การพยาบาลดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจวาย ที่สำคัญมาก


4,033 ผู้ชม


โรคหัวใจวายและการดูแล
หัวใจวาย หมายถึง ภาวะซึ่งหัวใจไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างพอเพียง หัวใจวาย ไม่ใช่หัวใจหยุดเต้น เราเรียกหัวใจวายว่า Congestive Heart Failure คือหัวใจทำงานล้มเหลวทำให้เนื้อเยื่อต่างๆขาดออกซิเจน หากหัวใจห้องซ้ายวายก็จะมีการคั่งของน้ำที่ปอดทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่าน้ำ ท่วมปอด Pulmonary Edema หากหัวใจห้องขวาวายจะเกิดการคั่งของน้ำที่ขาทำให้บวมที่เท้า โดยที่อาการหัวใจวายอาจจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน เช่นเกิดภายหลังจากหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออาจจะค่อยๆเกิดเช่นโรคของลิ้นหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจ สาเหตุของหัวใจวาย
เมื่ออายุมากขึ้นการบีบตัวของหัวใจก็จะลดลง หากมีภาวะที่ทำให้หัวใจทำงานมากขึ้นหรือมีการสูญเสียความสามารถในการบีบตัว ของหัวใจก็จะเกิดโรคหัวใจวาย นอกจากนั้นยังมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเช่น การสูบบุหรี่ อ้วน การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การขาดการออกกำลังกาย เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดโรคหัวใจวายได้ หัวใจวายมีด้วยกันหลายสาเหตุ บางครั้งอาจจะไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด สาเหตุที่พบได้บ่อยได้แก่
• หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจตีบ (Coronary Heart Disease) ผู้ป่วยมักจะมีประวัติเจ็บแน่นหน้าอกมาก่อน เมื่อเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่เพียงพอกล้ามเนื้อหัวใจก็ไม่สามารถสูบ ฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับผู้ที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบตันอย่างเฉียบพลันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาด เลือดและตายไป หากบริเวณที่ตายกินบริเวณกว้างก็อาจจะเกิดหัวใจวายเฉียบพลัน
• โรคกล้ามเนื้อหัวใจ ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสบางชนิด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเกิดหัวใจวาย
• ความดันโลหิตสูง (Hypertension)เมื่อความดันโลหิตสูงขึ้นทำให้กล้ามเนื้อหนาตัวและต้องทำงานมากขึ้น เกิดหัวใจล้มเหลว
• โรคลิ้นหัวใจ เช่น โรคหัวใจ รูมาติก Rheumatic Heart Disease ทำให้ลิ้นหัวใจตีบ หรือรั่ว
• โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
• โรคปอด เช่นโรคถุงลมโป่งพอง ก็สามารถทำให้หัวใจห้องขวาวาย
• หัวใจเต้นผิดปกติ อาจเกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะ เต้นช้าเกินไป (Bradyarrhythmia) หรือเต้นเร็วเกินไป (Tachyarrhythmia) ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างเพียงพอ
• สารพิษ เช่น สุรา หรือยาเสพติด ซึ่งทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ เป็นต้น
• ไทรอยด์เป็นพิษ
อาการของโรคหัวใจวาย
ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเล็กน้อยจึงไม่ได้ใส่ใจ มีจำนวนไม่น้อยที่มาพบแพทย์เมื่ออาการหนักมาก ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจวายควรที่จะรู้ว่ามีอาการอะไร บ้างและควรที่จะติดตามอาการเหล่านั้น หากอาการแย่ลงต้องรีบปรึกษาแพทย์อาการต่างๆที่พบได้ คือ
• เหนื่อยง่าย หากโรคหัวใจเป็นไม่มากจะเหนื่อยเฉพาะเวลาทำงานหนัก (Dyspnea on Exertion) ถ้าโรคหัวใจเป็นมากขึ้นความรุนแรงของอาการเหนื่อยจะมากขึ้น งานปกติที่เคยทำได้ก็จะเหนื่อย แม้แต่เวลาพักก็ยังรู้สึกเหนื่อย หากอาการเหนื่อยเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงต้องปรึกษาแพทย์
• นอนแล้วจะมีอาการเหนื่อย หลังจากนอนไปแล้ว 1-2 ชั่วโมง ทำให้ต้องลุกขึ้นมานั่งอาการถึงจะดีขึ้น บางรายนอนราบไม่ได้เลย Orthopnea
• อ่อนเพลียง่าย
• เท้าบวม หรือท้องมาน เนื่องจากมีการคั่งของน้ำ
• น้ำหนักเพิ่มอย่างเร็ว
• ไอเรื้อรังโดยเฉพาะหากเสมหะมีสีแดงหรือชมพู ปนออกมาต้องรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเป็นอาการของน้ำท่วมปอด
• มีอาการ คลื่นไส้อาเจียน เนื่องจากระบบย่อยอาหารได้รับเลือดไปเลี้ยงน้อยลง
• ความจำเสื่อม มีการสับสน
• ใจสั่นหัวใจเต้นเร็ว
การรักษา
โรคหัวใจวาย เป็นโรคที่มีการทำลายกล้ามเนื้อหัวใจอย่างต่อเนื่อง จนเกิดอาการของหัวใจวาย ผู้ป่วยจำเป็นต้องร่วมมือในการรักษาโดยมี หลักการรักษา ดังนี้
• ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
• การใช้ยารักษา
• การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่นการทำ Ballon หลอดเลือดหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจ
• การใส่เครื่องมือเพื่อควบคุมการเต้นของหัวใจ
การป้องกันโรคหัวใจวาย
การป้องกันก่อนการเกิดโรค เรียก Primary Prevention เป็นวิธีการที่ดีที่สุด
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารมีคุณภาพหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารรสเค็มจัด ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เครียด งดการสูบบุหรี่ ดื่มสุราในปริมาณที่จำกัด
2. รักษาโรคที่เป็นอยู่ เช่น การรักษาโรคความดันโลหิต การรักษาโรคเบาหวาน ไขมัน หลอดเลือดหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ
3. ตรวจร่างกายประจำปีก่อนการเกิดโรคหัวใจ
อาการแทรกซ้อน
ถ้าเป็นเรื้อรัง อาจมีตับแข็ง แทรกซ้อนได้, อาจมีอาการหอบหืด (car
diacasthma)
ข้อแนะนำ
1. ผู้ป่วยโรคหัวใจ บางครั้งฟังปอดอาจมีเสียงวี้ด (wheezing) คล้ายโรคหืด เรียกว่า อาการหืดจากโรค
หัวใจ (Cardiac asthma) ดังนั้นก่อนจะฉีด อะดรีนาลิน รักษาผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหืด ต้องแน่ใจว่าไม่มี
อาการบวม ตับโต หรือมีประวัติของโรคหัวใจ มิเช่นนั้น ผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายจากการฉีดยาได้
2. ผู้ป่วยที่กินยาช่วยหัวใจทำงาน เช่น ลาน็อกซินหรือไดจอกซิน ต้องระวังหากกินเกินขนาดหรือในภาวะ
โพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจมีพิษต่อหัวใจได้ อาการเป็นพิษ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ตาพร่าตาลาย ชีพจร
เต้นช้า กว่านาทีละ 60 ครั้ง ดังนั้นถ้าผู้ป่วยกินยาขับปัสสาวะ ซึ่งอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
อาจต้องให้ กินยาน้ำโพแทสเซียมคลอไรด์ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2-3 ครั้งร่วมด้วย
3. ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้
3.1 ติดต่อรักษากับแพทย์อย่าได้ขาด และกินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง
3.2 งดเหล้า บุหรี่
3.3 ห้ามตรากตรำงานหนัก
3.4 งดอาหารเค็ม เพื่อลดบวมและป้องกันอาการกำเริบ
การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจวายที่บ้าน
ผู้ป่วยโรคเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะรู้ตัวเอง และไม่ยอมไปโรงพยาบาลโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระยะสุดท้ายของโรค ดังนั้นครอบครัวจะต้องช่วยกันดูแลตั้งแต่ การเฝ้าระวังการกำเริบของโรค การป้องกันโรคแทรกซ้อน การดูแลขั้นต่ำสำหรับผู้ป่วยมีดังนี้
ต้องมีการบันทึกน้ำหนัก และมีแผนสำหรับการดูแลเมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้น
การเตรียมยาสำหรับรับประทานเป็นประจำ และยาสำหรับรักษาอาการเจ็บหน้าอก อาการหอบเหนื่อย และน้ำหนักเกิน
แผนการดูแลยามฉุกเฉิน เช่นการไปห้องฉุกเฉิน การอนุญาตให้แพทย์ทำการกู้ชีวิตหรือไม่ สำหรับขั้นตอนในการดูแลผู้ป่วยมีดังนี้
การบันทึกประจำวัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญสำหรับการรักษาของแพทย์ ข้อมูลที่ควรจะบันทึกได้แก่
น้ำหนักประจำวัน
การ หายใจ มีอาการหอบเหนื่อยหรือไม่ หายใจลำบาก ไอโดยเฉพาะเวลานอน แน่หน้าอกเวลานอนราบจนต้องตื่นตอนกลางคืน ต้องบอกรายละเอียดถึงวันที่เกิดอาการและความรุนแรง
ยาที่รับประทาน ต้องรู้ชื่อยา ขนาด ความถี่ของการรับประทาน และผลข้างเคียงของยา
อาหาร และกิจวัตรประจำวันที่ทำได้และทำไม่ได้
อาการอื่นๆ เช่นบวม
จะต้องรู้ว่าเมื่อไรจึงต้องปรึกษาหรือไปพบแพทย์
น้ำหนักเพิ่มขึ้น 1-2 กก./สัปดาห์
มีอาการบวมที่หลังเท้า ข้อเท้า มือ
มีอาการหายใจลำบาก หรือไอเวลานอน
ปัสสาวะลดลง
สับสน มึนงง หรือเป็นลมหมดสติ
คลื่นไส้ อาเจียน
มีอาการอ่อนเพลีย
เป็นตะคริวหรืออ่อนแรง
มีอากาไม่สบายตัว
นอกจากจะเรียนรู้อาการต่างๆเหล่านี้ ยังต้องเตรียมยาหรือแผนการรักษาเบื้องต้น ก่อนการปรึกษาแพทย์ทางโทรศัพท์ต้องเตรียมข้อมูลสำหรับแพทย์
ต้องจดเบอร์ของแพทย์หรือโรงพยาบาลที่รักษาท่านอยู่ และสมาชิกในครอบครัวทราบว่าสมุดจดวางไว้ที่ไหน
ชื่อแพทย์
เบอร์โทรของแพทย์
เบอร์โทรของโรงพยาบาล
ชื่อแพทย์สำรอง
เบอร์โทรแพทย์สำรอง
เบอร์โทรโรงพยาบาล
เตรียมข้อมูลที่สำคัญสำหรับการพบแพทย์หรือปรึกษากับแพทย์
อาการแน่นหน้าอก
เวลาที่เริ่มเจ็บ
ระยะเวลาที่เจ็บ
ลักษณะที่เจ็บ(เจ็บแปลบๆ เจ็บหนักๆ หายใจแล้วเจ็บมากขึ้นหรือเท่าเดิม
ตำแหน่งที่เจ็บ
เจ็บเท่ากันหรือเป็นๆหายๆ
น้ำหนักเกิน
น้ำหนักปกติเป็นเท่าใด
น้ำหนักเพิ่มขึ้นมาเท่าใด
ใช้เวลากี่วัน
อาการบวม
บวมที่ไหนเป็นแห่งแรก
บวมบริเวณอื่นอีกหรือไม่(มือ ท้อง)
บวมนานแค่ไหน
อาการหายใจลำบากหรือไอกลางคืนหรือหอบเหนื่อย
เริ่มหายใจลำบากเมื่อใด
ปัจจัยที่ทำให้หายใจลำบากเพิ่มขึ้น ปัจจัยที่ทำให้หายใจดีขึ้น
เริ่มไอกลางคืนตั้งแต่เมื่อใด
อาการเป็นลมหรือเวียนศีรษะ
เวลาที่เริ่มเกิดอาการ
มีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนร่วมด้วยหรือไม่
เป็นมานานแค่ไหน
อาการอ่อนเพลียไม่มีแรง
ระยะเวลาที่เริ่มมีอาการอ่อนเพลีย
ตะคริวและกล้ามเนื้ออ่อนแรง
กล้ามเนื้อส่วนไหนที่เป็นตะคริว
ระยะเวลาที่มีอาการนี้
อาการอื่นๆที่จะปรึกษาแพทย์
แผนการสำหรับภาวะฉุกเฉินต่างๆ
หาก เกิดอาการฉุกเฉินต่างๆดังกล่าวอย่าตกใจจนขาดสติ ให้รวบรวมสมาธิแล้ววางแผนว่าจะทำอะไรก่อนอะไรหลัง ก่อนอื่นคงจะต้องให้การดูแลเบื้องต้นก่อน
ผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอกหรือหายใจลำบาก
ให้นอนยกหัวสูง หรือนั่ง
หากมีออกซิเจนที่บ้านก็เปิด4-6ลิตรให้ผู้ป่วย
หากเจ็บหน้าอกก็สามารถให้ยาอมใต้ลิ้นแก่ผู้ป่วย
ให้ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ
ผู้ป่วยที่หมดสติหรือไม่รู้สึกตัว
ให้จับนอนหงาย หันหน้าออกไปทางด้านข้าง
หรือให้นอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก
อย่าป้อนยาหอมหรืออาหารเพราะอาจจะสำลักอาหาร
ให้ออกซิเจน
โทรปรึกษาแพทย์หรือโรงพยาบาล
โปรดอย่าลืมสมุดจดข้อมูลที่จะใช้ปรึกษาหรือรายงานอาการให้แพทย์หรือเจ้าหน้าที่ทราบ
ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
นำสมุดจดไว้ข้างโทรศัพท์ จดคำแนะนำและปฏิบัติตามคำแนะนำ หรือวางแผนไปโรงพยาบาล
ขอขอบคุณข้อมูลจาก รพ.วิภาวดี และ lifestyle.kingsolder,thailabonline
 

อัพเดทล่าสุด