รวม 10 โปรแกรมสามัญประจำ NetBook คุณต้องลอง แนะนำ 10 โปรแกรมเด็ดทีี่ต้องมีใน netbook


1,141 ผู้ชม


เมื่อพูดถึงคอมพิวเตอร์พกพาที่มีขนาดเล็กกว่าเครื่องแลปทอปทั่วไป ณ วันนี้ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักกับ NetBook หรือ Mini NoteBook นิยามใหม่ของคอมพิวเตอร์บนฝ่ามือ ซึ่งล่าสุดนั้นโน้ตบุ๊กจิ๋วเหล่านี้ก็ถูกเสริมกำลังด้วยชิปประมวลผล Intel Atom เพื่อให้มีศักยภาพในการรองรับงานต่างๆ ได้มากขึ้น

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้เหล่าสมองกลบนฝ่ามือจะมีชิปตัวใหม่มาคอยขับเคลื่อน แต่บรรดาโปรแกรมต่างๆ ที่ผู้ใช้นำมาติดตั้งลงในเครื่อง ล้วนเป็นโปรแกรมที่รันอยู่บนเครื่องพีซี หรือไม่ก็โน้ตบุ๊กทั่วไปแทบทั้งสิ้น ซึ่งส่งผลร้ายกับโน้ตบุ๊กจิ๋วพวกนี้อย่างมาก เพราะมันต้องแบบรับภาระหนักจากโปรแกรมเหล่านี้ และเพื่อให้ทุกท่านที่มี NetBook ได้สัมผัสกับความเร็วในการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ผมมีโปรแกรมสำหรับโน้ตบุ๊กจิ๋วนี้มาฝากกัน 10 โปรแกรมครับ และที่สำคัญเป็นฟรีแวร์ครับ นั่นก็คือ สามารถใช้งานได้เต็มรูปแบบ ไม่ต้องเสียเงินแม้แต่แดงเดียว ถ้าไม่รีบหามาติดตั้งระวังจะเสียใจครับ อิอิ (*-*)/

1. Ubuntu Netbook Remix
สำหรับ โปรแกรมแรกที่นำมาฝากกันก็คือ ระบบปฏิบัติการ Ubuntu for Netbook ครับ ถึงแม้ว่าผู้ผลิต Netbbok หลายๆ ยี่ห้อ จะติดตั้งระบบปฏิบัติการมาพร้อมเครื่องอย่าง Windows, Xandros, Linpus Linux, gOS และ SUSE ก็ตาม แต่เชื่อว่ามีผู้ใช้หลายคนเริ่มเบื่อหน้าตาโอเอสพวกนี้กันบ้างแล้ว และถ้าคุณเคยใช้ระบบปฏิบัติการที่ชื่อ Ubuntu บนเครื่องพีซีหรือโน้ตบุ๊กทั่วไปมาบ้าง คงยังจำความประทับใจในเรื่องความคล่องตัวและความเร็วของโอเอสตัวนี้ได้ ตอนนี้ บริษัท Canonical ได้จัดทำ Ubuntu เวอร์ชันพิเศษที่ชื่อว่า Ubuntu Netbook Remix

สำหรับเครื่อง Netbook OEM ขึ้นมา ซึ่งรองรับชิปประมวลผล Atom รวมถึงออปติไมซ์ให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ลงตัวกับเครื่อง Netbook อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนโหมดแสดงผลที่ละเอียดขึ้นสำหรับหน้าจอขนาด 10 นิ้ว การจัดวางโปรแกรมอรรถประโยชน์ต่างๆ บนหน้าเดสก์ทอปที่ดูเหมาะสมกับจอภาพขนาดเล็กได้อย่างลงตัว สำหรับ Ubuntu เวอร์ชันนี้เป็นซอฟต์แวร์ OEM สำหรับผู้ผลิต Netbook ที่สนใจ ไม่แจกจ่ายทั่วไป แต่ทว่าก็ไม่พ้นความสามารถของเซียนโอเพ่นซอร์สทั้งหลายที่ได้หาวิธีนำมาลงบน เครื่อง Netbook รุ่นต่างๆ ได้แล้ว

โดยคุณต้องไปดาวน์โหลด Ubuntu 8.04 (ดาวน์โหลดได้ที่ : https://www.ubuntu.com/getubuntu/download)

ส่วนรายละเอียดในการติดตั้ง Unbuntu Remix สามารถเข้าไปดูวิธีการได้ที่ https://www.ubuntuclub.com/node/846

2. OpenOffice 3.0
หาก โปรแกรมชุดไมโครซอฟต์ออฟฟิศ เป็นอันดับหนึ่งบนระบบวินโดวส์ ฝั่งโอเพ่นซอร์สคงต้องยกให้ OpenOffice ด้วยเช่นกัน แต่ ณ วันนี้ โปรแกรม OpenOffice ที่เป็นเวอร์ชันบนวินโดวส์ก็มีความสามารถไม่แพ้กันเลย สำหรับผู้ใช้ Netbook ถ้าคุณหวังว่าจะลง Office XP หรือ Office 2007 บนเครื่อง Netbook โดยหวังว่ามันจะทำงานวิ่งฉิวเหมือนบนพีซีละก็ ขอบอกว่าไม่เป็นเช่นนั้นแน่ เพราะนอกจากจะกินพื้นที่การติดตั้งโปรแกรมมากแล้ว ยังใช้ทรัพยากรต่างๆ ของระบบมากพอตัว ซึ่งประสิทธิภาพการทำงานของ Netbook ตอนนี้ ยังไม่อาจตอบสนองได้อย่างที่คุณต้องการ

แต่สำหรับโปรแกรม OpenOffice 3.0 ถูกออกแบบมาเพื่อระบบฮาร์ดแวร์ที่ไม่ต้องการสเปกสูงมากนัก ทำให้ผู้ใช้สามารถทำงานกับพวกสเปรดชีตและงานเอกสารต่างๆ ได้คล่องตัวกว่า OpenOffice 3.0 มีโปรแกรมย่อยที่ชื่อ Writer ทำงานเอกสารได้เหมือนกับ Words โปรแกรม Calc สำหรับงานเปรดชีตที่คล้ายคลึงกับ Excel ส่วนงานพรีเซนเตชันที่ไม่แพ้ PowerPoint ก็ต้องพึ่งโปรแกรม Impress และงานฐานข้อมูลต่างๆ ก็ต้องยกให้เป็นหน้าที่ของโปรแกรม Base ที่เป็นคู่แข่งของ Access เป็นสามโปรแกรมหลักๆ ที่เพียงพอสำหรับการใช้งานขั้นพื้นฐานบน Netbook อ้อ! เกือบลืมเรื่องสำคัญไปครับ คุณสามารถออปติไมซ์การทำงานของโปรแกรม OpenOffice ให้เหมาะกับทรัพยากรบนเครื่อง Netbook ได้

ส่วนวิธีการนั้นไปอ่านได้ที่เว็บไซต์ https://asuseeehacks.blogspot.com/2008/08/speeding-up-openoffice.html

สำหรับโปรแกรม OpenOffice 3.0 สามารถดาวนโหลดได้ที่ : https://www.softpedia.com/get/Office-tools/Office-suites/OpenOfficeorg-for-Windows.shtml

3. Foxit Reader 3.0

แฟนๆ Acrobat Reader ที่ต้องการอ่านไฟล์เอกสาร PDF บนเครื่อง Netbook อาจผิดหวังกับความเร็ว เมื่อต้องเปิดหน้าเอกสาร PDF ที่มีขนาดไฟล์ใหญ่ๆ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากตัวโปรแกรมใช้ทรัพยากรของเครื่องไปมากพอตัว ทำให้แสดงอาการกระตุกให้เห็น ถึงแม้คุณจะลงเวอร์ชัน Lite แล้วก็ตาม แต่นั่นก็เป็น Lite สำหรับพีซีและโน้ตบุ๊กทั่วไป Foxit Reader 3.0 ทางเลือกใหม่ในการอ่านเอกสาร PDF บนโน้ตบุ๊กจิ๋ว โปรแกรมที่ขึ้นชื่อเรื่องความเร็วในการเปิดหน้าเอกสาร PDF ซึ่งมีขนาดโปรแกรมที่เล็กเพียง 3.7 เมกะไบต์ ไม่เปลืองพื้นที่การติดตั้ง ตัวโปรแกรมมีฟังก์ชันในการแปลงเอกสาร PDF ไปเป็น Text File อื่นๆ ด้วย และในเวอร์ชัน 3.0 นี้ ยังเพิ่มระบบความปลอดภัยของเอกสารลงไปด้วย ส่วนทูลอื่นๆ ในโปรแกรมก็ถือว่าไม่แพ้ Acrobat เข่นกัน เอาเป็นว่าใครที่ใช้ Nebook รีบไปดาวน์โหลดฟรีเวอร์ชันจากเว็บไซต์ https://www.foxitsoftware.com/pdf/rd_intro.php มาใช้งานกันได้เลยครับ ไม่แน่ว่าคุณอาจจะลืมโปรแกรมตัวเก่าไปเลย!!!

4. FireFox

หาก Google Chrome ที่เป็นเวอร์ชันสำหรับลินุกซ์และโอเพ่นซอร์สอื่นๆ ออกมาเมื่อไร โปรแกรมในหมวดเว็บบราวเซอร์สำหรับ Netbook คงไม่ได้มีแค่จิ้งจอกไฟที่ชื่อ FireFox แน่ เพราะด้วยคุณสมบัติหลายอย่างที่ดีพอ และเหมาะสมสำหรับโน้ตบุ๊กจิ๋ว จึงต้องเว้นที่ว่างไว้สำหรับ Google Chrome ด้วย แต่ชั่วโมงนี้คงต้องยกความดีให้กับ FireFox ไปก่อน เพราะไม่ว่าจะรันบนแพลตฟอร์มไหน เล็กหรือใหญ่ FireFox ก็ยังคงได้รับความไว้วางใจให้เป็นเว็บบราวเซอร์ตัวโปรดที่คนส่วนใหญ่เลือก ใช้และไว้วางใจ

สำหรับผู้ใช้ Netbook ก็เข่นเดียวกัน การติดตั้ง FireFox 3.0 ไม่ได้ทำให้เครื่องคุณช้าลงอย่างที่คิด ถึงแม้ในช่วงแรกผู้ใช้หลายคนจะพบปัญหาเรื่องการแสดงผลบนหน้าเว็บเพจ แต่หลังจากปรับแต่ง FireFox ให้เข้ากับทรัพยากรระบบที่มี เว็บบราวเซอร์ตัวนี้ก็วิ่งฉิวไม่แพ้บนพีซีเลยเช่นกัน สำหรับผู้ที่ต้องการจูนอัพ ปรับสปีด FireFox คุณสามารถดูรายละเอียดในรูปแบบคลิปวิดีโอได้ที่ Youtube.com โดยค้นหาด้วยคีย์เวิร์ด “Speed Up FireFox” ส่วนโปรแกรม FireFox เวอร์ชันล่าสุด (3.1 Beta)

สามารถดาวน์โหลดได้ที่ : https://www.softpedia.com/get/Internet/Browsers/Mozilla-Firefox-Final.shtml

5. VLC Media Player

ถ้า คุณจะดูหนังบน Netbook ด้วยโปรแกรมตัวเดียวกับที่ใช้บนพีซีละก็ หากไม่ใช่โปรแกรมตัวเล็กๆ ที่กินทรัพยากรเครื่องน้อยๆ ละก็ ขอบอกเลยว่า Netbook ของคุณจะทำงานได้ช้าลงแน่ VLC Media Player เป็นโปรแกรมเล่นไฟล์มีเดีย ทั้งวิดีโอ ออดิโอ ที่มาจากฝั่งโอเพ่นซอร์ส ซึ่งการันตีในเรื่องการใช้ทรัพยากรของเครื่องน้อย และมีขนาดไฟล์ไม่ใหญ่

ถ้า คุณเคยใช้ Windows Media Classic ที่มากับชุด Codec ของโปรแกรม K-Lie ตัวนี้จะมีขนาดเล็กกว่า แถมคุณสมบัติก็ไม่ธรรมด้วย โดยรอบรองฟอร์แมตวิดีโอ/ ออดิโอ ได้เกือบทุกชนิด จุดเด่นของโปรแกรมตัวนี้นอกจากขนาดกะทัดรัดแล้ว ยังสนับสนุนการทำสตรีมมิ่งวิดีโอ/ออดิโอ ได้อีกด้วย ซึ่งรองรับโพรโตคอลสื่อสารอย่าง IPV6 ทำ Video LAN ขนาดย่อมๆ ในวงแลนของคุณได้เลย ที่สำคัญยังเป็นโอเพ่นซอร์สที่แจกจ่ายโค้ดโปรแกรมสำหรับผู้ที่ต้องการนำไป พัฒนาต่ออีกด้วย มีให้เลือกทั้งเวอร์ชันบนวินโดวส์ แมคฯ และลินุกซ์

สนใจเข้าไปดาวน์โหลดโปรแกรมและโค้ดได้ที่ https://www.videolan.org/vlc/

 

6. 7-Zip
7-Zip โปรแกรมโคตรซิป คู่แข่ง WinRAR และ WinZIp ที่คุณไม่ต้องเสียเงินซื้อ เพราะเป็นฟรีแวร์ที่แจกให้ใช้งานกันฟรีๆ จุดเด่นของ 7-Zip ก็คือ มันสามารถเปิดไฟล์ซิปได้ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น 7z, ZIP, GZIP, BZIP2, TAR, RAR, CAB, ISO, ARJ, LZH, CHM, MSI, WIM, Z, CPIO, RPM, DEB แ ละ NSIS ในเว็บไซต์ผู้ผลิตระบุคุณสมบัติของโปรแกรมตัวนี้ว่าสามารถบีบอัดไฟล์โดยมี อัตราส่วนที่มากกว่าทั้ง WinZIp และ WinRAR อยู่พอสมควร อันนี้ต้องไปลองใช้กันเองครับถึงจะรู้ว่าสมราคาคุยหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีขาดไฟล์ติดตั้งที่ไม่ใหญ่ด้วย ใช้ทรัพยากรเครื่องน้อยเวลาทำงาน จึงเหมาะกับการนำมาใช้บนโน้ตบุ๊กจิ๋วอย่าง Netbook ได้สบาย

สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดฟรีแวร์ตัวนี้ได้ที่ https://www.7-zip.org/

7. JkDefrag Portable
เมื่อ ถึงเวลาที่คุณต้องจัดเรียงข้อมูลในฮาร์ดดิสก์หรือ SSD Drive บนเครื่อง Netbook นั้น การใช้โปรแกรม Defrag ที่อยู่บนวินโดวส์ หรือโปรแกรม Defrag อื่นๆ ที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อระบบพอร์ตเทเบิล เครื่องจะอยู่ในสภาวะโหลด และแทบจะใช้งานอะไรไม่ได้เลยในระหว่างที่มีการจัดเรียงข้อมูล สำหรับ JkDefrag Portable เป็นโปรแกรมจัดเรียงข้อมูลรวมถึงซ่อมแซมโครงสร้างไฟล์ระบบที่เสียหายได้อีก ด้วย ตัวโปรแกรมมีขนาดเล็กไม่ถึง 1MB แต่ก็มีระบบกราฟิกเอาไว้ติดต่อกับผู้ใช้ สนับสนุนการใช้งานกับฮาร์ดดิสก์ขนาดใหญ่ และรองรับไฟล์ขนาดใหญ่ของแพลตฟอร์ม 64-บิต ด้วยเช่นกัน คุณสามารถเซฟโปรแกรม JKDefrag ใส่แฟลชไดรฟ์ เครื่องเล่น iPod แผ่นซีดี หรือสื่อเก็บข้อมูลอื่นๆ แล้วนำไปใช้งานได้กับทุกเครื่อง ทั้งพีซี โน้ตบุ๊ก และ Netbook

สามารถดาวน์โหลดยูทิลิตี้ตัวนี้ได้ที่ : https://www.freewarefiles.com/JkDefrag-Portable_program_43698.html

8. InfraRecorder Portable

โปรแกรม เบิร์นแผ่นอย่าง Nero และ Alcholhol120% อาจจะไม่เหมาะกับโน้ตบุ๊กเครื่องเล็กๆ อย่าง Netbook เพราะใช้พื้นที่ติดตั้งโปรแกรมมาก อีกทั้งเวลาใช้งานทรัพยากรของเครื่องจะถูกโหลดการทำงานมากขึ้น สำหรับผู้ใช้ Netbook ที่มีเครื่อง DVD Writer แบบติดตั้งภายนอกอยู่ด้วย ผมแนะนำให้ใช้โปรแกรมที่ชื่อ InfraRecorder Protable แทนครับ ตัวโปรแกรมถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มแบบพอร์ตเทเบิลได้อย่างลง ตัว ตั้งแต่พวกเครื่อง UMPC จนมาถึง Netbook คุณสมบัติของโปรแกรมนั้นเรียกได้ว่าเกินตัวครับ ไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชันการใช้งานพื้นฐานทั่วไป การรองรับไฟล์ในฟอร์แมตต่างๆ ทั้งดาต้าทั่ว วีดิโอ/ออดิโอ (เซฟแทร็กออดิโอไปเป็นไฟล์ .wav, .wma, .ogg, .mp3 และ .iso) สนับสนุน DVD-Dual Layer นอกจากนี้หากต้องการ Rip MP3 คุณสามารถดาวน์โหลดปลั๊กอินเสริมลงไปได้ เท่าที่ดูจากคุณสมบัติต่างๆ ต้องยกนิ้วให้เลยครับ เป็นโปรแกรมเบิร์นแผ่นที่เล็กพริกขี้หนูจริงๆ

ดาวน์โหลดได้ที่ : https://www.download.com/InfraRecorder-Portable/3000-2646_4-10836498.html

9. Cornice Portable

โปรแกรม ดูภาพสำหรับแพลตฟอร์มพอร์ตเทเบิลที่มีคุณสมบัติไม่แพ้โปรแกรมตัวใหญ่ๆ อย่าง ACDSee ด้วยขนาดไฟล์ติดตั้งทั้งหมดเพียง 6MB แต่อัดแน่นด้วยฟังก์ชันใช้งานที่เพียบพร้อม เช่น การจัดเรียงภาพในลักษณะ Thumbnail ที่ไม่ต้องรอโหลดภาพนานเหมือนกับโปรแกรมบางตัว ระบบซูมภาพเข้า-ออก ที่ไม่ทำให้เครื่อง Netbook ของคุณต้องโหลดนาน สามารถทำสไลด์ โชว์ จากภาพที่เก็บไว้ในเครื่องได้ทันที นอกจากนี้หากคุณมีไฟล์ภาพที่เก็บอยู่ในเครื่องเล่น ipod ที่เชื่อมต่อกับ Netbook แล้วละก็ คุณสามารถใช้โปรแกรมเข้าถึงไฟล์ภาพเพื่อเรียกขึ้นมาดูได้อีกด้วย สำหรับโปรแกรมดูภาพและจัดการภาพนี้ ถือเป็นหนึ่งในโปรแกรมสามัญประจำเครื่องคอมพ์แทบทุกเครื่อง ซึ่งเครื่อง Netbook ก็เช่นเดียวกัน หากคุณต้องการเปิดภาพขึ้นมาดูอย่างราบรื่น ไม่มีสะดุด ลองติดตั้ง Cornice Portable ลงไปใน Netbook ของคุณดูครับ

โดยสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรีๆ จากเว็บไซต์ : https://cornice-portable.10001downloads.com/
 
10. ClamWin Portable
ปัญหา อย่างหนึ่งของผู้ใช้ Netbook คือ ไม่รู้ว่าจะเลือกใช้โปรแกรมแอนติไวรัสตัวไหนดี เพราะส่วนใหญ่ที่มีนั้นก็เป็นแอนติไวรัสที่รันอยุ่บนเครื่องพีซีและโน้ตบุ๊ก ทั่วไป อัดแน่นด้วยฟีเจอร์ใช้งานมากมาย แน่นอนว่าเขมือบทรัพยากรของเครื่องมากด้วย หากติดตั้งโปรแกรมแอนติไวรัสพวกนี้ลงในเครื่อง Netbook ที่มีทรัพยากรจำกัดแล้วละก็ แอนติไวรัสจะทำให้เครื่องของคุณอืดไปเลย

แต่ สำหรับ CalmWin Antivirus นั้นตรงกันข้ามครับ มันสามารถป้องกันไวรัสและสปายแวร์ต่างๆ ได้ดีพอตัวเลย มีความรวดเร็วในการทำงานสูง ตัวโปรแกรมนั้นจะได้รับการอัพเดตฐานข้อมูลไวรัสจากเว็บไซต์ผู้ผลิตทุกครั้ง ที่คุณเปิดเครื่องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต หรือทุกครั้งที่มีไฟล์อัพเดตออกมาใหม่ เนื่องจากมันถูกออกแบบมาเพื่อระบบฮาร์ดแวร์ที่ค่อนข้างจำกัด การสแกนค้นหาไวรัสจึงต้องทำแบบแมนนวล นั่นคือผู้ใช้ต้องสร้างตารางเวลาสำหรับการสแกนไวรัสขึ้นมา โดยมันจะไม่มีระบบสแกนแบบเรียลไทม์มาให้ สำหรับผู้ที่ต้องกรนำไปติดตั้งบน Netbook

สามารถดาวน์โหลดได้ที่ : https://www.download.com/ClamWin-Portable/3000-2239_4-10703785.html

ที่มา www.arip.co.th

อัพเดทล่าสุด