พู่กันของสง่า มะยุระ รู้ไหมว่าท่านคือใคร หาคำตอบได้จากที่นี่


1,069 ผู้ชม

สง่า  มะยุระ เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ที่ อ. ศรีประจันต์ จ. สุพรรณบุรี


พู่กันของสง่า มะยุระ รู้ไหมว่าท่านคือใคร หาคำตอบได้จากที่นี่
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

.....

สง่า  มะยุระ เกิดเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ ที่ อ. ศรีประจันต์ จ. สุพรรณบุรี ศึกษาวิชาสามัญที่โรงเรียนวัดสัปรสเทศ พร้อมกับฝึกวิชาวาดเขียนมาตั้งแต่เด็กกับอาจารย์อู๋  ที่วัดมะนาว อ. บางปลาม้า จ. สุพรรณบุรี ต่อมาได้มาอยู่กับอาจารย์ม้วนที่วัดสุวรรณาราม  คลองบางกอกน้อย ธนบุรี  จึงได้มีโอกาสเรียนวาดเขียนกับครูสอิ้งที่อยู่ข้างวัดนั้น  ครูสอิ้งพาไปช่วยเขียนลายรดน้ำที่หน้าต่างพระวิหารวัดพระเชตุพนฯ  ต่อมาได้ไปสมัครทำงานเขียนพานแว่นฟ้ากับคุณผิน และเขียนตู้พระมาลัยที่วัดมหาธาตุ

     สง่า มะยุระ ได้รู้จักกับหลวงเจนจิตรยง ช่างเขียนอันลือชื่อในสมัยนั้น  ท่านชวนให้ไปช่วยเขียนลายบนโถกะยาคู โดยเอาฟักทองมากลึงให้เหมือนโถและจะต้องให้เสร็จในวันเดียว  มิฉะนั้นฟักทองจะเหี่ยว ทั้งสองท่านช่วยกันเขียนจนเสร็จ หลวงเจนจิตรยงชมฝีมือว่าดี  จึงชวนให้ไปช่วยเขียนที่วัดสุวรรณคีรีในคลองบางกอกน้อย โดยมอบหมายให้เขียนลายรดน้ำที่บานประตูหน้าต่างโบสถ์  ตอนนั้นหลวงเจนฯ  ท่านชราภาพมาก เมื่อเห็นว่าเขางานแข็งดีจึงมอบหมายให้เขียนทั้งหมด  นายสง่าต้องใช้เวลาเขียนถึงสี่เดือนจึงเสร็จ

     ต่อมาได้รับเหมาเขียนพานแว่นฟ้าและตู้พระมาลัยให้นายอู๊ด  ช่างหล่อ  และส่งขายที่ร้านแถวเสาชิงช้า  ระยะนี้ต้องทำงานหนักมาก  โดยเริ่มลงมือทำการเขียนตั้งแต่เช้าตลอดไปจนดึกดื่นจึงวางมือ เมื่อเขาอายุครบบวช  มารดาจึงจัดการบวชให้  โดยจำพรรษาที่วัดสุวรรณาราม  ธนบุรี

     ในระยะที่บวชสองพรรษานั้น นายสง่าได้มีโอกาสเข้าไปเขียนภาพรามเกียรติ์ที่พระระเบียงวัตพระศรีรัตน ศาสดารามโดยมีพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลป์ไชย) เป็นผู้อำนวยการเขียนภาพที่นั่น เขาได้ฝากฝีมือไว้บนผนังพระระเบียงอันเป็นที่ยกย่องกันมาก หลังจากลาสิกขาแล้วก็มาตั้งร้านขายเครื่องดื่มที่หลังโรงพยาบาลศิริราช โดยให้บิดาเป็นผู้ขาย  ส่วนตนเองไปทำงานประจำที่ร้านคณะช่าง  อันเป็นร้านช่างเขียนรับงานเขียนต่าง ๆ และทำบล็อกด้วย  ทำงานอยู่ร้านคณะช่างได้สองปีก็ลาออก และไปทำงานที่โรงพิมพ์บุญครอง

     สง่าสมรสเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ แล้วเลยคิดว่าจะตั้งตนด้วยการทำพู่กันขาย เขาพากเพียรแก้ไขดัดแปลงพู่กันจนดีได้ระดับมาตรฐาน  กิจการของเขาดำเนินมาด้วยดี นับวาเป็นโรงงานทำพู่กันแห่งแรกของเมืองไทย

     เนื่องจาก สง่า มะยุระ ได้เคยร่วมงานเขียนภาพที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามกับพระเทวาภินิมมิ ต  ซึ่งคุณพระก็ได้ช่วยแก้ไขติชมให้ตลอด เขาจึงมีความเคารพและนับถือคุณพระเป็นครูตลอดมา สมัยต่อมาเมื่อภาพเขียนที่วัดพระแก้วเกิดชำรุดเสียหายมาก  แม้ว่าเขาจะชราภาพมากก็ได้มีโอกาสเข้าไปช่วยเขียนซ่อม บางห้องก็เขียนใหม่ทั้งหมดจนสำเร็จ

     ผลงานของ สง่า มะยุระ มีอยู่หลายแห่ง เช่น ออกแบบลวดลายตกแต่งหน้าบัน ซุ้มประตูหน้าต่างให้พระอุโบสถวัดราชบูรณะ เชิงสะพานพุทธ ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ และยังออกแบบให้วัดสัตหีบและวัดกอไผ่ที่อยุธยาเป็นต้น ระยะหลังนี้เขามีฐานะมั่นคงร่ำรวยจากกิจการค้าโรงงานทำพู่กัน เขาจึงช่วยทำงานแก่พระพุทธศาสนาโดยไม่รับเงินค่าจ้างเลย  บางครั้งถ้าทางวัดขาดแคลนเงินก็ยังช่วยทำบุญร่วมด้วย

     สง่า มะยุระ ถึงแก่กรรมวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๑ นับว่าเขาเป็นจิตรกรรุ่นเก่าที่มีอาชีพเป็นจิตรกรมาตลอด และตั้งตัวได้ด้วยความพากเพียร ละด้วยฝีมือโดยแท้

     ข้อมูลที่เล่ามานี้ “ซองคำถาม” ได้มาจากหนังสือ พจนานุกรมศิลป์ ของสำนักพิมพ์เมืองโบราณ

“ข้อมูลสนับสนุนจากหนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”
สำเนามาจากเว็บไซต์ สนุก.คอม


อัพเดทล่าสุด