!! ผลกระทบของโรคไข้เลือดออก จาก บทความโรคไข้เลือดออกที่น่าอ่าน !!


4,872 ผู้ชม


ปัญหาโรคไข้เลือดออกปีนี้หนักแน่

!! ผลกระทบของโรคไข้เลือดออก จาก บทความโรคไข้เลือดออกที่น่าอ่าน !!
ข่าวด่วน!!!“สถานการณ์ไข้เลือดออกระบาดแรง”
ร้อนนี้ ระวัง! ไข้เลือดออก
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ว่า กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในช่วง 7 สัปดาห์ ปี 53 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ถึงสิ้นเดือน ก.พ.53 พบว่า ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นมาก มีจำนวนถึง 4,425 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีรายงาน 2,914 คน และมีผู้เสียชีวิต 3 คน ซึ่งเป็นดัชนีที่ทำให้กระทรวงสาธารณสุข จะต้องเร่งดำเนินการป้องกันควบคุมโรค เนื่องจาก เมื่อวิเคราะห์สถานการณ์คาดว่า ปีนี้ แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยจะสูงขึ้น
“ปัญหาโรคไข้เลือดออกปีนี้หนักแน่”
ก็สรุปว่า ปีนี้ประเทศไทยของเราจะมีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเป็นจำนวนมากมาย ถ้าเราไม่ร่วมแรง ร่วมใจกันป้องกัน อย่างจริงจัง ลูกหลานของเราจะได้มีโอกาสที่จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออกลดตามมาด้วย
“การร่วมแรงร่วมใจกันป้องกัน กันอย่างจริงจัง” ทำได้อย่างไร
หัวใจสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกให้ประสบผลสำเร็จได้ก็คือ “ ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา” การมีส่วนร่วมนั้นหมายถึง การมีส่วนร่วมในการรับรู้ปัญหา เห็นความสำคัญของปัญหา ร่วมเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหา ร่วมวางแผนในการแก้ปัญหา ร่วมดำเนินการในการแก้ปัญหา ร่วมตรวจสอบและร่วมรับผิดชอบในการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาเรื่องโรคไข้เลือดออกนั้น ทำได้ง่ายมากถ้าพวกเราทุกคนมีส่วนร่วม ต้องเริ่มจากการตั้งใจเรียนรู้ให้เข้าใจเกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกให้ดีพอเสีย ก่อน แล้วเราจะรู้ว่าเราจะทำอย่างไรให้ลูกหลานของเรารอดพ้นจากโรคไข้เลือดออกได้
เดิมทีโรคไข้เลือดออกจะเป็นเฉพาะหน้าฝน แต่ปัจจุบันโรคไข้เลือดออกจะเป็นได้ตลอด ทั้งปี โรคไข้เลือดออกเกิดจากการถูกยุงลายกัด เดิมลูกน้ำจะเปลี่ยนเป็นยุงลายได้ต้องใช้เวลา 8-10 วัน แต่ปัจจุบันลูกน้ำจะเปลี่ยนเป็นยุงลายได้ต้องใช้เวลาเพียง 5 วัน ยุงลายชอบกัดในช่วงเวลา 8.00-17.00 น เมื่อยุงลายมีเชื้อโรคไข้เลือดออกไปกัดคน เชื้อโรคไข้เลือดออก จะกระจายเข้าสู่ร่างกายอย่างรวดเร็วต่อจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากถูกกัดก็จะเริ่มป่วย
ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ไข้สูงอยู่ 2-3 วัน จากนั้นไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว และระยะนี้จะเป็นระยะที่มีเลือดออก บางรายอาจมีเลือดกำเดาไหลหรือเลือดออกตามไรฟัน ปวดท้องและอาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายอุจจาระดำ ผู้ป่วยจะตัวซีด มือเท้าเย็น หายใจหอบ ซึมลงไม่รู้สึกตัว หรือหมดสติ ซึ่งเป็นอาการระยะช็อค หากให้การช่วยเหลือไม่ทัน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในระยะนี้ สำหรับในรายที่ผู้ป่วยอาหารไม่หนัก ยังไม่เข้าถึงระยะช็อค ให้การช่วยเหลือทันเวลา ผู้ป่วยจะฟื้นไข้ และหายเป็นปกติ ภายใน 7-10 วัน
การรักษาโรคไข้เลือดออก ทำได้อย่างไร
อาการในระยะแรกของโรคไข้เลือดออก ไข้หวัด และอีกหลายโรคคล้ายคลึงกันคือ มีไข้ จึงแยกกันยากแต่โชคดีที่การปฏิบัติในระยะแรกของไข้หวัดและโรคไข้เลือดออก ปฏิบัติเหมือนกัน ดังนั้นถ้ามีคนในบ้านป่วยเป็นไข้ ควรปฏิบัติดังนี้คือ
1. ดื่มน้ำมาก ๆ
2. ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณซอกคอ ซอกรักแร้ และบริเวณขาหนีบ เพราะเป็นที่ร้อนมากที่สุด
3. ให้กินยาลดไข้ พาราเซท หรือที่เรียกกันติดปากว่า ยาพารา นั่นเอง “ห้ามให้ยาลดไข้ชนิดอื่นโดยเด็ดขาด” เพราะถ้าเป็นโรคไข้เลือดออก ยาลดไข้ชนิดอื่นนั้นจะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องเสียชีวิตลงไปเพราะสาเหตุนี้
4. ให้กินอาหารตามปกติและควรดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้ น้ำต้มผัก น้ำต้มข้าวใส่เกลือเล็กน้อย หรือผงน้ำตาลเกลือแร่ที่เรียกว่า โอ อาร์ เอส ของสถานีอนามัยหรือของโรงพยาบาล ผสมน้ำดื่มเวลาหิว
5. ถ้าปฏิบัติตามดังกล่าวแล้ว อาการไม่ดีขึ้น เช่น ดื่มน้ำได้น้อยลงหรือไม่ได้เลย เช่น อาเจียนออกหมด ซึมลง หรือมีอาการอื่นที่น่าสงสัย ควรรีบไปสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อจะได้รับการรักษาทันเวลา
การป้องกันคงดีกว่าการรักษา ซึ่งสามารถทำได้ง่ายมากโดยทำดังนี้คือ
พวกเราทุกคน สามารถช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคไข้เลือดออกได้ โดยร่วมกันกำจัดหรือลดแหล่ง
เพาะพันธ์ยุงลายที่อยู่ทั้งในและนอกบ้านเรือนและระวังอย่างให้ถูกยุงลายกัด แหล่งที่ยุงลายบ้านชอบวางไข่มากที่สุดได้แก่ จานรองขาตู้กันมด แจกันในบ้านหรือศาลพระภูมิ จานรองกระถางต้นไม้ โอ่งน้ำใช้ โอ่งน้ำดื่ม ถังซีเมนต์ ห้องน้ำ โอ่งซีเมนต์ขนาดใหญ่ ถังเก็บน้ำ และภาชนะอื่น ๆ ภายนอกบ้าน ซึ่งการป้องกันทำได้ดังนี้คือ
1. ใส่เกลือประมาณ 2 ช้อนชา หรือผงซักฟอก หรือน้ำส้มสายชู หรือเติมน้ำเดือดลงในจานรองขาตู้กันมด อย่างน้อยทุกๆ 4 วัน เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย
2. ต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำในแจกัน ไม่ว่าในบ้านหรือศาลพระภูมิ อย่างน้อยทุกๆ 4 วัน ควรเทน้ำในจานรองกระถางต้นไม้ทิ้งทุกกระถาง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งหรือใส่ทรายในจานรองกระถางต้นไม้ ถังน้ำหรือภาชนะที่ใส่น้ำใช้ในห้องน้ำห้องส้วม ควรทำความสะอาดอย่างน้อยทุกๆ 4 วัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณเหนือระดับน้ำประมาณ 1-2 เซนติเมตร เพราะเป็นบริเวณที่ยุงลายชอบวางไข่
3. ปิดฝาตุ่มน้ำกิน น้ำใช้ ให้มิดชิดและครอบปิดตลอดเวลา อย่าให้ยุงลายลงวางไข่ได้
4. ในกรณีน้ำใช้ ถ้าไม่สามารถปิดฝาภาชนะที่ใส่ให้มิดชิดได้ หรือไม่สามารถปิดตลอดเวลาได้ ให้ใส่ยาฆ่าลูกน้ำ หรือทรายอะเบทที่ห่อด้วยผ้าที่น้ำซึมผ่านได้ดี (ทรายอะเบท 1 ช้อนชาต่อน้ำ 5 ปี๊ป) สามารถป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายได้นานประมาณ 3 เดือน หรือใส่ปลาหางนกยูงในอ่างน้ำหรือตุ่มน้ำที่ปิดฝาไม่ได้ ตุ่มละ 2-3 ตัว เพื่อให้ปลากินลูกน้ำ ไม่ควรใส่
ทรายอะเบทในน้ำดื่ม เพราะทำให้มีกลิ่นไม่น่ารับประทาน
5. อย่าปล่อยให้น้ำขังบริเวณในและนอกบ้าน ควรกลบ ถม หรือระบายทิ้งเสีย เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่
6. ภาชนะที่ไม่ใช้แล้วเช่นตุ่มน้ำ ชาม กระป๋อง กะลา กระบอกไม้ไผ่ ยางรถยนต์ ฯลฯ ควรนำไปทิ้งหรือฝังดิน เพื่อไม่ให้มีน้ำขัง
7. อย่าให้ยุงกัดในช่วงเวลา 8.00-17.00 น. ควรให้เด็กนั่งเล่นหรือนอนในที่สว่าง ๆ ถ้าจะให้ดีควรนอนกางมุ้งหรือนอนในห้องที่มีมุ้งลวด
8. เมื่อพบว่าในบ้านเรือนมียุงชุกชุม ถ้าทำได้ อาจหาซื้อสารพ่นยาฆ่ายุงมาใช้ และเมื่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาพ่นสารเคมีกำจัดยุงในหมู่บ้านหรือชุมชน ควรให้ความร่วมมือและทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ควรปิดภาชนะที่มีอาหาร ขนม หรือเครื่องดื่มให้มิดชิด และไม่ควรให้มีคนอยู่ในพื้นที่ โดยเฉพาะคนชราและเด็ก เมื่อมีการพ่นสารเคมี เพื่อป้องกันไม่ให้สารเคมีแปดเปรื้อน และคนจะได้ไม่เกิดอันตราย
ไข้เลือดออก เป็นปัญหาของพวกเราทุกคน ถ้าพวกเรา ไม่ร่วมแรง ร่วมใจกันอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ปัญหานี้ก็คงไม่สามารถแก้ไขได้สำเร็จ ลูกหลานของเราก็จะต้องเป็นเหยื่อของฆาตกรรายนี้ได้
พวกเราคงไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้นใช่ไหมครับ
ถ้าเราทอดทิ้งปัญหาโรคไข้เลือดออกมากเท่าไร
ลูกหลานของเราก็มีโอกาสได้รับภัยจากโรคร้ายน้ำมากเท่านั้น
ร่วมแรง ร่วมใจทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายทุกๆ 4 วัน
เพื่อความสุขของทุกคนในครอบครัวตลอดไป
ขอส่งท้ายด้วยชีวิตจริงของ “น้องปาล์ม” อายุ 12 ขวบ ซึ่งคุณแม่นั้นเป็นครู ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกทั้ง ๆ ที่แม่พาลูกไปรักษากับหมอที่โรงพยาบาล แต่โชคร้ายเพราะอาการรุนแรงสุดความสามารถของแพทย์ที่จะรักษาได้ แม่ได้กล่าวว่า “สิ่งที่ลูกของแม่ได้รับมันทรมานเหลือเกิน ลูกใจเด็ดมาก แม้ตัวใกล้จะตาย ก็ยังมีสติอยู่ตลอดเวลา จนถึงนาทีสุดท้าย” และได้ฝากบทกลอน อาลัยคิดถึงลูกว่า
รู้ลูกดี ก็ต่อเมื่อ ไม่มีลูก
ใจพันผูก ลูกรัก น่าสงสาร
เจ้าต้องจบ ชีวิตยัง เยาวมาลย์
ด้วยวัยวาน สิบสองปี ศรีกาญจนา
ขอให้บทเรียนชีวิตของ “น้องปาล์ม” จงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเห็นความสำคัญของโรคไข้
เลือดออก เพื่อจะได้ร่วมแรง ร่วมใจ ช่วยกันให้ลูกหลายของเรา รอดพ้นจากภัยโรคร้ายนี้ให้ได้ ทุกคนนะครับ
โรงเรียนเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญ
ในการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออก
เนื่องจากผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก กลุ่มอายุที่เป็นมากที่สุดคือ 5-14 ปี
โรงเรียนป้องกันโรคไข้เลือดออกได้อย่างไร
โรงเรียนเป็นสถาบันที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยในการป้องกันและควบคุมโรคไข้ เลือดออกในชุมชนและโรงเรียน ของตนเอง กิจกรรมหลักที่โรงเรียนสามารถดำเนินงานเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก
ได้แก่
1. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึง ภัยของโรคไข้เลือดออก และรู้จักวิธีป้องกันและแนะนำผู้ใกล้ชิดที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้
2. ทำให้โรงเรียนปลอดลูกน้ำและยุงลาย โดยทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและลูกน้ำยุงลาย
3. ช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน
4. ให้ความร่วมมือช่วยเหลือบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก
แม้สามารถทำให้โรงเรียนปลอดภัยจากยุงลายหรือไม่เป็นแหล่งเชื้อโรคไข้เลือด ออก แต่นักเรียนก็ยังมีโอกาสติดเชื้อจากที่บ้านหรือชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย โรงเรียนสามารถช่วยส่งเสริมการป้องกันโรคไข้เลือดออกที่บ้านและชุมชนได้เป็น อย่างดี ด้วยวิธีดังนี้คือ
1. ให้การบ้านนักเรียน ครูมอบหมายการบ้านให้นักเรียนสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้อยยุงลายที่ บ้านของตนเองและของเพื่อนบ้าน ในช่วงเดียวกับการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในโรงเรียน
2. นำนักเรียนร่วมกิจกรรมรณรงค์ในชุมชน เด็กนักเรียนซึ่งเป็นที่รักและเอ็นดูของพ่อแม่ ผู้ปกครอง มักได้รับการต้อนรับด้วยดีจากประชาชน ตลอดจนนักเรียนจะมีโอกาสได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวม และยังได้รับประสบการณ์ในการกำจัดยุงลายเพื่อเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนใน ห้องเรียนอีกด้วย
การจัดกิจกรรมดังกล่าว ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องจึงจะได้ผล
หากทำได้ ควรจัดให้มีทุกเดือน
บทสรุป
การเจ็บป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ส่งผลกระทบตามมามากมาย เช่น เป็นภาระของครอบครัว มีผลต่อการเรียน ต่อการทำงานและค่าใช้จ่ายในการรับบริการ การรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ของครอบครัวผู้ป่วย ตลอดจนอาจมีผลทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนวันอันสมควร
ด้วยเหตุนี้ปัญหาโรคไข้เลือดออกจึงเป็นปัญหาที่พวกเราทุกคนในสังคม ควรที่จะช่วยกันแก้ไขอย่างจริงจัง ในการที่จะได้ป้องกันและลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย และเพื่อลดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชนจากการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน จนถึงระดับชาติ
การที่จะแก้ปัญหาเรื่องโรคไข้เลือดออกให้ประสบผลสำเร็จได้ จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 ประการคือ
1. ประชาชนชาวไทยทุกคน จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องโรคไข้เลือดออกอย่างถูกต้อง
2. จะต้องมีการร่วมแรง ร่วมใจกันในการดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจัง จริงใจ และต่อเนื่อง จากทุกหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน ประสานงานกับความร่วมมือจากชุมชนและประชาชนในชุมชน
ช่วยกันนะครับเพื่อลูกหลานอันเป็นที่รักของเราจะได้ไม่เจ็บป่วยและเสียชีวิตไปด้วยโรคร้ายนี้
ที่มา  www.healthcorners.com

อัพเดทล่าสุด