การเจริญเติบโต นอกจากการเจริญเติบโตของร่างกายแล้ว เราอาจจะสังเกตได้ว่าเราสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น อ่านหนังสือได้ ท่องสูตรคูณ แต่งกายด้วยตนเองได้ เป็นต้น และสามารถควบคุมอารมณ์ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เรียกว่า พัฒนาการคนทุกคนที่เกิดขึ้นมาจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราจะสังเกตเห็นความแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ ดังนี้ วัยก่อนคลอด คือ ช่วงตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้นมาในท้องแม่จนถึงคลอด ในช่วงนี้โครงสร้างของร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ จะเริ่มก่อตัวขึ้น แล้วจะมีการเจริญเติบโตทางกายอย่างรวดเร็วมาก และจะได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมต่าง ๆไวมาก เช่น เมื่อแม่รู้สึกเครียด ลูกในท้องก็จะรู้สึกตามไปด้วย วัยทารก คือ ช่วงอายุตั้งแต่คลอดจนถึงช่วงอายุประมาณ ๓ ปี เด็กในวัยนี้จะมีพัฒนาการทางกาย และทักษะการเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เช่น ในช่วง ๔ เดือนแรก ปริมาณน้ำหนักจะเพิ่มขึ้น เป็น ๔ เท่าของแรกเกิด เด็กในวัยนี้แม้จะยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แต่ก็มีความสามารถในการเรียนรู้และจดจำสิ่งใหม่รอบ ๆ ตัว เข้าใจภาษาพูดและมีทักษะในการพูดเร็วมาก เริ่มมีความสนใจในเด็กคนอื่น ๆ และมีความผูกพันกับพ่อแม่มาก วัยเด็กตอนต้น หรือ ปฐมวัย คือ ช่วงอายุตั้งแต่ ๓ – ๖ ปี เด็กในวัยนี้จะมีกล้ามเนื้อที่พัฒนาขึ้นมาก สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัวในท่าต่าง ๆ ได้ดีขึ้น รู้จักช่วยตัวเองและดูแลตัวเองเพิ่มขึ้น เด็กในวัยนี้จะสามารถแสดงอารมณ์ได้หลากหลายทั้งอารมณ์รัก โกรธ เศร้า เหงา โดยเด็กจะสามารถปรับเปลี่ยนอารมณ์และระงับอารมณ์ได้บ้าง เด็กจะเริ่มรู้จักคบเพื่อน รู้จักการเล่นต่าง ๆ รวมทั้งใช้จินตนาการในการเล่นสมมุติ โดยมักจะเป็นเรื่องภายในครอบครัวซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ครอบครัวยังมีความสำคัญต่อเด็กวัยนี้ วัยเด็กตอนกลาง หรือวัยเรียน คือ ช่วงอายุ ๖ – ๑๒ ปี เด็กในวัยนี้สามารถใช้กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กพัฒนา มีพละกำลังมาก ชอบเคลื่อนไหวมีการประสานงานในระบบประสาทและการเคลื่อนไหวทำให้ทำงานสอดคล้องกันได้ เช่น ตีเทนนิสได้ ซึ่งเป็นการประสานการทำงานระหว่างมือและตา เด็กในวัยนี้จะมีความสามารถทางความคิด มีความจำและความสามารถด้านภาษามากขึ้น ทำให้เรียนวิชาต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจ และเริ่มเห็นความสำคัญของการมีเพื่อน วัยรุ่น คือ ช่วงอายุตั้งแต่ ๑๓ – ๑๙ ปี ในวัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายมากและมีลักษณะของแต่ละเพศอย่างชัดเจน เช่น แขนและขายาว มีขนขึ้นตามร่างกาย เพศหญิง มีหน้าอกขยายและมีประจำเดือน เป็นต้น เด็กวัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์อย่างรวดเร็วมาก เช่น รักง่าย โกรธง่าย เป็นต้น จนเกิดความสับสนว่าตนเองต้องการอะไรจึงต้องค้นหาตนเองเป็นสำคัญ วัยรุ่นนิยมคบเพื่อนเป็นกลุ่ม เพื่อนจึงมีอิทธิพลต่อเด็กในทุกด้านและวัยรุ่นยังต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนๆ ทำให้เกิดพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่อาจไม่เข้าใจ จนนำไปสู่การเกิดปัญหาช่องว่างระหว่างวัยได้ วัยผู้ใหญ่ คือ ช่วงอายุ ๒๐ – ๖๐ ในช่วงต้นของวัยจะมีพัฒนาการทางด้านร่างกายอย่างเต็มที่แต่ในช่วงท้ายของวัย หรือที่เรียกว่า วัยทอง ร่างกาย จะเริ่มเสื่อมสภาพลง ในวัยผู้ใหญ่ จะมีกระบวนการคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น เริ่มรู้จักคิดไตร่ตรองมากขึ้น คนในวัยนี้มีบทบาทหน้าที่ของพ่อแม่ ทำให้มีความรับผิดชอบมากขึ้นและเมื่อถึงช่วงท้ายของวัย อาจกังวลกับความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตได้ จนทำให้เกิดความแปรปรวนทางอารมณ์ วัยผู้สูงอายุ หรือ วัยชรา ในช่วงวัยนี้การทำงานของอวัยวะเริ่มเสื่อมลง เช่น ผิวหนังเหี่ยว ฟันหลุด เป็นต้น สติปัญญาและความจำเริ่มเสื่อมลง ผู้ที่อยู่ในวัยนี้จะมีบทบาทหน้าที่ลดลง จนทำให้เกิดความรู้สึกขาดคุณค่าในตนเอง แล้วยังต้องเผชิญกับความตายของผู้เป็นที่รักจนอาจทำให้เกิดความซึมเศร้าดังนั้น ผู้ที่อยู่ในวัยนี้จึงควรเรียนรู้ที่จะปรับตัวเองเพื่อเผชิญกับการสูญเสียต่าง ๆ ได้ นักเรียนสามารถดูแลการเจริญเติบโตและพัฒนาการของตนเองได้โดยการวัดส่วนสูงและชั่งน้ำหนัก แล้วนำไปเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงการสังเกตการทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น คิดเลขในใจวาดภาพ คัดตัวหนังสือ เป็นต้น ถ้านักเรียนมีน้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถปฎิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ได้ แสดงว่านักเรียนมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมวัย แต่ถ้านักเรียนมีพัฒนาการที่ไม่ดีขึ้น นักเรียนควรปรับปรุงแก้ไข เช่น ควรลดกินขนมหวานและหมั่นออกกำลังกาย เป็นต้น การรู้จักปรับปรุงแก้ไขการเจริญเติบโตและพัฒนาการ จะทำให้เรามีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี |
ที่มา www.trueplookpanya.com |