เรื่องน่ารู้ ทางด้านวิศวกรรมจราจร คลายความสงสัยเรื่องแปลกๆเกี่ยวกับการขับรถที่ทุกคนเคยเจอ


939 ผู้ชม

เรื่องน่ารู้ ทางด้านวิศวกรรมจราจร


เรื่องน่ารู้ ทางด้านวิศวกรรมจราจร [ โดย......โดย นายปิยะ เศรษฐรัตนพงษ์ อนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สภา ]

     
  ตอนที่ 1 (ถนน) ไม่มีเส้น
มีคนขับและผู้โดยสารนั่งคู่กันข้างหน้า ขับรถไปตามทางหลวง Motorway สายหนึ่งหลังจากเสร็จจากทำธุระ ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 19.30 น รถวิ่งด้วยความเร็วที่ไม่เกินความเร็วที่กำหนดไว้ของถนนสายนั้น (120 กม/ชม) ทันใดนั้นทั้งผู้โดยสารและคนขับตกใจกลัวอกสั่นขวัญหายไปทั้งคู่เมื่อรู้สึก ว่ากำลังวิ่งเข้าไปสู่ความมืด (ทะเลดำ) คนขับควบคุมสติได้หลังจากชะลอความเร็วลงอย่างฉับพลัน คล้ายกับว่าในช่วงนั้นเขาทั้งคู่ได้ตกอยู่ในเหวที่มืดสนิท สุดแล้วแต่ชะตาจะกำหนด ปล่อยให้รถวิ่งต่อไปอึดใจใหญ่ (หายใจไม่ทั่วท้อง) ตาที่จดจ้องไปข้างหน้าจึงเห็นเส้นจราจรสีขาวปรากฏกลับคืนมาอีกครั้ง
เหตุการณ์ข้างต้นนี้เป็นเพราะว่าถนนในช่วงนั้นได้รับการฉาบผิวจราจรใหม่โดย ที่เจ้าของผู้รับผิดชอบมิได้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ถนนเส้นนั้น (โดยเฉพาะผู้ที่ขับผ่านมาเป็นครั้งแรก)
ในประเทศที่เขาเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบน Highwayแล้ว ต้องตีเส้นชั่วคราวทันทีก่อนที่หน่วยซ่อมบำรุง/ผู้รับเหมาจะเคลื่อนทีมออก จากที่ก่อสร้างนั้นไป
ตอนที่ 2 ขอให้(ป้าย)ชี้ช่อง
สมศรี ขับรถมาจากต่างจังหวัดพาเพื่อน สมใจซึ่งเพิ่งกลับจากต่างประเทศเข้ามาทำธุระในกรุงเทพฯ ปรกติสมศรีจะขับรถมากรุงเทพฯเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ สมใจสังเกตเห็นสมศรี จากลักษณะการพารถผ่านไฟสัญญานจราจรตามทางแยกด้วยอาการที่มีความกังวลแผงอยู่ และจะแสดงถอนหายใจเมื่อผ่านพ้นทางแยกนั้นไป มีบางครั้งที่จำเป็นต้องขับเลยทางที่ตั้งใจจะไป โดยต้องหาทางกลับรถมาใหม่อีก “แกรู้จักทางหรือเปล่า” สมใจถามเพื่อน “รู้จำได้แต่นานๆมาครั้งเข้าเลนไม่ถูก สมัยนี้ใครเปลี่ยนเลนข้ามเส้นทึบมีสิทธิโดนใบสั่ง ตำรวจได้เปอร์เซ็นต์ด้วย” สมใจขับรถเป็นแต่ไม่กล้าขับเข้ากรุงเทพฯ ด้วยสาเหตุนี้ด้วย จำได้ว่าที่เขาเคยอยู่ (ในต่างประเทศ) ในมหานครอื่นนั้น เวลาขับผ่านทางแยกจะมีป้ายธนูหัวทิ่มชี้ตรงเลนที่ให้รถตรงไป หรือธนูเลี้ยวซ้าย/ขวา เป็นธนูขนาดใหญ่ที่สามารถเห็นชัดแต่ไกล จึงทำให้เข้าเลนได้ถูกเสมอ แล้วทำไมเราจึงไม่ทำกัน
ตอนที่ 3 มีเหมือนไม่มี
ป้ายบอกช่องจราจรที่มีอยู่ตามแยกต่างๆใน กทม. เพื่อจะช่วยชี้แนะให้คนขับรับรู้ถึงลักษณะของช่องจราจรเมื่อท่านขับเข้า/ ผ่านทางแยกนั้น ท่าน/พวกเราผู้ขับขี่ยานยนต์ในมหานครเช่นนี้ คงจะเคยเจอสถานการณ์นับครั้งไม่ถ้วน คือกว่าจะรู้วิเข้าผิดช่องมันก็สายเสียแล้ว (ทำนองเดียวกับข้อที่ 2 ข้างบน) แต่ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือป้ายบอกช่องจราจรเหล่านั้นมักจะถูกบดบังทำให้ไม่ สามารถมองเห็นทั้งป้าย อาจจะเพราะต้นไม้ที่ขยายกิ่งก้านออกมาทำให้มีใบไม้มาบังป้าย แต่ไม่ว่าป้ายจะเห็นเต็มหรือเห็นเพียงบางส่วนถ้าผู้ขับขี่เข้าผิดช่อง (จราจร) มักจะถูกจราจรเรียกจับ-ปรับ ไปตามระเบียบ
ตอนที่ 4 ไฟเขียวนี้ให้หยุด
โอ๋ลูกชายคนโตนั่งรถไปกับคุณพ่อจะไปรับแม่ที่ทำงานเตรียมตัวจะไปรับประทาน อาหารมื้อค่ำกัน เด็กอายุ 10 ขวบอย่างโอ๋ กำลังอยากรู้อยากเห็นคอยถามพ่อเรื่องนั้นเรื่องโน้นไปตลอดทาง ทุกครั้งที่รถคุณพ่อขับผ่านสัญญาณไฟจาราจร โอ๋คอยสังเกตไฟ แดง-เขียว แล้วมีคำถามให้คุณพ่อตอบ โดยมีคุณพ่อคอยอธิบาย “ไฟแดง เราต้องหยุดให้รถที่ได้ไฟเขียวไปก่อน” โอ๋เห็นรถเลี้ยวขณะที่ไฟยังแดงอยู่ “ทำไมรถสีแดงเลี้ยวผ่านไปไฟยังแดงอยู่เลยครับ “แยกนี้เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด” คุณพ่อตอบ มาถึงทางแยก ที่เห็นไฟเขียวอยู่ตรงเลนที่รถโอ๋/คุณพ่อขับแต่คุณพ่อต้องแบรครถอย่าง กะทันหัน “ทำไมเราต้องหยุดครับมันเป็นไฟเขียวครับคุณพ่อ” คุณพ่อถอนหายใจก่อนจะตอบลูกชายว่า “ที่เราเห็นไฟเขียวนั้นไม่ใช่ไฟเขียวของเราลูก” ลูกชายถามต่อ “ผมไม่เข้าใจไหนคุณพ่อว่าไฟเขียวไปไงครับ” คุณพ่อต้องชี้แจงต่อไปว่า “อันที่จริงแล้วไฟเขียวที่เห็นดวงนั้น มันต้องมีธนูชี้ไปทางขวา เพราะว่ามันเป็นไฟสำหรับรถที่จะเลี้ยวไปทางขวา” แต่ด้วยสาเหตุใดไม่ทราบจึงเป็นเลนส์ไฟเขียวล้วนๆธรรมดา ไม่มีธนูเลี้ยวขวา “แบบนี้ก็แย่ซิครับคุณพ่อเวลาคุณตาของผมซึ่งอยู่ต่างจังหวัดไม่คุ้นเคยแล้ว ขับผ่านแยกนี้ไปหาคุณแม่อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้รับอันตรายบาดเจ็บถึงตายได้”
ตอนที่ 5 ป้ายเดียวกัน แต่มีหลายสี
เกาะกลางถนนจะเห็นว่าบางครั้งมีป้ายอยู่ชุดหนึ่งประกอบด้วยป้ายสองส่วน โดยส่วนข้างล่างจะเป็นป้ายแถบสีเหลืองสลับดำและปกติจะทะแยงมุมไปทางซ้าย (เนื่องจากเราขับรถชิดซ้าย) เมื่อติดตั้งตรงบริเวณหัวเกาะกลางถนน และมีป้ายรูปวงกลมมีธนูหัวทิ่มชี้ทะแยงไปทางซ้ายประมาณว่าในแนวขนานกับป้าย แถบสีเหลือง-ดำข้างล่าง ซึ่งเราเคยพบเห็นจนชินตา แต่มาระยะหลังๆนี้สังเกตว่าเจ้าป้ายรูปธนูที่อยู่ข้างบนจะมีสี (ฟ้า) ที่แตกต่างจากเดิม สงสัยว่ามันมีความหมายต่างจากเดิมหรือไม่ (ตามความเป็นจริงแล้วต้องการสื่อความหมายเหมือนกัน แล้วทำไมต้องทำสีต่างกัน อาจจะเพราะว่าทำสีผิดแต่ยอมให้ใช้ หรือว่าจะต้องการแสดงความเป็นเจ้าของ เป็นป้ายของคนละหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เช่นของ กรมทางหลวง กรมโยธา หรือ กทม.) ป้ายจราจรที่ต้องการสื่อให้ผู้ขับขี่ในความหมายเดียวกันไม่ว่าของหน่วย ราชการใด ควรจะมีรูปแบบและสีเหมือนกันเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ตอนที่ 6 ทำไมชอบขับย้อนทาง
รถวิ่งสวนทางมาด้านซ้ายทำให้ตกใจเพราะไม่เคยคาดการณ์มาก่อนว่าจะมีคนขับบ้า ระห่ำอย่างนี้ ทิมเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในเมืองไทยใหม่ๆเล่าให้ฟังด้วยอาการระทึก และยังไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่เพื่อนๆ บอกเขาว่ามันเป็นเรื่องแสนจะธรรมดาในประเทศไทย ความจริงแล้วในประเทศที่มีระเบียบการจราจรที่เคร่งครัดแล้ว การขับย้อนศร/ สวนทางเข้ามาในทางผู้อื่นนั้นถือเป็นโทษที่ร้ายแรงถึงขั้นถูกยึดใบขับขี่และ ถูกปรับในอัตราสูงมาก เมื่อเทียบกับการผ่าฝืนกฎจราจรอื่นๆ หวังว่าผู้รักษากฎระเบียบในบ้านเราจะปฏิบัติกันให้แข็งขันขึ้นมากกว่านี้ เพื่อความปลอดภัยของส่วนรวมควรเริ่มรณรงค์ได้แล้ว
ตอนที่ 7 สามคนหัวหาย สองคนปลอดภัย
รถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งวิ่งอยู่ข้างหน้า ผู้ที่ขับรถยนต์ตามหลังติดๆสังเกตเห็นว่ารถมอเตอร์ไซค์วิ่งช้าและส่ายไปมา จึงเหยียบคันเร่งเพื่อต้องการแซงผ่านไป แต่ยังไม่ทันแซงพ้นเจ้ารถมอเตอร์ไซค์คันนั้นก็เสียการทรงตัววิ่วแฉลบออกมาใน จังหวะนั้นเองคนขับรถตกใจเหยียบเบรคเสียงดังหวี๊ด เสียงโครมดังตามมาเป็นเสียงเหล็กกระทบ(เนื้อ)คน เมื่อจอดรถลงมาดูแล้วปรากฏว่ามีคนบาดเจ็บรวม 3 คน (คนขี่ 1 คนซ้อน 2 คน) การซ้อนมอเตอร์ไซค์ มากกว่า 1 คน (ผู้ใหญ่) น้ำหนักรวมที่เกิน และการทรงตัวที่ไม่สัมพันธ์กันระหว่างผู้ขับขี่และผู้นั่งซ้อนท้ายทำให้ยาก ต่อการควบคุมรถซึ่งมีแค่สองล้อ เป็นต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ นี่เป็นรายหนึ่งที่ยกตัวอย่างมา เชื่อว่ามีอุบัติเหตุอย่างนี้เกิดขึ้นทุกๆวัน ถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานรัฐฯที่รับผิดชอบจะออกกฎระเบียบมาใช้รณรงค์บังคับใช้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน ห้ามซ้อน เกิน 1 (รวมคนขี่แล้วไม่เกิน 2)
 
     

ที่มา www.coe.or.th

อัพเดทล่าสุด