การตรวจสอบอาคาร มีเป้าหมายตรวจให้อาคารมีความปลอดภัยทั้งด้านโครงสร้างและระบบประกอบอาคาร โดยเน้นเรื่องการเตือน ต่อสู้และหนี กรณีมีอัคคีภัย ไม่ใช่เป็นการตรวจเพื่อประเมินราคาของอาคารและไม่ได้ตรวจว่าอาคารก่อสร้าง ผิดกฎหมายหรือไม่
การตรวจสอบสภาพอาคาร
โดย........... ประสงค์ ธาราไชย
กฎกระทรวง กำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอน การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 / ตอนที่ 126 ก หน้า 1/29 ธันวาคม พ.ศ. 2548 นั่นหมายความว่า อาคารประเภทที่กำหนดให้มีการตรวจสอบ ต้องตรวจสอบใหญ่ครั้งแรกให้แล้วเสร็จ และเสนอรายงานผลการตรวจสอบ ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ภายในวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2550
การตรวจสอบอาคาร มีเป้าหมายตรวจให้อาคารมีความปลอดภัยทั้งด้านโครงสร้างและระบบประกอบอาคาร โดยเน้นเรื่องการเตือน ต่อสู้และหนี กรณีมีอัคคีภัย ไม่ใช่เป็นการตรวจเพื่อประเมินราคาของอาคารและไม่ได้ตรวจว่าอาคารก่อสร้างผิดกฎหมายหรือไม่
หลักเกณฑ์การตรวจสอบนั้นผมขอเล่าให้ฟังพอสรุป ดังนี้ครับ
อาคารทุกอาคารเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ควรมีระบบปฏิบัติการและบำรุงรักษาอาคารให้อยู่ในสภาพดีอย่างสม่ำเสมอ หรืออาจเรียกได้ว่า ควรมีระบบ “O and M” โดย “O” ย่อมาจาก Operate หมายถึง ระบบปฏิบัติการ และ “M” ย่อมาจาก Maintenance หมายถึง ระบบการบำรุงรักษา ดังนั้น ระบบ “O and M” จึงหมายถึง ระบบปฏิบัติการและบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดี เพื่อให้อาคารนั้น ๆ อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และใช้งานได้ตลอดเวลา การตรวจสอบการบำรุงรักษาที่ว่านี้ เจ้าของอาคารสามารถทำได้ด้วยตนเอง ซึ่งอาจมีระบบการตรวจติดตามภายใน ( Internal Audit )ด้วยก็ยิ่งดี และเป็นสิ่งที่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง
ส่วนการตรวจสภาพอาคารตามกฎกระทรวงฯ นั้น เป็นการสอบทานหรือตรวจติดตามจากภายนอก ซึ่งเป็นการ Audit โดยผู้ตรวจสอบอิสระ ซึ่งผู้ตรวจสอบที่ว่านี้จะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการอบรม การสอบและขึ้นทะเบียนกับกรมโยธาธิการ
ดังนั้นกล่าวโดยสรุปก็คือ การตรวจสอบอาคารควรจะต้องมีผู้ดูแลอาคาร ทำ “O and M” ก่อน แล้วจึงมีการตรวจสอบเช่นเดียวกับระบบบัญชี อาคารใดที่ยังไม่ได้ทำ “O and M” ผู้ตรวจสอบควรจะแนะนำให้ทำ โดยอาจช่วยแนะนำการทำคู่มือ (การทำ “O and M” ) และอบรมการทำให้ด้วย ก็ได้
ขณะนี้อาจมีความสับสนกันในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการคิดราคาค่าบริการการตรวจสอบสภาพอาคาร ซึ่งยังแตกต่างกันอยู่มากเพราะมีความเข้าใจขอบเขตงานไม่เหมือนกัน จึงเสนอขอบเขตการให้บริการที่ไม่เท่ากัน ราคาจึงไม่เหมือนกันด้วย คงต้องช่วยกันอีกพักหนึ่งครับ
อย่าเพิ่งเหนื่อยหรือหน่ายกันไปซะก่อน นะครับ !!!
ที่มา www.coe.or.th