เคยสงสัยมั้ยว่า ปลาดื่มน้ำหรือเปล่า? มาหาคำตอบได้ที่นี่


891 ผู้ชม

น้ำเป็นสสารที่มีความสำคัญที่สุดของทุกชีวิต ร่างการของมนุษย์อย่างเราประกอบไปด้วยน้ำถึงร้อยละ ๗๐ แล้วคุณเคยสงสัยไหม ว่าปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำดื่มน้ำหรือเปล่า?


            น้ำ เป็นสสารที่มีความสำคัญ ที่สุดของทุกชีวิต ร่างการของมนุษย์อย่างเราประกอบไปด้วยน้ำถึงร้อยละ ๗๐   และสัดส่วนนี้ก็ใช้ได้กับสัตว์มีกระดูกสันหลังเกือบทุกชนิดในอัตราที่ไม่หนี กันมากนัก คนอย่างเราที่เป็นสัตว์เลือดอุ่นอาศัยอยู่บนบก สูญเสียน้ำจากร่างกายได้หลายทาง ทั้งจากการระเหยออกจากร่างกายผ่านทางเหงื่อ และการขับถ่าย ซึ่งเราก็ทดแทนน้ำที่สูญเสียไปด้วยการดื่มน้ำ แล้วคุณเคยสงสัยไหม ว่าปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำดื่มน้ำหรือเปล่า?
เคยสงสัยมั้ยว่า ปลาดื่มน้ำหรือเปล่า? มาหาคำตอบได้ที่นี่
            คำตอบคือ แล้วแต่ว่าคุณถามถึงปลาอะไร ปลาน้ำจืด หรือ ปลาน้ำเค็ม? 
            ปลาโดยทั่วไปมีเกลือชนิดต่างๆอยู่ในเลือดประมาณร้อยละ ๑.๔ ในขณะที่ในน้ำจืดส่วนใหญ่จะมีเกลืออยู่ต่ำมากๆจนแทบจะไม่มีเลย ส่วนในน้ำทะเลนั้นมีเกลืออยู่ประมาณร้อยละ ๓.๕ หรือมีปริมาณเกลือมากกว่าในเลือดของปลาน้ำจืดสักสองเท่ากว่าๆ ซึ่งนับว่ามากพอควรเหมือนกัน ดังนั้นปลาน้ำจืด และน้ำเค็มจึงมีวิธีการที่แตกต่างกันไปในการใช้ชีวิตอยู่ในน้ำ
           
มีสองกระบวนการที่เป็นปัจจัยว่าปลาจะต้องดื่มน้ำหรือเปล่า คือกระบวนการออสโมสิส (Osmosis)  และกระบวนการการแพร่ (Diffusion)
            การออสโมสิส ก็คือการที่น้ำซึมผ่านเยื่ออะไรสักอย่างจากจุดที่น้ำมีความหนาแน่นน้อยกว่า ไปสู่จุดที่มีความหนาแน่นมากกว่า เช่นถ้าเรานำเยื่อบางๆมากั้นไว้ระหว่างน้ำจืดกับน้ำเค็ม น้ำจืดจะซึมผ่านเยื่อดังกล่าวไปสู่น้ำเค็ม ในระหว่างนั้นกระบวนการแพร่ ก็จะทำให้แร่ธาตุต่างๆรวมทั้งเกลือในน้ำ แพร่จากจุดที่มีแร่ธาตุมากไปสู่จุดที่มีน้อย ซึ่งก็คือจากน้ำเค็มไปสู่น้ำจืด จนถึงระดับที่น้ำมีความเค็ม(จืด)เท่ากัน
            ดังนั้นในกรณีของปลาน้ำจืด เมื่อในตัวของปลามีเกลืออยู่มากกว่าน้ำภายนอก น้ำจึงซึมผ่านเหงือกและเนื้อเยื่อต่างๆเข้าไปในตัวปลาอย่างต่อเนื่อง จนปลาไม่มีความจำเป็นต้องกินน้ำเลย ในทางตรงกันข้าม เพื่อรักษาระดับน้ำให้คงที่ ปลาน้ำจืดต้องคอย “ถ่ายเบา”ออกมาอยู่เรื่อยๆ มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นลูกโป่งน้ำไปเลย มีการประมาณการไว้ว่าปลาน้ำจืดอาจจะมีการถ่ายเบามากถึงร้อยละ ๒๐ ของน้ำหนักตัวในแต่ละวัน ซึ่งในการถ่ายเบานี่ ปลาจะสูญเสียแร่ธาตุบางส่วนออกมาด้วย ปลาน้ำจืดจึงต้องคอยทดแทนแร่ธาตุต่างๆที่เสียไป ผ่านทางอาหารและผ่านทางการแพร่ของแร่ธาตุจากน้ำผ่านทางเหงือกเข้าสู่ร่างกาย ด้วยอย่างต่อเนื่อง
           
สรุปว่า ปลาน้ำจืดไม่ดื่มน้ำครับ เพราะมีน้ำซึมผ่าน เข้าไปในร่างกายมากเพียงพออยู่แล้ว
            Note: คุณเคยเล่นน้ำหรือเปลี่ยนน้ำตู้ปลานานๆจนนิ้ว “เหี่ยว”ไหมครับ?  ไหนๆก็พูดถึงเรื่องออสโมสิสแล้วขอแถมเรื่องนี้หน่อยก็แล้วกัน ผิวหนังของเราโดยปกติมีสารที่เรียกว่า ซีบัม (Seebum) เคลือบอยู่สารตัวนี้ในเวลาปกติจะเคลือบผิวของเราเอาไว้ทำให้ผิวหนังของเรา กันน้ำได้ แต่เมื่อลงน้ำไปนานๆผิวหนังส่วนที่ไม่มีต่อมผลิตสารตัวนี้ เช่นที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าก็จะสูญเสียสารที่ว่านี่ไป ทำให้น้ำออสโมสิสเข้าไปในผิวหนังของเราได้ เพราะใต้ผิวหนังของเรานั้นจะเป็นชั้นหนังกำพร้าตายแล้วที่แห้งๆ  ดังนั้นอาการที่เราเห็นจริงๆแล้วนิ้วเราไม่ได้เหี่ยวนะครับแต่มัน “พอง”ออกด้วยซ้ำไป แต่ผิวหนังที่บริเวณปลายนิ้วมือของเราจะยึดกับเนื้อด้านล่างเป็นจุดๆ ทำให้การบวมตัวของผิวไม่เท่ากันเลยเห็นเป็นริ้วๆเหมือนกับว่าเหี่ยว ทั้งๆที่จริงๆแล้วมันเป็นการ “พอง”ออกเสียมากกว่า ซึ่งเมื่อขึ้นจากน้ำแล้ว น้ำก็จะระเหยออกไปเองครับ ซึ่งถ้าใช้หลักการนี้เปรียบเทียบกับปลาน้ำจืดและน้ำเค็ม การอาบน้ำเค็มมากๆจะเป็นการถนอมผิวหนังมากกว่าน้ำจืดนะครับ เพราะน้ำเกลือจะซึมผ่านผิวหนังของเราไปได้น้อยกว่าน้ำจืดมากครับ (ขอบคุณ หมอ Banxสำหรับข้อมูลครับ)
            สำหรับปลาทะเล มีปัญหาตรงกันข้ามกับปลาน้ำจืดโดยสิ้นเชิง เนื่องจากของเหลวในร่างกายของปลาทะเลมีเกลือน้อยกว่าในน้ำทะเลเกือบ ๑ ใน ๓ ปลาทะเลจึงเสียน้ำออกจากร่างกายผ่านการออสโมสิส อยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าปลาไม่ดื่มน้ำเข้าไปก็จะเสียน้ำมากจนตายได้ (ฟังดูแปลกๆทั้งๆที่อยู่ในน้ำแท้ๆ) เพื่อแก้ปัญหานี้ ปลาทะเลจึงดื่มน้ำทะเลเข้าไปเรื่อยๆ โดยในบางชนิดมากถึงร้อยละ ๓๕ ของน้ำหนักตัวในแต่ละวัน และในขณะเดียวกันปลาทะเลก็รักษาระดับเกลือในร่างกายโดยการ “ถ่ายเบา”อย่างมีประสิทธิภาพโดยความช่วยเหลือของไตที่ปรับแต่งมาเป็นพิเศษ ให้มีน้ำออกไปน้อยที่สุด และยังมีการขจัดเกลือส่วนเกินด้วยการแพร่ออกผ่านทางเหงือกอีกด้วย  
           
สรุปว่า ปลาทะเลกินน้ำครับกินเยอะเสียด้วยสิ
รู้แล้วจะช่วยอะไรได้บ้างหล่ะเนี๊ย? 
            สำหรับท่านที่เลี้ยงปลาน้ำจืด ลองนึกภาพปลาของท่านอาศัยอยู่ในน้ำที่มี “น้ำเบา”ของตัวเองเพิ่มขึ้นวันละร้อยละ ๒๐ ของน้ำหนักตัว บวกกับ “ถ่ายหนัก”กับอาหารที่กินเหลือทุกวันสิครับ ว่ามันจะเป็นอย่างไร อย่าลืมเปลี่ยนน้ำให้ปลาของคุณบ่อยๆหน่อยนะครับ
            หรือท่านที่เลี้ยงปลาทะเล ถ้าปล่อยให้น้ำระเหยออกไปเรื่อยๆ จนน้ำเค็มขึ้น คิดดูว่าปลาของคุณจะเครียดแค่ไหนกับการที่จะต้องคอยปรับระดับเกลือในเลือด ของตัวเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่ความเค็มมากขึ้น ซึ่งจะต้องใช้พลังงานมากขึ้น
            และสำหรับท่านที่มีปลาป่วยและต้องใช้ยา ที่นี่ก็ทราบแล้วนะครับ ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง ยาบางชนิดเป็นยาภายนอกก็ไม่เดือดร้อนอะไร แต่สำหรับยาที่ต้องใช้รักษาภายในหรือแม้แต่พวกวิตามินต่างๆที่ไม่สามารถซึม ผ่านเนื้อเยื่อผิวหนังหรือเหงือกนั้น ถ้าเป็นปลาน้ำจืด การใส่ลงไปในน้ำเฉยๆอาจจะช่วยได้ไม่มากนักเพราะปลาจะไม่ดื่มยาที่ว่านี่เข้า ไปแน่ๆ (ไม่เหมือนกับในกรณีของปลาทะเล) ซึ่งคุณอาจจะต้องหาวิธีอื่นๆที่เหมาะสมต่อไป เช่นการคลุกหรือแช่ไว้กับอาหารเป็นต้น


เคยสงสัยมั้ยว่า ปลาดื่มน้ำหรือเปล่า? มาหาคำตอบได้ที่นี่
ปลาน้ำจืด เช่น ชะโดน้อยตัวนี้ ไม่ต้องกินน้ำ
เคยสงสัยมั้ยว่า ปลาดื่มน้ำหรือเปล่า? มาหาคำตอบได้ที่นี่
ปลาทะเลต้องดื่มน้ำอยู่เสมอ


ขอขอบคุณข้อมูลดีจากsiamensis

อัพเดทล่าสุด