใช้กำลังคนจำนวนมากในการออกแรงพายเรือ จึงต้องมีจังหวะสัญญาณเพื่อให้ฝีพายพายไปพร้อมๆ กัน จะได้แรงส่งที่มากขึ้นด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานไว้ในนิทานโบราณคดี นิทานที่ ๖ เรื่อง ขานยาว ความว่า “...แต่เห่เรือเป็นประเพณีของไทย มิใช่ได้มาจากอินเดีย แต่มีมาเก่าแก่มากเหมือนกัน ข้อนี้พึงเห็นได้ในบทช้าละวะเห่ เป็นภาษาไทยเก่ามาก คงมีบทเห่อื่นที่เก่าปานนั้นอีก แต่คนชั้นหลังมาชอบใช้บทเห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร... บทเก่าก็เลยสูญไป เหลือแต่ ช้าละวะเห่...”
๒. เป็นกิจกรรมที่ไทยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย เนื่องจากมีคำศัพท์หลายคำในพิธีการเห่เรือที่เป็นคำภาษาอื่น สมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานไว้ในอธิบายตำนานเห่เรือ ความว่า
“เวลาพายเรือข้ามแม่น้ำคงคา มีต้น บทคนหนึ่งชักบทเป็นภาษาสันสกฤตขึ้นด้วยคำว่า “โอมรามะ” แล้วว่าอะไรต่อไปอีกแต่ข้าพเจ้าไม่เข้าใจ พอหมดบท ฝีพายทั้งลำก็รับเสียงดัง “เย่อว” พร้อมกัน...ได้ความดังนี้ จึงสันนิษฐานว่า เห่เรือหลวงนั้นเห็นจะเป็นมนตร์ในตำราไสยศาสตร์ ซึ่งพวกพราหมณ์พาเข้ามาแต่ดึกดำบรรพ์ เดิมก็คงจะเห่เป็นภาษาสันสกฤต แต่นานมาก็เลือนไปจึงกลายเป็น “เหยอวเย่อว” อย่างทุกวันนี้ แต่ยังเรียกในตำราว่า “สวะเห่” “ช้าละวะเห่” และ “มูลเห่” พอได้เค้าว่ามาแต่อินเดีย”
นอกจากนั้นแล้ว ประยูร พิศนาคะ (ป. อังศุละโยธิน) ก็ได้สันนิษฐานไว้ในทำนองเดียวกันว่า ชาติไทยคงได้รับแบบแผนการ เห่เรือมาจากอินเดีย โดยพวกพราหมณ์นำเข้ามาสู่ประเทศไทยเมื่อครั้งโบราณ ดังนั้น ข้อสันนิษฐานเรื่องที่มาของการเห่เรือจึงอาจ เป็นได้ทั้ง ๒ ทาง กล่าวคือ ถ้าเป็นการพาย เรือเล่นก็เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนไทย หากเป็นการพายเรือหลวงก็อาจใช้รูปแบบและพิธีกรรมมาจากอินเดียก็ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาต่อไปให้ลึกซึ้ง ประเพณีการเห่เรือของไทยแสดงความเก่าแก่สืบทอดมายาวนาน จนแสดงความเป็นไทยได้อย่างแจ่มชัด และสะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนไทยที่ผูกพันกับสายน้ำ มีการติดต่อสัญจรทางน้ำ และสร้างความบันเทิงในขณะประกอบกิจกรรมทางน้ำเพื่อความพร้อมเพรียงและผ่อนคลายไปในเวลาเดียวกัน จนพัฒนากลายเป็นพิธีกรรมที่ขรึมขลังในปัจจุบัน

ที่มา สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 30

อัพเดทล่าสุด