บุหรี่ ทำไมถึงติดบุหรี่? ตัวการที่ทำให้ติดบุหรี่ วิธีการเลิกสูบบุหรี่


1,011 ผู้ชม


บุหรี่ มีอะไรดีนักหนา

บุหรี่ ทำไมถึงติดบุหรี่? ตัวการที่ทำให้ติดบุหรี่ วิธีการเลิกสูบบุหรี่


                                 บุหรี่ทำให้เกิดมะเร็งปอด
                                 บุหรี่ทำให้เส้นเลือดในสมองแตก
                                 บุหรี่ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
                                 สูบบุหรี่ทำให้แก่เร็ว
                                 ควันบุหรี่ทำร้ายลูกในครรภ์
                                 ฯลฯ 



              แม้จะมีข้อความเตือนเหล่านี้ปรากฏอยู่บนซองสูบบุหรี่แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีการสูบบุหรี่อย่างแพร่หลาย แปลว่าผู้สูบบุหรี่นั้นไม่รู้อันตรายจากการสูบบุหรีที่เขียนไว้รึ? ขนาดมีภาพสยองประกอบด้วยยังไม่เข้าใจอีกรึว่าสูบบุหรี่มันอันตราย? ที่จริงแล้วผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่ก็ "รู้" ถึงอันตรายอยู่แล้ว แต่ก็ยัง "อยาก" สูบอยู่ดี เพราะฉะนั้นประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่รู้หรือไม่รู้ แต่อยู่ที่ แม้จะรู้ว่าอันตรายแต่ก็ไม่สามารถต้านทานความอยากได้ ต่างหาก แล้วความอยากสูบบุหรี่จนเกินห้ามใจนี้มาจากไหน?
             เมื่ออัดควันบุหรี่เข้าปอด จะเกิดความรู้สึกสดชื่น มีชีวิตชีวา มีความสุข ทั้งที้เพราะในควันบุหรี่มีสารที่ชื่อ นิโคติน (Nicotine) ซึ่งเมื่อเข้าสู่สมองจะกระตุ้นให้สมองหลั่ง โดพามีน (Dopamine) หรือ ฮอร์โมนแห่งความสุข และขณะเดียวกันสารเคมีอื่นๆ อีกกว่า 4,000 ชนิด ในควันบุหรี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารก่อมะเร็งหรือเป็นพิษต่อร่างกายก็จะเข้าทำลายอวัยวะ ต่างๆ ของคนสูบไปพร้อมๆ กันด้วย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่านิโคตินนี้เองที่ทำให้เสพติดบุหรี่ แม้จะยังไม่เข้าใจผลของนิโคตินต่อร่างกายอย่างถ่องแท้ แต่มีการศึกษาที่พอจะช่วยให้เข้าใจได้ว่า นิโคตินทำให้คนเสพติดได้อย่างไร?
             บนผิวเซลล์สมองมีโปรตีนตัวรับ (receptor) ที่ชื่อ nicotinic acetylcholine receptors หรือเรียกย่อๆ ว่า nAChR ตัวรับนี้คอยรับสัญญาณกระตุ้น แล้วส่งสัญญาณต่อเพื่อบอกเซลล์ให้สร้างโดพามีนขึ้น และหลั่งโดพามีนกระตุ้นให้เรารู้สึกมีความสุข เมื่อสมองได้รับนิโคติน นิโคตินสามารถเข้าจับกับตัวรับ nAChR และทำให้สมองสร้างโดพามีนจำนวนมาก ในหนูทดลองที่ไม่มีตัวรับ nAChR จะไม่แสดงอาการติดนิโคตินเลย น่าแปลกว่าสมองจะสร้างตัวรับขึ้นมาเพื่อรับการกระตุ้นจากนิโคตินทำไม?
            ความจริงคือ nAChR อาจไม่ได้ถูกสร้างขึ้นสำหรับนิโคติน เนื่องจากโดยปกติแล้วตัวรับนี้จะคอยตอบสนองต่อสารเคมีชื่ออะเซทิลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่สร้างโดยสมองเอง เป็นกลไกตามธรรมชาติที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุขเมื่อมีสิ่งเร้าที่เหมาะ สมมากระตุ้น เช่น ได้กินอาหารอร่อย หรือได้ไปเที่ยวกับแฟน เป็นต้น แต่ด้วยความบังเอิญหรือความจำเป็นบางอย่าง ทำให้ตัวรับ nAChR สามารถจับกับนิโคตินซึ่งเป็นสารพิษได้ด้วย ผลก็คือ เราจึงรู้สึกมีความสุขเมื่อได้รับนิโคติน ตัวรับนี้จึงได้ชื่อว่า "nicotinic acetylcholine receptors"
            สมองมีกลไกที่จะเชื่อมโยงการกระทำต่างๆ เข้ากับความรู้สึก เช่น ถ้าเรากินเค้กแล้วรู้สึกอร่อย สมองจะเชื่อมโยงการกินเค้กเข้ากับความสุข ทำให้ในภายหลังเมื่อเราเห็นเค้กก็จะรู้สึกอยากกินอีก ในทางกลับกันหากกินผักแล้วรู้สึกไม่อร่อย ขม ก็จะเกิดการเชื่อมโยงขึ้นเช่นกัน ภายหลังเมื่อเห็นผักในอาหารก็จะไม่อยากกินและพยายามเขี่ยออก เป็นต้น ในกรณีที่สูบบุหรี่ แม้การสูบครั้งแรกจะรู้สึก "เหม็น" แต่นิโคตินกระตุ้นสมองให้เกิดความสุขขึ้นโดยตรง สมองจึงเชื่อมโยงว่าการสูบบุหรี่ทำให้เกิดความสุข
             ถ้านิโคตินแค่กระตุ้นให้มีความสุขเท่านั้นก็คงไม่แย่เท่าไหร่ เพราะใครๆ ก็อยากมีความสุขทั้งนั้น แต่ปัญหาคือ นิโคตินยังทำลายกลไกที่ทำให้รู้สึกมีความสุขด้วย  เพื่อให้ภาพชัดเจนขึ้น ลองสมมุติให้ชีวิตประจำวันปกติของเราที่สดชื่นเบิกบานดี มีค่าความสุขประมาณ 10 แฮป (ขอสมมุติให้  "แฮป (happy)"  เป็นหน่วยวัดความสุขก็แล้วกัน) พอดูละครตอนอวสาน พระเอกนางเอกได้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขในที่สุด เราก็เลยรู้สึกเคลิบเคลิ้มมีความสุขไปด้วย ขณะนั้นในสมองกำลังหลั่งอะเซทิลโคลีน ไปจับตัวรับ nAChR กระตุ้นให้เซลล์สร้างโดพามีนขึ้น อาจทำให้มีความสุขเพิ่มขึ้นเป็น 20 แฮป ทีนี้ถ้าเราสูบบุหรี่ นิโคตินก็จะสามารกระตุ้นให้หลั่งโดพามีนเช่นกัน อาจทำให้มีความสุขมากถึง 1,000 แฮป (ตัวเลขสมมุติ) เราอาจรู้สึกมีความสุข สดชื่น อย่างมากมาย แต่สำหรับร่างกายแล้วการมีความสุขสุดขีดไม่ใช่เรื่องที่ดี
            การเรามีอารมณ์ดีมีความสุขมากๆ อาจทำให้เราไม่ตระหนักถึงอันตรายรอบๆ ตัว ไม่รู้จักกลัว ไม่กังวล เช่น เห็นงูพิษมาก็เฉยๆ อารมณ์ดี ไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ ความสุขมากจนเคลิบเคลิ้มจึงอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เพื่อปกป้องชีวิตจึงต้องมีการปรับสมดุลใหม่
             การที่จู่ๆ เรามีระดับความสุขพุ่งขึ้นเป็น 1,000 แฮป สมองอาจจะตกใจ (shock) คิดว่า "เฮ่ย! ทำไมถึงมีความสุขสุดขีดได้ขนาดนี้ ไม่ได้การปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายได้ ต้องลดระดับความสุขลงหน่อยแล้ว" เซลล์สมองจึงปรับสมดุลใหม่โดย ลดระดับการตอบสนองต่อการกระตุ้นลง เช่น จากเดิมสัญญาณจากตัวรับ nAChR  ส่งมา 1,000 หน่วย (ตัวเลขสมมุติ) จากเดิมสร้างความสุขได้ 1,000 แฮป ก็จะค่อยปรับลดลงเรื่อยๆ เป็น 900 500 100… 30 แฮป ตามลำดับ คล้ายๆ กับการดื้อยานั่นเอง ผลคือมีการตอบสนองต่อการกระตุ้นตามธรรมชาติลดลงด้วยเช่นกัน เช่น หากตอนนี้สูบบุหรี่แล้วมีความสุข ลดลงเหลือแค่ 100 แฮป ลดลง 10 เท่าจากเดิม ตอนที่ไม่สูบบุหรี่เราอาจมีความสุขแค่ 1 แฮป จึงรู้สึกหงุดหงิด งุ่นง่าน และอยากหยิบบุหรี่มาสูบเพื่อเติมนิโคติน นอกจากนี้การตอบสนองที่ลดลงยังทำให้ต้องการนิโคตินมากขึ้นเพื่อทำให้มีความ สุข 1,000 แฮปเท่าเดิม คนที่สูบบุหรี่นานๆ จึงสูบบุหรี่จัดขึ้น และบ่อยครั้งทำให้คนเหล่านี้หันไปใช้ยาเสพติดชนิดอื่น เช่น เฮโรอีน หรือ ยาเค ที่มีฤทธิ์กระตุ้นสูงกว่า
             ความสุข ที่เกิดจากบุหรี่เป็นความสุขที่ฉาบฉวย เป็นความสุขที่ย้อนมาทำร้ายตัวเองและบ่อยครั้งก็ยังทำร้ายคนที่อยู่รอบข้าง ด้วย จริงอยู่ การแสวงหาความสุขสำราญเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่สิทธิในการมีสุขภาพดีและมีชีวิตที่ปลอดภัยก็เป็นของทุกคนเช่นกัน ส่วนทางด้านผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่ ดูเหมือนว่านโยบายที่นำมาใช้จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มภาษี ใส่คำเตือนและรูปภาพสยองไว้บนซองบุหรี่ ตลอดจนการเพิ่มเขตห้ามสูบบุหรี่ กลายเป็นเพียงการสร้างอุปสรรคให้คนสูบบุหรี่เท่านั้น การ ป้องกันไม่ให้มีผู้สูบบุหรี่หน้าใหม่น่าจะเป็นส่วนสำคัญในการลดจำนวนผู้สูบ บุหรี่ลง ซึ่งการจะทำได้นั้นจำเป็นต้องเข้าใจเหตุผลที่ทำให้คน "เริ่มต้น" สูบบุหรี่ ให้ลึกซึ้งกว่าที่เขียนไว้ในหนังสือสุขศึกษาว่า เป็นเพราะ "อยากลอง" หรือ "อยากเท่" เท่านั้น และสุดท้ายสำหรับคนที่ไม่สูบบุหรี่ ที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อให้เข้าใจว่า บุหรี่นำอันตรายมากมายมาพร้อมกับความสุขชั่วครั้งชั่วคราวและยากจะถอนตัวแค่ ไหน ดังนั้น ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด อย่าเริ่มต้นสูบบุหรี่เลยดีที่สุด การสูบบุหรี่มันไม่ดีจริงๆ นะ


อ้างอิง
"Neuronal networksofnicotineaddiction", Marcelo O.Ortells, HugoR.Arias, The international Jouranl of Biochemistry & Cell Biology, in press 2010
"กลไกการทำงานของสมองที่เกี่ยวข้องกับการติดสารเสพติด", ภาณุพงศ์ จิตะสมบัติ, วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

อัพเดทล่าสุด